(มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนในหนัง)
แม้จะดูเหมือนอเมริกามาถึงยุคที่กัญชา ‘แมสแล้วว่ะ’ เช่นทุกวันนี้ที่มีการอนุญาติให้ปลูกและซื้อขายครอบครองกันอย่างถูกกฎหมายในบางรัฐ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ พี่กันเขาต้องเจ็บช้ำมาเท่าไร
หนังสารคดีอจากเน็ตฟลิกซ์ ‘Grass is Greener’ งานกำกับของศิลปินฮิปฮอปยุคบุกเบิก Fab 5 Freddy จะพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมดนตรี กัญชา และอเมริกาที่ถึงจะหยั่งรากลึกแนบแน่น ปะปนทั้งน้ำตาและเม็ดเงินมหาศาลของหลายชีวิตมาอย่างยาวนาน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังคงเถียงกันต่อไปถึงความไม่เท่าเทียมอยู่ดี
กัญชา x กับดนตรีแจ๊ซ
ปี 1930s กัญชา (Marihuana) พืชใบเขียวสดใสที่บางคนเรียก Weed, Pot, Grass, Herb (หรือในแอริโซนาเรียกแบบน่าเอ็นดูว่า Christmas Tree) เริ่มเข้ามาจากชุมชนชาวเม็กซิกันที่อยู่ทางตอนใต้ของอมเริกา โดยเฉพาะในนิวออร์ลีนส์ (New Orleans) ดินแดนที่ผสมหลากเชื้อชาติ ทั้ง ฝรั่งเศส เม็กซิกัน อิตาเลียน และคนผิวสีดั้งเดิมในพื้นที่ เข้าด้วยกัน ทั้งดนตรีแจ๊ซและกัญชาเบ่งบานมากที่นั่น
ตอนนั้นกัญชายังเป็นของใหม่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่คนส่วนใหญ่ เพราะมันอยู่ในวงแคบๆ ตามคลับแจ๊ซ กัญชามีอิทธิพลต่อนักดนตรีแจ๊ซแถวหน้าหลายคนอย่าง หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) และ แคบ คาลโลเวย์ (Cab Calloway) เจ้าของเพลงชื่อ Reefer Man ที่พูดถึง ‘Reefer’ หรือ ‘Jive’ เเสลงซึ่งรู้กันแค่คนในวงการแจ๊ซเท่านั้นว่ามันหมายถึงบุหรี่ยัดไส้
กระทั่งมันได้ยึดพื้นที่มาถึงย่านฮาร์เล็ม (Harlem) นิวยอร์ก คลับแจ๊ซสุดฮอตในตอนนั้นอย่าง Cotton Club และ Savoy เป็นที่ๆ รู้กันว่าถ้ามาแล้วจะได้เสพดนตรีแจ๊ซคุณภาพ ยิ่งกว่านั้นคือจะได้เสพกัญชาระดับพรีเมี่ยมระหว่างฟังเพลงด้วย
กัญชา x กับคนขาวและมือปราบมาร
เมื่อแจ๊ซเฟื่องฟู ห้ามไม่ได้ที่หนุ่มสาวอเมริกันผิวขาวจะออกไปรวมตัวฟังเพลงเต้นรำกันอยู่ในคลับแจ๊ซของคนดำ ทำให้บางคนทนไม่ได้ เขาคนนั้นคือมือปราบ Harry J. Anslinger คุณตำรวจ ปปส. ผู้มีบทบาทสำคัญเรื่องการปราบกัญชาคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา
เขาคนนี้ออกโฆษณาชวนเชื่อถึงโทษของกัญชา เช่น บอกว่าแจ๊ซคลับล่อลวงให้คนขาวเข้าไปติดยา ทำให้ผู้หญิงใจแตกหันไปเป็นโสเภณีกันมากขึ้นเมื่อไปมั่วสุมกันที่คลับแจ๊ซและไปฟังดนตรีของคนดำ (หื้ม?) ลงข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ว่าคนเมากัญชาคลุ้มคลั่งปล้นฆ่าคนไปทั่ว และอะไรต่อมิอะไรที่เชื่อมโยงให้เขาต้องออกมาประกาศสงครามกับกัญชาอย่างดุเดือดโดยเล็งเป้าไปที่เมืองอย่างดีทรอยต์ (Detroit) ฟิลลาเดลเฟีย (Philadelphia) นิวออร์ลีนส์ (New Orleans) และเมืองที่มีประชากรคนผิวสีอยู่จำนวนมาก นักดนตรีแจ๊ซผิวสีก็ไม่รอด ทั้งหลุยส์ อาร์มสตรอง, บิลลี่ ฮอร์ลิเดย์ (Billie Holiday) และชาร์ลี พาร์คเกอร์ (Charlie Parker) ล้วนแต่ยังโดนซิวด้วยข้อหาเสพกัญชากันหมด
หลายคนจึงตั้งข้อสังเกตว่า เอ๊ะ หรือจริงๆ แล้วมือปราบ J. Anslinger ผู้นี้ เป็นพวกเหยียดผิวตัวพ่อที่แค่ต้องการจะแยกคนขาวออกจากคนผิวสี และทำลายคอมมิวนิตี้ของคนผิวสีให้สิ้นซากเท่านั้นเอง
กัญชา x กับปัญญาชนคน Beat
ตอนที่ชาวอเมริกันผิวขาวเข้ามาในสังคมของกัญชา เป็นเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประกาศสงครามเดือดกับกัญชาพอดี กลุ่มนักเขียน-กวี นำโดย อัลเล็น กินส์เบิร์ก (Allen Ginsberg) และเเจ็ค เคอรูเเอ็ก (Jack Keruoac) รวมถึงราชาเพลงเพื่อชีวิต บ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) จึงทำหน้าที่เป็นแกนนำชาว Beat Generetion ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ-ต่อต้านสงคราม บานปลายมาเรียกร้องให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายโดยพร้อมเพรียง
กัญชาก็เลยถูกเหมารวมว่าเป็นเครื่องมือต่อต้านรัฐฯ ของพวกฮิปปี้ที่ต้องกำจัดให้สิ้นซากไป แล้วคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ซิวไปส่วนใหญ่นอกจาก ‘พวกหัวก้าวหน้า’ ฮิปปี้ และคนยิวแล้ว แน่นอนล่ะ…คนแอฟริกัน-อเมริกัน
กัญชา x พี่บ๊อบ มาเลย์ ผู้นำเร็กเก้สายเขียว
สงครามระหว่างกัญชา (หรือจะพูดให้ถูกคือคนผิวสี) กับรัฐฯ ก็ยังคงไม่จบง่ายๆ ถึงกลางยุค 70s เมื่อดนตรีเร็กเก้จากจาไมก้าเข้ามาในอเมริกัน ท่ามกลางกลิ่นอายดนตรีเร็กเก้จากทั้ง บ๊อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) รวมถึง ปีเตอร์ ทอช (Peter Tosh) ครูเพลงเร็กเก้ระดับตำนานที่พูดถึงสรรพคุณทางยาของ ‘กานจา’ (Ganja – กัญชาในภาษาจาไมก้า) นี้ในเพลงของเขาว่า ‘Legalize It’ หรือทำให้กัญชามันถูกกฎหมายเหอะพี่ จนมีข่าวว่าเขาโดนตำรวจอเมริกันตีมาแล้ว ความเป็นดนตรีเร็กเก้ถูกมองว่าเต็มไปด้วยการขบถ ต่อต้านระบบ แน่นอนว่ารัฐฯ ไม่ปลื้ม
Roxy nightclub, 1982
กัญชา x กับการมาของฮิปฮอป
