fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

เรื่องราวการเดินทางของผู้คน การงานและจิตวิญญาณ ในนิทรรศการศิลปะ “People, Money, Ghosts (Movement as Metaphor)” ที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน
date : 9.มีนาคม.2017 tag :

People, Money, Ghosts 1

ถ้าพูดถึงหนึ่งในประเด็นทางสังคมของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา เรื่องราวของการอพยพและการเดินทางของประชาชนในแต่ละประเทศก็เป็นหนึ่งในสาระสำคัญที่ได้รับการพูดคุยกันในระดับนานาชาติ ซึ่งทางหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน เองก็ได้สานต่อความสนใจด้านมุมมองอันหลากหลายที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ผ่านนิทรรศการ  “People, Money, Ghosts (Movement as Metaphor) – พีเพิ่ล, มันนี่, โกสต์ (มูฟเมนต์ แอส เมตาฟอร์)” นิทรรศการกลุ่มซึ่งประกอบด้วยงานศิลปะชิ้นสำคัญของกลุ่มศิลปินที่สร้างสรรค์งานซึ่งเกี่ยวกับความคิดและกระบวนการของการเดินทางกับการอพยพที่ได้รับเสียงชื่นชมในระดับนานาชาติ โดยศิลปินมากฝีมือทั้ง 4 ท่านได้แก่ ไขว สัมนาง (Khvay Samnang),เหงียน ธี ธันห์ ไม (Nguyen Thi Thanh Mai),เอมี เลียน (Amy Lien) และ เอ็นโซ คามาโช (Enzo Camacho)

Processed with VSCO with hb2 preset

ซึ่งนิทรรศการ “People, Money, Ghosts (Movement as Metaphor) – พีเพิ่ล, มันนี่, โกสต์ (มูฟเมนต์ แอส เมตาฟอร์)”  ได้นำเสนอเรื่องราวการเดินทางกับการอพยพของประชากรและอุตสาหกรรมทั้งหลาย ที่แฝงไว้ด้วยแนวคิดทฤษฎีกับความเชื่อทางจิตวิญญาณ สุนทรียะกับวิทยาการ และเรื่องราวของตัวศิลปินเอง ซึ่งมีส่วนสร้างโลกของเราขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกเหนือภูมิภาคที่เราเรียกว่า ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ที่ปรากฏชัดผ่านการสร้างสรรค์ผลงานทุกชิ้นของศิลปิน

โดยนิทรรศการดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการการเคลื่อนไหวของตัวนิทรรศการเอง ที่เปรียบเสมือนบานพับที่สามารถพลิกแพลงได้หลากหลายทิศทางขึ้นกับผลงานแต่ละชิ้น ที่จะนำพาไปมากกว่าการตั้งคำถามมากมายที่ถูกพูดถึงและคงอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ผลงานของศิลปินที่จัดแสดงภายในนิทรรศการนี้ ทั้งหมดล้วนถูกสร้างขึ้นในสถานที่ที่ห่างไกลความคุ้นชิน กล่าวคือไม่ใช่สถานที่อันเป็น ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ ทำให้ศิลปินแต่ละท่านได้รับอิทธิพลจากความหมายจำเพาะของท้องถิ่น ที่สร้างสรรค์ผลงานนั้นๆ ทั้งในแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์กับโลกร่วมสมัย

Processed with VSCO with hb2 preset

ผลงานของ เอมี เลียน (Amy Lien) และ เอ็นโซ คามาโช (Enzo Camacho) ศิลปินคู่ได้นำเสนอผลงานในรูปแบบ “ประติมากรรมวิดีโอ” (Video Sculpture) ผ่านงานประติมากรรมจำลองของสิ่งที่ชาวไทยเรียกว่า “ผีกระสือ” (Krasue) ในขณะที่กัมพูชาใช้ชื่อ “เอิบ” (Arb) และ มานานังเกล” (Manananggal) ของฟิลิปปินส์ โดยศิลปินเลือกนำเสนอ “กระสือ” “เอิบ” และ “มานานังเกล” ในรูปแบบบทกวีที่สะท้อนสัมผัสของตัวตนที่ผันแปรไม่หยุดนิ่ง เป็นสัมผัสของตัวตนที่ไร้ศูนย์กลางตายตัว ตัวตนที่เคลื่อนย้ายอพยพมากกว่าสงบนิ่งที่ ‘บ้าน’ หรือสถานที่จำเพาะ และยากต่อการจำแนกประเภทด้วยตรรกะและเหตุผล

