สิ่งที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีในยุคนี้ อาจไม่ใช่วงดนตรีดังๆ จากค่ายใหญ่ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นบรรดาศิลปินอิสระที่ซุ่มทำงานเจ๋งๆ อยู่ในช่องทางของตัวเองบนโลกออนไลน์ บางคนโชคดีค่ายเพลงมองเห็น ส่วนบางคนก็ไม่ เพราะด้วยจำนวนของศิลปินอิสระที่แหวกว่ายเข้ามาทุกวี่วัน ทำให้ยังมีศิลปินงานดีอีกมากที่ยังหลบอยู่ตามซอกหลืบของอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเรา ขะมักเขม้น ทำงานของตัวเอง เพื่อคนฟังเฉพาะกลุ่ม ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาสามารถฉายแววได้มากกว่านั้น และงานควรได้เข้าถึงคนฟังอีกมากมายในโลกภายนอกซึ่งรอจะได้เจอ ได้ฟัง แต่พวกเขายังไม่ถูกค้นพบสักที
บอล – ต่อพงศ์ จันทบุบผา สามาชิกวง Scrubb ศิลปินอินดี้ในตำนาน ก็เป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับอาชีพดนตรี ทั้งในฐานะคนเบื้องหน้า และคนเบื้องหลัง จากประสบการณ์การผู้บริหารค่ายเพลง What the Duck มาร่วม 6 ปีแล้ว มันทำให้เขาเห็นว่ายังมีกลุ่มคนเล็กๆ ที่กำลังทำงานเพลงดีๆ อยู่ทุกหนทุกแห่ง และหลายคนก็มีแววจะเติบโตมาเป็นศิลปินดังในอนาคตได้ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่ทำให้ศิลปินเจ๋งๆ เหล่านั้นไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีโอกาสได้เฉิดฉายในวงการดนตรีเท่าที่ควรจะเป็น
เขาและ มอย – สามขวัญ ตันสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง What the Duck เล็งเห็นอนาคตของชาติเหล่านี้ และคิดว่าไม่ควรปล่อยให้พวกเขาต้องโดดเดี่ยวหรือท้อถอยไปเสียก่อน
“สุดท้ายแล้วศิลปินหน้าใหม่เหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นบุคคลากรของวงการดนตรีในอนาคต ธุรกิจของเราไปได้ทุกวันนี้ก็เพราะพวกเขา เราอยากเข้าไปสนับสนุนการทำงานเขาโดยที่เขายังมีอิสระทางความคิด การนำเสนอผลงาน และการตัดสินใจอยู่ ซึ่งมันอาจช่วยร่นเวลาในการทำงานมากขึ้น แต่เป็นที่รู้จักเร็วขึ้น ทำให้ต้นน้ำของอุตสาหกรรมแข็งแรง นี่คือเจตนาแรกของเรา” บอลกล่าวถึงที่มาของ MILK แพลตฟอร์มที่อยากให้ศิลปินอิสระถูกค้นพบ
MILK ต่างจากค่ายเพลงยังไง
มอย : เราเหมือนอะคาเดมี่ของสโมสรฟุตบอลที่นำทีมเยาวชนมาพัฒนา เมื่อนักกีฬาเยาวชนเหล่านั้นเก่งขึ้น เขาก็สามารถลงไปเตะสนามใหญ่ขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งเขาจะพร้อมอยู่ในลีกใหญ่ กับค่ายที่เขาสนใจดึงตัวไปเล่น”
บอล : เราไม่อยากใช้คำว่าค่าย เพราะการที่ศิลปินคนหนึ่งในค่ายจะเติบโต คุณต้องมีหน้าที่บางอย่างเพื่อที่จะรับผิดชอบหรือทำให้มันเป็นอาชีพ แต่ตรงนี้คุณยังคงเป็นศิลปินอิสระที่มีหน้าที่บางอย่างเพิ่มขึ้น ความอิสระไม่ได้ลดน้อยลง จะมีแค่กติกาบางอย่างเพิ่มเข้ามาเท่านั้น เรียกว่าน้อยกว่าการอยู่ในค่ายมากๆ
