สำหรับคนชอบถ่ายรูป หรือช่างภาพไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพ คอลัมน์นี้เรามีภาพถ่ายสวยๆมาให้ชมกัน กับ List ที่รวบรวมภาพถ่ายขาวดำระดับโลกของช่างภาพชื่อดัง ทั้งเก่าและใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย Documentary ภาพถ่ายแฟชั่น ภาพถ่ายแนว Street หรือภาพถ่าย Landscape เชื่อไหมว่าก่อนหน้านี้ ย้อนไปต้นศตวรรษที่ 20 ภาพถ่าย Black&White ถูกมองว่าสมจริง และบิดเบือนน้อยกว่าภาพสี (Color Photography) ทั้งๆที่ตามนุษย์ก็มองเป็นสีมาตั้งนานแล้ว แต่แปลกใช่ไหมล่ะ ที่เขากลับมองว่าภาพขาวดำ มันคือศาสตร์และศิลปะของการถ่ายรูปมากกว่า ส่วนภาพสีเป็นเพียง Snapshot ของมือสมัครเล่นเท่านั้น จึงไม่แปลกที่บรรดาตำนานช่างภาพของศตวรรษทั้งหลาย จะมีผลงานขาวดำให้เห็นกันมากมาย วันนี้เราจะมาไล่ดูตามยุคสมัครกันเลยว่ามีภาพไหนบ้าง
Eugene Atget – Nôtre Dame, 1922
ภาพถ่ายชุดดังของ Atget เก็บบันทึกภาพเมืองปารีสราวกับว่าเป็นเมืองร้าง การจัดวางเฟรมที่เหมือนกับภาพ Painting ภายใต้ความเรียบง่ายที่ปรากฎเขามักจะใส่ความ Surreal ลงไปในพื้นที่ที่เขาบันทึกภาพเสมอๆ Atget ถือเป็นต้นแบบของช่างภาพยุคหลังหลายคน Joel Meyerowtiz (ช่างภาพ Street ชื่อดังชาวอเมริกัน) เคยกล่าวว่า ถ้าเปรียบกับโลกศิลปะ ภาพของ Atget คือ Mona Lisa ในมุมของวงการภาพถ่าย
Henri Cartier-Bresson – Madrid, Spain 1933
บิดาแห่งการถ่ายภาพแนว Street ผู้ใช้แต่เลนส์ 50mm และกล้อง Leica ทั้งอายุการถ่ายภาพ ด้วยความที่เรียนรู้วิชา Painting มาก่อน แรกเริ่มที่ HCB ถ่ายภาพ เขาบอกกับเพื่อนๆว่าผลงานเขาเป็น Surrealist Photography กล่าวคือ ภายในเฟรมของแต่ละภาพ มันประกอบไปด้วยรูปทรง Geometry เลขาคณิตเต็มไปหมด เขามีปรัชญาประจำตัวที่เชื่อว่าภาพที่ควรเก็บบันทึกไว้มันคือ “The Decisive Moment” ใครที่ชอบการจัดองค์ประกอบหนักๆ คุณต้องชอบผลงานของ HCB แน่นอน
Ansel Adams – Grand Tetons and Snake River 1942
ช่างภาพ Landscape ขาวดำ ที่เป็นเหมือนครูของช่างภาพทุกคน กับกล้อง Large Format ตัวใหญ่เป้งของเขา ที่ถ้าใครเคยดูสารคดีต้องบรรทุกหลังรถกระบะ แต่ก็คุ้มราคาเพราะว่า ภาพที่ได้ออกมามี Depth ที่คงไม่มีใครทำได้ กับกฎ Zone System ที่เขาคิดค้นขึ้นเกี่ยวการไล่โทนสีขาว เทา ดำ ถ้าใครชอบถ่ายขาวดำ ควรรีบหามาอ่านโดยเร็ว
Robert Doisneau – “Le baiser de l’hôtel de ville (Kiss by the Town Hall)”, Paris 1950
ภาพถ่ายคนจูบกันท่ามกลางฝูงคนที่กำลังขวักไขว่ในกรุงปารีส รูปถ่ายชื่อดังใบนี้ถ่ายโดยช่างภาพชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Robert Doisneau เป็นตัวอย่างของภาพถ่ายที่เก็บอารมณ์ความรู้สึก ของห้วงเวลาได้อย่างสุดยอดจริงๆ แสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองโรแมนติก และความ Chic ของผู้คนเมืองน้ำหอมแบบสุดๆ ถึงแม้ในภายหลังเจ้าตัวจะบอกเองว่ารูปนี้เป็นการ Set Up ขึ้นมา แต่ความเพอร์เฟคของมันไม่ได้ทำให้เราเลิกชอบภาพถ่ายใบนี้เลย
