แม้วันเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไป นั่นคือความคิดถึง ‘พ่อ’ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ยังอยู่ในหัวใจฉัน
ในวันนี้ความคิดถึงที่อยู่ในใจมันหนักมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อหน้าที่การงานของฉัน ทำให้ได้รับหนังสือ “เรี(ล)ยนแบบพ่อ” มาถืออยู่ในมือ ทันทีที่อ่านจบลง ฉันสัมผัสได้เลยว่านี่คือสิ่งเดียวที่พ่อยังเหลือไว้ให้ นั่นคือ…
‘แบบเรียนที่ดีที่สุด’
หนังสือเล่มนี้รวบรวมคำสอนของพ่อ เพื่อให้ลูกได้รู้จักแนวทางพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เพราะนี่คือความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน ซึ่งเนื้อหาด้านในยิ่งทำให้ฉันรักหนังสือเล่มนี้มาก เมื่อพบว่าไม่ได้มีตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ทุกหน้ายังถูกออกแบบให้ดึงออกมาใช้งานได้จริงๆ จากวัสดุของจริง ซึ่งหลังจากอ่านจบแล้วทำให้คิดถึงพ่อมากขึ้น สิ่งที่พ่อคิดและทำขึ้นมาเพื่อพวกเรามีมากมายนัก ยิ่งตอกย้ำให้ฉันแน่วแน่ที่จะใช้ชีวิตตามรอยของพ่อ
ฉันเลยเกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้คนไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้กันเยอะๆ แต่คงไม่มีกำลังมากพอจะทำหนังสือแบบนี้ขึ้นมาเองแน่ๆ แล้วอยู่ๆ ก็คิดขึ้นมาว่า จะเป็นไปได้ไหม ถ้านำหนังสือเล่มนี้ไปอ่านร่วมกับผู้คนที่เดินผ่านฉันในแต่ละวัน ในเมื่ออาชีพและนิสัยของฉันก็ชอบพูดคุยกับคนหลากหลายอยู่แล้ว เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะลองทำ และนี่คือสิ่งที่ฉันได้เจอ…
ฉันเจอ ‘คุณป้าสุนีย์ จันทร์อุดร’ ป้ามีหน้าที่ทำความสะอาดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระหว่างที่ป้านั่งพักกลางวันบนม้านั่งข้างๆ ฉันลังเลอยู่สักครู่ ก่อนตัดสินใจยื่นหนังสือเล่มนี้ให้ป้าเปิดอ่าน บทสนทนาจึงเกิดขึ้น
“สำหรับป้าแล้ว ท่านเป็นเหมือนพ่อที่สอนป้ามาทั้งชีวิต ทุกวันนี้ป้าก็นำคำสอนท่านมาสอนลูกๆ หลานๆ ให้เขาทำความดี รู้จักทำเพื่อคนอื่น ที่สำคัญคือใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ถึงวันนี้ท่านไม่อยู่แล้ว ป้าก็ตั้งใจใช้ชีวิตอย่างที่ท่านสอนมา”
หลังจากได้พูดคุยกับคุณป้าสุนีย์สักพัก ฉันสัมผัสได้ถึงความผูกพันของป้า ฉันลาป้าแล้วขอตัวเดินจากมา ผ่านกลุ่มน้องๆ นักศึกษาหลากหลาย ความคิดในหัวก็ผุดขึ้นมาว่า แล้วคนรุ่นใหม่เล่า จะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้เห็นหนังสือเล่มนี้ ฉันจึงได้พูดคุยกับน้องนักศึกษา 2 คน
