เมื่อวันก่อนดู๊ดดอทได้แวะไปชมนิทรรศการผลงานภาพถ่ายสไตล์มินิมัลลิสม์ จาก 3 ศิลปินไทยที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง อยู่แถวสะพานซังฮี้
ภายในงานจัดแสดงผลงานภาพถ่ายไซส์ใหญ่พอตัวจากคุณ “พิชัย แก้ววิชิต” คนที่เราจดจำเขาในฐานะวิน มอเตอร์ไซค์ผู้หลงไหลการถ่ายภาพ คุณ “รังสรรค์ นราธัศจรรย์“ เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ NIIQ ที่หลายคนรู้จักกันดี และคนสุดท้าย คุณ “พรเทพ จิตต์ผ่อง” ศิลปินที่เคยทำงานภาพประกอบให้นิตยาสารชื่อดังในไทย
วันนี้เราจะพาไปดูผลงานของทั้ง 3 ศิลปิน และยังได้รู้วิธีคิดของแต่ละคนอีกด้วย
พิชัย แก้ววิชิต
กล้องตัวแรกของผมเป็นกล้องฟิล์มที่ได้มาจากพี่ที่รู้จักกัน แนวการถ่ายภาพของผมในช่วงแรกเป็นการเดินทางไปถ่ายภาพธรรมชาติตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทั้งค่าอุปกรณ์และค่าเดินทาง
ผมจึงได้หยุดถ่ายรูป จนเวลาผ่านมาประมาณ 10 ปี ความชอบในการถ่ายรูปยังคงอยู่ในตัวผม ผมจึงได้เปลี่ยนวิธีและมุมมองการถ่ายภาพของผมจากฟิล์มมาเป็นดิจิตอล หันมาถ่ายสิ่งที่อยู่รอบๆตัวและถ่ายทอดมุมมองของผมออกมาในแบบที่เป็นตัวผมจริงๆ
รังสรรค์ นราธัศจรรย์
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียน วิชา visual design นับเป็นการเปิดประตูสู่ความเข้าใจในภาษาของการออกแบบการรับรู้ เป็นรากที่หยั่งลึกในวิชาชีพที่ผมทำมาตลอด 30 กว่าปี การจ้องมอง เฝ้าสังเกต สิ่งต่างๆผ่านช่องมองภาพ และบันทึกเอากลับมาพิจารณา ล้วนเป็นขั้นตอนที่ทำให้ผมได้ฝึกฝน และนำไปต่อยอดกับงานในวิชาชีพนักออกแบบ ภาพที่ผมบันทึกไว้ อันที่จริงแล้ว มีความหลากหลาย ทั้งภาพสี ขาว–ดำภาพที่มีลายละเอียดซับซ้อนภาพที่ดูสงบนิ่งผมถ่ายไปเรื่อยความสนุกและความสุขระหว่างช่วงเวลาของการบันทึกภาพผมว่าก้อคงคล้ายๆเวลาที่นักดนตรีกำลังเล่นดนตรีอย่างมีความสุขเวลาเห็นอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันมีความงามอยู่ในนั้นมันอดไม่ได้จริงๆ
ภาพถ่าย… สำหรับผมแล้ว มันต่างจากภาพที่สร้างจากเทคนิคอื่นๆ ตรงที่ มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นใน ช่วงเวลาสั้นๆ แบบเศษเสี้ยวของวินาที เพราะเหตุนี้ ผมจึงใช้ช่วงเวลาของการถ่ายภาพมาเป็นชื่อภาพ เพื่อเชื่อมโยงให้นึกถึง ช่วงเวลาขณะที่กดบันทึกไว้ หลายภาพที่เอามานี้เพิ่งถูกบันทึกในช่วงเวลาของโรคระบาด ในระหว่างเก็บตัวทำงานในโรงงาน ( ภาพดอกบัว ) ภาพ 2 ภาพที่มีส่วนที่ดูเบลอๆอันนี้ถ่ายตอนกำลังจะปิดโคมไฟนอนเมื่ออาทิตย์ที่แล้วแต่ดันเห็นอะไรก้อกดเก็บไว้แบบง่วงๆเบลอๆ
รูปตัว u ตะแคง นี่วันก่อนไปดูงานแสดงที่ shophouse จริงๆ มันเป็นเส้นไฟ ropelight ที่วางไว้ที่พื้น แล้วมันวิ่งไปเจอกับผนังเหล็กแล้วเกิดเป็น reflection แบบแปลกๆ ผมมองมันเป็น graphic ที่มันน่าจะเอาไปต่อยอดได้ เลยถ่ายเก็บไว้… ก้อเล่าไปเรื่อยเปื่อย
จริงๆแล้ว ผมว่าถ้าคุณดูแล้วไม่เก็ท ก้อถูกแล้วนะ ถ้าเก็ทนี่สิแปลก เพราะ ภาพที่น้อยๆพวกนี้ มันไม่ได้พูดเยอะ ( ไม่ได้เจ็บคอนะ : ) เอาแต่อารมณ์ขององค์ประกอบ สี พื้นผิว พอแล้ว เพราะ มันคือ visual language ไง
พรเทพ จิตต์ผ่อง
ใช้ชีวิตวัยเด็กที่สุพรรณบุรี และชีวิตวัยรุ่นทีกรุงเทพมหานคร มาอาศัยอยู่กับญาติที่ทำธุรกิจนำเข้า จำหน่ายอุปกรณ์การถ่ายภาพจากประเทศรัสเซีย โดยช่วยงานต่างๆภายในร้าน ระหว่างอาศัยอยู่กับญาติ ก็ได้ฝึกฝนเรียนรู้การถ่ายภาพจากที่นี่
แต่มีความสนใจศิลปะมากกว่าการถ่ายภาพ จึงย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่วัดหัวลำโพง (ทางผู้ปกครองสนับสนุนให้เข้าเรียนถ่ายภาพ) เพราะความดื้อรั้นจึงไม่ได้เข้าเรียนต่อในระดับสูงยุติการเรียนในระบบ และเริ่มศึกษาศิลปะด้วยตนเอง ใช้ชีวิตรอนแรม จากเด็กวัด ไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อน บางค่ำคืนอาศัยร้านเหล้าเป็นที่พักกาย ทำงานรับจ้างแลกค่าแรงที่ ตอร์ตีญ่าแฟล๊ต สะพานหัวช้าง (ราชเทวี) บางโอกาสก็เป็นพนักงานไม่ประจำตามร้านฟาสท์ฟู๊ดและมินิมารท์ แต่ทำได้ไม่นาน เพราะใจที่ไม่รักงานบริการจึงลาออก
นอกจากนั้นยังขายของบนสะพานลอยแถวสยามสแควร์ และเปลี่ยนมาวาดโปสการ์ดขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนชอบและถนัดที่สุด จากสี่แยกราชประสงค์ย้ายมาอยู่ถนนข้าวสาร เหมือนตัวเองเริ่มได้เข้าเรียนในมหาลัยแห่งชีวิตจากที่นี่
ชีวิตช่วงปลายวัยหนุ่มในกรุงเทพมหานคร ยังคงยึดอาชีพขายโปสการ์ดเป็นหลัก และทำงานเขียนภาพประกอบให้กับนิตยสาร Lips, Hi, และหนังสือของ แพรว สำนักพิมพ์ และบางช่วงก็ได้โอกาส ถูกรับเชิญไปเป็นพี่เลี้ยงสอนศิลปะเด็กและเยาวชน
NW! MNML (Now! Minimal) จัดแสดงที่ บ้านอาจารย์ฝรั่ง จัดแสดงตังแต่วันนี้ – 30 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 18.00 น. นอกจากนี้ยังมีร้านกาแฟดีๆ อย่าง Craftsman x บ้านอาจารย์ฝรั่ง ให้ลองชิมระหว่างเดินดูงานอีกด้วย
RECOMMENDED CONTENT
กลับมาปล่อยเพลงใหม่ให้แฟน ๆ ได้ฟังอีกครั้งในรอบปีที่ผ่านมา สำหรับศิลปินขวัญใจมหาชนอย่าง “สิงโต นำโชค” หรือ “นำโชค ทะนัดรัมย์” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) ที่ไม่ว่าจะปล่อยเพลงไหนออกมาก็ฮิตติดหูคนฟังทั้งประเทศ ล่าสุดสิงโตกลับมาพร้อมกับเพลงใหม่ “วันที่เรานับหนึ่ง” ที่ขอพาทุกคู่รักย้อนกลับไปนับหนึ่งร่วมกันอีกครั้งในวันที่รักกันแรก ๆ