วงการหนังไทยตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังเป็นที่จับตามองจากต่างประเทศพอสมควร มีผู้กำกับไทยหลายชื่อที่ผลงานของพวกเขาไปคว้ารางวัลจากเวทีระดับโลก หนึ่งในผู้กำกับเหล่านั้นคือ “เต๋อ นวพล” คนทำหนังอายุน้อยที่เป็นเหมือนกระบอกเสียงของวัยรุ่นไทยยุคใหม่ กับประเด็นหนังเรื่องต่างๆที่ตัวเขาเองดูจะเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่าใครเพื่อนอย่างเช่น 36 (2012). Mary Is Happy, Mary Is Happy (2013) สองเรื่องข้างต้นนี้นอกจากจะไปคว้ารางวัลตามเทศกาลหนังนานาชาติที่ประเทศต่างๆ ถ้ายังจำกันได้ทั้งตัวหนัง นักแสดง ตัวละครก็ได้สร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่ให้กับวงการหนังนอกกระแสในเมืองไทยในช่วง 2-3 ปีหลัง วันนี้คอลัมน์ Dooddot Visit เราจะมาพูดคุยกับนวพล ถึงชีวิตและผลงานชิ้นต่อไปของเขากัน…
ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง?
ตอนนี้เรามีสารคดีชื่อ The master ครับ ไม่รู้ว่ามันจะเป็นชื่อชั่วคราวหรือถาวร น่าจะถาวรพอสมควรแล้วล่ะ มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “วิดีโอร้านพี่แว่น” เด็กยุคนี้อาจจะไม่รู้จัก แต่พูดง่ายๆเค้าเหมือน BitTorrent ใน 20 ปีที่แล้ว คือเค้าเป็นร้านขายวิดีโอผี (วิดีโอผิดลิขสิทธิ์) ที่เป็นพวกหนังอาร์ต หนังนอกกระแส สมัยนั้นมันไม่มีลิโด้ หรือ house ให้ดูหนังพวกนี้ พวกเราก็ต้องดูจากร้านพี่แว่นกัน เราเชื่อว่าผู้กำกับทั้งหลาย ทั้งพี่ย้ง พี่โต้ง พี่ต้อม เป็นเอก ทุกคนต้องผ่านร้านนั้นมาหมด คือเลยรู้สึกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ ที่เราต้องบันทึกไว้ แล้วก็เดี๋ยวงานหนังสือปีนี้จะมีรวมเล่ม Made in Thailand 2 เป็นคอลัมน์ที่อยู่ใน aday อันนี้เป็นเล่มสองละ มันจะรวมทุกๆสองปี เราเขียนมาได้สี่ปีละ นานแล้วเหมือนกันนะ ก็ไม่รู้จะมีเล่มสามรึเปล่า แล้วเสร็จจากงานหนังสือ ก็จะมีไปเสนอหนังเรื่องล่าสุดนี้ ตามเทศกาลหนังประเทศต่างๆครับ
Made in Thailand ทำไมถึงเกิดเป็นคอลัมน์นี้ขึ้นมา?
เราชอบของไทยๆที่มันอยู่รอบๆตัว เราว่ามันบ้านๆดี แล้วสำหรับเรา เราว่ามันเป็นศิลปะในตัวของมันเอง ซึ่งจริงๆ คำว่า “ศิลปะ” ของเราอาจจะเข้าใจผิดก็ได้นะ (หัวเราะ) เราว่าศิลปะมันคืออะไรก็ได้ แล้วของบ้านๆที่เราเห็นทั่วๆไป มันไม่มีฟอร์มไรเลย มันไม่มีทฤษฎี มันไม่มีสำนักวิธีคิดอะไรทั้งนั้น มันคือเกิดขึ้นเพราะฟังก์ชั่นการใช้ชีวิตจริงๆ แล้วบางอันมันก็สวย หรือบางอันมันก็เซอร์มาก บางอันเราก็คิดไม่ถึง อย่างล่าสุดมีเพลง “คุกกี้รัน คั่นเวลา” เราแบบ เหี้ย มันแต่งได้ไงวะ คือมัน Beyond กว่าทุกสำนักเลย แล้วส่วนตัวเราว่าของพวกนี้มันดีสำหรับเรานะ แต่ไม่เคยมีใครบันทึกมันไว้เลย เราก็คิดว่า เออ งั้นเราเองนี่ล่ะจะเป็นคนเขียนเอาไว้ เพราะถ้าไม่เขียนไว้ อาทิตย์หน้าก็คงลืมแล้ว ของพวกนี้มันเล็กซะจนแบบ… บวกกับยุคนี้มันเร็วมาก ทุกอย่างมันจะหายไปกับกาลเวลา ถ้าไม่เขียนเอาไว้
เริ่มฝันอยากทำหนังตั้งแต่เมื่อไร?