คนแรก ‘น.ส.เอมิลิน เกตุทัต-คาร์นส์’ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล น้องเล่าว่า “ตั้งแต่เด็กจนโต จะมีคำสอนหนึ่งของพ่อที่ถูกปลูกฝังมาจากครอบครัว นั่นคือการรู้จักหน้าที่ของตัวเองและทำให้ดีที่สุด อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน น้องบอกว่า แม้ตัวเองจะเกิดและโตมาในยุคที่มีกระแสต่างๆ ผ่านเข้ามามากมาย แต่ด้วยคำสอนนี้ ทำให้น้องรู้จักประมาณตัวเอง ว่าควรทำอะไรในเวลานี้ นั่นก็คือการเรียน”
ขณะที่ ‘น.ศ.ญาณิศา พงษ์เจริญ’ นักศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเมื่อเปิดอ่านหนังสือจบว่า “คำสอนของพ่อทั้งหมดทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ตั้งแต่เด็กๆ จะรู้จักกับฝนเทียมในบทเรียน ว่าช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูแล้ง เพราะบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรม อย่างครอบครัวของตัวเอง คุณแม่จะชอบปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง และชอบแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน ซึ่งชอบสังคมของคนไทยแบบนี้”
แม้น้องทั้งสองจะอยู่ในวัยเรียน แต่ก็ยังรู้จักคำสอนของพ่อและนำมาใช้ในชีวิต ฉันเดินจากน้องๆ ออกมาด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะเดินตามเสียงเพลงคลอๆ ไปพบกับ ‘กลุ่มกล่อมดวงใจ’ ที่คนรักเสียงเพลงมารวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยการขับกล่อมบทเพลงให้กำลังใจคนไทยในที่ต่างๆ
‘คุณบุญเรือน พรหมมา’ ตัวแทนกลุ่มกล่าวด้วยรอยยิ้มหลังจากได้เปิดอ่านหนังสือว่า ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ของพ่อมาขับร้องอยู่บ่อยครั้ง เพราะเพลงของพ่อมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิต อย่างเพลงแสงเทียน หรือเพลงใกล้รุ่ง ที่ได้ฟังแล้วรู้สึกมีกำลังใจ จึงอยากส่งกำลังใจไปให้กับคนไทยทุกคน
ฉันหยุดฟังเพลงอยู่สักครู่ ก่อนจะเดินจากมาเพื่อออกเดินทางไปที่ใหม่ ด้วยวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งทำให้ฉันได้พบกับ ‘ลุงเวก แจ่มจันทร์’ ลุงให้ความสนใจกับหนังสือเล่มใหญ่ในมือฉันทันทีที่เห็น ฉันเลยถือโอกาสนี้ชวนลุงเปิดอ่านไปด้วยกัน
“คำสอนท่านดีหมดเลยนะ ประเสริฐทุกอย่างเลย พออ่านเสร็จรู้สึกน้ำตาจะไหล ท่านทำงานหนักเพื่อคนไทยมาตลอด ตอนนี้ลุงอายุจะ 75 ปีแล้ว ก็มีคำสอนท่านนี่แหละลูก ที่ทำให้ลุงใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำอาชีพสุจริต ไม่ทำอะไรเกินตัว”
ฉันลาคุณลุงเวก เพื่อออกเดินทางต่อ ระหว่างนั้นได้เดินสวนกับน้องผู้หญิงหน้าตาน่าเอ็นดู และด้วยหน้าตาที่เป็นมิตรของน้อง ‘กุลภัสสร์ โสมนัส’ โปรแกรมเมอร์สาวบริษัทเอกชน ทำให้ฉันนำหนังสือเข้าไปหา น้องยิ้มกลับมา แล้วเปิดอ่านอย่างยินดี
“จริงๆ ไม่ใช่แค่คำสอนของท่านที่เรานำมาปฏิบัติตามได้ แต่วิถีชีวิตของท่านก็เป็นแบบอย่างให้คนไทยเป็นอย่างดี ที่บ้านกินข้าวกล้องแบบท่านมาหลายปีแล้ว ท่านทำให้เรารู้จักประโยชน์ของข้าวกล้อง ซึ่งดีต่อสุขภาพ”
