นึกย้อนไปราวๆ ปี พ.ศ. 2539 วงการเพลงไทยสนุกมาก ในยุคที่ชีวิตการฟังเพลงยังไม่มี YouTube, SoundCloud, iTunes, Spotify, Xbox Music ฯลฯ คลื่นวิทยุ, แมกกาซีน, หนังสือพิมพ์และรายการเพลงตามฟรีทีวี ถือเป็นเพียงไม่กี่สื่อที่เราเข้าถึงวงการเพลงในสมัยก่อนได้ ค่ายใหญ่ๆประสบความสำเร็จระดับล้านตลับกับหลายๆ อัลบั้ม (สมัยนั้นฟังเพลงจากเทปคาสเซ็ตต์เป็นหลักครับ) ฝั่งอโศกกับโปรเจ็คต์ยักษ์ใหญ่อย่าง 6-2-12 และวงดนตรีร็อคสุดเซอร์ไพรส์ อย่าง Loso กับอัลบั้ม Lo Society ค่ายฝั่งลาดพร้าวเองก็ไม่น้อยหน้าส่งอัลบั้ม Super Teen ออกมาชน แถมคู่หูดูโอ้ขวัญใจวัยรุ่นอย่าง แรพเตอร์ก็ส่งอัลบั้ม Waab Boys และ Day Shock ออกมาภายในปีเดียวกัน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายทั้งสองอัลบั้ม ขณะเดียวกันยุคอัลเทอร์เนทีฟก็เพิ่งเริ่มต้น อัลบั้มแรกของหลายๆ ศิลปินอย่าง Yokee Playboys, XL STEP, Paradox, เก่ง ธัญญลักษณ์, Soul After Six, วรรธนา วีรยวรรธน ฯลฯ งานจากศิลปินเก่าๆ อย่าง ในทรรศนะของข้าพเจ้า ของ มาโนช พุฒตาล หรือ บิลลี่ อาสา กับสังกัดใหม่อย่างโรงบ่มดนตรี ของบิลลี่ โอแกน รวมถึงอัลบั้มสุดท้ายของวงตาวันอย่าง The Promise ก็พากันทยอยออกมาให้เราได้เลือกฟังกันอย่างเพลิดเพลิน ในฐานะคนฟัง เราจึงมีทางเลือกมากมาย ที่จะสนใจหรือเลือกที่จะฟังอย่างผ่านๆ ไป ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความนิยมชมชอบส่วนบุคคล และแผนการตลาดของค่ายเพลงในสมัยนั้น
อย่าสัญญา (Don’t Promise) ของ ปูเป้ ธาริณี ทิวารี เป็นอีกอัลบั้มนึงที่ออกมาในปีเดียวกันภายใต้สังกัด Sony Music (Thailand) มีเพลงโปรโมทอย่าง “อย่างงั้นอย่างงี้ Di Da Di..” หรือที่หลายคนจดจำได้ว่าเป็นเพลงภาคภาษาไทยของ And So the Story Goes (Di Da Di) ของ Maria Montell นักร้องสาวชาวเดนมาร์ค ที่กำลังดังบนหน้าปัดคลื่นเพลงสากลในสมัยนั้น เพลงเพราะดี แต่มันไม่ได้ดึงดูดให้เด็กต่างจังหวัดอย่างผมสนใจอัลบั้มนี้เท่าที่ควร จนกระทั่งมีโอกาสได้ฟังเพลงทั้งอัลบั้มราวๆ ปี 2543 ที่บ้านเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย “ตกหลุมรักทันที” น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุดหลังจากฟังทั้งอัลบั้มจบ “ออกไปเดินหาซื้อซีดีทันทีระหว่างกลับบ้าน” เป็นปฏิกิริยาที่สองที่เกิดขึ้น “นอนฟังทั้งคืน” เป็นอย่างที่สามหลังจากนั้น จนพลางคิดได้ว่า บางครั้งเราก็มองข้ามสิ่งดีๆ หลายๆอย่าง เพียงเพราะเราไม่ชอบอะไรบางอย่างที่ฉาบเคลือบสิ่งนั้นอยู่
นอกเหนือจากเพลงโปรโมท 8 เพลงอัลบั้ม โปรดิวส์โดย สมหวัง พัชรพร และนครินทร์ ธีระภินันท์ หรือ กอล์ฟ ที-โบน ซาวน์ดของอัลบั้มจะออกไปทาง Pop Jazz หรือที่บางคนเรียกว่า Metro Jazz ที่เป็นของใหม่สำหรับวงการเพลงไทยในสมัยนั้น และนอกจากภาคของดนตรีที่ถูกนำเสนอออกมาอย่างน่าสนใจแล้ว เสียงที่หวานและเต็มไปด้วยเสน่ห์ของธาริณียังเป็นจุดเด่นอีกอย่างนึงในอัลบั้มอีกด้วย
