สิ่งหนึ่งที่จำเป็นที่สุดของการทำแบรนด์ก็คือ “โลโก้” สัญลักษณ์ที่เปรียบเสมือนหน้าตาและอัตลักษณ์ขององค์กร และหากเมื่อพูดถึงโลโก้แบรนด์ดังที่มีสเกลเป็นระดับโลกแล้วเราคงต้องปรบมือให้คนออกแบบจริงๆ เพราะมันทั้ง Iconic แล้วก็จำติดตาได้ซะขนาดนี้ แต่กว่าจะเป็นแบบทุกวันนี้ได้ ก็ไม่ใช่ว่าออกแบบครั้งเดียวจะเสร็จสรรพเลย ทุกๆแบรนด์ต่างก็เคยมีวิวัฒนาการโลโก้ของตัวเองกันมาทั้งนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า โลโก้ ของแบรนด์ที่หลายคนคุ้นตา มีวิวัฒนาการที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง?
Apple
เราเริ่มกันด้วยอักษร A Apple เลย โลโก้แรกท่ีเราเห็นคล้ายกับภาพประกอบในนิยายโบราณนั้น ออกแบบโดย Steve Jobs และ Ronald Wayne เป็นภาพ Isaac Newton บิดาแห่งแรงโน้มถ่วง นั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล ก่อนจะตกผลึกเป็นการคิดค้นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เห็นรูปนี้แล้วนึกเล่นๆว่า แหม ตอนแรกพี่จ็อบส์ก็ไม่ค่อยจะ Minimal สักเท่าไรนะน่ะ แต่โลโก้ดังกล่าวก็ไม่ได้ออกสู่สายตาอะไรมากมาย เพราะในปีเดียวกัน Rob Janoff ก็จัดการออกแบบลูกแอปเปิ้ลสีรุ้งในตำนานนี้ให้ โดยใส่รอยกัดเข้าไปเพื่อไม่ให้คนเข้าใจผิดเป็นผลไม้อื่น
Kodak
แบรนด์ผู้อยู่เบื้องหลังอุปกรณ์ถ่ายภาพชื้นสำคัญ “ฟิล์ม” และมีผลิตกล้องออกมาบ้างด้วย แรกเริ่มเดิมทีพวกเขามองหาโลโก้ ด้วยการใช้อักษรย่อ KEC (Kodak Eastman Color) จากนั้นเกือบสามสิบปีให้หลังถึงเริ่มใช้เป็นชื่อ Kodak สีแดง พื้นสีเหลืองแบบเต็มๆ จนมาถึงปี 1971 ที่เป็นโลโก้ Kodak ที่หลายคนคุ้นตากันดี (ยกเว้นฟอนต์) และในยุคปี 2000 พวกเขาก็เปลี่ยนมาเป็นโลโก้คลีนๆ พื้นขาวอักษรแดง อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ (ชอบแบบเก่ากว่าเนอะ)
Shell
พ่อๆหิวแล้วแวะปั้มเชลล์หน่อย Shell ถือเป็นปั๊มน้ำมันที่อยู่คู่บ้านเรามานาน มีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองชาวดัทช์ (Netherlands) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 1900 พวกเขาเริ่มต้นด้วยภาพพิมพ์รูปเปลือกหอยสีขาวดำ หลังจากนั้นไม่นานก็ง่วนอยู่กับ Shape ทรงของหอยชิ้นนี้อยู่พักใหญ่ จนในปี 1948 ได้เกิดเป็นโลโก้ Shell สีเหลืองแดงที่เราคุ้นตา และเริ่มเปลี่ยนมาใช้ลายเส้นกราฟฟิกคลีนๆไม่มีแสงเงา ในช่วงปี 1955 จนในปี 1971 พวกเขามั่นใจแล้วว่าแค่สัญลักษณ์หอยก็เพียงพอ ไม่ต้องมีชื่อแบรนด์แปะไว้อีกต่อไป
Nike
