เป็นประจำทุกปี ที่พอช่วงท้ายปี ก็จะต้องมีการจัดอันดับที่สุดแห่งปีในแขนงที่แตกต่างกันออกไป เช่นกันกับนิตยสารเชิงสารคดีชื่อดังของโลก อย่าง National Greographic กับภาพจำกรอบเหลืองที่ทุกคนคุ้นเคย ล่าสุดทาง NG ได้เปิดเผย 57 ภาพที่ถูกคัดเลือกให้เป็น ‘National Geographic’s Best Pictures of 2017’
โดยภาพถ่ายเหล่านี้ คัดเลือกจากภาพถ่ายเกือบ 2 ล้านภาพตลอดทั้งปี จากช่างภาพ 88 คน และสารคดี 112 เรื่อง ผ่านการคัดเลือก คัดแล้ว คัดอีก จนได้มาเป็น 57 สุดยอดภาพถ่ายแห่งปีนี้ ซึ่งทาง Dooddot ก็ขอคัดเลือกอีกหนึ่งขั้น กับสุดยอดภาพถ่ายที่เราว่าคุณต้องควรได้เห็นมันสักครั้ง เพื่อรับรู้ว่าในปีนี้ เกิดอะไรขึ้นกับโลกของเราบ้าง
↑ — (ภาพ : Thomas P. Perchak) — นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวบริเวณ Laguna San Ignacio กำลังพยายามเอามือจุ่มลงไปในน้ำทะเล เพื่อจะได้สัมผัสกับวาฬสีเทา ที่ชอบแวะเวียนมายังบริเวณนี้เพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ รวมถึงดูแลลูกๆ ของมัน พวกมันมักถูกทำร้ายโดยชาวประมงในเขตพื้นที่อื่น นั่นเลยทำให้พวกมันชอบที่จะมายังพื้นที่บริเวณนี้มากกว่า เพราะพวกมันจะไม่ถูกทำร้าย ได้อาหารจากนักท่องเที่ยว และกลายเป็นปลาวาฬสีเทาแสนเชื่องทั้งๆ ที่ปกติพวกมันคือนักล่าตัวยง
↑ — (ภาพ : Diane Cook และ Len Jenshel) — ทางตอนเหนือของอินเดีย ต้นสะเดาต้นหนึ่งถูกสร้างอาคารครอบทับบริเวณลำต้นส่วนล่าง ด้วยความเชื่อที่ว่านี่คือที่สิงสถิตของพระแม่ศีตลาเทวี ช่วยรักษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และคนท้องถิ่นเชื่อว่ายังรักษาตาบอดได้ด้วย ภาพนี้ถ่ายที่วัด Nanghan Bir Baba ในพาราณสี ต้นสะเดาต้นนี้ถูกแต่งองค์ทรงเครื่อง และถูกสวมหน้ากากเข้าไป เพื่อแสดงออกว่าที่นี่คือที่สิงสถิตของพระแม่ศีตลาเทวี
↑ — (ภาพ : Renan Ozturk) — Mauli Dhan ชาวเนปาล ต้องปีนบันไดที่ทำจากเชือกเยื่อไผ่ความสูงกว่า 100 ฟุตเพื่อไปเก็บน้ำผึ้งบริสุทธิ์ที่ราคาสูงคุ้มค่าที่จะเสี่ยงชีวิตเช่นนี้ ควันที่ลอยฟุ้งนั้นคือควันจากการเผาหญ้า เพื่อทำให้ผึ้งแตกรังและเก็บน้ำผึ้งได้ง่ายขึ้น และยังทำให้ลดโอกาสที่ Mauili จะโดนผึ้งต่อย อาชีพคนเก็บน้ำผึ้งแห่งเนปาลนี้ถือเป็นอาชีพที่กำลังจะจางหายไป เพราะมีคนทำในจำนวนไม่ถึงหลักสิบ และการพลาดเพียงแค่นิดเดียว อาจหมายถึงชีวิต
↑ — (ภาพ : William Daniels) — ผู้อพยพกำลังยืนอยู่บนเนินสูง มองลงไปคือแหล่งน้ำหลักของแคมป์ผู้อพยพโรฮิงญา Kutupalong ที่ซึ่งพวกเขาต้องหลบหนีออกจากพม่า เพราะการขับไล่ของรัฐบาลทหาร
↑ — (ภาพ : Amy Toensing) — ที่บ้านหลังหนึ่งในเมือง Vrindavan ของอินเดีย เมืองที่ขนานนามว่า เมืองแห่งหน้าต่าง ลลิตา (ขวา) ใช้ชีวิตอยู่กับผมที่ต้องไว้ยาวตลอดชีวิต จากข้อบังคับทางสังคมที่หญิงหม้ายจะต้องทำ ส่วนทางซ้ายคือ รัญจานา ซึ่งเป็นแม่หม้ายที่อายุน้อยกว่า มีแนวคิดสมัยใหม่กว่า เธอจึงไม่ยึดถือธรรมเนียมในการไว้ผมยาวตลอดชีวิตมากนัก
↑ — (ภาพ : Stephanie Sinclair) — Aarti อายุเก้าขวบ เดินเร่ขายดอกไม้บนถนนเปียกฝนในเมือง Delhi ของอินเดีย จากรายงานบอกว่า เด็กๆ เหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ เพราะพวกเธอมักทำงานอย่างตัวคนเดียว เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือครอบครัว และทั่วทั้งโลกมีกว่าล้านคนที่ต้องทำงานตั้งแต่ยังเด็กแทนที่จะได้รับการศึกษาที่ดี
↑ — (ภาพ : Matthieu Paley) — การศึกษา เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด ในภาพคือหญิงสาวกลุ่มชาติพันธุ์ Ismaili ในปากีสถาน ที่นี่คือที่ที่พวกเธอจะได้รับการศึกษาอย่างเทียบเท่าผู้ชาย ในโรงเรียนเฉพาะสำหรับผู้หญิงเท่านั้น