ดูเหมือนว่าไม่ใช่มีเพียงคำสอน แต่วีถีชีวิตของพ่อ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนเดินตาม อย่างน้องคนต่อไปนี้ที่ฉันได้เจอ ‘ชุติกาณจน์ เหมือนเจริญ’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ น้องขึ้นมาฝึกงานที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“มีภาพหนึ่งที่จำอยู่ในใจคือภาพหลอดยาสีฟันและแท่งดินสอที่ท่านใช้แล้ว หนูจะนึกถึงภาพนี้ทุกครั้ง เวลาอยากได้อะไรที่ไม่จำเป็น เป็นภาพที่ทำให้เราได้หยุดคิดและทบทวนว่าสิ่งนั้นจำเป็นไหม ต้องซื้อเพิ่มหรือป่าว อย่างเครื่องสำอาง เมื่อถึงเวลาลดราคา เราจะอยากได้มาก แต่พอคิดว่า เรายังมีเหลืออยู่ จะซื้อทำไม ก็ควรใช้ให้หมดก่อน ซึ่งก็มีตัวอย่างจากท่าน ที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ”
เช่นเดียวกับพ่อค้าหนุ่มที่ฉันได้มีโอกาสไปอุดหนุน ‘ธวัชชัย ไชยเสน’ เจ้าของร้าน Monster ไอติมผัด ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและความช่างพูดของเขา ทำให้ฉันได้มีโอกาสยื่นหนังสือเล่มนี้ให้เขาเปิดอ่าน
“ตั้งแต่เรียนจบมาได้ปีกว่าๆ ผมก็ทำอาชีพค้าขายมาตลอด เพราะอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งมีคำสอนหนึ่งของท่านที่ผมนำมาใช้ในชีวิต คือการออม เพราะเราทำอาชีพแบบนี้ เราต้องวางแผนการเงินให้ดี รายได้ทุกเดือน ผมจะแบ่งเก็บ 30% เพื่ออนาคตและความเสี่ยงต่างๆ พอมีเงินเก็บออม ก็รู้สึกว่าชีวิตมีความมั่นคง”
ฉันอดชื่นชมในความมุมานะและความคิดของน้องไม่ได้ ฉันรับไอติมผัดจากน้องมาไว้ในมือ ก่อนจะขอลาจากไป ระหว่างทางฉันแวะซื้อของฝากให้ที่บ้านที่ร้านบ๊วยผลไม้ของคุณป้า ‘ณัฐชนัญ แซ่เล้า’ แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้วยความที่ของในมือพะรุงพะรัง ฉันจึงรบกวนฝากหนังสือวางใกล้มือของคุณป้า และลองชวนให้เปิดอ่านแต่ละหน้าในนั้น
“ป้าขายของอยู่ที่นี่มา 10 กว่าปี ผ่านวิกฤติและเหตุการณ์ต่างๆ มาเยอะ ก็มีคำสอนของท่านว่าให้รู้จักพอเพียงนี่แหละ ที่ทำให้ผ่านมาได้ ทำให้เราไม่ยึดติดกับเงินทองมากเกินไป ใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน ไม่ไปเบียดเบียนใคร ซึ่งป้ามีความสุขมากนะตอนนี้” ป้ายิ้มพลางเปิดดูแต่ละหน้าในหนังสือจนจบ
‘หนังสือเรี(ล)ยนแบบพ่อ’ เล่มนี้ จัดทำขึ้นโดยธนาคารกรุงไทย ซึ่งฉันไม่คิดว่าการตัดสินใจนำหนังสือออกไปเปิดอ่านร่วมกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จะทำให้ฉันได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่ากำลังใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งนี่อาจเป็นบทเรียนจากพ่อที่เหลือไว้ให้กับเรา
Writer: Natchaphim Rattanasinnok
—
RECOMMENDED CONTENT
ROLL-ROYCE จับมือ HERMÈS สร้างสรรค์ PHANTOM ORIBE ด้วยง […]