Processed with VSCO with hb2 preset

ในส่วนของ เหงียน ธี ธันห์ ไม (Nguyen Thi Thanh Mai) ได้สร้างสรรค์ผลงานชุด Day by Day (2014-7) ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้อพยพที่เป็นชุมชนชาวเวียดนามไร้รัฐ ซึ่งใช้ชีวิตในหมู่บ้านลอยน้ำในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ชุมชนดังกล่าวต้องประสบความยากแค้นมานานหลายทศวรรษ ทั้งถูกกวาดล้างระหว่างช่วงสงครามอเมริกันในเวียดนามและภายใต้การปกครองของเขมรแดงในกัมพูชา รวมถึงถูกปฏิเสธสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการไม่สามารถเข้าถึงเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมายในแต่ละชาติได้ ผลงานศิลปะในครั้งนี้ประกอบด้วยวิดีโอความยาวหนึ่งชั่วโมง จัดวางร่วมกับ “บัตรประชาชนปลอม” และชุดคอลลาจภาพถ่ายดิจิตอลติดตั้งในกระท่อมทางมะพร้าวหลังเล็ก ที่สร้างขึ้นในพื้นที่ของแกลลอรี่

และ ไขว สัมนาง (Khvay Samnang) ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะสองโปรเจ็กต์ ซึ่งมุ่งสำรวจการเคลื่อนย้าย  ในบริบทของประเทศกัมพูชาที่ขยายใหญ่ขึ้น ได้แก่ Yantra Man (2015) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมในวงกว้างเกี่ยวกับทหารกัมพูชาที่ถูกส่งไปร่วมรบกับกองทัพฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตัวผลงานประกอบด้วยการจัดวางประติมากรรมเหล็ก โดยส่วนสำคัญที่ปรากฏในชิ้นงานคือ “พระเครื่อง” ที่เป็นเครื่องราง และผ้ายันต์แบบเขมร ตัวงานมุ่งพิเคราะห์การสะท้อนไปมาระหว่างประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของเหล่าทหาร และประสบการณ์ร่วมสมัยของคนที่ต้องทำงานไกลบ้าน  อีกชิ้นงานคือ Rubber Man (2014) ที่ประกอบด้วยวิดีโอหนึ่งจอซึ่งบันทึกการแสดงของตัวศิลปิน โดยจัดวางบนประติมากรรมไม้ที่นำเสนอบนดินร่วนแดงชนิดเดียวกับที่พบได้ในจังหวัดรัตนคีรีทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา งานชิ้นนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของผลกระทบ ทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคมและจิตวิญญาณของอาชีพการเพาะปลูกยางพาราในพื้นที่ดังกล่าว ในวิดีโอนั้นศิลปินเทน้ำยางดิบลงบนร่างเปลือยเปล่า ก่อนออกเดินผ่านสวนยางพาราที่ถูกทิ้งร้าง เหยียบย่ำไปบนซากของป่าปลูกเก่าแก่ที่ถูกทำลาย และพร้อมตั้งคำถามว่า “เมื่อป่าสูญสิ้นไปดวงวิญญาณพื้นเมืองแห่งที่ราบสูงจะไปสิงสถิตอยู่ที่ใด”

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ได้คำนึงถึงการเคลื่อนย้ายทั้งในฐานะประสบการณ์และข้อมูลวิจัยทางศิลปะ โดยศิลปินแต่ละท่านจะเลือกคำถามและประเด็น ซึ่งเชื่อมโยงกับการไร้ถิ่นฐานของผู้คน สภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ และผลกระทบอันสืบเนื่องจากการโยกย้ายที่เป็นดั่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในพื้นที่ร่วมสมัยต่างๆ ที่เปรียบเหมือนกระจกส่องสะท้อนทั้งประสบการณ์ส่วนตัวในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของศิลปินและกระบวนการทำงานของพวกเขา

นิทรรศการ People, Money, Ghosts (Movement as Metaphor) เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2560 เวลา 9.00 น. ถึง 20.00 น. (ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม) ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน

สอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร 02-612-6741 อีเมล์: artcenter@jimthompsonhouse.com เพจเฟซบุ๊ก The Jim Thompson Art Canter และเว็บไซต์ www.jimthompsonartcenter.org

 

RECOMMENDED CONTENT

20.พฤษภาคม.2022

หลังจากห่างหายไปร่วม 2 ปี สำหรับสองคู่หูพี่น้อง Plastic Plastic  ประกอบด้วย “เพลง ต้องตา-จิตดี (ร้องนำ,คีย์บอร์ด)” และ “ป้อง ปกป้อง-จิตดี(กีต้าร์)” วงดนตรีอินดี้ป็อปดูโอ้ จากสังกัด What the duck (วอท เดอะ ดัก) ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีมานานกว่า 12 ปี เจ้าของเพลงดังอย่าง “วันศุกร์” , “อยากรู้” , “Summer Hibernation” และ “ฮัม”  พวกเขาได้หวนสู่วงการดนตรีอีกครั้ง พร้อมส่งเพลงฟีลกู๊ด ทำนองน่ารัก ที่ชวนทุกคนมาคลายความเหนื่อยล้าไปกับการล้มตัวลงบนหมอนสุดสบาย ในซิงเกิลใหม่ล่าสุดอย่าง “Pillow Pillow”