ถึงตรงนี้ ใครๆก็ต้องรู้จัก “Swoosh” เป็นอย่างดี ขีดโค้งแบบตวัดขึ้นเล็กน้อยที่อยู่คู่กับแบรนด์ Nike มานานนม วิวัฒนาการโลโก้ของพวกเขาเป็นไปในทาง Minimal ขึ้นเรื่อยๆ จากแรกเริ่มเป็นตัวอักษร nike พิมพ์เล็ก เหาะไปพร้อมกันกับเส้นตวัด (เราเห็นครั้งแรกนี่ ต้องบอกว่าโคตรชอบเลย) แต่เพื่อความร่วมสมัย จึงเกิดเป็น NIKE อักษรพิมพ์ใหญ่หมด จากนั้นจึงมาเปลี่ยนสี จากสีม่วงตุ่นๆ เป็นโลโก้สีแดงพื้นขาว และปัจจุบันก็ตามฟอร์มคือเหลือแต่เส้น ไม่ต้องอักษรใดๆทั้งนั้น
Pepsi
นี่เป็นตัวอย่างโลโก้ที่หมุนตามยุคสมัยได้ชัดเจนที่สุด จากแรกเริ่มโลโก้ของ Pepsi เป็นอักษรสีแดง วาดอยู่บนพื้นสีขาว (ทำไมเราดูแล้วรู้สึกมันเหมือนรถมอเตอร์ไซค์นะ) จนมาถึงปี 1950 ที่พวกเขาค้นพบเอกลักษณ์การใช้สีแดงขาวน้ำเงิน ที่ถึงทุกวันนี้ก็ยังอมตะเสมอๆจริงๆ ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างคือปี 1962 สังเกตการใช้ฟอนต์ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น จากตัวเขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่หมด แล้วก็มาเป็นโลโก้ที่เราเริ่มคุ้นตา ซึ่งเราเองเกิดช่วงปี 90’s เราคุ้นไอ้ปี 1973 มากๆ จนมาถึงปัจจุบันนี้พวกเขาใข้สีพื้นหลังเป็นน้ำเงินอีกโทนมากลบอีกที แล้วที่เท่บาดใจสุดๆคือการใช้ตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด pepsi ได้หล่อจริงๆ
Coca Cola
เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เราต่อกันด้วยแบรนด์เพื่อนซี้กับข้อข้างบนเลยดีกว่า โคคา โคล่า หรือ โค๊ก มีประวัติของโลโก้แบรนด์ที่ยาวนานพอสมควร แตกต่างจากทุกๆเจ้า โค๊กเลือกใช้อักษรพิมพ์ทื่อๆโต้งๆ เป็นจุดเริ่มต้นของพวกเขา แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นตัวเขียนแบบที่ใช้ถึงทุกวันนี้ (เจ๋งมากๆ) เรื่องลายเส้นและการใช้สีของตัวอักษรพวกเขาก็ชัดเจนเสมอต้นเสมอปลาย จาก 1900 ลากยาวมาจนถึงปจจุบันยังคง Coca Cola ตัวเอียงนี้ไว้ไม่มีเปลี่ยน (เราว่า 1985 ต้องมีเหตุการณ์อะไรพิเศษหรือมีการเข้าฝันสักอย่าง) ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นได้ชัดว่า โค๊ก ยังคงเน้นไอเดียความเป็น Original ต้นแบบ และคลาสสิค ในขณะที่แบรนด์อื่นมุ่งเข้าหาความ Modern หรือร่วมสมัยมากขึ้น
McDonald’s
เริ่มต้นด้วยการเป็นร้าน Barbecue โลโก้ในปี 1948 ของแมคโดนัลด์ก็เป็นเพียงตัวอักษรเขียนชื่อแบรนด์ธรรมดาๆ จนมาในปี 1953 (หลังจากทีเปลี่ยนมาเป็นร้านเบอร์เกอร์เต็มตัวแล้ว) พวกเขาก็มาพี่เชฟหัวเบอร์เกอร์นามว่า “Tubby chef Speedee” นำเสนอความรวดเร็วในการเสิร์ฟอาหารและราคาที่เป็นมิตร มีความเป็นฟาสต์ฟู๊ดของจริง จนมาในช่วงปี 1962 เราเริ่มเห็นเส้นโค้งสีเหลืองทองสองเส้นเป็นครั้งแรก แต่ก็มีเส้นตรงตัดด้านล่าง ซึ่งในช่วงต่อหลังจากนี้ McDonald’s ได้ยึดกับโลโก้นี้แบบยาวๆเลย จนมาในปี 2003 พวกเขาตัดคำว่า McDonald’s ออกเหลือเพียงโลโก้นี้ มาพร้อมสโลแกน “ปาดาปับป๊าบ ป๊า! แอม เลิฟวิ่ง อิท!”