1980s – 1990s ช่วงเวลาที่คนอเมริกันถูกโยนเข้าคุกเพราะกัญชามากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะคนผิวสีในนิวส์ออลีน เมื่อประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Regan) รับช่วงต่อจากนิสันประกาศว่ากัญชาคือศัตรูอันดับหนึ่งของรัฐ บางคนบอกว่านี่มันคือการทำให้คนแอฟริกัน-อเมิรกันยังเป็นทาสอยู่
แต่แล้ววัฒนธรรมฮิปฮอปในย่าน Uptown โดยเฉพาะในเขตบรองซ์ (Bronx) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับแร็ปเปอร์รุ่นตำนาน เช่น สนูปด็อก (Snoop Dog) เด็กเตอร์เดร (Dr.Dre) ซึ่งเรียกว่าเป็นผู้เบิกเนตรวัยรุ่นยุคนั้นสู่วงการฮิปฮอปใต้ดินนิวยอร์ก เพลงของพวกเขามักจะว่าด้วยกัญชาและความอ่อนแอของเรแกนที่ไม่กล้าพอจะทำให้กัญชาถูกกฎหมาย แต่กลับซ่อนความจริงเกี่ยวกับกัญชาภายใต้โฆษณาชวนเชื่อ
ส่วนที่ฝั่งเวสต์ โคสต์ ก็ไม่น้อยหน้า แรปเปอร์ในแคลิฟอร์เนีย เช่น ไซเปรส ฮิลล์ (Cypress Hill) ต่างตบเท้ากันสัมภาษณ์ผ่านช่อง MTV ยืนถือกัญชาขึ้นปกนิตยสารเย้ยหยันกันเเบบไม่แคร์
กัญชา x กับคนจริง (ที่ยังไม่ค่อยจะจริง) 2019
เมื่อกัญชาเข้ามาอยู่ในตลาดซื้อขายกันอย่างถูกกฎหมายในบางรัฐเช่นตอนนี้ นำ้มันกัญชาสกัด ไปจนถึงช็อกโกแลตสลัดและอีกหลายผลิตภัณฑ์จากกัญชากำลังเป็นที่น่าจับตามอง ภาษีกัญชาเองก็พุ่งสูงขึ้นถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 มันกลายเป็นอุตสาหกรรมของนักธุรกิจคนขาวโดยสมบูรณ์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเงินไหลเวียนกว่า 57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2027 เลยทีเดียว แต่ยังมีเพียง 1% ของนักลงทุนในตลาดกัญชาที่เป็นคนผิวสี
อเมริการู้อำนาจเม็ดเงินมหาศาลนี้ดี จึงทำการไถ่โทษเล็กน้อยด้วยการปล่อยตัวนักโทษกัญชาและบริการลบประวัติให้ขาวสะอาดดังเดิม เหมือนว่า ‘เฮ้ เรามาเติ่มต้นกันใหม่นะ’ พร้อมกับมีความพยามที่จะปฏิรูป สร้างระบบต่างๆ ขึ้นมาควบคุม คำถามคือ แล้วคนผิวสีที่มีบุหรี่ยัดไส้เพียง 1 มวน ต้องอยู่ในคุกเป็น 10 ปี เขาได้อะไรบ้าง ดูเหมือนว่ายังเป็นความสับสนของอเมริกาที่ยังไม่รู้ว่าหนทางของความเท่าเทียมเรื่องกัญชาอยู่ตรงไหนกันแน่
RECOMMENDED CONTENT
จบซีซั่นฟุตบอล FA Cup ไปแล้ว ก็ได้เวลาของ World Cup 2018 ที่ปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย โดยระหว่างการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล FA Cup รอบชิงชนะเลิศนั้น BBC Sport ก็ได้ปล่อยเทรลเลอร์สุดครีเอท เพื่อกระตุ้นให้คนตั้งหน้าตั้งตารอชมฟุตบอลโลกในปีนี้อย่างใจจดใจจ่อ