หากเราได้ลองเอาเพลงในแต่ละยุคแต่ละสมัยมาลองฟังด้วยความเข้าใจ ตัดความชอบ-ไม่ชอบส่วนตัวออกไป เราจะพบว่าบทเพลงเหล่านั้นบันทึกวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ความคิดความอ่านของคนในแต่ละยุคสมัยเอาไว้เป็นอย่างดี บทเพลงมากมายเกิดขึ้นตามยุคสมัย จะเป็นลูกทุ่ง, ลูกกรุง, ป๊อบ, ร็อค, แจ๊ซ ฯลฯ ก็แล้วแต่ความถนัดของคนทำเพลง ไม่แปลกนักที่หลายเพลงถูกลืมไปกับกาลเวลา แต่ทว่าก็ยังมีอีกหลายเพลงที่เรายังคงได้ยินอยู่แม้จะผ่านมาหลายสิบปี การนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ด้วยสำเนียงดนตรีที่เปลี่ยนไปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของคนทำเพลง ที่จะสานต่อลมหายใจของเพลงเก่าๆเอาไว้ จริงอยู่ที่หลายเพลงนั้นไม่ได้แตกต่างไปจากต้นฉบับเดิมเสียเท่าไหร่นัก เปลี่ยนคนถ่ายทอด ปรับวิธีการร้อง ใส่เครื่องดนตรีใหม่ เป็นวิธีพื้นฐานที่โปรดิวเซอร์ส่วนใหญ่เลือกนำมาใช้ ปลอดภัยสำหรับคนฟังเก่าๆ ประนีประนอมสำหรับคนฟังใหม่ๆ แต่บางเพลงบางอัลบั้มกลับเปลี่ยนเพลงเก่าที่คุ้นชินไปอีกทาง ให้คนฟังหลายคนร้องว้าวชอบใจ พอๆกับทำให้หลายคนมึนงงกับการตีความใหม่นั้นอยู่ไม่น้อย
ผมกำลังจะพูดถึง ECLEXTIC หรือที่หลายคนจดจำกันในชื่อของอัลบั้มอย่าง ECLEXTIC: SUNTARAPORN (อิเคล็กติค สุนทราภรณ์) โปรเจกต์ดนตรีที่มีสองแกนหลักอย่าง ดีเจซี๊ด นรเศรษฐ หมัดคง และไบรอัน ยมจินดา พวกเขาเอาเพลงเก่าสุดคลาสสิกของสุนทราภรณ์ จำนวน 10 เพลงมาเรียบเรียง ตีความใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย ใส่ดนตรีแบบอิเล็คทรอนิคส์เข้าไปในเพลง ใช้เครื่องดนตรีที่แตกต่างออกไปจากเดิม แถมไม่ได้ละทิ้งเพลงต้นฉบับไป แต่กลับนำมาสอดแทรกไว้ในแต่ละเพลงได้อย่างเหมาะเจาะ มีนักร้องรับเชิญเป็นคนในแวดวงเพลงมาร่วมงานอย่างคับคั่ง อย่าง แก๊ป ทีโบน, ริค วชิรปิลันธน์, น้ำมนต์ ธีรนัย ณ หนองคาย, ชนกมาศ พืชผลทรัพย์ จาก วง Groovy Airline ฯลฯ ส่วนสำเนียงเพลงที่ออกมานั้น หากใครที่ไม่เคยรู้จักเพลงสุนทราภรณ์มาก่อน ก็อาจเผลอคิดว่าเป็นเพลงที่ทำขึ้นมาใหม่เป็นแน่แท้
“กรุงเทพราตรี” หากจะมองย้อนกลับไป แต่เดิมกรุงเทพฯ ในฉบับที่ร้องโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน และคุณชวลี ช่วงวิทย์นั้น ช่างเต็มไปด้วยแสงสีน่าตื่นใจ แต่กรุงเทพฯ ในพ.ศ.