หาก Minimal คือโลก Utopian ของนักออกแบบผู้นิยมความน้อยแต่มาก ‘Cluttercore’ ก็คือฝันร้ายของพวกเขา รวมถึงคุณมาริเอะ คนโดะ (Marie Condo) นักจัดบ้านเจ้าของศาสตร์ How to ทิ้ง ด้วย!
เมื่อช่วง Social Distancing ที่ผ่านมา ทำให้เราต่างต้องอยู่กับบ้าน Stay at home และ Work from Home กันให้จ้าละหวั่น ภาพชีวิตติดบ้านของใครหลายคนในโลกโซเชียลฯ ทั้งอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก Tiktok ฯลฯ อาจเป็นภาพของคนส่วนใหญ่ที่จัดบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ช้อปของแต่งบ้านออนไลน์ หาซื้อต้นไม้มาปลูก เพื่อสร้างความสุนทรีในการติดแหง็กอยู่บ้าน หรือไม่ก็ไว้อัพรูปลงโซเชียลฯ ในขณะเดียวกันก็ก่อกำเนิดเทรนด์สุดขั้วที่เรียกว่า ‘Cluttercore’ ตามมาติดๆ
‘Cluttercore’ คำนี้มาจากคำว่า ‘Clutter’ ที่หมายถึงความรกรุงรัง ว่าแต่ความรกรุงรังกลายมาเป็นเทรนด์ได้ยังไง มันเกิดจากการที่มนุษย์ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าพวกเขาเลือกจะโชว์ภาพ ‘ชีวิต’ จริงๆ หรือ ‘บ้าน’ จริงๆ ของตัวเองมากกว่าที่ต้องจัดบ้านเพื่อให้ดูสวยงามตามเทรนด์ บ้านในความหมายที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้จริงๆ บ่งบอกว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่จริง และไม่ได้ถูดจัดวางหรือเซ็ตขึ้นมาแต่อย่างใด สำหรับคนอื่นที่ไม่อินก็อาจมองได้ว่ารกรุงรัง ไม่มีสไตล์เอาซะเลย แต่สำหรับคนๆ นั้น ข้าวเหล่านั้นคือของที่มีคุณค่า มีความหมาย และบ่งบอกเรื่องราวของเจ้าของของมันได้ดีที่สุด
ยูเซอร์ Tiktok คนหนึ่งได้อธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Cluttercore’ สำหรับเขาหมายถึงห้องที่เต็มไปด้วยข้าวของที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าสเปซนั้นอบอุ่น ปลอดภัย และรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของพื้นที่นั้นได้
หากถามว่าแล้ว Cluttercore ต่างกับความรกยังไง ก็คงต้องบอกว่า Cluttercore คือความตั้งใจที่จะวางของไว้ตรงนั้น ‘ด้วยความใส่ใจ’ และแต่ละชิ้นล้วนเป็นของสำคัญที่เจ้าของของมันอยากจะนำมา Display ไว้ให้มองเห็นได้ตลอด แต่ความรกอาจหมายถึงความไม่ได้ตั้งใจจะวาง วางกองๆ ไว้แบบไม่ใส่ และไม่สวยงาม ขณะที่ Cluttercore คือความไม่เป็นระเบียบที่สวยงามนั่นเอง
Cluttercore ในอีกนัยยะหนึ่งเหมือนเป็นกระแสปรปักษ์ที่มีต่อกระแสมินิมอล (Minimal) สไตล์การแต่งบ้านสุดฮิตซึ่งกินพื้นที่ในอินสตาแกรมเรามาตั้งแต่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว (พร้อมๆ กับเทรนด์จัดบ้าน Spark Joy ของนักจัดบ้านชาวญี่ปุ่น คุณมาริเอะ คนโดะ) ที่กล่อมเราว่าความงามต้องเป็นยังไง เป็นระเบียบเรียบร้อย คลีน สะอาดตา ข้าวของน้อย มีของใช้เท่าที่จำเป็น ถูกจัดวางแบบเป๊ะๆ ในที่ของมัน ขณะที่ความรกรุงรังของข้าวของสไตล์ Cluttercore ก็อาจแค่ต้องการสื่อว่ายังมีความงามในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน
หากปรัชญาของความน้อยแต่มากคือการ ‘ทิ้งของ’ ปรัชญาของ Cluttercore ก็อาจเป็นขั้วตรงข้าม นั่นคือการ ‘เก็บของ’ ก็เป็นได้
แต่ไม่ว่าอย่างไร จะ Cluttercore รกแบบตั้งใจ จะรกแบบไม่ได้ตั้งใจ หรือจะมินิมอล หากบ้านเป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกดี แค่นั้นก็คงเพียงพอแล้ว 🙂
RECOMMENDED CONTENT
ออกมาแล้วกับ Official Trailer หนังดีกรีเมืองคานส์ A Prayer Before Dawn ผลงานจากผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ฌอง-สเตฟาน ซูแวร์