บนยอดดอยมีชายหนุ่มวัย 33 ปี รับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้กับนักเรียน บนนั้นเขาเป็นคนนอก ที่ชาวบ้านยกให้เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เพราะเขาไม่ใช่แค่คนที่ตื่นมาแล้วสอนเสร็จแล้วกลับบ้านนอน แต่เขาเดินทางไปดูความเดือนร้อนของเด็กนักเรียนในห้อง ข้ามเขาหลายลูกไปช่วยคนที่กำลังเดือนร้อน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขาเลย
นพรัตน์ เจริญผล หรือที่เด็กๆ บนดอยเรียกกันคุ้นหูว่า “ครูบอย” คือคนที่เราพูดถึงไปข้างต้น
เรื่องราวนี้ถูกบอกเล่าโดย Shell Advance จากแคมเปญ The Courage Outriders ที่สนับสนุนคนกล้าหัวใจนักบิดให้ความกล้าของพวกเขาเป็นที่รู้จักและเป็นแบบอย่างให้กับสังคม ซึ่งครูบอยก็เป็นหนึ่งในผู้กล้าที่เราอยากนำเสนอ ดู๊ดดอทเลยขอยกหูโทรศัพท์ยิงตรงไปยอดดอย เพื่อพาทุกคนไปรู้จักตัวตนของ “ครูบอย” กัน
ครูบอยพื้นเพเป็นคนจังหวัดเชียงราย เดินทางขึ้นดอยมาเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนบ้านนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และสอนที่นี่มา 8 ปีแล้ว “หลังจากเรียนจบผมสอนโรงเรียนที่บ้านได้สัก 5 – 6 เดือน แล้วบนดอยก็เปิดรับครูอัตราจ้าง ก็ลองส่งใบสมัครไป ตอนนั้นก็ลุ้นนะว่าให้ไม่ผ่าน เพราะต้องเดินทางไกล ลำบากมาก แต่ไม่มีใครส่งใบสมัครเลย ทำให้ผมเป็นครูคนเดียวที่ส่งไป สุดท้ายก็สอนที่นี่มาจนถึงทุกวันนี้ รวมเวลาแล้วก็ปาเข้าไปปีที่ 8”
โรงเรียนบ้านนาเกียน เป็นโรงเรียนขยายโอกาส (“โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา” เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น) ที่นี่มีคุณครู 15 คน และมีนักเรียน 178 คน เป็นโรงเรียนประจำ เด็กนักเรียนจะเดินเท้ามาเรียนและจะอยู่กินนอนอยู่ที่นี่ กลับบ้านแค่ เดือนละครั้ง สองครั้งเท่านั้น เนื่องจากบางคนบ้านอยู่ไกลมาก หลายกิโลดอย (หลักวัดเป็นกิโลเมตร แต่คำว่า ‘ดอย’ คนบนนั้นเรียกเพราะ กิโลเมตรของภาพพื้นดินกับบนนั้นมีความลำบากต่างกันมาก)
ส่วนครูบอย ก็ใช้พาหนะสองล้อคู่ใจบิดตะลุยโคลน เนินเขา ร่องเหว ไปทุกที่ เพื่อช่วยเหลือคนบนดอยให้มีชีวิตที่ดีขึ้นเท่าที่คนคนนึงจะทำได้ ครูบอยเล่าว่า “ยิ่งในช่วงหน้าฝน ต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นวัน บางทีก็ต้องพักค้างคืนที่บ้านของชาวบ้าน แล้วเช้าอีกวันถึงเดินทางต่อ” เรียกว่าการขี่มอเตอร์ไซต์บนดอยทุกๆ ครั้ง ต้องใช้พลังความกล้าบวกกับจิตใจที่มุ่งมั่นที่จะออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน
ผมสอนภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ เกษตร
หรือถ้ามีครูคนไหนติดธุระผมก็ต้องเข้าไปสอนแทน
เป็นตัวลอยที่เข้าไปสอนได้ทุกอย่างครับ (หัวเราะ)
คนบนดอยไม่ได้มีอาชีพเป็นหลัก ส่วนมากก็ปลูกข้าว ปลูกผักกินเอง หาของป่า เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยถ้าไม่หนักจริงๆ ก็จะไม่ไปหาหมอ แต่จะใช้วิธีเรียกขวัญตามวัฒนธรรม ถึงคนบนดอยไม่รวยเงินทอง แต่ครูบอยบอกว่ารวยน้ำใจ “เด็กบนดอยจะซื่อๆ นิสัยดีครับ ชอบเอาผัก เอาของมาฝาก หรือบางครั้งก็เข้ามาถามว่ามีอะไรให้ช่วยบ้าง มีอะไรก็เอามาแลกกัน เหมือนเป็นครอบครัว”
“ขึ้นมาครั้งแรกผมเห็นเด็กไม่มีรองเท้าใส่ จะตัดผมก็ไม่มีกรรไกร” ครูบอยเล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มลงมือช่วยเหลือเด็กๆ “ผมเอาเรื่องราวไปโพสต์ในเฟสบุ๊คว่าเด็กนักเรียนของผมเป็นยังไง คนก็เริ่มติดตามและส่งของมาให้ ผมถือว่าเราเป็นสะพานบุญครับ พอได้ของมาผมก็ลงไปขนจากข้างล่างขึ้นมาบนดอย หรือบางครั้งเด็กมีฐานะยากจนมากผมก็ไปหาทุนมาให้ ช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้หรอก ส่วนมากก็เป็นเงินผมนี่แหละครับ”
ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น ครูบอยยังลงมือช่วยเหลือคนอื่นๆ ในชุมชนอีกด้วย “คนพิการต้องการแพมเพิสผมก็ซื้อไปให้ หลังๆ ก็มีคนส่งมาให้บ้าง มีเคสนึงเป็นคนพิการเหมือนกันครับ อยากได้วีลแชร์อันนี้ราคาแพง โชคดีที่มีคนซื้อมาให้ ส่วนมากก็ได้ผู้ใหญ่ใจดีมอบให้ โดยผมเป็นสะพานมามอบต่อให้ถึงมือ”
ล่าสุดครูบอยไปช่วยนักเรียนที่เป็นโรคพุ่มพวง (แพ้ภูมิตัวเอง) ที่ไม่มีเงินไปรักษา โดยเขาให้เงินตัวเองไปส่วนหนึ่ง แต่ยังต้องหามาเพิ่มอีกเพราะเงินไม่พอ “เวลาผมรับบริจาคผมจะไม่รับเงิน ไม่จับเงินเลยตั้งแต่แรกแล้ว จะขอเป็นของเท่านั้น สบายใจกว่า ถ้าเรื่องเงินก็ เป็นเงินผมกับแฟนสองคนเท่านั้น ถึงเงินเดือนจะเข้าบ้าง ไม่เข้าบ้าง แต่ก็พยายามช่วยเต็มที่”
ครูบอยไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เขามีแฟนเป็นครูอัตราจ้างเหมือนกัน สอนคนละโรงเรียนอยู่ห่างกัน 10 กิโลดอย เนื่องจากทั้งคู่มีลูกน้อยวัยกำลังหมั่น เขี้ยว ทำให้แฟนครูบอยถามไถ่ถึงสิ่งที่กำลังทำ เพราะเงินที่ได้มาแทนที่จะใช้ในครอบครัวตัวเองกลับไปเป็นเงินช่วยเหลือจุนเจือคนอื่นแทน “ช่วยแต่คนอื่น ครอบครัวตัวเองทำไมไม่ช่วย” ครูบอยโดนแฟนถามด้วยความสงสัยปนอารมณ์เมื่อหลายปีก่อน “ผมกับแฟนเคย ทะเลาะกันเรื่องนี้แหละ เมื่อก่อนผมจะไปของผมเอง ผมคิดว่าที่เราไปช่วยคนอื่นเหมือนเราทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว วันนึงสิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับมาหา”
หลังจากนั้นครูบอยเริ่มพาแฟนไปเห็นว่าสิ่งที่เขาทำทุกวันนี้มันมีคุณค่าขนาดไหน “พอแฟนผมไปเห็นเขาก็ เข้าใจแล้วก็เริ่มชอบ จนเดี๋ยวนี้พาเพื่อนครูไปทำกิจกรรมด้วย เพราะผมมีโครงการ “ครูดอยหัวใจอาสา” ทำเป็นปีที่ 2 แล้ว ปีนี้วางแผนจะไปต่อ ที่เริ่มทำโครงการนี้เพราะเราอยู่ในพื้นที่มานานจนรู้ว่ามีที่ไหนลำบาก ต้องการ ความช่วยเหลืออะไร”
