การออกอัลบั้มของศิลปินส่วนใหญ่นั้น มักจะมีค่ายเพลงเป็นผู้รองรับเรื่องพานิชย์, ลิขสิทธิ์, การโปรโมท และการตลาดต่างๆ นานาเพื่อเอื้ออำนวยให้ศิลปินได้สร้างสรรค์งานเพลงเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องดีแต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน เช่นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการร่วมงานกันข้ามค่ายถูกปิดกั้นมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องใหญ่ๆ ที่ค่ายเพลงมีส่วนร่วมกับผลงานมากไป เอาความเป็นพานิชย์เข้ามาใส่ในงานเพลง บางคนถูกใส่ลงไปมาก บางคนถูกใส่ลงไปน้อย แต่ผลลัพท์ที่แสดงออกมาก็มีความแตกต่างกันออกไปแบบไม่มีสูตรสำเร็จซักเท่าไหร่ บางคนดังแบบชั่วข้ามคืน บางคนกว่าเพลงจะได้รับการยอมรับกลับต้องในเวลานานหลายปี ตอนสุดท้ายของคอลัมน์ Music Side B ทำให้ผมนึกอยู่นานเหมือนกันว่าจะเขียนถึงผลงานเพลงชิ้นไหนดี ไปๆมาๆ เรื่องข้างต้นทำให้ผมนึกถึงอัลบั้มนึงในยุคสมัยอินดี้รุ่งเรือง อัลบั้มเพลงที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่ายเพลงหรือกลไกทางการตลาดมากมาย แต่กลับถูกขับเคลื่อนไปด้วยกลไกของความสนิทชิดเชื้อของคนในวงการเพลง, วงการนิตยสาร รวมถึงผู้ที่มีใจรักในศิลปะแขนงเดียวกัน ทุกคนได้สร้างสรรค์งานเพลงอย่างมีอิสระภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกัน อย่าง “a day Red Label Album” อัลบั้มเพลงที่แถมมากับนิตยสาร a day ฉบับที่ 16 หน้าปกต้อม เป็นเอก รัตนเรืองและวงนูโว ในเดือนธันวาคม 2544 โดยอัลบั้มที่ว่านี้ไม่ได้เป็นซีดี แต่ผลิตออกมาเป็นเทปคาสเซ็ท และปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีทางเว็บไซต์ของนิตยสารในภายหลัง
a day Red Label Album นั้นเป็นการรวมศิลปินอินดี้มากฝีมือเอาไว้มากมาย ทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่าและไม่เปิดเผยโฉมหน้า โดยแต่ละศิลปินจะทำเพลงที่มีชื่อว่า “a day” ออกมาคนละเพลงในรูปแบบและสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป เหมือนกับตัวนิตยสาร a day ที่พูดถึง 3 ส่วนหลักๆ อย่าง Idea-ที่จะพูดถึงสิ่งใหม่ๆที่กำลังขับเคลื่อนสังคมในปัจจุบัน, Nostalgia-ที่พูดถึงอดีตที่ยังคงหอมหวาน และ Somebody-ที่พูดถึงคนหน้าใหม่ๆที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนั้น ซึ่ง 13 เพลง 13 ศิลปินนี้ก็มีคอนเซ็ปต์ที่เข้ากับนิตยสารอย่างเหมาะเจาะ ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากศิลปินหน้าใหม่ในขณะนั้นอย่าง “Smallroom” ที่เลือกตีความหนึ่งวันให้ออกมาเป็นหนึ่งเพลงบรรเลงที่มีโทนของแต่ละช่วงเวลาต่างกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ, “The Photo Sticker Machine” ที่สร้างสรรค์เพลงบรรเลงร่วมกับ Jah Head ออกมาได้อย่างน่าฟัง ใช้วิธีเรียกความสนใจของเพลงด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์จากธารินี ทิวารี