fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#MUSIC – จอร์แดน ราไคย์ (Jordan Rakei) ศิลปินผู้ดีลกับความเศร้าของการเป็นคนนอกด้วยดนตรีนีโอ-โซล  
date : 26.สิงหาคม.2019 tag :

WALLFLOWER  : someone with an introverted personality type (or in more extreme cases, social anxiety) who will attend parties and social gatherings, but will usually distance themselves from the crowd and actively avoid being in the limelight.

Wallflower คือนิยามของคนขี้อายที่ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่มีใครเห็นความดี ถูกมองข้าม แต่ในอีกแง่มันก็อาจแปลได้ว่าเป็นคนที่ช่วยเติมเต็มฉากว่างเปล่าที่ไม่มีใครใส่ใจจะทำได้

จอร์แดน ราไคย์ (Jordan Rakei) นักดนตรีโซล แจ๊ซ และโปรดิวเซอร์จากเกาะอังกฤษก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้สถานะตัวเองว่า ‘Wallflower’ เหมือนกัน

เมื่อตอนอายุ 5 ขวบ เขาได้เปียโนมาตัวหนึ่ง แบ่งกันเล่นกับพี่ชายโดยฝึกด้วยตัวเอง จนพี่ชายเบื่อ เปลี่ยนไปเล่นกีตาร์ที่พ่อซื้อให้แทน แล้วจากนั้นเขาก็หัดกีตาร์เองอีกตอนที่พี่ชายไม่เล่นแล้ว ดูเหมือนว่าชีวิตของนักดนตรีหนุ่มเริ่มต้นด้วยการเป็น Wallflower ตั้งแต่ตอนนั้น 

เขาเกิดนิวซีเเลนด์ โตออสเตรเลีย แต่บินออกมาไกลบ้านเพื่อมาทำเพลงถึงประเทศอังกฤษ การย้ายไปอยู่ที่นั่นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนคนอื่น กลับกันเขายังรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกอยู่ดี

แต่การเป็นคนนอกก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีแรกคือมันทำให้เขาเรียนรู้การทำงานเพลงได้อย่างเป็นกลาง ทำตัวเหมือนเเก้วเปล่าๆ ที่พร้อมจะเติมน้ำลงไปได้เยอะที่สุด 

Jordan Rakei และ Tom Misch

ข้อดีต่อมาคือมันทำให้เขาพบเจอบุคคลากรทางดนตรีเจ๋งๆ มากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นเทพอย่างนักเปียโนเเจ๊ซ Robert Glasper รวมถึง Tom Misch, Loyle Carner, FKJ หรือ Alfa Mist นิวเจนฯ ที่ขับเคลื่อนสายดนตรีโซล แจ๊ซ และฮิปฮอปฝั่งอังกฤษอยู่ในเวลานี้ เขามีโอกาสได้ร่วมงานกับคนเหล่านั้นด้วยทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์ แต่งเพลง และร้องฟีเจอริ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วจะเรียกว่าดนตรีฮิปฮอปคือรากเหง้าของจอร์แดนเลยก็ได้ เพราะเขาเขียนเพลงและหัดมิกซ์บีทของตัวเองตั้งแต่อายุ 11 จากการฟังเพลง Old-school Rap เคี่ยวกรำอยู่กับฮิปฮอปมาก่อนเสียด้วยซ้ำ 

แต่ข้อเสียของการมาทำงานไกลบ้านก็คือความเศร้า กับการต้องอยู่กับสังคมที่เขาเป็นเหมือนคนแปลกหน้า 

“การเป็นนักดนตรีที่อังกฤษ แล้วคุณไม่มี Identity ชัดเจน ท่ามกลางศิลปินแนวเดียวกันคนอื่นๆ บางครั้งมันก็ทำให้ทุกข์บ้างเหมือนกัน” เขาเคยพูดถึงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาครั้งหนึ่ง แต่มันก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาต้องไม่ประนีประนอมกับงาน เพื่อให้ได้ไอ้ Identity อันนั้นมา  

เขาบอกว่าตัวเองเป็นนักสังเกตการณ์ ชอบมองคนอื่นอยู่เงียบๆ และมักจะปิดบังความรู้สึกของตัวเอง มันคืออาการของคนที่เป็น Social Anxiety ประมาณหนึ่ง เขาไม่ค่อยเล่าความรู้สึกลึกๆ หรือปัญหาของตัวเองให้ใครฟังมากนัก นั่นไม่ใช่นิสัยของเขา

แต่สิ่งเดียวที่พอจะทำได้คือการใส่มันลงไปในดนตรี ให้มันทำหน้าที่เล่าเรื่องที่อยู่ในตัวเขามาตลอดชีวิต โดยเฉพาะเวลาแต่งเพลง เขาบอกว่ามันเหมือน ‘Pure Expression’ อย่างแท้จริง 

“I’m not ideal in situation of confrontation

I don’t prefer to raise my voice

I’m still trapped by the cages of my lips

And you hold the key

So allow me to be free

It’s been 24 years

I was just… I was just a wallflower”

