หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง การปลดแอกวัฒนธรรมต่างๆ เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง รวมถึงจุดกำเนิดของสไตล์ mid-century modern ในงานออกแบบ ซึ่งเกิดจากความบีบคั้นของสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความขาดแคลนวัสดุในอุตสาหกรรมการออกแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไอ้ความขาดแคลนนี้แหละที่ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในการลดทอนการออกแบบให้เหลือเฉพาะสิ่งจำเป็น แบบปรัชญา ‘น้อยแต่มาก’ ที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งาน เส้นสายที่ดูคลีนๆ ไม่รุงรัง เล่นกับเท็กเจอร์ รูปทรง และสีสันที่อิงกับธรรมชาติผสมกับวัสดุดั้งเดิมอย่าง ไม้ เหล็ก หรือทองเหลือง
mid-century modern กลับมาเป็นเทรนด์การออกแบบของปีนี้อีกครั้ง เช่นเดียวกับบรรดาบูทีคช็อปแบรนด์ดังหลายแบรนด์ทั้วโลกที่ไม่เพียงหลงรักงานละมุนของสีพาสเทล กับกลิ่นอายความเก่าและใหม่เท่านั้น แต่ยังทำให้มันร่วมสมัยและเป็นการออกแบบภายใต้แนวคิดยั่งยืนด้วย!
Forte Forte / Milan, Italy
ความอ่อนช้อยทว่าหนักแน่นของเสื้อผ้าสตรีถูกตีความออกมาใหม่ในรูปแบบของบูทีกช้อปในเมืองมิลาน บ้านเกิดของแบรนด์อิตาลีอย่าง Forte Forte
ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Giada Forte กับสามี–กราฟิกดีไซเนอร์ช่วยกันออกแบบด้วยตัวเอง โชคดีว่าโจทย์ของพวกเขาตรงกัน แล้วลงเอยที่การใช้หินอ่อนอิตาลีเป็นวัสดุหลักทั้งการปูพื้นและผนัง ซึ่งเจ้าหินจากภูมิภาคนี้น่ะมีชื่อเสียงมาก ถึงขนาดมีชื่อชนิดเรียกตามชื่อเมืองต่างๆ เลยทีเดียว เช่น หิน ‘ทราเวอทีน’ (Travertine) ที่คล้ายหินอ่อน แต่มีเสน่ห์เฉพาะตรงความไม่สมบูรณ์แบบ มีรอยแตก รอยริ้วตามธรรมชาติบนเนื้อหิน บวกกับวัสดุที่ขาดไม่ได้เลยอย่างทองเหลือง (Brass) ถูกนำมาใช้แซมอยู่ตามมุมโน๊นมุมนี้ โดยใช้ข้อดีของมันที่สามารถบิดงอเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นราวสำหรับเเขวนโชว์เสื้อผ้า เป็นตู้ลิ้นชัก หรือเป็นโคมไฟเพดาน ให้ความรู้สึกว่าบางๆ น้อยๆ แต่เเข็งแกร่ง แต่ก็ลดทอนความแข็งกระด้างด้วยสีพาสเทล ทั้งบันไดหินอ่อนชมพูพาสเทล ผนังสีเขียวมิ้นต์พาสเทล
อีกส่วนหนึ่งที่เอาใจผู้หญิงที่มาลองเสื้อก็คือผนังบุกำมะหยี่ ในห้องลอง ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองมากขึ้น โดยตัวประตูห้องลองก็อินสไปร์จากงานของ Jean Prouvé นักออกแบบชาวฝรั่งเศสที่ทำงานเหล็กแนวอวอง-การ์ด (Avant-guarde) ที่ให้อารมณ์เหมือนประตูรถไฟคลาสสิก
ที่พื้นหินอ่อน ไม่ปล่อยให้โปล่งเปลือย แต่ฝังแผ่นกระจกสีจากเวนิสซึ่งเป็นของเก่าประมาณศตวรรษที่ 19 ลงไป เจ้าของร้านบอกเหตุผลที่ต้องทำงานแบบ handmade ล้วนๆ แทบจะทุกกระเบียดนิ้วก็เพราะ เป้าหมายแรกคือของการทำบูทีคช้อปคือต้องหลุดออกจากความคิดที่จะทำ ‘ร้านค้า’ ก่อนเป็นอันดับแรก เป้าหมายต่อมาคือทำยังไงให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในบ้านของตัวเอง ชิลล์ๆ จะนั่งตรงไหน ในห้องนั่งเล่น ในครัว หรือในสวนหลังบ้านก็ได้ สบายใจจนรู้สึกเป็นส่วนเดียวกับมัน แล้วค่อยซื้อ (หรือไม่ซื้อ) ก็ไม่ว่ากัน
The Malababa / Madrid, Spain
บนถนน Serrano 8 ในกรุงมาดริด คือแหล่งกระจุกตัวของบรรดาแบรนด์แฟชั่นไฮ-เอนด์จากทั่วโลก แบรนด์ accessories และเครื่องหนัง The Malababa ก็เป็นหนึ่งใน neighborhood ย่านนี้กับเขาด้วยเช่นกัน และด้วยความที่มีช็อปอยู่หลายแห่งในสเปน จะทำร้านธรรมดาเหมือนๆ กันไปก็เฉยๆ ตรงนี้อยู่ใจกลางเมือง งั้นต้องเชิดหน้าชูตาหน่อย จึงให้โจทย์กับสตูดิโอบ้านเกิดเดียวกันอย่าง Ciszak Dalmas เลยว่าต้องเล่นกับเเสงธรรมชาติ สี รูปทรง และความขรุขระไม่เรียบแปล้ของพื้นผิว นอกจากใช้หินขัด Terrazzo กับทองเหลืองเป็น key material ในสร้างชั้นวางโปรดักซ์กลิ่นอาย mid-century แล้ว ทุกอย่างยังทำใต้คอนเซ็ปต์ ‘Imperfect Finish’ เหมือนปรัชญาของงานคราฟต์ที่ ไม่ต้องเพอร์เฟ็คเป๊ะเวอร์เหมือนปั๊มออกมาเป็นโหลๆ ด้วยด้วยเครื่องจักรแบบนั้น แต่เป็นงานออกแบบที่มีความงามในความไม่สมบูรณ์นี่สิ!
