หากวันหยุดนี้ยังไม่มีแพลนเที่ยวที่ไหน ลองไปศึกษาประวัติศาสตร์ และซึมซับบรรยากาศที่สุโขทัยดูไหม เผื่อจะได้แรงบันดาลใจอะไรกลับมานอกเหนือจากการได้ไปพักผ่อน กิจกรรมดีๆ แบบนี้ ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และไม่ได้เที่ยวเฉยๆ แต่ยังได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกจากการเผยแพร่จากปราชญ์ชาวบ้าน ที่มาเป็นไกด์ให้ความรู้ต่อพวกเรา และนักท่องเที่ยว เวลาที่เราเดินดูสถาปัตยกรรมสมัยโบราณ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มอรรถรสในการชม ไม่น่าเบื่อ แถมยังสนุกน่าติดตามมากขึ้นด้วย
‘เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง’
เริ่มจากตามรอย ‘เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง’ เป็นการเรียนรู้ศิลปกรรมที่สะท้อนแนวคิด มุมมอง ทัศนคติ รสนิยม และบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้อย่างมีมิติน่าสนใจ และวิจิตรงดงาม ผ่านรูปปั้น หรือรูปแกะสลักเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีความหมายในการสร้าง ไม่ว่าจะเป็น นาค มกร หงส์ ครุฑ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีความหมายเกี่ยวข้องกับระบบจักรวาลตามคติความเชื่อเดิมของคนสมัยก่อน เช่น ความเชื่อเรื่องสัตว์รูปช้าง ที่หมายถึง พลังอำนาจ หรือแม้กระทั่งรูปปลา ที่หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
คนที่อยากเข้ามาทำกิจกรรมแบบนี้สามารถติดต่อทาง อพท. เพื่อจัดไกด์หรือมาทริปตามสถานที่ที่มีแนะนำ ตามเส้นทางส่องสัตว์ ดังนั้น
- วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร (วัดพระปรางค์)
บางคนอาจเรียก วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย
ความโดดเด่น : มีพระปรางค์องค์ใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลงฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าพระปรางค์มีบันไดขึ้นไปสู่ซุ้มประตูเข้าองค์พระปรางค์ ซึ่งมีพระปรางค์องค์เล็กตั้งอยู่กลางห้อง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมโดยรอบยังมี ราหู และ นาค ซ่อนอยู่
- วัดนางพญา
ภายในวัดมีโบราณสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย และอยู่ในแนวเดียวกันกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดเจดีย์เจ็ดแถว อีกทั้งยังเป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนผนังวิหารด้านตะวันตกเฉียงเหนือภายในวิหาร ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะมีลวดลายของ ‘วานร’ ซ่อนอยู่
- วัดเจดีย์เจ็ดแถว
เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในอำเภอศรีสัชนาลัย
ความโดดเด่น : มีเจดีย์แบบต่างๆ มากมาย เช่น เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมด้านหลังพระวิหาร อันเป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ เจดีย์ราย 26 องค์ ที่บริเวณโดยรอบมีลวดลายของ ‘มกร’ และ ‘กาล’ อยู่ด้วย
- วัดช้างล้อม
อีกหนึ่งโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย เช่นกัน
ความโดดเด่น : มีเจดีย์ทรงลังกาที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมี ‘ช้าง’ สร้างจากปูนปั้นแบบเต็มตัวล้อมรอบ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน รวม 39 เชือก
- เตาทุเรียง มี 2 แห่งด้วยกัน โดยมีการกำหนดชื่อเรียกตามการขุดค้นว่า เตาหมายเลข ๖๑ (เตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) และ ๔๒ (เตาทุเรียงบ้านป่ายาง อ.ศรีสัชนาลัย, จ.สุโขทัย)
อย่าง เตาหมายเลข ๖๑ (เตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) ภายในอาคารจัดแสดง มีเตาเผาสังคโลกหรือเตาทุเรียงแบบจำลองขนาดเท่าของจริง และจัดแสดงสังคโลกโบราณหลากหลายรูปทรง
จากแหล่งเตานี้ไปตามถนนไปยังเตาหมายเลข ๔๒ จะพบเนินดินจำนวนมากซึ่งปกคลุมด้วยหญ้าคล้ายสนามหญ้าในสนามกอล์ฟ ใต้เนินดินเหล่านั้น คือ เตาทุเรียงหลายร้อยเตาที่ยังไม่ได้ทำการขุดค้น ภายในอาคารจัดแสดงมีเตาเผาสังคโลกโบราณสร้างทับซ้อนกันจำนวนมาก บริเวณอาคารพบเศษสังคโลกบนพื้นจำนวนมาก ซึ่งสัตว์ที่เราจะพบได้จากลวดลายสังคโลก ก็มีทั้ง ปลา ช้าง และนก
สัตว์แต่ละชนิดจะมีความหมายอย่างไร ทุกคนต้องมาหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากนี้ภายใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ยังความโดดเด่นทางภูมิประเทศที่มีทั้งภูเขาและแม่น้ำ รวมถึงโบราณสถานที่สวยสดงดงามที่มีรายละเอียดลึกซึ้งมากมาย ดังนั้นใครอยากตามรอยประวัติศาสตร์แต่ไปมากกว่าหนึ่งวันก็ได้นะ แล้วจะรู้ว่าเมืองไทยยังมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะ