“Music is a world within itself, with a language we all understand”
Stevie Wonder กล่าวเอาไว้เช่นนั้นในเพลง Sir Duke ว่าดนตรีนั้นเป็นภาษาสากลที่เราสามารถเข้าใจและรู้สึกตามไปกับเพลงได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักภาษานั้นๆเลยก็ได้ และถ้าเราเปรียบว่าดนตรีเป็นภาษาเดียวกัน ในภาษานั้นก็ย่อมแบ่งสำเนียงแยกย่อยออกไปมากมาย ทั้งสำเนียงดุดันอย่าง Rock, สำเนียงเศร้าสร้อยเจือรันทดอย่าง Blues หรือสำเนียงที่คนนิยมมากที่สุดอย่าง Pop ที่ฟังง่ายและเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี บางสำเนียงดนตรีที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในที่หนึ่ง แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักมากนักในอีกที่ก็มีอยู่มากมายเช่นเดียวกัน Electronic Music เป็นหนึ่งอย่างที่ผมมักนึกถึง เวลาที่มีใครค่อนแคะติดตลกว่า เพลงล้ำๆ แค่ไหนก็มาแป้กที่เมืองไทย จริงอยู่ที่ Electronic Music นั้นมีเพียงกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสนใจเพลงแนวนี้ แต่ก็ยังมีงานดีๆ ที่สร้างสรรค์โดยฝีมือคนไทยเราอยู่ไม่น้อย และหากจะให้เลือกมาพูดถึงวง Electronic สักวง Kidnappers ย่อมเป็นวงแรกที่ผมนึกถึงเสมอ
Kidnappers มีผลงานอัลบั้มแรก “สแลง” ในปี 2536 ในสังกัด Gecco Music โดยการรวมตัวของ เมย์-ภควัฒน์ ไววิทยะ (Synthesis, Programming, Guitar) และ อู่-ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ (Synthesis, Programming) มี ปิ่น-เก็จมณี พิชัยรณรงค์สงคราม มาเป็นสมาชิกในตำแหน่งนักร้องนำ ได้รับความนิยมในหมู่คนฟังเพลงกลุ่มหนึ่ง และห่างหายไปจากวงการหลายปี แยกย้ายกันไปทำงานทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังตามความถนัด จนกลับมาอีกครั้งกับอัลบั้มที่ 2 “Set” ในปี 2546 โดยมี เต๊าะ-จามร วัฑฒกานนท์ (Synthesis, Programming, Bass) เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติมพร้อมกับนักร้องนำคนใหม่อย่าง นู๋-มนต์ทิพย์ ลิมปิสุนทร
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ Kidnappers ห่างหายจากงานเบื้องหน้าไปเกือบสิบปี ทิ้งเพลง Electronic Pop ชั้นดีเอาไว้ 10 เพลง (แถมด้วยงานคัฟเวอร์เพลง “เอกเขนก” ของเฉลียง ในอัลบั้มคนอื่นอีกมากมาย 2) ให้นักฟังเพลงได้ตามหามาฟัง พร้อมความหายากของซีดีเอาไว้ ก่อนที่จะเซอร์ไพรส์แฟนเพลงด้วยการปล่อยอีพี “Warning One” ที่บรรจุเพลง 3 เพลงใหม่อย่าง “ตามฉันมา, เป็นของเธอ และ สายเกินไป (2540)” ออกมาในงาน Fat festival ครั้งที่ 1 ณ โรงงานเก่ายาสูบ ตามด้วยการคัฟเวอร์เพลง “แมงมุม” จากอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ “สยิว” ในงาน Fat Festival ครั้งที่ 2 ในปีถัดมา ให้แฟนเพลงได้หายคิดถึงและสร้างความคุ้นเคยกับนักร้องสาวเสียงใสคนใหม่ ก่อนปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่ 2 “SET” ออกมาภายใต้สังกัด Black Sheep Sony Music ในปีที่วงมีอายุครบ 10 ปีพอดี ไล่เลี่ยกับการรีมาสเตอร์อัลบั้ม “แสลง” ออกมาให้แฟนเพลงได้ฟังอีกด้วย ซึ่งภาพรวมของ SET นี้ได้ปรับให้ฟังง่ายและมีความลงตัวมากขึ้นกว่าเดิม และยังไม่ทิ้งจุดแข็งของวงที่นำเสนอดนตรีที่ทันสมัยและพิถีพิถันในการเรียบเรียงและบันทึกเสียง ถึงขั้นหอบผลงานไปทำมาสเตอร์ไกลถึงประเทศอังกฤษเลยทีเดียว
