fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#PHOTOGRAPHY — เบสท์ ออฟ โบสถ์ ; ตระเวนถ่ายภาพโบสถ์สุด wierd ไปกับสองช่างภาพ Stefanie Zoche และ Sabine Haubitz ในเมือง Kerala ประเทศอินเดีย
date : 24.กรกฎาคม.2018 tag :

ลืมภาพจำโบสถ์สูงชะลูด ดำทะมึน โดดเด่น และสวยงาม สถาปัตยกรรมแบบบาโร้ค ไม่ก็นีโอโกธิคไปก่อน เพราะภาพที่คุณจะได้เห็นต่อไปนี้ คือโบสถ์ในแบบที่คุณอาจไม่คุ้นชิน

—————

โบสถ์หลากรูปทรงและสีสันสุด wierd ในเมือง Kerala ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย คือผลผลิตหลังยุคอาณานิคมของอินเดีย เมื่อการเผยแพร่ศาสนาคริสต์เข้ามาถึง ในทุกหมู่บ้านของเมืองจึงจำต้องมีโบสต์ไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริตส์อย่างน้อยหนึ่งแห่ง

Stefanie Zoche และ Sabine Haubitz สองช่างภาพชาวเยอรมัน เลือกเก็บภาพแสนเก๋ของโบสถ์เหล่านี้ไว้ในช่วงปี 2011–2016 ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปในประเทศอินเดีย

ในมิติทางวัฒนธรรม เมื่อชาติที่เคยถูกครอบครองโดยอาณานิคมเป็นอิสระ พวกเข้าจะเริ่มมองหารากเหง้าทางวัฒนธรรมเดิม หรือไม่ก็สร้างวัฒนธรรมใหม่ ในแบบที่ไม่ใช่อาณานิคม เพื่อประกาศกับชาวโลกว่า พวกเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใครอีกต่อไปแล้ว …นั่นคือสิ่งที่คริสต์แบบ Malabar Syrian Catholics ซึ่งเป็นนิกายเฉพาะของชาวอินเดียเป็น

—————

Stefanie และ Sabine กล่าวว่า “มันคือการมองหาอัตลักษณ์ใหม่ เมื่อพวกเขาเป็นคริสต์ แต่ไม่ได้ต้องการสถาปัตยกรรมแบบเดิมๆ อย่างตอนเป็นชาติอาณานิคมอีกต่อไป”

“พวกเขามองว่าการให้โบสถ์มีสถาปัตยกรรมแบบนี้คือความ ‘โมเดิร์น’ การทำให้โบสถ์ของแต่ละหมู่บ้านมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน ชวยทำให้ผู้คนจดจำ และเป็นการเชื้อชวนคนให้มาเข้ารีตทางอ้อมด้วย”

ศาตราจารย์ George Menachery ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์นิกาย Syro–Malabar ที่มีต้นกำเนิดมาจากซีเรียนี้ กล่าวว่า เดิมทีสถาปัตยกรรมแบบโกธิคก็เคยนิยม จนกระทั่งราวปี 1949 ที่การสร้างโบสถ์หันไปคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และประสิทธิภาพของมัน มากกว่าความสวยงามเชิงสมโภชน์ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

ถ้าสังเกตดีๆ ผังของโบสถ์จะไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีทางเข้าออกด้านหน้าทางเดียว ที่สื่อถึงการเข้าใกล้พระเจ้าเรื่อยๆ อีกต่อไป แต่ผังจะเน้นไปที่การจุคนให้ได้มากที่สุด ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นวงกลม หรือทรงสามเหลี่ยมมุมฉากหน้ากว้างแทน

—————

สถาปัตยกรรมของโบสถ์แต่หมู่บ้านใน Karala นั้นมักเกิดขึ้นผ่านทัศนคติ แนวคิด และมุมมอง ของเชิงช่างท้องถิ่น ในช่วงระหว่างยุค 50s–70s สถาปัตยกรรมจะเน้นไปที่รูปทรงเรขาคณิตอย่างง่าย มีความโมเดิร์น สูงใหญ่ ก่อนที่จะถูกทาสีสันสดใสทับ

น่าเสียดายที่ Sabine Haubitz เสียชีวิตในปี 2015 Stefanie Zoche จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปประเทศอินเดีย เพื่อทำโปรเจ็กต์นี้ให้จบ

“มันคือวิธีการผสมผสานอย่างประดักประเดิด ของแนวคิดแบบตะวันตก และแนวคิดของท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน โดดเด่น แปลกตา แต่มันคือมุมมองจากคนภายนอก เพราะสำหรับคนท้องถิ่น นี่อาจเป็นความสวยงามในนิยามของพวกเขาแล้ว”

—————

 

คำถามต่อมาก็คือ อะไรที่ทำให้คนท้องถิ่น เลือกรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนี้

Rohan Shivkumar อาจารย์ภาพวิชาสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยมุมไบกล่าวว่า “สถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นมักต่อกับผู้คนไม่ค่อยติด และมักเข้าถึงยากเสมอ”

“รูปทรงนามธรรมล้วนแต่เป็นความยากยิ่งในการตีความของคนธรรมดา ไม่มีใครเข้าใจหรอกว่าความสูงชะลูดของยอดโบสถ์โกธิคมันมีไปทำไม”

“สถาปัตยกรรมของ Syro–Malabar จึงเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กง่ายๆ แต่พวกเข้าใส่เอาสัญลักษณ์ของคริสตศาสนาที่อยากจะสื่อเข้าไป อย่างง่ายๆ ตรงๆ ไม่ต้องตีความ”

—————

ศาสนาคริตส์ใน Kerala ยังคงเติบโตและเบ่งบานไปอย่างมั่นคง แต่ปัจจุบัน โบสถ์หลายแห่งใน Kerala เริ่มกลับไปก่อสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอโกธิค หรือไม่ โบสถ์หลายหลังก็ถูกบูรณะด้วยการทาสีขาว หรือสีเรียบ แทนทีสีสดใสที่เดิมเคยมี

ซึ่งนี่คือสิ่งที่ Stefanie Zoche สังเกตเห็นระหว่างทริปถ่ายภาพของเธอและบอกว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน ที่ทุกอย่างจะกลับไปเป็นความเรียบง่าย และไม่น่าสนใจอีกต่อไปแล้ว

“ฉันว่าโบสถ์เหล่านี้มันมีเรื่องเล่าของมัน ถ้าคุณสังเกตดีๆ จะเห็นเรื่องราวมากมายซุกซ่อนอยู่หลังสถาปัตยกรรมเหล่านี้ สังคมที่รายล้อมโบสถ์ ผู้คน หรือแม้แต่วัฒนธรรม ก็สะท้อนออกมาให้เห็นได้”

Stefanie Zoche กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า การที่เธอเลือกถ่ายภาพโบสถ์เหล่านี้ ไม่ใช่เพราะแค่สนใจในสีสันและความแปลกตาของมันเพียงเท่านั้น

แต่ภาพเหล่านี้สามารถบอกเล่าการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมที่แสนซับซ้อนหลังยุคอาณานิคม และนั่นคือเหตุผลที่เขาตัดสินใจถ่ายภาพโบสถ์เหล่านี้ด้วยสภาพแสงที่ใกล้เคียงกันที่สุด และในบรรยากาศที่ปราศจากผู้คนที่สุด

…เพื่อให้โบสถ์เหล่านี้ สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวของมันเอง.

RECOMMENDED CONTENT

27.พฤษภาคม.2019

“โรคร้ายไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว” เพราะโรคร้ายไม่ได้ทำร้ายแค่ผู้ป่วยเพียงคนเดียว แต่ยังมีคนในครอบครัวและคนอีกหลายคนที่ต้องเจ็บปวดและได้รับผลกระทบเช่นกัน การช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษานั้น เท่ากับเราได้ช่วยเหลือคนมากกว่าหนึ่งคน