แล้วปล่อยให้โน้ตแต่ละโน้ตบรรเลงเอื่อยๆไป ลองเลือกแทร็คนี้มาฟัง น่าจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากวันอันแสนวุ่นวายได้ดีทีเดียวครับ, เคหะสถาน ศิลปินหน้าใหม่ฝีมือดีที่เล่าเรื่องราวหนึ่งวันอันแสนน่าเบื่อ ผ่านดนตรีแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่แปลกใหม่ และไม่ค่อยพบเห็นมากนักในบ้านเรา แทร็คนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อยครับ, Greasy Cafe ที่สร้างสรรค์เพลง Chilled Out ผสมเสียงละมุนของเปียโนกับดนตรีแบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าไว้ด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ สังเกตได้ว่าผลงานชิ้นนี้แตกต่างออกไปจากงานแบบโฟล์คร็อค-อินดี้ร็อคในอัลบั้มเต็มทั้งสามอัลบั้มของ Greasy Cafe อยู่มากทีเดียว แฟนเพลงต้องลองฟังดูครับ, Alien DNA นักร้อง,นักดนตรี และโปรดิวเซอร์ฝีมือดีที่ไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นใครมาจากไหน กับเพลง a day ในแบบดนตรีเต้นรำที่มีความเร่าร้อนอยู่ในท่วงทำนองนั้นอยู่ไม่น้อย, “Armchair” ที่มากับเพลงรักแบบ bossa nova เพราะๆเป็นแทร็คปิดอัลบั้ม, มาถึงฝั่งของศิลปินอินดี้ที่มีผลงานมาแล้วบ้าง ทั้ง “วรรธนา วีรยวรรธน” ที่พูดถึง a day ในแบบฉบับของเธอได้อย่างโรแมนติค, “Big Ass” กับเพลงร็อคที่ได้ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน Bodyslam มาช่วยแร็ปเพิ่มความดุดันให้กับ a day (ระวังของมีคม) ได้มากขึ้นทีเดียว, งาน Improvise ในแนว Progressive Rock ของวงดนตรีฝีมือดีที่ห่างหายจากวงการไปหลายปีอย่าง “Siam Secret Service” ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย กลิ่นอายความหม่นลอยละล่องตามตัวโน้ตที่ออกมาจากเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ทำให้เรารู้สึกตามได้ไม่ยากนัก, งานร็อคเชิงทดลองของ “2 days ago kids” วงซูเปอร์กรุ๊ปที่กำลังมีผลงานโด่งดังในขณะนั้น และเพลงนี้เองที่พวกเขาฝากทิ้งท้ายเอาไว้ก่อนจะแยกย้ายไปทำเพลงในทางของแต่ละคน (เพลงนี้มีอีกหนึ่งเวอร์ชั่นที่ใช้เปิดตามคลื่น วิทยุอย่าง Fat Radio) นอกจากศิลปินที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว a day Red Label Album ยังให้คนใกล้ชิดได้สร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในการทำเพลงอีกด้วย ทั้ง “วิศุทธิ์ พรนิมิตร” เจ้าของคอลัมน์ hesheit ที่ส่งเพลงโฟล์คที่อัดเพียงเทคเดียวอย่าง a day (ฉันวาดภาพเธอในวันนั้น) มาร่วมด้วย ขณะที่เดียวกันก็มีเพลงป๊อปฟังง่ายๆ จาก “Fullmoon” หรือ “จันทร์เพ็ญ ตั้งสัมปัตติวงศ์” เลขานุการบรรณาธิการบริหาร สาวสวยที่มาฝากเสียงน่ารักๆ เอาไว้ จากฝีมือการเขียนของ “วิภว์ บูรภาเดชะ” ซึ่งมาพร้อมกับเพื่อนพ้องวง “สาธร” ในเพลง a day (กลางวันตื่น กลางคืนฝัน) เพลงเพราะที่ถูกนำไปคัฟเวอร์กันอีกหลายเวอร์ชั่น แต่หากจะวัดจากความชอบส่วนตัวแล้วล่ะก็ เวอร์ชั่นแรกสุดนี่แหละครับที่ผมประทับใจมากที่สุด