KFC
ไก่ทอด KFC ก็มีการเปลี่ยนแปลงโลโก้บ้างเหมือนกัน เราไม่เคยเห็นโลโก้ในช่วงปี 1950-1980 ที่เป็นผู้พันกับชื่อเต็มของร้าน Kentucky Fried Chicken สีขาวดำล้วน แต่เราจำโลโก้ปี 1991 ได้แม่นติดตาเลย ถ้าทุกคนยังพอนึกภาพออก สมัยเด็กๆร้าน KFC จะเป็นโลโก้นี้ มีการใช้สีสันการตกแต่งภายในที่แตกต่างไปจากปัจจุบันเช่นกัน และที่เป็นเรื่องแปลกที่สุด คือเคยมีความเชื่อกันด้วยว่า KFC มีแบบสองร้านคือ พนักงานชุดน้ำเงิน กับชุดแดง ความอร่อยต่างกัน (สมัยนั้นต้องขับรถเวียนแอบมองสีเสื้อพนักงานก่อนจะจอดได้) จนมาถึงในปี 1997 ที่เริ่มดีไซน์โลโก้เป็นเหมือนกรอบรูปแดง มีผู้พันแซนเดอร์ยืนยิ้มอยู่ ก็แสดงถึงความเป็นมิตร ให้อารมณ์เหมือนสถานที่ของครอบครัวมากขึ้น จนล่าสุดผู้พันก็ยื่นออกมานอกกรอบ แสดงถึงความสนุกของโลโก้อีกด้วย
Lego
ตัวต่อครองใจเด็กๆและคุณพ่อแม่ก็วางใจให้ลูกเล่น แรกเริ่มเดิมที โลโก้ ของ เลโก้ (ไม่งงนะ) เป็นเพียงตัวอักษรพิมพ์เอียงๆ แบบพื้นฐานสุดๆจากนั้นสิบปีให้หลัง พวกเขาตัดสินใจแสดงความเป็นตัวต่อบล็อค ที่ทื่อและต้น แข็งแรง ด้วยการใช้ฟอนต์หนาซ้อนสองชั้น แถมทำเป็นตัวตรงทื่อในสี่เหลี่ยมอีก ไม่นานหลังจากนั้นพวกเขาก็ค้นพบว่า เราควรไปเอาดีทางความสนุกสดใสดีกว่า เริ่มใช้สีแดงเข้ามา จนโลโก้ล่าสุดที่เราเห็นกันนี้ เป็นตัวอักษรขาวบนพื้นแดง โดยมีสีเหลืองตัดขอบ ไม่รู้ล่ะ แต่มองทีไรมันคันไม้คันมืออยากต่อบ้านสักหลังทันที!
BMW
โลโก้ของ BMW มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที รูปทรงและการใช้สีก็คล้ายๆเดิมตลอดเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ยืนหยัด คงความเป็นแบรนด์ได้ทุกยุคทุกสมัย เราเชื่อว่าหลายคนคุ้นเคยกับโลโก้นี้กันดี แต่รู้กันรึเปล่าว่าความหมายของวงกรมแบ่งสีช่องสลับฟ้าขาว มันมีความหมายอะไรกันแน่? วันนี้คุณจะมองโลโก้ BMW เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อค้นพบว่ามันคือ รูปทรงการหมุนของใบพัดเครื่องบินสีขาวหมุนตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าใสแบบรวดเร็ว (โอว้าว) แต่ล่าสุดก็มีคนอยากรู้ความจริงถึงขนาดไปถามที่ Museum ของแบรนด์ ซึ่งพวกเขากลับบอกมาว่า ความเชื่อเรื่องโลโก้ใบพัดของเราจริงๆแล้วผิด โลโก้ของพวกเขาคือการใช้สีจากธงชาติของรัฐบาวาเรีย ต้นกำเนิดของแบรนด์ (อ่าว ยังไงละที่นี้) แต่ยังไงก็แล้วแต่ เรากลับมาที่รูปทรงการออกแบบที่มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากๆ อาจจะมีการตัดกรอบสีเหลืองทองออก เป็นฟอนต์สีขาว และในช่วงปี 70’s พวกเขาก็มีกระโดดไปทำโลโก้ที่แปลกตา ดูมีความ Modern ในยุคนั้นซึ่งเรามองว่าเท่มากๆ แต่ก็กลับมาเป็นโลโก้ BMW เหมือนเดิม ที่มีแสงเงามากขึ้น ใช้ในปัจจุบัน