เราพยายามคุยกันให้มันแฟร์กับศิลปินที่สุด วันหนึ่งเมื่อเขาพร้อมไปอยู่กับค่ายใดค่ายหนึ่ง แน่นอนว่าเราอยากให้เขาอยู่กับ What the Duck แหละ เพราะเราสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา แต่ถ้าเขาอยากไปอยู่กับ Smallroom หรือ Spicy Disc เราก็ไม่ได้กีดกันเขา ถ้าเขาอยากไปเติบโตที่อื่นๆ ที่เหมาะกับเขาต่อไป
อีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือการเซ็นสัญญา น้องๆ ที่อยู่กับเราจะอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม บางคนสั้น บางคนยาว แต่ทุกคนต้องจบการศึกษา ห้ามซ้ำชั้น ต้องมีจุดสิ้นสุดและการประเมินผลร่วมกัน เพื่อว่าจะได้เปิดพื้นที่ให้ศิลปินใหม่ๆ ได้เข้ามาอีกในรุ่นต่อไป นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันต่างกับค่าย
การทำงานของแพลตฟอร์ม MILK
มอย : หลักการของ Milk มาจาก 4 คำคือ
M – Music
I Independence
L – Learning
K – Knowledge
สิ่งที่เราเน้นเป็นพิเศษคือคำว่า Independence เราเชื่อว่าศิลปินต้องการความอิสระในการทำงาน เพราะฉะนั้นศิลปินที่เข้ามาทำงานกับเรา คุณเป็นอย่างที่คุณเป็นเลย เราจะไม่เข้าไปยุ่ง ที่เราจะเพิ่มเข้าไปคือ Learning & Knowledge การจะเป็นศิลปินได้ มันไม่ใช่ว่าคุณทำเพลงดีอย่างเดียว มีเรื่องอีกมากที่พวกเราที่ทำงานกันมาเกิน 10 ปี รู้ว่ามันต้องอาศัยทัศนคติที่ดี พร้อมกับทักษะด้านอื่นๆ ด้วย เราจึงอยากเอาเรื่องพวกนี้มาเเชร์กับศิลปินหน้าใหม่ที่จะเข้ามา
บอล : ความอิสระคือเส้นบางๆ ระหว่างการเป็นตัวของตัวเองกับความดื้อรั้น ในความอิสระนั้นมันมีแพชชั่น มีความดื้อรั้นของการแสดงออกบางอย่าง ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเชื้อไฟที่ดีในการทำงาน การดื้อรั้นไปพร้อมกับการเรียนรู้ ทำให้คุณรู้ว่าพอดื้อแบบนี้แล้ว คุณจะโตไปแบบไหน ศิลปินอิสระจะได้เรียนรู้ว่าทักษะของเขาจะพัฒนาไปในทางไหนได้อีกบ้าง เรื่องหนึ่งที่เราระวังมากคือธรรมชาติของศิลปินแต่ละคน เราจะไม่ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกรบกวน แต่รู้สึกว่าได้รับการสนับสนุน
ผมเองก็ดื้อเหมือนกัน ผมเริ่มทำเพลงในแบบที่ค่อนข้างมวยวัดมากๆ ชกลมไปเรื่อยๆ อาจเพราะเราชกลมบ่อยมากจนเริ่มเเข็งแกร่งขึ้น ผมนำตรงนั้นมาเรียนรู้ ปรับใช้ และอยากนำประสบการณ์มาส่งต่อให้กับน้องๆ ศิลปินหน้าใหม่ด้วย
MILK สนับสนุนศิลปินอิสระในด้านไหนบ้าง
3 สิ่งที่ศิลปินจะได้จาก MILK ก็คือ
Artist & Repertoire – คัดเลือกศิลปินที่ดูมีแววเฉิดฉายไชนิ่งสตาร์ดวงต่อไปของวงการ เข้ามาเพื่อพัฒนาศิลปินคนนั้นให้เติบโต ทั้งเรื่องการผลิตงานและทัศนคติในการทำงาน พร้อมทั้งเป็นคนกลางที่จะนำพาศิลปินไปเจอบุคคลากรผู้เป็น Expert ในด้านต่างๆ ที่จะช่วยให้ศิลปินทำงานง่ายขึ้น และงานออกมามีคุณภาพมากขึ้น
Market & Communication Consultancy – ให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนการตลาดทั้งหมด เช่น การทำพีอาร์ มาร์เก็ตติ้ง รวมถึงการทำโซเชียล แพลนทั้งหมด ซึ่ง MILK ได้ชวนทีม CJWorx เอเจนซี่โฆษณาอิสระสัญชาติไทย ผู้คร่ำหวอดงานด้านออนไลน์ มาช่วยให้ศิลปินใช้ Social Media Platform อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมกับ Music Distributor อันดับ 1 ของโลกอย่าง Believe Digital ผู้จะทำหน้าที่ผลักดันงานของศิลปินเข้าสู่ระบบสตรีมมิ่งต่างๆ ทั่วโลก
Funding – มีเงินทุนสนับสนุนให้ศิลปินนำไปพัฒนางานของตัวเอง ทั้งในเรื่องของการทำเพลง และโปรดักชั่นต่างๆ ให้งานออกมาด้วย
รายได้ที่จะนำมาสนับสนุนศิลปินมาจากไหน
บอล : ตอนที่คิดจะทำ เราคิดไว้แล้วว่าตรงนี้ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่จะสร้างรายได้ให้กับเรา เพราะถ้าคิดถึงรายได้มันก็จะไม่เกิดเซอรร์วิสแบบนี้ขึ้นมา ในแง่ของน้องๆ ที่ทำงานเพลงจะรู้ว่าเรื่องรายได้ไม่ใช่อันดับแรกที่พวกเขานึกถึง เพราะมันเป็นเรื่องของแพชชั่น เรื่องของครีเอทีฟ ถ้าว่ากันทางธุรกิจแล้วจริงๆ มันก็ควรจะมีรายได้เข้ามา ซึ่งอาจจะมีรายได้ในระยะยาวต่อไปมากกว่า
แล้วถ้าถามว่า Milk เอาเงินมาจากไหนมาสนับสนุนศิลปิน ต้องบอกว่าจากธุรกิจที่เราทำอยู่ ซึ่งก็คือค่ายเพลง เราเอาผลประกอบการจากตรงนั้นมาซับพอร์ตแพลตฟอร์มนี้ แต่ถึงต่อให้ไม่มี Milk มันก็มี Funding ที่เราจ่ายไปเพื่อพัฒนาวงดนตรีที่เราดูแล หรือคนในองค์กรของเราอยู่แล้ว
MILK มีหลักในการเลือกศิลปินยังไง
บอล : ถ้าถามผม ผมตอบว่าใช้ความชอบล้วนๆ เป็นคนที่ชอบฟังอะไรใหม่ๆ จากคนแนะนำบ้าง จากตัวเองไปเจอบ้าง ถ้าเราฟังบ่อยๆ แล้วชอบมากๆ ในด้านของคนทำงานตรงนี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองจะต้องไปคุยกับเขาเพื่อสนับสนุนอะไรบางอย่างโดยอัตโนมัติ
ศิลปินที่จะมาอยู่กับ MILK ในตอนนี้
ศิลปินที่เข้ามาในเฟดแรกของ MILK เราไม่ได้เน้นเรื่องจำนวนมากนัก เพราะอยากโฟกัสมันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตอนนี้มี 3 วง คือ
loserpop วงดนตรีแนว Bedroompop
quicksand bed วง Pop / R&B / Funk
Varis ศิลปินเดี่ยวแนว Alternative
ติดตามความเคลื่อนไหวของ MILK และเป็นกำลังใจให้กับการเติบโตของศิลปินทั้ง 3 วง ได้ที่ : www.facebook.com/MILK.
RECOMMENDED CONTENT
เบื้อหลัง The Fast and the Furious: Tokyo Drift ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2006 กำกับโดย Justin Lin เป็นหนึ่งภาคที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ถึง 5,300 ล้านบาท