ชีวิตเดี๋ยวนี้ง่ายมากขึ้น ในยุคสมัยที่ผู้คนเลือกรับข้อมูลกันได้อย่างง่ายดาย ทุกคนสามารถอ่านข่าว ฟังเพลง ดูละคร, มิวสิควีดีโอได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่ โทรทัศน์, วิทยุ, หนังสือพิมพ์ และนิตยสารเป็นเพียงไม่กี่ช่องทาง ที่เราสามารถเข้าถึง การถือกำเนิดขึ้นของ YouTube และเว็บไซต์ต่างๆ ที่เราสามารถดูเรื่องราวต่างๆย้อนหลังได้ และไม่จำกัดจำนวนครั้งที่อยากดู, เพลงหนึ่งเพลงอยากทำมิวสิควีดีโอออกมากี่เวอร์ชั่น หรือมีความยาวมากมากน้อยแค่ไหนก็ได้ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์และงบประมาณที่มี
ย้อนกลับไปหลายสิบปี นึกถึงภาพตัวเองที่นั่งอดตาหลับขับตานอน เพื่อรอดูมิวสิคซีรี่ย์และมิวสิควีดีโอใหม่ๆ แบบเต็มๆเพลงตามรายการเพลงตอนดึกๆ เพื่อเอาไปพูดคุยและวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมิวสิควีดีโอกับเพื่อนฝูงในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่มันจะถูกตัดต่อให้สั้นลง เพื่อเหลือเวลาให้กับเพลงใหม่ๆเพลงอื่นต่อไป ใครชอบมิวสิควีดีโอไหน ก็ต้องลงทุนรอดูแต่ละรายการหลายๆรอบหน่อย เต็มที่ก็ไม่เกินหนึ่งเดือน ที่เราจะมีโอกาสดูมิวสิควีดีโอนั้นๆ มีหลายเพลงที่ใช้วิธีการสร้างเป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม มิวสิควีดีโอสมัยก่อนที่เจ๋งๆ ปล่อยออกมาแล้วเป็นที่ฮือฮาในวงกว้างก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่ง “เร่ขายฝัน” ของวง “เฉลียง” เป็นหนึ่งเพลงที่ผมมักจะนึกถึงเวลาใครซักคนพูดคำว่า “MV สมัยก่อน” ขึ้นมา
“เร่ขายฝัน” เพลงแรกหน้าเอในอัลบั้ม “เอกเขนก” อัลบั้มที่สามของเฉลียง ที่สานต่อความสำเร็จจากอัลบั้ม “อื่นๆ อีกมากมาย” ที่ได้รับการพูดถึงไม่น้อยสำหรับมิวสิควีดีโอที่แตกต่างจากมิวสิควีดีโอในยุคเดียวกัน มีความยาวกว่า 9 นาที แถมใช้งบประมาณสูงถึงสองแสนบาท (เรียกว่าค่อนข้างมากเลยนะครับสำหรับสมัยนั้น) แม้ “เร่ขายฝัน” จะไม่ใช่เพลงที่พูดถึงความรักอย่างเพลงอื่นๆทั่วไป ที่สามารถเข้าถึงคนส่วนมากได้อย่างง่ายดาย แต่ “เร่ขายฝัน” กลับแฝงไว้ด้วยแนวคิดดีๆ ที่ชวนให้คนฟังเอาไปคิดต่อยอด และเพลงของเฉลียงที่ไม่ใช่เพลงรักนี่แหละครับ ที่เป็นเสน่ห์ของเฉลียงที่หลายคนชอบและติดตามเป็นแฟนเพลงเหนียวแน่นมานานหลายปี (รวมถึงผมด้วย)
มิวสิควีดีโอ “เร่ขายฝัน” เล่าฉากเหตุการณ์สมมติในปี 2800 หลังสงครามโลกครั้งที่สาม โดยล้อเลียนจากหนังดังอย่าง Mad Max (George Miller, 1979) และ Escape from New York (John Carpenter, 1981) โดยมิวสิควีดีโอนี้ ประภาส ชลศรานนท์ หรือพี่จิกได้ถ่ายทอดสิ่งที่คิดตัวเองเอาไว้แต่ใส่ลงไปในเพลงไม่หมดลงในมิวสิควีดีโอ ซึ่งพี่จิกได้เล่าถึงที่มาและแนวคิดนี้เอาไว้ในหนังสือ “เฉลียง เรื่องราวบนแผ่นไม้” ว่า “…ในสิ่งหนึ่งเนี่ย อาจจะเป็นความฝันของใครอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ ผมจึงสมมติให้สิ่งหนึ่งเป็นความฝันของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสำหรับเราอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดา…” ลูกโป่งที่เห็นในมิวสิควีดีโอนั้นอาจเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ อัดลมเข้าไปลอยไปมา เราไม่ได้เห็นคุณค่า แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นเป็นพระเจ้า ซึ่งเรื่องราวชุลมุนต่างๆในมิวสิควีดีโอที่เกิดขึ้นก็เพราะลูกโป่งใบนั้นนั่นเอง เรื่องราวจะเป็นยังไง ชวนเอามาตีความขบคิดต่อยังไงต้องลองติดตามดูครับ
“เร่ขายฝัน” ไม่ต้องใช้เงินซื้อ ใครมีความฝันเอามาแชร์กัน ฝันของเธอ-ฝันของฉัน ถ้าให้ดีต้องช่วยกันสานฝันของอีกฝ่ายให้เป็นจริง คนไม่มีความฝันชีวิตคงห่อเหี่ยวน่าดู ฝันที่ไม่กลายเป็นความจริงซักทีมันแห้งแล้งเกินไป พยายามทำฝันให้กลายเป็นจริง ยิ้มให้หนึ่งที แล้วเริ่มฝันเรื่องใหม่ สำหรับผม, ฝันเรื่องใหญ่เรื่องเล็กไม่ว่าขอให้เป็นฝันที่ดีก็พอ ขอให้สนุกกับความฝันครับทุกคน Mmm.
[vsw id=”IBbyoO3J1mg” source=”youtube” width=”650″ height=”430″ autoplay=”no”]
Music
เร่ขายฝัน / เฉลียง (อัลบั้ม เอกเขนก, คีตาแผ่นเสียง และเทป, ปี 2530)
คำร้อง / ทำนอง ประภาส ชลศรานนท์ เรียบเรียง ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์
Motion
เขียนบท / กำกับ โดย ประภาส ชลศรานนท์
ผู้ช่วยผู้กำกับ / เกรียงไกร กาญจนะโภคิน และ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์
หมายเหตุ
*ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ เฉลียง เรื่องราวบนแผ่นไม้ (สำนักพิมพ์ แม่ขมองอิ่ม, พิมพ์ครั้งแรก 2543) บรรณาธิการ นิศารัตน์ สีตะสุวรรณ ดูแลการผลิต อธิกร ศรียาสวิน
**มิวสิควีดีโอเพลง “เร่ขายฝัน” ได้รับรางวัล มิวสิควีดีโอยอดเยี่ยม จากคณะกรรมการโทรทัศน์ทองคำ และสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพ (B.A.D. Awards) ในปี 2530
*** หากน้องๆ ยังงงว่า “เฉลียง” คือใครบ้าง “เฉลียง” ประกอบด้วย พี่เกี๊ยง-เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์, พี่แต๋ง-ภูษิต ไล้ทอง, พี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค, พี่เจี๊ยบ-วัชระ ปานเอี่ยม, พี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง และ พี่นก-ฉัตรชัย ดุริยประณีต ในสองอัลบั้มหลัง รวมถึงเฉลียงที่ไม่ได้ร้องเพลงอย่าง พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์ ผู้อยู่เบื้องหลังและแต่งเพลงให้กับเฉลียงมาโดยตลอดอีกด้วย (หากใครได้ฟังอัลบั้มแรก “ปรากฏการณ์ฝน” ก็จะได้ยินเสียง พี่เล็ก-สมชาย ศักดิกุล ในฐานะสมาชิกเริ่มแรกอีกหนึ่งคนด้วยครับ)
(Music Meet Motion อื่นๆ ได้ที่ https://www.dooddot.com/tag/music-meet-motion/)
Writer: Daosook Panyawan
RECOMMENDED CONTENT
ผลงานของ อาจารย์ Osamu Tezuka 'Astro Boy'