นอกจากครูดอยหัวใจอาสาที่ครูบอยตั้งใจทำมาเป็นปีที่ 2 แล้ว บนยอดดอย ไม่ว่าใครจะเดือนร้อนอะไรก็สามารถวิ่งมาขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาครูบอยได้ช่วยทั้ง ตัดผมให้กับเด็กนักเรียนและชาวบ้าน, เด็กนักเรียนป่วยเป็นไข้สมองอักเสบ, สร้าง บ้านให้กับนักเรียนที่ครอบครัวยากจน, สร้างเครื่องกรองน้ำ ให้กับหมู่บ้าน ฯลฯ นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ครูคนนี้ได้ทำให้กับผู้คน
ทุกวันนี้ทั้งคู่พยายามกลับบ้านไปหาเจ้าตัวเล็กให้ได้ทุกสัปดาห์ แต่ติดที่เงินทองไม่อำนวยเท่าไหร่ จึงกลับได้แค่เดือนละครั้ง สองครั้งเท่านั้น “ผมกลับบ้านเย็นวันศุกร์ กว่าจะลงไปถึงข้างล่างก็เกือบ 2 ทุ่ม ได้อยู่กับครอบครัววันเสาร์ วันเดียว พอเช้าวันอาทิตย์ก็ออกจากบ้านตั้งแต่ 9 โมงเช้า กว่าจะถึงบนดอยก็เกือบ 6 โมงเย็น” ครูบอยยอมรับว่าคิดถึงลูกเหมือนกัน วันหนึ่งคงต้องกลับไปทำงานที่บ้านเกิด “ในอนาคตถ้าลูกโตขึ้นผมอาจจะต้องย้ายลงไปอยู่ข้างล่างเพื่อให้ใกล้ กับลูก ทุกวันนี้กลับบ้านเดือนละครั้งลูกก็แทบจำหน้าไม่ได้แล้ว อีกอย่างก็ต้องดูร่างกายด้วยครับว่ายังไหวไหม เพราะขึ้นๆ ลงๆ ร่างกายก็เริ่มไม่ไหวครับ”
ล่าสุดมีหนังสือมาให้ครูบอยและแฟนย้ายไปอยู่ข้างล่างได้ แต่ทั้งคู่คุยกันแล้วว่ายังไม่อยากย้าย “ตอนนี้ยังมี ความสุขอยู่” ที่สำคัญเขาบอกว่าบนดอยมันสงบดี อยู่แล้วสบายใจ
ก่อนวางสายครูบอยเล่าความสุขที่เขาได้ทำให้คนอื่นมาตลอดเวลาที่อยู่บนยอดดอย
ตอนแรกที่เริ่มทำเคยโดนคนอื่นนินทาว่า “สร้างภาพ เอาหน้า”
ตอนนั้นผมคิดในใจว่า ถ้าผมสร้างภาพแต่ผมก็ทำจริงนะ
แล้วผมก็ทำมาตลอด 8 ปี ทำทุกวันไม่เคยขาด ผมเห็นคนที่ให้และคนที่ได้รับ ผมมีความสุข
สิ้นเสียงจากปลายสาย เรารู้สึกตื้นตันใน “ครูบอย” นพรัตน์ เจริญผล ที่มาสร้างแรงบันดาลใจในการลงมือช่วยเหลือผู้อื่น และยังส่งมอบโอกาสให้กับผู้อื่นต่อไป และต้องขอบคุณ Shell Advance ที่คิดแคมเปญ The Courage Outriders เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจการสนับสนุนคนกล้าหัวใจนักบิด และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ทุกคน ด้วยการมอบน้ำมันเครื่องและความรู้ในการดูแลมอเตอร์ไซค์ให้ครูบอยพร้อมเผชิญกับทุกเส้นทางและอุปสรรคที่อยู่ข้างหน้า เพื่อส่งต่อโอกาสให้เด็กๆ ต่อไป
เพราะการลงมือช่วยเหลือผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนถึงขั้นเปลี่ยนสังคมได้ ขอเพียงแค่ทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนรอบข้างก็เพียงพอแล้ว
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของแคมเปญ The Courage Outriders
#TheCourageOutriders #คนกล้าหัวใจนักบิด #ShellAdvance #น้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์
RECOMMENDED CONTENT
Zoe Wees นักร้องสาวจากเมืองฮัมบวร์ค วัย 18 ปี ที่เติบโตมาพร้อมกับโรคร้ายในวัยเด็กและต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวในการสูญเสียการควบคุมร่างกายของเธอเอง วันนี้เธอต่างได้รับการยกย่องด้านความสามารถในการเปล่งเสียงร้องและการแต่งเพลงที่น่าดึงดูดและมีพลัง หลังจากเปิดตัวด้วยซิงเกิลแรก “Control”