Mercedes Benz
แบรนด์รถ Mercedes หรือที่บ้านเราเรียกรถเบนซ์ (เคยไปเรียกกับเพื่อนต่างชาติ เขาไม่เก็ตเลยจริงๆนะ) แต่พอมาเห็นวิวัฒนาการโลโก้ หรือเป็นเพราะคนไทยรู้จักกับรถเบนซ์ครั้งแรกในปี 1909 ที่โลโก้เขาดันมีคำว่า Benz อยู่โล้นๆ ก็เป็นได้ ก่อนหน้านี้ตอนแรกในปี 1902 โลโก้พวกเขาเป็นชื่อ Mercedes ฟอนต์ขาวพื้นดำ (โคตรเท่) แล้วจึงเริ่มมีการใช้ดาวสามแฉกมาใช้ในการออกแบบ จนมาถึง 1933 ที่โลโก้ดาวสามแฉกเริ่มเข้ารูปร่างเป็นแบบที่เราคุ้นตากันดี และในปี 1989 พวกเขาก็ใช้โลโก้นี้ตลอดเวลาที่ผ่านมาเลย ส่วนโลโก้ปัจจุบันเราชื่อว่ามันคือการตัดชื่อ Mercedes-Benz ออกไปเฉยๆ แต่บางครั้งก็มีชื่อแบรนด์อยู่บ้างเหมือนกันนะ โดยรวมๆแล้วถือว่าคล้ายๆกัน
Canon
เทียบกับทั้งลิสต์นี้ โลโก้แรกสุดของ Canon ดูจะหลุดจากแม่พิมพ์ยุคปัจจุบันไปไกลมากที่สุดแล้ว ที่เราเห็นเป็นเงาดำๆนั่นคือ เทพีทางพุทธศาสนาของชาวญี่ปุ่น ที่นั่งอยู่บนดอกบัว (จะว่าเจ้าแม่กวนอิมก็เห็นไม่ชัดอีก) มีมือนับพันแยกออกมา แต่เพียงไม่ถึงปี พวกเขาก็โดดออกมาเป็นเพียงโลโก้ชื่อแบรนด์ ที่ตอนนั้นเรียกว่า “Kwanon” (แต่สวยมากนะ โลโก้นี้) จนมาถึงปี 1935 ที่เริ่มใช้ชื่อว่า Canon จริงจัง แล้วก็ค่อยเพิ่มความหนาให้กับฟอนต์เรื่อยๆ ใช้ยาวมาจนปัจจุบันที่เปลี่ยนสีฟอนต์เป็นสีแดง
Volkswagen
โลโก้เริ่มแรกของ VW มีความชัดเจนเลยว่าพวกเขามีความเกี่ยวข้องเป็นแบรนด์สำคัญของประเทศเยอรมัน ในช่วงการปกครองของพรรคนาซี สงครามโลกครั้งที่สอง หากสังเกตดูจะเห็นว่าเส้นสี่เส้นที่ยื่นออกมารอบด้าน มันคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์สวัสดิกะ มากๆ จนมาในปี 1939 พวกเขาก็ตัดส่วนที่ว่านั้นออกเหลือแต่เกียร์ชิ้นใหญ่ 20 ปีให้หลังเปลี่ยนกรอบเกียร์เป็นสีเหลี่ยมและวงกลมแบบคลีนๆ ต่อมาก็ลดทอนสีเหลี่ยมออกเหลือเพียงวงกลม และในปี 1978 ก็เลือกใช้สีแบบสลับกลับด้าน ด้วยการเปลี่ยนเป็นฟอนต์ขาวแล้วใช้พื้นสีฟ้าอ่อนแทน (โห เยอรมันนี่เค้าเท่จริงๆ) ในปี 1995 พวกเขาต่อยอดด้วยการทำสีฟ้าให้เข้มเป็นน้ำเงินขึ้น ก่อนจบปี 1999 พวกเขาเลือกฟ้าในโทนอ่อนลง และใส่ความนูนสามมิติเข้ามานิดหน่อย จนเป็นโลโก้ปัจจุบันที่มองกี่ทีๆก็สวย
Writer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
คลิปสุดเซอร์ไพรส์ที่มีเนื้อหาที่ตัดตอนมาจากภาพยนตร์เรื่อง Electroma ในปี 2006 ของพวกเขา ถูกปล่อยลงเมื่อเช้าวันจันทร์ (22 กุมภาพันธ์ 2021)