คงเป็น ม.ปลาย มั้งครับ นานแล้วล่ะ แต่ยุคนั้นมันไม่มีอุปกรณ์ เราก็ต้องรอจนถึงเรียนมหาลัยปี 2 ซึ่งก็ไม่ใช่ว่ามีอุปกรณ์นะ แต่มีพี่ที่คณะให้ยืมกล้องวิดีโอ Hi8 ซึ่งตอนนั้นมันก็ถือว่าเก่ามากอะ เค้าก็แบบมึงเอาไปเถอะ ก็เลยได้ลองทำหนังสั้นบ้าง พอเราเริ่มทำหนังตั้งแต่ปี 2 เราก็ทำมาเรื่อยๆ ทำได้สามสี่เรื่อง ย้อนกลับไปดูมันเหมือนตอนนั้นเราซ้อมมากกว่า ก็ซ้อมทำไปเรื่อยๆ จนเรียนจบก็ส่งงาน Fat Film ของคลื่น Fat Radio มันเป็นงานประกวดหนังสั้น ที่ตอนนี้ก็ไม่มีละ สมัยนั้นเด็กๆส่งกันทั้งประเทศ แล้วเราส่งไปชื่อเรื่อง “See” ได้รางวัลที่ 2 แล้วก็ Popular Vote จนวันนึงเราไปยื่นฝึกงานที่ GTH พอเอาพอร์ตไปให้เค้าดู เค้าจำงานเราได้ เค้าก็ถามว่า น้องเป็นคนทำเรื่องนี้เหรอ เออ มันโอเคนะ งั้นเรามาลองเขียนบทมั้ย ก็เลยลองไปเขียนบททั้งๆที่ตอนแรกกะจะไปฝึกตัดต่อ
ตอนแรกที่เข้าไปใน GTH เป็นอย่างไร?
สำหรับเรา เราว่า GTH มันเป็นเหมือนเรียนต่อปริญญาโทอะ เราชอบพูดตลกๆนะว่ามา GTH เหมือนมาเรียน มันดีตรงที่ว่า ที่นั่นเค้ามีความเป็นโรงเรียน เหมือนเค้าสอนจริงๆ มันไม่ใช่แค่ โอเคมึงไปซีร็อกซิ ไปพิมพ์บท เหมือนเค้าต้งใจ Train เด็กจริงๆ มีแบบวันพิเศษวันเสาร์ เรามาดูกันว่าฉากนี้ของหนังเรื่องนี้มันอะไรยังไง เรารู้สึกว่าเราโชคดีมากเลยที่ได้มาเจอที่นี่ เราทำหนังสั้นจนถึงเรียนจบตอนแรก มันก็เหมือนเป็นตำราที่เรียนรู้ตัวเอง พอมาที่นี่เราถึงได้เข้าใจการทำหนังแบบเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วพอทำไปสักพัก ก็ได้ลองเขียนบท รถไฟฟ้ามาหานะเธอจริงๆเลย ก็เหมือนเรียนต่อป. โท เขียนบท เหมือนกันเนอะ (หัวเราะ)
รถไฟฟ้ามาหานะเธอ คือ การเขียนบทหนังยาวเรื่องแรก?
ใช่ครับ
เขียนบทหนังยาวยากไหม?
