ในวงการเพลงไทย หากพูดถึงเพลงแร็ป-ฮิบฮอป ชื่อแรกๆที่เรานึกขึ้นได้คงหนีไม่พ้น โจอี้บอย, Thaitanium, ดาจิม, สิงห์เหนือเสือใต้, Buddha Bless, South Side ฯลฯ แต่หากจะนึกย้อนกลับไป วงที่หลายๆคนในวงการเพลงแร็ป-ฮิบฮอปจะนึกถึงก็คงหนีไม่พ้น “TKO” ที่กรุยทางและเปิดพื้นที่ให้กับวงแร็ปแท้ๆ ในประเทศไทยให้ได้ออกมาแสดงฝีมือกันมายิ่งขึ้น แต่หากในวงกว้าง ชื่อและเพลงของ TKO อาจยังไม่เป็นที่รู้จักดีซักเท่าไหร่นัก
TKO (Technical Knock Out) เรียกได้ว่าเป็นวงที่รวมรวมสมาชิกหลากเชื้อชาติเอาไว้ด้วยกัน โดยมี ชัย รับหน้าที่ร้องนำในส่วนที่เป็นภาษาไทย ส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งการร้องทั้งเนื้อเพลงนั้นเป็นหน้าที่ของ Velma J Lelean สาวอังกฤษ และ Johann Helf หรือ D.J. sense ชาวแคนาดา โดยมี Alex Soto ชาวญี่ปุ่น รับหน้าที่ percussion และร้องประสาน TKO นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากที่ทั้ง 4 คนเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเพลงเหมือนกับหลายๆ วง แต่กลับเป็น “สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์” ที่มีความคิดอยากทำวงแร็ปขึ้นมาสักวง เพราะการซึมซับเอาอิทธิพลของเพลงแร็ป-ฮิปฮอปที่กระจายอยู่ทั่วนิวยอร์คเอาไว้ตั้งแต่สมัยที่เรียนด้าน Music Technology ที่ New York University จึงไม่แปลกที่สุกี้จะเลือกโปรดิวส์งานเพลงแร็ป-ฮิปฮอป แทนที่จะเป็นวงร็อคตามความชื่นชอบส่วนตัวที่มี และที่สำคัญในขณะนั้นเพลงแร็ป-ฮิปฮอปแท้ๆ ยังไม่แพร่หลายในวงการเพลงไทย จึงตามหาคนที่ใช่เพื่อสานฝันสำหรับวงที่คิดเอาไว้ และสุดท้ายก็ได้สมาชิกนานาชาติ 4 คนมาร่วมกันทำเพลง ก่อนจะหาค่ายเพลงเพื่อดูแลและจัดจำหน่ายในภายหลัง จนในปี 2536 “Original Thai Rap” ผลงานอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวของ TKO ก็มาลงเอยที่ คีตา เอนเตอร์เทนเม้นท์
อย่างที่กล่าวเอาไว้ข้างต้น นอกจากสุกี้จะทำหน้าที่โปรดิวเซอร์และเรียบเรียงเพลงเกือบทั้งหมดในอัลบั้มแล้ว ความน่าสนใจอีกอย่างของงานเพลงชิ้นนี้ คือการได้ศิลปินมากฝีมืออย่าง “ปฐมพร ปฐมพร” หรือ “พราย” มาเขียนเนื้อเพลงภาษาไทยถึงหกเพลง ทั้งเพลงเปิดอัลบั้มอย่าง “ว่าว” ที่ดูสองแง่สองง่าม และยังมีการถกเถียงในเรื่องความเหมาะสม-ไม่เหมาะสมของเนื้อหา ถึงขั้นโดนแบนไม่ให้เปิดออกอากาศ เพลงนี้สุกี้ได้ sampler เพลงสากลอย่าง “freedom” ของ George Michael และ “P-funk” ของ Parliament รวมถึงการโห่นำกลองยาวแบบไทยๆ เอามาใส่ไว้ เรียกว่าสื่อทั้งความเป็นไทยและสากลออกมาในเพลงเดียวกัน, “วิทยุ” ที่เรียกความสนใจจากคนฟังด้วยการ Sampler ประโยคจากเพลงดังๆในยุคนั้นเข้ามาไว้ด้วยกัน (จะมีเพลงอะไรบ้างต้องลองไปฟังดู) เนื้อเพลงที่สะท้อนชีวิตคนในยุคนั้น ที่เรียกได้ว่าวิทยุนั้นเป็นเพื่อนที่อยู่กับผู้คนแทบตลอดเวลา และที่สำคัญผมว่าในสมัยนั้น วิทยุเองก็มีอิทธิพลต่อทิศทางของวงการเพลงไทยอยู่ไม่น้อย, “T.K.O.” เพลงชื่อเดียวกับวง ที่เปรียบเปรยการใช้ชีวิตเหมือนกับการชกมวย ลีลาการเขียนเพลงแร็ปของพรายนั้นน่าสนใจอยู่ไม่น้อย, “นะจะบอกให้” หากจะเช็คอายุกันดู ผมว่าคนที่อายุ 35 ขึ้นไปน่าจะรู้ที่มาและคุ้นเคยกับคำว่า ..นะจะบอกให้.. จากผู้ประกาศข่าวภาคสนามชื่อดัง ที่ต้องลงท้ายการรายงานด้วยประโยคนี้เสมอ เพลงนี้พรายหยิบเอาคำมาใช้ในเพลง พร้อมกับเนื้อหาแนะนำสมาชิกและโปรดิวเซอร์ออกมาอย่างขบขัน, “หยุด” เพลงฮิปฮอปจังหวะดุดันสูสีกับเนื้อหาขบถๆ เอามาเปิดฟังตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่ามันไม่เชยไปตามกาลเวลาเลยสักนิด, “ฝัน” เป็นเพลงแรกที่ผมได้ฟังจาก TKO และยังเป็นเพลงที่ผมรักที่สุดตลอดมา ทั้งท่วงทำนองที่สุกี้แต่ง ทั้งเนื้อเพลงที่พรายบรรจงเขียนขึ้นมานั้นงดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้
นอกจากนี้ TKO ได้นำเพลงเก่า 2 เพลงมาเรียบเรียงและนำเสนอในรูปแบบของ TKO อย่าง คนขี้เหงา (ต้นฉบับ นีโน่ เมทนี บุรณศิริ) และ สี่แยกในดวงใจ (ต้นฉบับ สามโทน) ที่ทำให้ความเหงาของ “คนขี้เหงา” ดูมีจังหวะขึ้นมาเล็กน้อย แถมออกไปทางเพลย์บอยขี้เหงาเสียมากกว่า และการเพิ่มดีกรีความแรงของ “สี่แยกในดวงใจ” ขึ้นมาเล็กน้อย อ้อ เรื่องปัญหารถติดในเพลงนี่ทันสมัยดีนะครับ หลายสิบปีก่อนติดยังไง ปัจจุบันก็ยังติดอย่างนั้นอยู่ ประเด็นนำล้ำสมัยกว่าเพลงอีกแน่ะ, อีกเพลงที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คงเป็น “เพลงช้าๆ” ที่ได้ บอยด์ โกสิยพงษ์ มาเขียนเนื้อเพลงให้ เป็น R&B ที่ฟังติดหูอยู่ไม่น้อยเลยครับ
เสียงตอบรับของ TKO – Original Thai Rap อาจจะไม่เป็นวงกว้างนัก หากเทียบกับนักร้องเพลงป๊อบหรือเพลงร็อคในยุคเดียวกันที่ออกมา แต่การที่สุกี้ โปรดิวส์วงหัวสมัยใหม่อย่าง TKO ออกมาในสมัยนั้นถือเป็นการจุดประกายให้เพลงแร็ปและฮิปฮอปแพร่หลายมากขึ้นในหลายๆปีต่อมา หากจะว่าไป ผมเองก็ไม่ได้เริ่มต้นฟัง TKO ตั้งแต่ยุคที่ออกมาตอนแรกๆ แต่กลับมาหาฟังในยุคหลังๆ ตอนที่วงการเพลงแร็ป-ฮิปฮอปเริ่มเป็นที่แพร่หลาย, โจอี้บอยโด่งดังจากเพลง “ลอยทะเล” ในอัลบั้ม Joey Man และการมีอยู่ของ Bakery Music ทำให้ผมพยายามตามหางานเก่าๆ ที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่กำลังฟังอยู่ ถึงได้พบคุณงามความดีของอัลบั้มนี้ภายหลัง และทำให้พบว่า ถึงเราจะฟังเพลงมากมาย แต่หลายครั้งเราก็ยังพลาดที่สิ่งดีๆ ที่เคยมีอยู่ไม่น้อยเลย
(สามารถอ่าน Music Side B แผ่นอื่นๆได้ที่ https://www.dooddot.com/tag/music-side-b/)
Writer: Daosook Panyawan
RECOMMENDED CONTENT
ผลงานของ อาจารย์ Osamu Tezuka 'Astro Boy'