Robert Capa – D-Day, Omaha Beach, 6 June 1944
ภาพกลางสมรภูมิสุดโหดนี้ ถ่ายโดย Robert Capa เพื่อนสนิทของ Cartier Bresson ผู้ร่วมก่อตั้ง Magnum Agency (เอเจนซี่ภาพถ่ายที่ทุกวันนี้ยังคงรวมภาพถ่ายหัวกะทิของโลกเอาไว้) และเป็นเจ้าของวลี War is Romantic เขาเชื่อว่าสมรภูมิสงครามเป็นสถานที่ที่เขาคู่ควร ถ้าไม่มีเขาโลกคงไม่ได้เห็นเหตุการณ์ D-Day ที่ทหารอเมริกันยกพลขึ้นฝั่งยุโรปเป็นภาพถ่ายแบบนี้แน่ๆ ซึ่ง Capa ออกไปพร้อมกับทหารล็อตแรกๆเลยแล้วรอดชีวิตกลับมาด้วย (ถึงภาพจะเบลอยังไงก็เข้าใจได้ว่าอยู่กลางฝนกระสุน) มีเรื่องเล่าก็คือ เขาถ่ายภาพ D-Day มาทั้งหมด 3 ม้วน (100 กว่ารูปได้) แล้วส่งตรงกลับมายัง LIFE MAGAZINE เพื่อที่ฟิล์มจะได้ล้างแล้วตีพิมพ์เลย แต่ไม่ถึงชั่วโมงเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเด็กล้างฟิล์มทำฟิล์มทั้งหมดเสีย เหลือรอดมาเพียงประมาณ 10 กว่ารูปได้ แต่ทั้งหมดก็ยังคงเป็นภาพประวัติศาสตร์ถึงทุกวันนี้
Alfred Eisenstaedt – Times Square Kiss, V-J Day, 1945
อีกหนึ่งรูปคนจูบกันในลิสต์นี้ เป็นผลงานของช่างภาพชื่ออ่านยากจากนิตยสาร LIFE (ไม่ใช่คนที่ Walter Mitty ต้องไปตามหาเนกาทีฟเหมือนในหนังแต่อย่างใด) เราเชื่อว่าทุกคนต้องเคยเห็นรูปด้านบนนี้มาก่อนแล้วแน่ๆ ภาพถ่าย Iconic Shot วัน VJ Day (Victory over Japan) หลังจากประกาศสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ จังหวะที่ทุกอย่างลงตัวที่สุด ทหารเรือกับนางพยาบาลในชุดยูนิฟอร์มมายืนจูบกันตรงหน้า Time Square พอดิบพอดี
Robert Frank – Parade Hoboken, NJ, 1955
นี่คือหน้าแรกของหนังสือที่ชื่อว่า “The Americans” หากรู้ตัวว่าชอบถ่ายรูปขาวดำแต่ไม่เคยเปิด Photobook เล่มนี้ดู นั่นอาจจะหมายความว่าเรากำลังมองข้ามอะไรไปพอสมควร ผลงานของ Robert Frank ช่างภาพชาวสวิตซ์ ที่เดินทางมายังอเมริกาในยุคหลังสงครามโลก เขาคือเพื่อนสนิทของ Jack Kerouac ผู้เขียนเรื่อง “On The Road” Frank ออกเดินทาง Road Trip ทั่วอเมริกา และเก็บทุกภาพที่เขาเชื่อว่ามีความหมาย กลับไปทำเป็น Photobook ตอนแรกที่ตีพิมพ์ ชาวอเมริกันตั้งคำถามว่า แล้วไอ้คนยุโรปคนนี้มีสิทธิ์อะไรมานำเสนอมุมมองอเมริกันชนแบบนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานเล่มนี้ของ Frank คือหลักไมล์สำคัญของประวัติศาสตร์ภาพถ่ายเลยก็ว่าได้
Elliott Erwitt – “Dog Legs”, NYC, 1974