โห ตอนนั้นเรารู้สึกดาวน์เลยนะ แบบเห้ยกูห่วยมากนี่หว่า คือมันเขียนไม่ได้อะ ตอนนั้นเราทำหนังสั้นแล้วเราก็ได้รางวัลมาใช่ปะ ก็คิดแบบเด็กๆว่ากูอินดี้ๆ แล้วหนัง Mass หนังกระแสมันคงไม่ยากหรอก ก็คิดแบบเด็กๆนะ พอไปเขียนจริงมันเหมือนเราวิ่ง 4X100 แล้วอยู่ดีๆต้องไปวิ่งมาราธอนอะ มันจะวิ่งเร็วแบบเดิมไม่ได้แล้ว มันต้องรู้วิธีผ่อนแรงให้ครบระยะทาง ไอ้ที่ชอบบอกว่าทำหนัง Mass ง่าย ทำจริงๆเราว่ามันไม่เห็นง่ายเลย เราว่ามันก็เป็นศิลปะในแบบของมันประมาณนึงนะ มันกลายเป็นเราต้องสื่อสารกับคนจำนวนมากแล้วต้องทำให้เค้าเก็ตไปกับเรา พอผ่านมาเรารู้สึกว่าเราโชคดีที่เราได้ทำงานทั้งสองฝั่ง จะหนังกระแสหรือนอกกระแสมันโอนถ่ายกันได้ ไม่จำเป็นต้องไปตีกรอบตายตัว เพียงแต่ต้องเลือกใช้เท่านั้นเอง พอจบจากรถไฟฟ้ามาหานะเธอ มันก็จะมีงานอย่างพวกซีรี่ส์ เขียนบท 6 คน เป็นสไตล์ระดมความคิด เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราไม่ถนัดเลย เราทำๆไปแล้วเราก็รู้สึกว่าคนเยอะขนาดนี้เราทำไม่ไหว คือที่ GTH ดีอย่างที่เค้าจะเข้าใจธรรมชาติของเรา พอบอกเค้า หลังจากนั้นก็ได้ทำคนเดียวเลยครับ (หัวเราะ) อย่าง “วัยรุ่นพันล้าน (Top Secret)” พอเราอ่านแล้ว เราบอกเค้าเลยว่ามันเข้ามือเรา ขอลองได้มั้ย เค้าก็ให้ลอง สำหรับเรา ในแง่การทำงาน Top Secret มันเลยเหมือน ปริญญาเอก ครับ เพราะใช้เวลาเขียนประมาณปีครึ่ง ก็เหมือนเรียนแล้วทำวิจัยคนเดียวจริงๆ
“36” เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ช่วงนั้นพอเราอยู่ว่างๆ มันเป็นช่วงที่อยากลองทำอะไรก็ลองอะครับ เราก็ซื้อกล้อง DSLR ซื้อเครื่องอัดเสียงมา ด้วยความคิดที่ว่าถ้าวันไหนอยากทำหนังซักเรื่องเล็กๆเราก็จะได้ทำได้เลย ไม่ต้องไปรออะไรมาก ทีนี้ของก็พอมี เงินเก็บก็พอมี โอเคเราคิดว่าเราพร้อมแล้วล่ะ ก็เลยคิดอยากทำหนังซักเรื่องที่ไม่ต้องแพงอะไรมาก แล้วก็กะยกโปรเจคเตอร์ไปฉายหอศิลป์ไม่ได้กะจะเข้าโรง ไม่ได้คิดว่าจะส่งประกวดอะไรเลย เพราะเราไม่ได้อยากจะเป็นหนังที่ต้องเวียนฉายเทศกาลก่อนทั่วโลก หนังเรามันค่อนข้าง Local ประมาณนึง คือเราพูดในสิ่งที่ คนเอเชียเข้าใจ มันมี Love Stories ที่คนไทยเข้าใจ ทีมโปรดักชั่นกันก็เล็กมากๆ ทำกันกับคนรู้จักเกือบสิบคนเองครับ ตอนแรกเราคิดอะไรทุกอย่างให้มันเล็กมากๆ เราไม่อยากคิดอะไรที่มันใหญ่เลยตอนนั้น ไม่อยากมีแบบเจ๊งแล้วต้องขายบ้านต้องเป็นหนี้อะไรขนาดนั้น คือก็คิดเผื่อเจ๊งเลยนะ บอกตัวเองว่าสมมุติขาดทุน 50,000 ก็คิดว่าได้เรียนหนังสือละกัน เหมือนเสียเงินเรียนทำหนังสร้างหนัง มันก็ได้เรียนรู้อะไรสักอย่าง เพราะเอาจริงๆเงินเท่านี้มันก็เหมือนเราไปเที่ยวต่างประเทศสักที่ ก็คิดว่าเปลี่ยนจากเที่ยว มาเป็นทำหนัง
เสียงตอบรับที่ได้หลังจากเรื่อง 36 ทำให้มีผลกับเราเยอะไหม?
เราพยายามไม่คิดถึงเครดิตเก่าๆของเราขนาดนั้นนะ โอเค มันอาจจะช่วยให้เราเป็นที่จดจำได้ แต่ตัวชิ้นงาน เวลาเราทำงานใหม่เราพยายามจะลืมตัวเก่าทิ้งให้หมด อดีตเป็นเรื่องหนึ่ง แต่งานใหม่เป็นอีกเรื่อง คือขอแค่ว่าครั้งใหม่อย่าทำให้มันชุ่ยเท่านั้นเอง เราไม่มีทางรู้ว่าไอ้งานชิ้นต่อไป มันจะดีหรือไม่ดี พวกรางวัลที่ผ่านมามันการันตีอะไรไม่ได้เลย เพราะเราเชื่อว่าอีกสามสี่ปีเราว่าคนก็ลืมแล้วเราได้รางวัลอะไรมาบ้าง แต่สิ่งที่อยู่ตลอดไปมันคือตัวหนัง ทำหนังมันไม่เหมือนว่ายน้ำ แบบวันนี้ว่ายได้ 50 พรุ่งนี้วันต่อๆไปก็ต้องว่ายได้ 100 ผิดกับทำหนังมันทำเสร็จก็กลับไปเริ่มที่ 0 ทุกครั้ง เว้นแต่ว่าคุณจะทำหนังแบบเดิมเรื่อยๆ แบบ 36 ขายได้ เราทำ 37 ต่อก็ละกัน แต่แค่ส่วนตัวเราไม่ชอบแบบนั้นไง เราชอบโดดไปโดดมามากกว่า อย่าง 36 กล้องเดินนิ่งๆ Mary is Happy, Mary is Happy กล้องเหวี่ยงมาก ล่าสุดนี้ Master ก็เป็น Documentary ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะออกมาห่วยก็ได้นะ (หัวเราะ)
ทำไมหนังของนวพล ถึงชอบวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องวัยรุ่น?
(หัวเราะ) นี่ก็น่าจะใกล้หมดแล้วล่ะครับ ก็สองเรื่องแล้ว อืม คิดก่อนนะ ทำไมต้องวัยรุ่น มันเป็นคำถามที่เราไม่เคยคิดจริงๆจังๆเหมือนกัน เราว่าคงเป็นเพราโซนช่วงม.ปลายถึงมหาวิทยาลัย มันกำลังโต แล้วเราโชคดีที่เราเป็นคนจำความรู้สึกในช่วงเวลาของชีวิตได้ดีเป็นพิเศษ ยิ่งความเป็นเด็กเป็นวัยรุ่นมันจะมีเรื่องให้พูดถึงเยอะมาก ถ้าสังกตดูวัยรุ่นในหนังเราจะไม่ได้สดใสร่าเริง มันจะมีคำถามกับสังคม อย่างตัวละคร เมธาวี มันก็เหมือน ม. 6 ของเรา คือเราไม่ได้สมัครประธานนักเรียนนะ แต่เราจำความรู้สึกของคนอื่นๆตอนนั้นได้ ว่าเพื่อนๆในโรงเรียนมันรู้ยังไง คุยอะไรกัน ก็เอาเป็นว่าคนที่ชอบบอกว่าเราชอบทำหนังเด็กผู้หญิง เดี๋ยวเตรียมดูเรื่องหน้านี้ได้เลยครับ เรื่องนี้ผู้ชายทั้งเรื่องแน่นอน (หัวเราะ)
สำหรับนวพล งานบทกับงานภาพสื่งไหนมาก่อน?
เราว่าของเราเป็นบทนะ แต่หลังๆมานี้เราก็พยายามศึกษา พัฒนาเรื่องภาพมากขึ้น เพราะว่าเรื่อง Visual เราไม่เก่ง คือสำหรับเรา บท มันจะเป็นหลักประกันอย่างนึงว่าหนังจะไม่เหี้ยมาก ลองสังเกตดูว่าถ้าหนังที่ภาพไม่สวยมาก คนจะไม่ค่อยว่าอะไรกันหรอก แต่ถ้าหนังเรื่องไหนมันเนื้อหาไม่สนุกอะคนจะมีปัญหาละ มันเหมือนกับเขียนเรื่องสั้นลงกระดาษหรือลง iPad หรือลงอะไรก็ตาม ถ้าเรื่องเวิร์คมันก็เวิร์ค ไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นกำแพง บนกระดาษ บนโต๊ะหรืออะไร อย่างกลอนหลังเบาะรถเมล์นั่นอ่านแล้วก็สนุกดีนะ อืม เรื่องบทสำหรับเราเป็นเรื่องสำคัญมาก
เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำหนัง?
โห มันมีหลายเรื่องเลยครับ แต่ อืม… สิ่งที่ได้ชัดสุดของเราน่าจะเป็นเรื่อง สติ เพราะการทำหนังมันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบขั้นสูงมากๆ มันจะไม่มีอะไรที่ได้ดั่งใจสักอย่าง เช่นอันนี้ไม่ได้จะทำยังไง นักแสดงเล่นอันนี้ไม่ได้จะทำยังไง ถ่ายไม่ได้ทำไง หาพร็อพไม่ได้ทำยังไง เปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนแล้วเหมือนเดิมรึเปล่า ถ่ายแบบอื่นได้ไหม มันต้องแก้ปัญหาตลอดเวลา มันไม่มีอะไรแน่ใจได้เลย มันต้องลองอย่างเดียว บางอย่างเราคิดมากตอนถ่าย แต่พอทำออกมามันอาจจะไม่ได้คิดขนาดนั้นก็ได้ เหมือนถ่ายรูปฟิล์มเลย ตอนถ่ายก็ลองถ่ายก่อน แต่พอล้างฟิล์มเสร็จออกมา ดูแล้ว ตัดต่อแล้ว เวิร์คไม่เวิร์คมันอีกเรื่องเลย ก็คงเป็นเรื่องของประสบการณ์ของผู้กำกับล่ะครับ ก็เหมือนเวลาคนที่ทำอะไรบ่อยๆ พอชำนาญมันจะเริ่มรู้ว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันไหนแย่ก็เลิกทำ
วงการหนังนอกกระแสในเมืองไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ดีขึ้นครับ แต่ก่อนหนังอินดี้มันเหมือนเป็นเกาะ เกาะอันโดดเดี่ยว แล้วที่สำคัญคือเราไม่พยายามสร้างสะพานกันด้วยนะ แบบคนที่อยากมาดูต้องว่ายน้ำเข้ามาเอง คือพื้นฐานเรื่องศิลปะบ้านเรามันก็เล็กอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะแบ่งแยกเกาะกันมากกว่านี้ เราได้ยินบ่อยหลายคนชอบพูดกันว่า “อยากให้ศิลปะกับชีวิตมันใกล้กันมากขึ้น” แล้วทำไมคุณไม่ทำล่ะ อยากให้คนรักศิลปะแต่ก็ชอบตัดขาดตัวเองไปอยู่ในโลกตัวเองอยู่ดี ไม่พยายามเชื่อมโยงอะไรเลย ของเราตอนฉาย 36 ถึงเราเป็นหนังนอกกระแส แต่ตอนนั้นเราตั้งเป้าเลยว่า ยังไงจะโรงเล็กแค่ไหน เราต้องฉายที่สยาม เพราะเราต้องพยายามเชื่อมกับคนด้วย ไปฉายที่อื่นคนเขาก็ไม่พยายามตามไปหรอก อีกอย่างคือโชคดีที่ยุคสมัยนี้พวก Social Media มันช่วยเยอะมาก มันทำให้ทุกอย่างเชื่อมถึงกันมากขึ้น อย่างงานของเรา Mary is Happy ก็ดีครับมีคนมาดูเยอะมาก แต่ที่น่ายินดีกว่าก็หนังอย่าง “ผู้บ่าวไทบ้าน” ตอนเราเห็นเรื่องนั้นเราแบบ “เชี่ย เค้าได้ตั้ง 5 ล้าน แล้วกูจะมาดีใจอะไรวะเนี่ย นั่นอะของจริง” คือมันเป็นหนังอินดี้ที่มันอยู่รอดได้จริงๆ แต่โอเคหนังเค้ากับหนังเราก็มีกลุ่มคนดู มีคอนเทนต์กันคนละแบบ ก็เป็นเรื่องที่ต้องถามตัวเองครับ ว่าเราต้องการอะไร ถ้าเรายืนยันจะทำหนังแบบนี้ มันก็จะสื่อสารได้แถวๆนี้ล่ะ
แล้วต่อไปมีโอกาสที่จะได้เห็นทำหนังฟอร์มใหญ่บ้างไหม?
ก็ไม่แน่นะครับ ก็คิดว่าวันนึงเราอาจจะลองเล่นสนามใหญ่เหมือนกัน คือเราไม่ได้ Anti ความเป็นกระแส แบบต้องรักษาความนอกกระแสเล็กๆแบบนี้ไปตลอด เราไม่ได้เป็นแบบนั้น เอาเข้าจริงผู้กำกับดังๆทั้งหลาย ง่ายๆก็ Christopher Nolan งานเรื่องแรกๆ อย่าง Memento (2000) เราว่ามันเป็นใบเบิกทางไปสู่ Hollywood ของเค้า ปัจจุบันตอนนี้เค้าทำทั้ง Inception (2010) , Interstellar (2014) อะไรเยอะแยะไปหมด ย้อนกลับไปมองหนังเก่าๆของเค้าแบบเห้ยนี่มันคือผู้กำกับคนเดียวกันนะเว่ย ตอนแรกคือซุปเปอร์อินดี้เลย ซึ่งถ้าถามเราด้านตัวหนัง เราก็ว่าไม่แย่นะ ยิ่งมองในมุมคนทำหนังเราว่ามันสนุกมากขึ้นด้วย คือเราทำอะไรได้มากขึ้น พอทุนเยอะขึ้น อุปกรณ์ก็พร้อมขึ้น เอานักแสดงบางคนมาเล่นได้ ที่เราอาจจะชอบเค้ามาตั้งนานแล้วแต่ตอนแรกหนังเราเล็กมากเค้าก็อาจจะไม่เล่น แต่แน่นอนล่ะ พอมันเป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้น สิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงของการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
มีผู้กำกับบ้านเราที่ชอบในดวงใจบ้างไหมครับ?
คำถามนี้ยากจัง… ก็มีเยอะนะครับ แต่สมมุติยุคเราสมัยเด็ก ก็จะมี พี่ต้อม เป็นเอก แล้วก็ พี่เจ้ย ตอนนั้นเรา ม. 4 ม.5 สองคนนี้ก็จะเหมือนสองฝั่ง หนังของพี่ต้อมก็จะเล่าเรื่องสนุก แล้วก็เล่าเรื่องไม่เหมือนคนอื่นเท่าไร ดูแล้วแบบมันจะเดาทางไม่ค่อยได้ มันจะทำให้น่าติดตาม ส่วนฝั่งหนังพี่เจ้ยเค้าจะเป็นสายทดลองหน่อย คือสำหรับเค้า หนังมันไม่จำเป็นต้องมีสตอรี่ก็ได้ หนังมันคือ Moving Image คือภาพและเสียงมาประกอบกันเป็นสิ่งสิ่งหนึ่ง เราเองก็รู้สึกว่าเราพยายามเอาสองคนนี้มาผสมกัน แล้วก็พยายามเลือกสิ่งที่น่าสนใจมาจากสองคนนั้น แล้วบางทีก็มีศิลปินนะ เราก็ชอบอย่างพี่ “วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์” มันมีอยู่ช่วงนึงเราได้ทำงานกับเค้า แล้วเค้าเป็น Artist ที่ตลกอะ คืองานเค้ามันตลกแล้วก็สนุกด้วย เราอาจจะได้จากเค้ามาด้วยแหละ เพราะเค้าก็เคยพูดแนวคิดที่เราพูดไปตะกี้ว่า “ถ้าอยากให้ศิลปะมันใกล้คน เราก็ต้องไปโป๊งชึ่งกับเค้า” เออ ก็จะเป็นคำตลกๆอะไรแบบนี้ เราก็คิดว่าคนนี้แจ๋วดี
แล้วถ้าในต่างประเทศล่ะครับ?
ผู้กำกับใช่ไหมครับ? เดี๋ยวนะ ต้องคิดก่อนครับ ถ้าให้คิดเร็วๆก็คงมีสองคนครับ ก็มีชื่อ “Harmony Korine” ครับที่ล่าสุดเค้าเพิ่งทำ “Spring Breakers (2012)” ไป เราดูงานเค้าครบเหมือนกันนะ คือมันคาดเดาไม่ได้อะ เราไม่รู้ว่าคนนี้จะทำอะไรต่อไป ซึ่งจริงๆคอนเทต์งานที่เค้าทำมันก็ไม่เหมือนของเราเลยนะ แต่เราชอบวิธีการคิดแบบ กุเอาแบบนี้ล่ะ กุลองไปเลย มีเรื่องนึงถ้ายด้วยกล้องวิดีโอทั้งอัน เถื่อนๆ แล้วเราแบบ เชี่ย มันสวยว่ะ คือมันต้องใช้ความกล้าหาญในการทำสิ่งนี้เยอะมาก เพราะแม่งอาจจะออกมาห่วยเลยก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เค้าทำหนัง มันจะมี element อะไรพวกนี้อยู่ แบบรอบนี้จะทำอะไรวะ รอบนี้จะทำอะไรวะ เนี่ย (หัวเราะ) พอเริ่มแก่ตัวลงเริ่มรู้สึกว่า เราอาจจะไม่ได้ชอบผู้กำกับที่ทำงานออกมาดีที่สุด แต่เราจะชอบผู้กำกับที่ เราคาดเดาไม่ได้ ว่าเรื่องหน้าเค้าจะทำอะไร เพราะว่าเค้าจะลองอะไรใหม่ๆตลอดเวลา แล้วอีกคนหนึ่งก็อาจจะเป็นแบบ ชื่อ “Roy Anderson” ครับ เป็นผู้กำกับ Sweden เนี่ยเพิ่งได้สิงโตทองคำไป เมื่อไม่นานนี้ คนนี้เป็นลุงแก่แล้ว แต่ว่าเค้าทำหนังเรื่องนึงประมาณ 7 ปี เพราะว่าหนังทั้งเรื่องของเค้าถ่ายในสตูดิโอหมดเลย หมายถึงว่าทั้งฉากกลางวันอะไรอย่างนี้ด้วยนะ สมมุติเรามองไปแบบนี้ (ทำมืออธิบาย) เนี่ย คือเค้าเอาฉากตอกขึ้นมาหมดเลยมุมนึง คือกล้องจะห้ามขยับเลย ถ้าขยับจะเห็นเซทเลยไง ก็จะถ่ายได้มุมเดียว เปอร์เดียว (Perspective) เราเลยรู้สึกว่างานมันคราฟท์มาก มันไม่ได้ถ่ายความจริง แต่มันสร้างความจริงขึ้นมาใหม่ทั้งอันเลย เรารู้สึกว่ามัน “ซุปเปอร์คราฟท์” อะ คือแบบทีนี้กูไม่สงสัยเลยทำไมต้อง 7 ปี คือเราเคยดูเบื้องหลัง ถ้าทำกำแพง ก็ต้องทำกำแพงแกะสลักขึ้นมาใหม่เลย คราฟท์ละเอียดเหมือนแบบจะเอากล้องมาถ่ายใกล้ๆ แต่จริงๆถ่ายไกลมาก เลยรู้สึกว่าทุกคนเค้าละเอียดมาก คือต่อให้ดูไม่เอาเนื้อเรื่อง ดูเป็น Shot ดูเป็น Scene ก็แจ๋วมากแล้ว มันจบในตัวเองมากๆเลย เออ เราชอบดูอะไรพวกนี้นะ มันดูแล้วมันมีแรงบันดาลใจในการทำงานขึ้นมากเลย (หัวเราะ)
ทีนี้ถ้าเป็นหนัง มีชอบเรื่องไหนเป็นพิเศษบ้างไหมครับ?
อืม หนังนี่ก็มีหลายเรื่องเลยครับ เดี๋ยวนะ… ไม่อยากตอบเรื่องเดิมๆแล้ว เราดูหลายแบบเลยหลังๆ อืม… เห้ยนึกไม่ออกจริงๆ งั้นเอากลับไปเป็นหนังเรื่องเก่าๆละกัน อ่ะ เรื่องนี้ก็ได้ อย่างแบบ “Gummo (1997)” หนังของ Harmony Korine ที่บอกไปนี่ล่ะ มันจะเป็นรวมฟุตเทจภาพชานเมืองอเมริกา ที่มันจะเละๆมั่วๆหน่อย แล้วมันก็จะมีคนประหลาดๆเยอะมาก อืม มันต้องเป็นเค้าคนนี้ล่ะที่ทำ แบบเละๆดูดยาอะไรแบบนั้น มันถึงลงไปคลุกคลีกับแก๊งค์ได้ มันมีความกึ่งแสดงกึ่งจริงอยู่ มันเป็นหนังที่สำหรับเรา มันใช้พลังงานของภาพและการตัดต่อสูงมาก มันเป็นหนังที่ประสิทธิภาพของภาพยนตร์เต็มที่ จริงๆมันก็มีเรื่องอื่นๆที่ชอบแหละครับ แต่ถ้าตอบ “Run Lola Run (หนังปี 1998 ผลงานของผู้กำกับชาวเยอรมัน Tom Tykwer)” มันก็คงจะเป็นการตอบครั้งที่ 25 แล้วมั้ง (ยิ้ม) คือง่ายๆเราชอบหนังที่ อย่างที่บอกคือมันอาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่มันจะมี Element อะไรที่น่าสนใจอยู่สำหรับเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ทุกวันนี้นอกจากภาพยนตร์ มีสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษอีก?
ช่วงนี้สนใจสถาปัตย์ครับ ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะ แล้วส่วนตัวก็ไม่ได้มีความรู้อะไรเลย รู้แต่ว่าชอบดูขึ้นเยอะมาก คือเราเริ่มรู้สึกว่าเรื่อง Space แม่งมีผลต่อความสัมพันธ์ของคนมาก หลังๆมานี้เวลาไปเที่ยว เมืองที่ตึกน่าเบื่อ เราจะรู้สึก Depress มาก มันเหมือนเราต้องเดินจากจุดจุดนึงไปอีกที่หนึ่งเพื่อจะเห็นสิ่งที่เราชอบ ผิดกันกับเวลาเราไปเดินในที่ที่เราชอบตึกของเค้าหมดเลย ตอนนั้นไป Bucharest, Romania ไปเจอพวกตึกคอมมิวนิสต์เก่าที่เป็นแนว Brutalism หินๆแข็งๆ มันสวย มันดูเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มันกลายเดินไปทางไหนก็เที่ยวได้ เดินไปเถอะ เดินไปเลย เดี๋ยวนี้เวลาไปเที่ยวก็จะพยายามดูก่อนว่าตึกบ้านเค้าสวยมั้ย (หัวเราะ) หรืออย่าง Venice เราก็ชอบนะ เค้าอาจจะไม่ได้ดูแข็งๆแต่บ้านเมืองเค้าสวย ดูมีซอกเล็กซอกน้อยลึกลับ มันจะอารมณ์เหมือนกับ Hong Kong ของยุโรปอะ Hong Kong เราก็ชอบ London น่าเบื่อมาก มีแต่ตึกแถวๆทั้งเมืองเรารู้สึกเลยว่าโคตรน่าเบื่อ Taipei ก็ดีนะ มันจะคล้ายๆญี่ปุ่น แบบเดินทางไหนก็ได้สวยจัง ป้ายมี Typography สวยๆดีๆ เรารู้สึกเพลินกับอะไรแบบนี้มากกว่า ก็เลยคิดว่าเราน่าจะกำลังสนใจเรื่องสถาปัตย์อยู่ครับ
มีคำแนะนำอะไรสำหรับคนอยากเริ่มทำหนัง?
ต้องลองทำครับ ลองผิดลองถูก แล้วก็ต้องลองโดนด่า ลองให้เพื่อนดู ถ้างานที่มันเวิร์คจริงๆเพื่อนมันก็คงไม่ด่าหรอก มันเหมือนเราดูพวกคลิป Viral สนุกๆ เราก็จะรู้เลยว่าอันนี้สนุก อันนี้ดี อันนี้เวิร์ค การทำหนังอย่างที่บอกคือมันไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ต้องลองทำดูเท่านั้นถึงจะรู้ว่ามันดีไม่ดี ต้องทำบ่อยๆ เดี๋ยวนี้วิดีโอมันก็ไม่ตายตัวแล้ว คุณจะทำคลิป ทำ Slideshow ทุกอย่างมันก็คือวิดีโอทั้งนั้น สำคัญคือต้องลองทำดูครับ ไม่มีอะไรจะเป็นคำแนะนำที่ดีไปกว่าการนี้อีกแล้ว (หัวเราะ) ต้องลองทำเท่านั้น
อะไรคือสิ่งสำคัญที่จำเป็นสำหรับคนทำหนัง?
จริงๆมันมีหลายเรื่องเลยครับ สำหรับเราเราว่ามันคือเรื่องความเข้าใจคนอื่น อันนี้มันใช้ได้หมดเลยจริงๆนะ อย่างง่ายๆเลยถ้าคุณเขียนบท คุณต้องเข้าใจตัวละครที่มันไม่เหมือนคุณ เค้ามีเหตุผลอะไร ทำไมเค้าถึงคิดแบบนี้ ทำไมเค้าถึงทำอะไรไม่เหมือนเรา คือเราเชื่อว่าโดยเบสิค พื้นฐานคนมันเหมือนผ้าขาวประมาณนึงล่ะ แต่มันอยู่ที่ว่าผ้าขาวนี้มันปลิวไปตกอยู่โซนไหนของเมือง โซนไหนของครอบครัว โซนไหนของประเทศ มันทำให้ผ้ามันก็เปื้อนไม่เหมือนกัน วิธีคิดคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนโดนกดดันมามากมันก็แปลกที่เค้าจะเป็นคน Hardcore เนี่ยมันคือความเข้าใจคนอื่น อันนี้รวมไปถึงนอกเรื่องงานด้วยนะ คุณต้องเข้าใจว่าคนที่ดูหนังของคุณก็ไม่ได้เหมือนกันเสมอไป บางคนดูแล้วชอบมาก แต่บางคนดูหนังเราแล้วหลับก็มี สมุมติมีคนดูหนังเราบอกว่า “หนังอะไรแม่งตัดตามใจตัวเองชิบหาย” เราก็พยายามเข้าใจว่าพี่เค้าอาจจะคาดหวังอยากเห็นอะไรในหนัง แต่เราจะไม่แบบ “มึงนั่นแหละ ไปดูหนังมาเยอะๆก่อนนะ แล้วค่อยมาดูใหม่” ส่วนตัวเราเองรับได้นะถ้าจะมีคนมาบอกว่าหนังเราห่วย แต่เราต้องขอฟังเหตุผลก่อน ไม่ใช่บอกห่วย แล้วเดินหนีไปเลย อันนั้นไม่ถูก เราว่าในทุกๆสังคมทุกๆวงการคนต้องเข้าใจกันและกันประมาณนึง
Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
เบื้อหลัง The Fast and the Furious: Tokyo Drift ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2006 กำกับโดย Justin Lin เป็นหนึ่งภาคที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ถึง 5,300 ล้านบาท