สารภาพตามตรงว่าตั้งแต่สมัครสมาชิก Netflix ไป การใช้เวลาว่างสุดสัปดาห์ด้วยการแหวกว่ายลงไปในทะเลซีรี่ส์อันหลากหลาย ถือเป็นกิจกรรมที่เราหลงรักและหลงใหลเป็นที่สุด
ยิ่งเดี๋ยวนี้ Netflix เริ่มทำหน้าที่เป็น platform ที่ทุ่มทุนไปให้โปรดักชั่นเฮ้าส์ค่ายต่างๆ ทำซีรี่ส์ดีงามมาเสิร์ฟคนดูทุกชาติทุกภาษา ที่จะเห็นกันเยอะหน่อยก็คือทางฝั่งเกาหลีใต้ และฝั่งญี่ปุ่น ที่ทำมินิซีรี่ส์มาลง Netflix กันเป็นว่าเล่น
วันหนึ่งเราเผลอคลิกเข้าไปดูซีรี่ส์ญี่ปุ่นเรื่อง Kantaro : The Sweet Tooth Salaryman แล้วเราก็ค้นพบความแปลกใจ ว่าทำไมทั้งที่นี่เป็นแค่ซีรี่ส์ที่แกนหลัก คือ ซาลารี่แมนที่ชอบแอบหนีไปตระเวนกินขนมหวานตามร้านต่างๆ แต่ก็ทำให้เราติดงอมแงม ดูยาวยันจบซีซั่นในเวลาแค่วันเดียว!
อธิบายให้มากขึ้น… ซีรี่ส์เรื่องนี้เปิดตัวด้วย ซาลารี่มังผู้ขยันขันแข็งในหน้าที่การงานอย่าง Ametani Kantaro (รับบทโดย Matsuya Onoe) อดีตวิศวกรระบบที่ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานเป็นเซลล์ให้กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ด้วยเป้าหมายลับๆ ของเขาก็คือ การใช้ช่วงเวลาที่เหลือจากการไปติดต่อร้านหนังสือในย่านต่างๆ ของโตเกียว เพื่อแวะสุดยอดร้านขนมหวานที่เขาต้องไปกินให้จงได้!
เหมือนเนื้อหาจะมีแค่นั้น แต่ความสนุกมันอยู่ที่ว่า ด้วยนิสัยและความหลงใหลในขนมหวานของคันทาโร่ เขากล่าวว่าการจะไปตระเวนชิมร้านขนมหวานทั่วกรุงโตเกียวที่เป็นพันร้านนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้แค่วันเสาร์–อาทิตย์ เขาก็เลยต้องทำอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นการงานของเขาก็ทำได้เพอร์เฟ็กต์ ชนิดที่ยอดขายแซงหน้าคนอื่นและทำยอดได้เป็นอันดับหนึ่งของทีม!
ทุกครั้งที่คันทาโร่ไปชิมขนมหวานร้านต่างๆ เขาจะกลับมาอัพบล็อก Amablo ในชื่อ Sweet Knight (ซามูไรขนมหวาน) แต่ก็ใช่ว่าการตระเวนชิมขนมหวานระหว่างทำงานของคันทาโร่จะราบรื่นเสมอไป เพราะเขาต้องพบกับความสงสัยของเพื่อนร่วมงาน จนเกือบพลาดท่าหลายครั้ง
ความสนุกของซีรี่ส์คันทาโร่ในแต่ละตอน (ตอนละประมาณ 25-30 นาที) ก็คือช่วงที่คันทาโร่เข้าไปในร้านขนมหวาน การบรรยายความอร่อยของคันทาโร่ไม่ใช่แค่พูดว่า “อร่อยจัง” แล้วจบ หากแต่ซีรี่ส์ก็จัดการขยี้ด้วยภาพมโนเกินจริง ในแบบที่ถ้าจะมีชาติไหนทำอะไรเกินจริงและดูโอตะคุขนาดนี้ ก็ต้องญี่ปุ่นเค้าละ
เราเลยได้เห็นคันทาโร่ในรูปแบบหัววัตถุดิบต่างๆ เมล่อนเอย ถั่วแดงเอย ซึ่งมันก็เลยกลายเป็นซิกเนเจอร์ประจำตอน ที่ทำให้เราอยากรู้ว่า ตอนนี้มึงจะมาไม้ไหนกันนะ
สำหรับเรา สิ่งดีงามของซีรี่ส์เรื่องนี้คือเรื่องราวระหว่างทาง ขอแยกเป็น 2 ประเด็นที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ
ประเด็นแรกก็คือ ชีวิต ความคิด และความฝัน ของตัวละครต่างๆ ที่รายล้อมคันทาโร่ ตัวละครแต่ละตัวต่างมีบุคลิกที่น่าสนใจและน่าจดจำ ทั้งเจ้านายผู้ชอบตะโกนโวยวาย หญิงสาวนักเขียนที่ฝันอยากไต่เต้าไปทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสาร เซลล์แมนผู้มีความฝันอยากเป็นนักเบสบอลอาชีพ หรือแม้แต่ลูกชายของเจ้านายกับนิสัยเด็กๆ ที่ใครๆ ก็ต้องทนไม่ไหว
– ผู้คนที่รายล้อมคันทาโร่เหล่านี้ต่างมาช่วยเติบเต็มให้ซีรี่ส์เรื่องนี้สมบูรณ์ นั่นเลยทำให้เราอยากดูต่อจนจบ และเชียร์ให้ตัวละครหลายๆ ตัวได้ทำตามความฝันของพวกเขา
ประเด็นที่สองก็คือ เรื่องราวทั้งหมดแม้ว่าจะเป็นเรื่องแต่ง ที่มีที่มาจากมังงะขายดี แต่สถานที่และขนมหวานประจำร้านนั้นคือของจริง เราชอบที่ซีรี่ส์พาเราไปเดินย่านต่างๆ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของย่านพอสังเขป รวมถึงเรื่องราวกิมมิคเล็กๆ ของร้านขนมหวาน ที่ทำให้เราเห็นซีนความตั้งใจ ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ ไปจนถึงการตกแต่งจาน เรียกได้ว่าดูจบ ถ้าอยู่กรุงโตเกียว เราคงปิดคอมแล้วจับรถไฟใต้ดินไปกินมันเสียเดี๋ยวนั้น
ซีรี่ส์เรื่องนี้คือการส่งออกวัฒนธรรมการกินแบบญี่ปุ่นที่เราว่าทำออกมาได้น่ารักทีเดียว จากประเด็นที่เป็นเพียงแค่ซีรี่ส์นำชมนำชิมขนมหวานร้านอร่อย แต่มันยังทำให้เห็นวัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการทำงาน ชีวิตและความฝัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้น คือการส่งออกความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง
พูดแล้วก็อยากจะย้อนกลับไปดูทั้งซีซั่นอีกรอบ และใจจดใจจ่อรอดูซีซั่นสอง (ซึ่งคาดว่าน่าจะปล่อยสักกลางปีนี้) ส่วนตอนจบมันจะเป็นอย่างไร…
“มีเพียง… สวรรค์แห่งขนมเท่านั้นที่รู้!”
—————
Kantaro : The Sweet Tooth Salaryman
รับชมได้ทาง Netflix
1 ซีซั่น 12 ตอน (ตอนละ 25-30 นาที)
RECOMMENDED CONTENT
หลังจากห่างหายไปร่วม 2 ปี สำหรับสองคู่หูพี่น้อง Plastic Plastic ประกอบด้วย “เพลง ต้องตา-จิตดี (ร้องนำ,คีย์บอร์ด)” และ “ป้อง ปกป้อง-จิตดี(กีต้าร์)” วงดนตรีอินดี้ป็อปดูโอ้ จากสังกัด What the duck (วอท เดอะ ดัก) ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีมานานกว่า 12 ปี เจ้าของเพลงดังอย่าง “วันศุกร์” , “อยากรู้” , “Summer Hibernation” และ “ฮัม” พวกเขาได้หวนสู่วงการดนตรีอีกครั้ง พร้อมส่งเพลงฟีลกู๊ด ทำนองน่ารัก ที่ชวนทุกคนมาคลายความเหนื่อยล้าไปกับการล้มตัวลงบนหมอนสุดสบาย ในซิงเกิลใหม่ล่าสุดอย่าง “Pillow Pillow”