งานของ Erwitt คือตัวอย่างของภาพถ่ายขาวดำ ที่เป็นต้นแบบให้ช่างภาพแนวสตรีทยุคหลังอย่างแท้จริง การหยิบเอา Gag ต่างๆในสภาพแวดล้อมมาเล่นในเฟรม และ Subject ที่เขาคลั่งไคล้ที่สุดคือ “สุนัข” ถ้าใครตามงานของเขาจะรู้เลยว่าเขารักหมาแค่ไหน งานส่วนใหญ่ของ Erwitt จะโดดเด่นตรงที่มีอารมณ์ขันปนอยู่เสมอๆ ถ่ายทอดมาจากบุคลิกของช่างภาพแบบเต็มๆ แต่ในภาพหน้าปกด้านบนที่เป็นรูปเด็กผู้ชายในกระจกรถ ถึงแม้จะไม่ใช่มุขตลกแต่ก็เป็นผลงานของเขาเช่นกันนะ
W.Eugene Smith – “Tomoko in Her Bath” Iwo Jima, 1945
นี่คือรูปที่ Smith ถ่ายเป็นส่วนหนึ่งของ Photo Essay เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคมินามาตะชุดแรกๆในญี่ปุ่น จังหวะที่แสงลงในห้องอาบน้ำของแม่กับลูกที่ป่วยพิการทำให้รูปนี้มีอารมณ์สุดๆ Smith คือตัวอย่างของช่างภาพบ้างานอย่างแท้จริง เขาอุทิศให้กับทุกโปรเจคต์ที่ได้รับมอบหมาย ที่เป็นที่พูดถึงที่สุดคงเป็น Project ในเมือง Pittsburg สหรัฐอเมริกา Job คือถ่ายภาพครบรอบปีของเมืองสัก 1,000 รูปก็ว่าเยอะแล้ว ภายในไม่กี่อาทิตย์ แต่ Smith กลับกดไปทั้งหมด 10,000 กว่ารูป! เขาเบิกเงินจาก Magnum Agency จนทำเอาเอเจนซี่ตอนนั้นแทบล้มละลาย น่าเสียดายที่สุดท้ายผลงานก็ไม่เคยจัดแสดงที่ไหน เพราะต่อให้เป็นหนังสือก็เถอะ ใครจะรวมรูปกว่าหมื่นใบไหวล่ะ
Garry Winogrand – World’s Fair, 1964
รูปภาพของผู้หญิงหกคนนั่งเรียงบนม้านั่งและแต่ละคนมีอิริยาบถที่แตกต่างกัน คนหนึ่งคุยกันกับผู้ชายผิวสี คนหนึ่งซุบซิบกัน คนหนึ่งนอนพิง และอีกคนกำลังถอดแว่น ออกมาเป็นองค์ประกอบและเนื้อหาภาพถ่ายที่สมบูรณ์แบบ Garry Winogrand ถูกจัดว่าเป็นช่างภาพที่ถ่ายชีวิตบนท้องถนนแบบชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง แต่น่าแปลกที่ในทางกลับกันเขาเกลียดคำว่า Street Photography แบบเข้าไส้ เพราะเขาไม่เชื่อว่าทุกภาพต้องจบบนถนนเท่านั้น ยังมีอีกหลายสถานที่มากมายที่เขาเลือกเก็บภาพ ถึงทุกวันนี้ Winogrand เป็นต้นแบบให้กับช่างภาพสตรีทหลายๆคน และเป็นช่างภาพที่ชีวิตนี้ไม่ทำอะไรนอกจากออกไปถ่ายรูป ตอนที่จากไปแล้วเขาทิ้งฟิล์มเนกาทีฟที่ยังไม่ล้างถึงหลักหมื่นม้วน! นั่นแปลว่า เขาถ่ายรูปในชีวิตไว้เยอะมากจริงๆ
Richard Avedon – Audrey Hepburn, New York, January 1967
มาในมุมของช่างภาพแฟชั่นกันบ้าง ภาพของ Avedon ที่ถ่าย Audrey Hepburn ในปี 1967 รูปนี้ เป็นรูป Iconic ของวงการแฟชั่นพอสมควร กับเทคนิคการเล่นกับแสงเงาและการตัดต่อ ที่มองในยุคนั้นถือว่าล้ำมากๆ ซึ่งการตีความของรูปนี้ไม่มีใครสามารถจำกัดความได้ตายตัว แต่ว่าหน้าของแบบที่โผล่ตามแท่งต่างๆคล้ายๆโขดหิน ก็ช่วยทำให้องค์ประกอบของรูปนี้พุ่งเตะตาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
Sally Mann – Candy Cigarette, 1985