ภายในปกกล่องซีดีที่ไม่ระบุแม้กระทั่งชื่อวง ชื่ออัลบั้มหรือแม้กระทั่งรายชื่อเพลงนั้น สมาชิก Kidnappers ยังคงโปรดิวส์งานเองเหมือนเดิม โดยมีเมย์-ภควัฒน์ รับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการเขียนทำนองและเนื้อร้องในเพลงส่วนใหญ่อย่าง “ขอบคุณ”, “รักคือฉัน”, “ตายใจ” และเพลงบรรเลงกลิ่นอายอินเดียอย่าง Sweet Lassi, รวมถึงสมาชิกใหม่อย่างนู๋-มนต์ทิพย์ และเต๊าะ-จามร ก็ได้แสดงฝีมือทำเพลงเนื้อหากรุ้มกริ่ม ที่ลงตัวกับทำนองที่โดดเด่นด้วยลูปกลองอย่าง “ตามฉันมา” อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้พี่น้องเพื่อนฝูงในวงการมาช่วยเติมเต็มให้อัลบั้มสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอย่าง บอย-ตรัย ภูมิรัตน ที่มากับเพลง “ปล่อย” เพลงฮิตที่ยังคงได้ยินอยู่ทางคลื่นวิทยุ , พิซซ่า-ชัยบรรฑิต พืชผลทรัพย์ กับเพลง “สายเกินไป”, คงเดช จาตุรันต์รัศมี แห่งวงสี่เต่าเธอ ก็มาแสดงฝีมือเขียน 3 เพลงเด็ดอย่าง “ลอง” เพลงเต้นรำเนื้อหาแปลกใหม่ สอดรับกับเสียง Synthesizer ที่ช่วยทำให้เพลงมีมิติของเรื่องราวมากยิ่งขึ้น, เพลงรักจังหวะเต้นรำอย่าง “เธอเพียงคนเดียว” และ “ว่างวน” กับซาวน์ล่องลอยคลอไปกับเสียงเกรี้ยวกราดของกีตาร์ไฟฟ้า แต่เจือด้วยเสียงหวานๆของนู๋ ทำให้เพลงนี้ออกมาอย่างลงตัว, หลายคนที่ไม่คุ้นชินกับเพลง Electronic มักจะคิดว่าเป็นดนตรีที่ฟังยาก และเน้นไปทางเต้นรำเสียส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้วดนตรี Electronic นั้นแบ่งแยกย่อยออกไปมากมาย รวมกับดนตรีสายหลักแตกแขนงออกเป็นสำเนียงเพลงใหม่ๆ ในความคิดผม ดนตรี Electronic นั้นมักจะเป็นตัวแทนของความรู้สึกบางอย่างที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เครื่องดนตรีหลายๆชนิดจะสื่อสารออกมาได้ อยู่ที่ว่าศิลปินจะเลือกมาใช้ได้อย่างเหมาะสมมากแค่ไหน และในอัลบั้ม SET นี้สมาชิก Kidnappers ทุกคนทำมันออกมาได้สมบูรณ์แบบที่สุดไม่ว่าแง่ใด
ทุกวันนี้ฐานแฟนเพลงของ Kidnappers อาจจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยออกอัลบั้มแรก แต่ก็ยังไม่พอที่จะขับเคลื่อนให้วงการเพลง Electronic บ้านเราเติบโตไปไกลเหมือนที่อื่น หากจะบอกว่าดนตรีแบบ Kidnappers นั้นล้ำสมัยเกินไป ดนตรียุคนี้ก็คงล้าสมัยเกินไปแล้วผมว่า ใครที่ไม่คุ้นเคยกับเพลง Electronic ซักเท่าไหร่ก็ลองหันมาฟังดู เริ่มจากอัลบั้ม SET ของ Kidnapper นี่แหละ จะได้รู้ว่าเพลง Electronic นั้นฟังง่ายสุดๆ
“You can feel it all over, Everybody-all over people” Stevie Wonder ทิ้งท้ายเอาไว้ในเพลงเดิมเช่นนั้น
(สามารถอ่าน Music Side B แผ่นอื่นๆได้ที่ https://www.dooddot.com/tag/music-side-b/)
Writer: Daosook Panyawan
RECOMMENDED CONTENT
ภาพหายากที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนเมื่อ Harrison Ford หลุดขำ กลางรายการให้สัมภาษณ์รายการทีวีของอังกฤษ This Morning เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา #BladeRunner2049