↑ — (ภาพ : Brian Finke) — Lucio Chávez Díaz กำลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หน้าร้านขาย ‘Chicha Frutillada’ เครื่องดื่มเบียร์ข้าวโพดรสสตรอเบอร์รี่ ในเมือง Lamay ประเทศเปรู ซึ่งอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์โบราณของอาณาจักรอินคา เบียร์ ไวน์ และเหล้าหมักประเภทต่างๆ มักเป็นสิ่งยกเว้นในประวัติศาสตร์ ว่าสามารถดื่มได้ทุกเพศทุกวัย เป็นทั้งเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ ยารักษาโรค หรือแม้แต่เครื่องดื่มบำรุงกำลัง
↑ — (ภาพ : Dan Winters) — Mark Landis บอกว่า ตัวเขาเองนั้นคือศิลปินผู้ล้มเหลวในการขายผลงาน เขาจึงใช้เวลาเกือบสามสิบปีในการพยายามวาดภาพให้เหมือนกับศิลปินชื่อดังอย่าง William Matthew Prior ภาพวาดของเขาถูกบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งในฐานะภาพวาดจริง และแน่นอนว่าเขาก็ได้รับการปฏิบัติที่ดี Mark กล่าวว่า “ยังไงผมก็อยากที่จะทำมันต่อ ผมแทบไม่รู้สึกผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย และถ้าผมถูกเปิดโปงขึ้นมาจริงๆ และต้องหยุดการกระทำนี้ไป ผมคงเสียใจแย่”
↑ — (ภาพ : David Guttenfelder) — รถไฟสาย DMZ Peace กำลังมุ่งหน้าและพานักท่องเที่ยว รวมถึงทหารสัญชาติเกาหลีใต้ จากกรุงโซล มุ่งหน้าสู่สถานทีรถไฟที่อยู่ใกล้กับเขตปลอดทหาร DMZ พรมแดนเกาหลีเหนือมากที่สุด การตกแต่งภายในรถไฟขบวนนี้แต่ละขบวนจะมีธีมที่แตกต่างกันออกไป ทั้งสันติภาพ ความรัก ความเกลียว ความหวัง และความประนีประนอม
↑ — (ภาพ : Ciril Jazbec) — หญิงสาวชนเผ่า Samburu กำลังเรียนรู้วิธีการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ท ในห้องเรียนทางตอนเหนือของไนโรเบีย โดยอินเตอร์เน็ตที่พวกเธอใช้นั้น เชื่อมต่อผ่านระบบดาวเทียม ปัจจุบันหลายพื้นที่ในแอฟริกาไม่ได้ถูกตัดขาดจากเทคโนโลยีอีกต่อไปแล้ว เห็นได้จากการที่หลายครอบครัวของหลายชนเผ่า จะมีโทรศัพท์มือถือราคาถูกเป็นสมบัติส่วนตัวอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง
↑ — (ภาพ : Robbie Shone) — นักเขียน Mark Synnott กำลังตรวจวัดขนาดและอายุของหน้าผา Boysuntov Range ในอุซเบกิสถาน ซึ่งภายใต้ภูเขาหินนี้ คือโถงถ้ำที่ว่ากันอาจมีความลึกที่สุดในโลก และทีมสำรวจของ National Geographic ก็กำลังทำการสำรวจถ้ำแห่งนี้อยู่
↑ — (ภาพ : Anand Varma) — แม้ในเวลาที่ฝนตกหนัก นกฮัมมิ่งเบิร์ดก็ยังคงออกหาน้ำหวานจากดอกไม้เพื่อสะสมพลังงานเอาไว้ ในภาพคือภาพนกฮัมมิ่งเบิร์ดกำลังสะบัดทั้งหัวและลำตัวเพื่อให้ความเปียกปอนหายไป นักวิจัยบอกว่า การสะบัดแต่ละครั้งกินเวลาสั้นมาก เพียงแค่ 4/100 ของวินาทีเพียงเท่านั้น
↑ — (ภาพ : William Daniels) — ชาวโรฮิงยาบางกลุ่มไม่ได้อาศัยอยู่ในแคมป์ผู้อพยพ อย่างคนนี้อาศัยอยู่ใกล้กับแคมป์ Cox’s Bazar เขาปลูกบ้านอยู่ในเวิ้งอ่าวเบงกอล ในภาพคือเขากำลังเดินผ่านแนวต้นไม้ที่ปลูกเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ใกล้กันนั้นคือโรงแรมริมชายหาดที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟู
—————
ชมภาพอื่นๆ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น ‘National Geographic’s Best Pictures of 2017’ ได้ที่ https://www.nationalgeographic.com/photography/best-of-2017/best-pictures/
RECOMMENDED CONTENT
หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับบ้านหลังใหม่กับค่ายเพลง “High Cloud Entertainment” ไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาไปไม่ทันไร งานนี้จึงได้ฤกษ์ปล่อยผลงานเพลงในฐานะศิลปินเดี่ยวเต็มตัวในชื่อ “PEARWAH” หรือ “แพรวา - ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์” กับเพลงที่มีชื่อว่า “จีบป่ะ”