ใหม่ ที่โอ๋ สุจิตรา ทองคำสุก แห่งวง Nose Candy เป็นผู้ถ่ายทอดนั้น กรุงเทพฯ กลับมีสีสันเพิ่มขึ้นมากมาย ผู้คนขวักไขว่ แถมยังรถติดเป็นพรืด เรื่องบางเรื่องในเพลงถูกลดทอนลงมา แต่กลับเน้นความเป็นกรุงเทพในแง่อื่นๆให้เด่นชัดขึ้น ผมชอบเสียงของบรรยากาศท้องถนน ที่ทำให้รู้สึกว่ากรุงเทพยามราตรีแม้ยังสวยงามเหมือนอดีต แต่มันก็วุ่นวายด้วยความเจริญด้านวัตถุอยู่ไม่น้อยเลย การผสมผสานดนตรีไทยอย่างปี่ให้เข้ากับเสียงสแครชแผ่นและลูปกลองได้อย่างเหมาะเจาะ ก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเพลงนี้ “สำคัญที่ใคร” เพลงที่เนื้อหาจิกกัด เรื่องของหนึ่งชายสองหญิงที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย ที่ได้เชอรี่ ผุงประเสริฐ และหนู มนต์ทิพย์ จาก วงคิดแนปเปอร์ มาร้องขับเคี่ยวกันในฐานะเมียหลวงเมียน้อย ก่อนจะได้ข้อตกลงจากคนกลางอย่าง สุหฤท สยามวาลา จะฟังเพลินๆก็สนุกดี จะตีเอามาเป็นประเด็นสังคมให้ดราม่าก็ดูท่าทางจะยาวไม่น้อย “หนึ่งน้องนางเดียว” เวอร์ชั่นนี้เท่ไม่หยอก สมัยก่อนสุภาพบุรุษจะบอกรักหญิงสาวก็ต้องมาแบบนุ่มนวล สมัยนี้น้ำเสียงเท่ๆ ในเพลงของ อู วาสิต มุกดาวิจิตร จาก วงครับ คงเป็นเทรนด์ที่สาวๆ เลือกมากกว่า นอกจากนี้ซาวน์กีตาร์เท่ๆ ของทวนทอง นิยมชาติ จากวงเอมิลี่ (ในสมัยนั้น) ยังถือเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งในเพลงอีกด้วย “ปรัชญาขี้เมา” ความน่าสนใจเพลงนี้ นอกจาก และเสียงเท่ๆ ของแก๊ป ทีโบน แล้ว ECLEXTIC ยังใช้วิธียกเอาเสียงเพลงต้นฉบับเดิมมาใส่ในท่อนฮุค คลอไปกับซาวน์คีย์บอร์ดกับลูปกลองแบบดนตรีสมัยใหม่ของ Stylish Nonsense ได้อย่างลงตัวทีเดียว
หากจะพูดถึงเพลงในอัลบั้มให้ครบทั้งหมดก็เกรงว่าจะยืดยาวเกินไป หากมีโอกาสอยากให้ลองไปหามาฟังกันดูครับ จะด้วยวิธีไหนก็ตามใจชอบเพราะซีดีไม่ได้มีขายตามร้านทั่วไปสิบกว่าปีแล้ว (แพ็คเกจก็สวยแปลกตาดี เหมือนแผ่นเสียงขนาด 7 นิ้ว) เชื่อว่าเพลงที่เรียบเรียงใหม่ทั้งหมดในอัลบั้ม คงไม่ได้ถูกใจใครไปหมดทุกคน บ้างอาจค่อนแคะว่าเอาเพลงเก่าดีๆมาทำให้เสียหาย บ้างอาจเห็นดีเห็นงามในแง่ของการตีความใหม่ ผมคนหนึ่งล่ะที่โคตรชอบอัลบั้มนี้ อย่างน้อยในแง่ของดนตรี มันก็มีความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำ ทดลองออกมาให้เป็นทางเลือกใหม่ๆ ดนตรีไม่มีถูกไม่มีผิด คนชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ก็ว่ากันไป ฟังเวอร์ชั่นใหม่แล้วจะกลับไปฟังต้นฉบับเดิมของสุนทราภรณ์ก็เพลินดี ผมยังทำอย่างนั้นเลย
[vsw id=”nPpFqtcoZ0I” source=”youtube” width=”650″ height=”430″ autoplay=”no”]
Writer: Daosook Panyawan
RECOMMENDED CONTENT
พาเที่ยวในโตเกียว ซื้อรองเท้า ให้'สายวิ่ง' เก็บตก ที่เที่ยว ช้อปปิ้ง หลังจากงานวิ่ง Tokyo Marathon . INSIDER JOURNY EP5 : เมื่อ 'สายวิ่ง' เก็บตก Shopping หลัง วิ่งในงาน Tokyo Marathon . Dooddot x Running Insider x Runner’s journey