“อย่าสัญญา” เพลงชื่อเดียวกันกับอัลบั้ม โดดเด่นด้วยเสียงเครื่องเป่าและเสียงเปียโนในท่อนโซโล่ “เธอคือคนนั้น” เสียงทรัมเป็ทถือเป็นพระเอกคู่กับเสียงหวานๆ ของธาริณี ก่อนจะสอดรับด้วยเสียงแซ็กโซโฟนอันละเมียดละมัยช่วงกลางเพลง โรแมนติกทีเดียวครับสำหรับเพลงนี้ “เพราะเป็นเธอ” ขยับจังหวะเพลงมาเล็กน้อย ผมชอบวิธีการร้องในเพลงนี้ครับ “เผื่อใจ” เป็นเพลงที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้ม แค่เสียงอินโทรก็สะกดความรู้สึกให้หยุดฟังได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เนื้อเพลงเล่าถึงความไม่แน่ไม่นอนของความสัมพันธ์ของคนสองคน วันนี้รักกัน พรุ่งนี้อาจรักใครคนอื่นได้เช่นกัน คล้ายกับเพลง “อย่าสัญญา” แต่หม่นกว่าเล็กน้อย ต่างกับเพลง “กับรักเรา” หากจะเปรียบเปรย ผมว่าเพลงนี้ฟังแล้วรู้สึกเหมือนได้กอดใครซักคนเอาไว้ เสียงกีตาร์ในเพลงนี้กลมกล่อมมากครับ “อย่าทำอย่างนั้น” เพลงเศร้าเพลงเดียวในอัลบั้ม หวานเศร้าน่าจะเป็นคำนิยามสำหรับเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี “ขาดเธอ” Brass Section ช่วยทำให้เพลงนี้คึกคักขึ้นมาไม่น้อยเลย “คืนนี้” ปิดท้ายอัลบั้มแบบปล่อยของทั้งโปรดิวเซอร์และนักร้อง เสียงเปียโนและเสียงกีตาร์เข้ากันกับเสียงร้องอย่างลงตัว
เราผ่านปี 2539 มานานมาก ผ่านทั้งยุคเพลงป๊อบครองเมือง ยุคอัลเทอร์เนทีฟเฟื่องฟู ยุคเพลงอินดี้รุ่งเรือง และจนมาถึงยุคสมัยที่วงการเพลงไทยซบเซาอย่างน่าใจหาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นในปัจจุบัน คือการที่คนรุ่นใหม่ๆ มีช่องทางในการนำเสนอเพลงที่เป็นทางเลือกใหม่ๆให้กับวงการเพลง และช่องทางเหล่านั้นเองที่เป็นสิ่งที่เชื่อมให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักเพลงเก่าๆได้มากยิ่งขึ้น น่าเสียดายที่ อย่าสัญญา (Don’t Promise) เป็นอัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มเดียว ของธาริณี ธิวารี แต่มันก็เป็นอัลบั้มที่น่าจำสำหรับยุคสมัยนั้น ลองฟังดูสิครับ แล้วจะรู้ว่าสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดจริงแท้แค่ไหน? จะฟังผ่านช่องทางใดก็ตามแต่ศรัทธาครับ ซีดีมันไม่มีขายนานแล้ว
[vsw id=”8I35Z29DaTw” source=”youtube” width=”650″ height=”430″ autoplay=”no”]
Writer: Daosook Panyawan
RECOMMENDED CONTENT
Netflix ผู้นำบริการสตรีมมิงความบันเทิงระดับโลก ประกาศฉายภาพยนตร์ไต้หวันเรื่อง Your Name Engraved Herein (ชื่อที่สลักไว้ใต้หัวใจ) โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนว LGBTQ ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลของไต้หวัน