เทปคาสเซ็ทม้วนสีแดงนี้ ไม่ได้ถูกนำมาเล่นหลายปีแล้ว แต่ผมยังมีไฟล์เพลงทั้ง 13+1 เพลงเอาไว้ฟังอยู่ ทุกอย่างในอัลบั้ม a day Red Label Album นั้นถูกเก็บเอาไว้ในรูปของความทรงจำที่ดี ทุกวันนี้ นิตยสาร a day ปรับเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น, ศิลปินบางคนยังทำเพลงอยู่เรื่อยๆ, บางคนประสบความสำเร็จมากมายกับงานศิลปะแขนงต่างๆ ที่กำลังทำอยู่, บ้างมีการปรับเปลี่ยนแยกย้ายไปตามวาระ แยกวงบ้าง เปลี่ยนนักร้องนำบ้าง ทุกวันนี้รูปแบบการจำหน่ายเพลงต่างออกไปจากเดิม จากยุคของเทปคาสเซ็ทเป็นซีดี และกลายเป็นยุคดิจิตอลในที่สุด อาจมีบ้างที่แผ่นเสียงไวนิลจะเข้ามาสร้างความสนใจให้กับคนฟังเพลงเป็นระยะๆ รูปแบบของการฟังเพลงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราพบปัญหามากมายในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลอกทำนองเพลงต่างประเทศ, เทปผี ซีดีเถื่อน, MP3 เกลื่อนเมือง, การโหลดเพลงฟรีแบบผิดกฎหมาย ฯลฯ ที่ไม่ว่ายังไงก็ไม่สามารถกำจัดปัญหาเหล่านี้ได้หมดเสียที อีกอย่าง การสร้างคุณค่าให้กับผลงานเพลงนั้นจำเป็นต้องอยู่ที่การปลูกฝังด้วย อุตสาหกรรมเพลงญี่ปุ่นยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง, ธุรกิจเพลงเกาหลีอยู่ในสถานะสินค้าเชิงวัฒนธรรมที่รัฐบาลให้การอุดหนุน แต่วงการเพลงไทยในปัจจุบันกลับนิ่งๆ รอปัจจัยต่างๆที่จะช่วยให้ฟื้นตัวกันได้อีกครั้ง ระหว่างนี้ก็กลับไปค้นเอาเพลงสมัยเก่าๆ มาฟังกันไปก่อน
เทปม้วนหนึ่งหรือซีดีแผ่นหนึ่งหากจะเอามาตีราคาก็คงไม่ได้มากมายนัก แต่กว่าจะได้หนึ่งเพลงดีๆออกมานั้นต้องผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ออกมา พร้อมทั้งแก้ไขให้ลงตัวมากที่สุดก่อนจะเผยแพร่ให้คนได้ฟัง จริงอยู่ที่ศิลปินนั้นเป็นผู้กำหนดทิศทางของวงการเพลง ว่าจะแสดงฝีมือ นำเสนองานเพลงออกมาในทิศทางไหน แต่หากจะมองในความอยู่รอด ผู้บริโภคหรือคนฟังอย่างเราต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนด เพลงดังมันต้องมีดีอะไรบางอย่าง, แต่เพลงดีทุกเพลงไม่จำเป็นต้องดังก็ได้ การมีคนทำเพลงดีๆ และมีผู้ที่พร้อมจะสนับสนุนงานเพลงเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ต่ออายุให้กับวงการเพลงต่อไปเรื่อยๆ
สุดท้าย ขอบคุณมากๆนะครับที่ติดตามอ่านมาจนครบ 10 ตอน หวังว่าจะเพลิดเพลินกับเพลงที่แนะนำไป หวังว่าจะมองเห้นคุณค่าของหลายๆเพลงที่เราหลงลืมไปตามวันและเวลา อ้อ..อย่าลืมอุดหนุนอัลบั้มดีๆ กันบ้างนะครับ
(สามารถอ่าน Music Side B แผ่นอื่นๆได้ที่ https://www.dooddot.com/tag/music-side-b/)
Writer: Daosook Panyawan
RECOMMENDED CONTENT
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมี Florence Pugh ผู้ไ ด้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งรับบทเป็นจิตแพทย์จีน แทตล็อก เช่นเดียวกับ Benny Safdie, Josh Hartnett, Rami Malek เรียกได้ว่านักแสดงเบอร์ใหญ่ทั้งนั้น