แล้วบนความงามที่แท้จริงอย่างปรัชญาของแบรนด์ก็ไม่ได้คิดเอาเท่ๆ แต่ต้อง ‘ยั่งยืน’ ด้วย ยั่งยืนยังไงน่ะเหรอ ก็เลือกใช้วัสดุอย่างหินอ่อน และดิน Galician ที่หาได้ในท้องถิ่นของเสปน แถมยังเป็นวัสดุออร์แกนิกมาตั้งแต่กระบวนการผลิต ไม่ก่อมลพิษด้วยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แล้วก็ย้อนกลับไปที่การเน้นใช้เเสงธรรมชาติภายในร้านให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องติดไฟเยอะเเยะ เปลืองทรัพยากร!
Aēsop / Milan
หากดูด้วยตาเปล่า คุณอาจคิดว่าตัวเองหลุดมายังโลกอนาคตแน่ๆ แต่แท้จริงแล้วมันคือที่ทำการของอีกหนึ่งสาขาของ Aesop แบรนด์ skincare ชั้นนำจากออสเตรเลีย ซึ่งตั้งอยู่บนถนน Corso Magenta เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี
ที่ว่าเหมือนโลกอนาคต เพราะมันช่างย้อนแย้งกับสถาปัตกรรมเก่าแก่ราวกับอนุเสาวรรีย์โบราณโดยรอบเสียจริงๆ (ไหนจะโลเคชั่นที่ตั้งอยู่ตรงข้ามร้านเบเกอร์รี่อายุกว่า 200 ปีนั่นอีก!) กับการเนรมิตรตึกเก่าช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ให้ยังคงไว้ซึ่งงาน ‘เดิมๆ’ ให้มากที่สุด แล้วสิ่งที่เหล่าดีไซเนอร์พบในวิลล่าร้างแห่งนี้ก็คือตู้ cabinet เรียงรายตามผนัง สันนิษฐานได้ว่าตรงนี้อาจเคยใช้เป็นห้องครัวมาก่อน เลยได้ความคิดว่างั้นทำชั้นวางโชว์ธรรมดาๆ ให้เป็นเหมือนตู้ครัวโบราณเลยละกัน
ตรงกับ mission ของ Dennis Paphitis ผู้ก่อตั้ง Aēsop ที่บอกว่าเขามักจะคิดการออกแบบร้านจากสิ่งที่มีอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ขี้เกียจคิดใหม่ แต่เขาคิดว่าไอ้สิ่งที่มีอยู่แล้วนี่แหละ เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่และความเป็นไปของถนนสายนั้นได้เป็นอย่างดีต่างหาก
แล้วก็โชคดีที่โลเคชั่นของ Aēsop กว่า 100 แห่งทั่วโลกมักเจอของเดิมเจ๋งๆ ที่เอาไปเล่นต่อได้ โดยสาขานี้ดีไซเนอร์ใช้ 3 สีหลักๆ คือสี Teal หรือสีเขียวนกเป็ดน้ำของกระเบื้องผนัง ตัดกับสีเหลืองพาสเทล เน้นความโดดเด้งตรงมุมเดียวของร้าน แซมสีชมพูหวานแหววด้วยเก้าอี้หุ้มเบาะสไตล์ mid-century ลงไป แล้วเล่นกับวัสดุอย่างสแตนเลสเพิ่มความเวีร์ยด เหมือนห้องทดลองของด็อกเตอร์สติเฟื่องสักคนในหนัง Sci-fi ยุค 80s ยังไงก็ไม่รู้!
RECOMMENDED CONTENT
ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่มีผลงานเพลงสุดปังให้แฟน ๆ ได้ฟังตลอดทั้งปี 2021 จริง ๆ สำหรับศิลปินแร็ปเปอร์วายร้ายอย่าง “URBOYTJ” (ยัวร์บอยทีเจ) ที่ปีนี้เป็นปีทองของหนุ่มทีเจจริง ๆ เพราะไม่ว่าจะเพลงไหนก็ปังดังเปรี้ยงปร้าง