ภาพถ่ายครอบครัว Mann ที่เธอเก็บภาพลูกๆตอนเด็กของเธอยังคงเป็นผลงานชุดภาพถ่ายขาวดำที่ Impact คนดูจนถึงทุกวันนี้ และภาพที่โด่งดังที่สุดคงเป็นภาพ Candy Cigarette ที่เธอถ่ายรูปลูกสาวขณะถือบุหรี่ ด้วยแววตาที่ส่งออกมาทำให้รูปเป็น Iconic Shot ของศตวรรษที่ 20 ที่ช่างภาพทุกคนต้องเคยเห็นแน่นอน ใครที่ชอบงานของเธอลองหา Photobook ที่ชื่อ “Immediate Family” ของเธอมาดูกัน รับรองว่าแต่ละรูปไม่ธรรมดาทั้งนั้น
William Klein – Dance in Brooklyn, New York, 1955 (End of the Day Dance)
ช่างภาพแฟชั่นที่หลงใหลในการถ่ายภาพบนท้องถนนเช่นกัน งานของเขามีลายเซ็นที่ชัดเจนคือความไม่สมประกอบ การ Out Focus การ Blur การที่กล้องไหว มือไม่นิ่ง ทุกอย่าง Klein มองว่ามันคือความสวยงามหมด อย่างเช่นในรูปที่เราหยิบมาฝากกันนี้ เขาบอกให้เด็กที่เจอบนถนนเต้นให้ดู แล้วเขาก็ถ่ายทั้งๆแบบนั้น ผลปรากฏว่าพอตอนมาเข้าห้องมืด เขาค้นพบเลยว่าการเบลอ การไหว ก็เป็นเอกลักษณ์แบบหนึ่งเหมือนกัน มีบางคนที่ดูรูปนี้ก็บอกว่า “ผมชอบรูปนี้ตรงที่เด็กผู้ชายเหมือนมีเคราเฟิ้ม” ทั้งๆที่จริงๆมันเป็นแค่การไหวของกล้องเท่านั้น
Daido Moriyama – Unknown
ถ้าฝั่งตะวันตกมี William Klein ตัวแทนของตะวันออกคงต้องเป็น Daido Moriyama งานของช่างภาพขาวดำจากเกาะญี่ปุ่นคนนี้กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในวงการภาพถ่าย เมื่อโลกได้รู้จักกับ Daido ทุกคนต่างพากันค้นดูงานเก่าๆของเขาที่ทำมาตั้งแต่ยุค 80’s และต้องทึ่งกับผลงาน เพราะมันดูจะเป็นงานที่ไม่มีขอบเขตจำกัดอะไรเลย เขาถ่ายภาพด้วยกล้อง Compact ตลอดเวลา และเขาไม่สนใจกับอะไรทั้งนั้น เขารู้แต่ว่าอยากถ่ายก็ถ่าย แม้แต่ภาพบนโปสเตอร์ใบปิดต่างๆบนท้องถนน ถ้าเขาอยากเก็บภาพ เขาก็ถ่ายเฟรม Copy ภาพโปสเตอร์มาเลย เป็นช่างภาพที่ Free Form แบบสุดๆจริงๆ
Vivian Maier
คนสุดท้ายของเรา เป็นช่างภาพที่ตอนนี้โลกออนไลน์ชอบพูดถึงกันบ่อยๆ เพราะเรื่องราวของเธอไม่ธรรมดาจริงๆ Vivian มีอาชีพเป็นแม่บ้าน พี่เลี้ยง ทุกคนรู้จักเธอว่าเป็นคนเงียบๆไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่เมื่อหลังจากเธอเสียชีวิตแล้ว เจ้านายของเธอทำการย้ายบ้าน แล้วไปเจอกล่องเก็บของของ Vivian ปรากฏว่าเปิดออกมาคือฟิล์มเนกาทีฟมากมายหลายม้วนชนิดที่นับไม่ถ้วน เมื่อไม่นานมานี้มีคนประมูลซื้อไปแล้วนำไปสแกน ค้นพบว่ามันเป็นผลงานภาพถ่ายขาวดำ ระดับเทียบเท่ากับช่างภาพตำนานได้เลย ตอนนี้มีสารคดีและหนังสือตีพิมพ์ออกมามากมายแล้ว ใครที่ชื่นชอบผลงานของเธอก็ควรไม่พลาดเช่นกัน
Writer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
ขยันสร้างผลงานดี ๆ ให้แฟน ๆ ได้ฟังกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับศิลปินหนุ่มหล่อมากความสามารถที่มีแนวเพลงเป็นเอกลักษณ์อย่าง “เป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ” จากค่ายเพลง What The Duck หลังปล่อย EP อัลบั้ม “ARAGOCHINA” ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา