หาดเต่าทองทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเต่าได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยที่นักดำน้ำจากทั่วโลกหลงใหล ทั้งยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันเงียบสงบและอุดมสมบูรณ์ของปะการัง เต่าทะเลสีเขียว ปลากระเบนลายน้ำเงิน และปลาไหลมอเรย์ตาสีขาว นอกจากนี้ระดับความลึกตื้นของทะเลบริเวณนี้ยังเหมาะสำหรับนักดำน้ำทุกระดับอีกด้วย
ฝั่งตรงข้ามกับอ่าว ณ ความลึกที่ 12 เมตร นักผจญภัยผู้ชื่นชอบการดำน้ำจะได้พบกับ Ocean Utopia หรือผลงานประติมากรรม “ที่เต็มไปด้วยชีวิต” ตั้งตระหง่านท่ามกลางท้องสมุทร พืชพันธุ์และสัตว์ใต้ท้องทะเล
ประติมากรรมสูงใหญ่ดังกล่าวทำด้วยสัมฤทธิ์และคอนกรีต ตั้งอยู่อย่างสงบในกระแสน้ำอุ่นทางตอนใต้ ชวนให้นักดำน้ำต่างพากันหยุดดูและสำรวจ นับตั้งแต่ที่ได้รับการติดตั้งในปี 2559 ประติมากรรมนี้ได้กลายเป็นแหล่งเจริญเติบโตของหอยทะเลหลากสี สาหร่ายขนาดเล็กและปะการังที่ต่างปกคลุมพื้นผิวของมัน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติช่วยต่อยอดกระบวนการทางศิลปะตามที่ศิลปินได้จินตนาการ
การจัดนิทรรศการถาวรใต้น้ำดังกล่าวนับเป็น“ วิวัฒนาการ” ทางความคิดของศิลปินอย่างวาเลครี กูตาร์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อวาล ประติมากรชาวฝรั่งเศสที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ และเรียนรู้เทคนิคการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยตนเอง โดยผลงานประติมากรรมที่ทำด้วยสัมฤทธิ์ของเธอได้รับการยกย่องไปทั่วโลก และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองผลงานของเธอ ทางเอส เอ ซี แกลเลอรี (ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์) จะจัดนิทรรศการขึ้นเพื่อย้อนระลึกถึงเธออีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่และสุดพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2564
วาล และเฟรเดริก โมเรล สามีของเธอ หลงใหลเกาะเต่ามานานแล้ว ทั้งสองคนเคยมาดำน้ำที่นี่และได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจและน่าจดจำตลอดระยะหลายปี เขาทั้งสองจึงต้องการตอบแทนเกาะเต่าและชุมชนแห่งนี้ด้วยความงามและพร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์แนวปะการัง
ทั้ง 2 คนได้ร่วมมือกับโครงการอนุรักษ์ทางทะเลที่มุ่งวิจัยและฟื้นฟูแนวปะการังเพื่อการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแนวปะการัง (New Heaven Reef Conservation Program – NHRCP) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนบนเกาะเต่า ทั้งนี้โครงการอนุรักษ์ ฯ เปิดโรงเรียนสอนดำน้ำในปี 2538 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปกป้องทรัพยากรทางทะเลรอบเกาะ
โครงการ Ocean Utopia จึงเป็นโครงการที่เหมาะสมอย่างยิ่งเนื่องจากโครงการอนุรักษ์ ฯ ได้จัดสรรพื้นที่ ณ หาดเต่าทองไว้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง โครงการของวาลถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเติบโตของปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเลในเวลาต่อมา
ชาด สก็อตต์ นักชีววิทยาทางทะเล ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งโครงการอนุรักษ์ ฯ กล่าวว่า “การติดตั้งประติมากรรมที่สวยงามตระการตาเช่นนี้สามารถเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของสาธารณชนได้ ทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พวกเขาให้หันกลับไปพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแนวปะการังในแบบที่กราฟหรือภาพถ่ายไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้”
ในช่วง 4 ปีนับตั้งแต่ติดตั้ง Ocean Utopia อย่างพิถีพิถันและยากลำบาก (เนื่องจากประติมากรรมทั้งชุดมีน้ำหนักมากกว่าหลายตัน) โครงการอนุรักษ์ ฯ ได้ขยายโครงการของวาลด้วยการสร้างโครงสร้างเพิ่มเติมและเรือนเพาะปะการัง รวมถึงทางเดินใต้น้ำความยาว 100 เมตร เพื่อเชื่อมต่อระหว่างจุดที่ติดตั้งของประติมากรรมกับจุดที่สิ่งมีชีวิตในทะเลขยายตัวและเติบโต
ประติมากรรมของวาลในตอนนี้เต็มไปด้วยชีวิตและการเคลื่อนไหว หุ่นปั้นที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมชิ้นนี้ที่เธอตั้งชื่อพวกเขาว่า Volonté, Espoir และ Étonnement หมายถึงเจตจำนง ความหวัง และความมหัศจรรย์ใจตามลำดับล้วนถูกปกคลุมและประดับประดาไปด้วย “อาภรณ์” ที่สดใส ประกอบด้วยดอกไม้ทะเลและพืชในทะเลนานาชนิด ในขณะที่ฝูงปลาซึ่งแหวกว่ายไปมายังช่วยเสริมสร้างพลังแห่งความมีชีวิตชีวาให้แก่สภาพแวดล้อมโดยรอบ
การตั้งชื่อให้แก่หุ่นปั้น โดยเฉพาะชื่อ “Étonnement” ของวาลดูจะเป็นเหมือนความสามารถในการมองเห็นเหตุการณ์ในอนาคตของเธอ เพราะไม่นานหลังจากที่แสงแฟลชจากกล้องถ่ายภาพใต้น้ำของเหล่านักดำน้ำดับลง พวกเขายังคงดำดิ่ง ณ บริเวณพื้นของท้องสมุทรแห่งนี้เพื่อชื่นชมความงามของ Ocean Utopia ราวกับเด็กที่ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า ซึ่งวาลเรียกว่า “ความมหัศจรรย์ของชีวิตมนุษย์ในใต้ท้องทะเล”
“ความปรารถนาของฉันกับ Ocean Utopia คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่สมบูรณ์และอิสระระหว่างความแข็งแกร่งของธรรมชาติและการสร้างสรรค์งานศิลปะของฉัน” วาลกล่าว
หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ของวาล ท่านสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ oceanutopia.com
สำหรับผู้ที่สนใจมาดำน้ำหรือเรียนหลักสูตรการดำน้ำ สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของโครงการอนุรักษ์ ฯ ที่ newheavenreefconservation.org
หมายเหตุ: นิทรรศการเพื่อย้อนระลึกถึงวาลและผลงานของเธอจะจัดแสดงขึ้นที่เอส เอ ซี แกลเลอรี (ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์) ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2564 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของเอส เอ ซี แกลเลอรี สามารถเข้าชมได้ที่นี่ https://www.facebook.com/sacbangkok/
RECOMMENDED CONTENT
Netflix ผู้นำบริการสตรีมมิงความบันเทิงระดับโลก ประกาศฉายผลงานภาพยนตร์สารคดีไทยระดับรางวัลจากเวทีนานาชาติ