นั่นคือที่มาขอเพลง Wallflower ในอัลบั้มชื่อเดียวกันที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2017 ซึ่งเขาบอกว่ามันมาจากการ ‘ดีล’ กับความเศร้าของตัวเอง

นักวิจารณ์เพลงบางคนบอกว่าเพลงของจอร์แดน ‘ไม่ขาย’ เท่าที่ควร พูดง่ายๆ คือเพลงของเขาไม่เอาใจตลาดนั่นเอง แต่ด้วยความเป็นศิลปินวัย 24 นี่อาจเป็นเรื่องดีที่จะทำตามใจตัวเอง สิ่งที่ตัวตัวเองคิดอย่างเต็มที่ ก่อนจะต้องไปตามใจ ‘ตลาด’ ในภายหลังก็เป็นได้ 

ก่อนหน้านี้จอร์แดนทำเพลงตั้งแต่ตอนอยู่ที่ออสเตรเลีย เมื่อปี 2013 มีอัลบั้ม EP แรกของตัวเองชื่อ Frankin’s Room ไม่นานหลังจากนั้นก็ตามมาด้วย EP ชุด 2 Groove Curse ที่ทำร่วมกับ Soul Has No Tempo ค่ายเพลงนอกกระแสในออสเตรเลีย 

เครื่องดนตรีหลักๆ ของเขาคือเปียโนและกีตาร์ นอกจากความสามารถในการแต่งเพลงและเล่นทั้ง 2 ชิ้นที่ว่า ดนตรีของเขายังจัดจ้านสไตล์ Multi-instrumentalt เต็มไปด้วยการดีไซน์ในทุกเม็ด เทคนิคของเขาคือการมิกซ์เครื่องดนตรีแต่ละพาร์ตให้รู้สึกเหมือนกำลังฟัง Live Music มากที่สุด 

ในอัลบั้มแรกๆ เราจะพบความเป็นโซล แจ๊ซ กรู๊ฟ จนถึงจังหวะเร้กเก้ฟังเพลินๆ แบบแทร็ก ‘Selfish’ และ ‘Get Up’ ใน EP Frankin’s Room แล้วอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนอารมณ์มาเป็นเสียงอิเล็กทรอนิกเยอะๆ องค์ประกอบทึม หม่น และลึกมากขึ้นกว่าเดิม มีซาวนฟิวเจอริสติกประหลาดๆ เทมโปแปลกๆ ซับซ้อนในงานชุดต่อๆ มาของเขา    

เคยมีแฟนเพลงถามจอร์แดนว่าทำไมไม่ทำเพลงแบบในอัลบั้ม Groove Curse อีก ในเมื่อคุณก็รู้ว่าเเฟนๆ ชอบและอยากได้ยินเพลงแบบนั้น เขาบอกว่ามันเหมือนเวลาได้ฟังสไตล์ดนตรีใหม่ๆ เทคนิคแปลกใหม่ แล้วรู้สึกว่าศิลปินคนนั้นเก่งที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เขาอยากเรียนรู้เทคนิคใหม่อย่างนั้นบ้าง เป็นเหตุผลว่าทำไมซาวนด์ของเขาถึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพลงนี้โซลจ๋า อีกเพลงถัดมาเป็นไซ-ไฟไปแล้ว 

จากเล่าเรื่องส่วนตัว นักสังเกตการณ์อย่างเขาหันมาพูดถึงมุมมองที่มีต่อโลกบ้างในอัลบั้ม ล่าสุด Origin ที่กลับไปตั้งคำถามบนโลกอันวูบวาบฉาบฉวยเช่นทุกวันนี้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นใคร เกิดมาเพื่อทำอะไร แล้วกำลังจะไปทางไหนต่อกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือมันมีซาวนด์ที่โคตรจะไซ-ไฟ ท้าทายหูคนฟังมากกว่าเดิม

ดนตรีทำหน้าที่เชื่อมโยงเขากับคนอื่นๆ เป็นสิ่งเดียวที่คนเข้าสังคมไม่เก่งอย่างเขาทำให้รู้สึกว่าคุยภาษาเดียวกัน ได้ปลดปล่อยโดยไม่มีใครมาตัดสิน อีกทั้งยังเหมือนเป็นการบอกกับใครก็ตามที่มีสถานะ ‘คนนอก’ ว่าไม่เป็นไรหรอกที่จะเป็น Wallflower ถ้ามันจะช่วยเติมเต็มให้พื้นที่ตรงนั้นสวยงามตามหน้าที่ของมัน

และเพลงของจอร์แดน ราไคย์ก็ทำหน้านั้นโดยสมบูรณ์แล้ว

RECOMMENDED CONTENT

24.เมษายน.2019

Midea Group จับมือกับ “บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” ผู้กำกับมากฝีมือจากภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง และ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ สร้างสรรค์ผลงานโฆษณา จากเรื่องจริงสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นสู้เพื่อความฝันของนางแบบสาวชาวบราซิล Paola Antonini ที่ประสบอุบัติเหตุต้องใส่ขาเทียม