เมื่อเราพูดกันถึงงานโฆษณาบนโลกของอินเตอร์เน็ต ในปัจจุบันมีสื่อหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย หรือการเข้ามามีบทบาทสำคัญของ application หรือ Social Network ต่างๆ วันนี้เรามีโอกาสที่ดีมากๆที่จะได้พูดคุยกับ คุณป้อม ศิวัตร เชาวรียวงษ์ CEO, M Interaction พี่ใหญ่แห่งวงการโฆษณาดิจิตอล ถึงเรื่องการทำงานในสายโฆษณา และบทบาทของสังคมที่มีต่อโลกแห่งอินเตอร์เน็ต ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ที่ทุกคนให้ความสำคัญเหลือเกินกับการมีบทบาทของสังคม online ที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตของเราๆอย่างสิ้นเชิง รวมถึงแนวความคิดของนักบริหารที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการโฆษณาบ้านเรา
ตอนนี้ในส่วนงานที่คุณป้อมรับผิดชอบอยู่มีอะไรบ้าง ?
ตอนนี้ทำบริษัทโฆษณาชื่อว่า M Interaction เป็นดิจิตอลเอเจนซี่ทำงานโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ปัจจุบันเราดูแลลูกค้าอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของแบรนด์ต่างๆที่มีอยู่ในประเทศไทย บริษัทเราก็เป็น 1 ในสาขาของบริษัทในกรุ๊ปของ WPP ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทโฆษณาอันดับ 1 ของโลก นอกจากนั้นผมเองก็ทำงานในสมาคมโฆษณาดิจิตอลแห่งประเทศไทย เป็นนายกสมาคม ที่มีสมาชิกบริษัทโฆษณาดิจิตอลเอเจนซี่อยู่ 25 บริษัท โจทย์ของเราก็คือทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาดิจิตอล ในประเทศไทยโตขึ้น
ตอนนี้คนที่เสพสื่อดิจิตอล มีจำนวนต่างกันมากไหม เมื่อเทียบกับจำนวนคนทั่วประเทศ ?
มีความต่างกันมากพอสมควรทีเดียว อย่างถ้าพูดถึงคนเล่นอินเตอร์เน็ตในรุ่นแรกๆ ในที่นี้หมายถึงคนที่ใช้เป็นครั้งแรกผ่านทางคอมพิวเตอร์และใช้อินเตอร์เน็ตผ่านทางอุปกรณ์มือถือเป็นทางที่ 2 กลุ่มนี้จะเล่นได้เยอะหน่อยใช้งานค่อนข้างเป็นเกือบจะทุกอย่าง ส่วนกลุ่มที่ 2 คือคนที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านทางมือถือเลย ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น และหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้เขาใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ ไม่รู้ว่าการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตคืออะไร กลไกการทำงานของมันคืออะไร เพราะเขาซื้อโทรศัพท์มาก็เล่น Line เปิด YouTube แล้แค่นั้น คน 2 กลุ่มนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง ความรู้ความเข้าใจก็ต่างกัน และการใช้งานก็ต่างกัน
คุณป้อมคิดว่าอะไรที่ทำให้อินเตอร์เน็ตเข้าไปมีบทบาทกับคนกลุ่มหลังได้มากขึ้น ?
ต้องบอกว่าตอนนี้คนไทยเกินครึ่งคุ้นเคยกับอินเตอร์เน็ตแล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้คนไทยที่เหลือมาใช้อินเตอร์เน็ต ก็คงเป็นเรื่อง “ค่าเครื่องที่ถูกลง” อย่างเมื่อก่อนถ้าจะใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือ ราคาเครื่องต้องหลักหมื่นขึ้นไป อย่างพวก iPhone หรือ Samsung Galaxy ในเวลาต่อมาโทรศัพท์เหล่านี้ก็มีราคาที่ถูกลง ราคาก็ลงมาเหลือ 4 – 5 พันบาท แต่ปัจจุบันราคาที่หาได้ถูกที่สุด 900 บาท ซึ่งนี่ก็คือพื้นที่ของคนกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยใช้อินเตอร์เน็ตมาก่อนมา ถามว่าการเติบโตเป็นอย่างไรก็ต้องบอกว่าสมาร์ทโฟนที่ราคา 900 ถึง 2,000 บาท นี่นับวันก็จะกระจายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่เมื่อก่อนใช้โทรศัพท์แบบฟีเจอร์โฟน ก็คือเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้ ถ้าเขาจะเปลี่ยนโทรศัพท์เป็นรุ่นใหม่เครื่องต่อไป เค้าก็จะเปลี่ยนเป็น Smartphone ราคาถูก ด้วยเหตุผลที่ไม่ยากเลยคือ เล่น Line ได้ เล่น Facebook ได้ เอาไว้คุยกับเพื่อนเท่านั้นเอง
นั่นแปลว่าการเติบโตของการใช้งานอินเตอร์เน็ตก็อยู่ที่แพลตฟอร์มใช่ไหม ?
ถูกต้องเพราะถ้าเราพูดถึง device เราก็จะพูดถึงค่าเครื่องที่ถูกลงหรือถ้าเราพูดถึงค่าบริการ data ในเมืองไทยก็ยังถือว่าสูงอยู่ แต่ถ้าเราพูดถึงถ้าค่าบริการ data ถือว่าถูกลง ว่ากันตามตรงก่อนที่จะมี Line คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตน้อยกว่านี้ เพราะว่ามันใช้ยากเกินไป แล้วถ้าถามว่าก่อนมี Line อะไรที่จะเรียกว่าใช้ง่ายและเบสิค? เบสิคก็คือ Email และ Facebook แต่พวกนี้ที่ดูว่าเบสิคมากแล้วสำหรับคนใช้อินเตอร์เน็ต แต่จริงๆก็คือยากอยู่เพราะ Email เป็นภาษาอังกฤษ คนไทยที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษก็ตกรอบ Facebook ก่อนจะมี Facebook User ได้ก็ต้องมี Email ก่อน ก็ตกรอบอยู่ดี แต่ Line ไม่ต้องมีอะไรเลย มีโทรศัพท์มีเบอร์แล้วก็คนที่ช่วยลงโปรแกรมก็เล่นได้เลย หลังจากนั้นการที่เราจะไปแอดเพื่อนใน Line ทุกอย่างเกิดขึ้นได้บนภาษาไทย ไม่ต้องมีความรู้ใดๆทั้งสิ้น
นั่นแปลว่าการทำงานของคนทำโฆษณาบนอินเตอร์เน็ตต้องหมุนรอบแพลตฟอร์ม ?
แน่นอน… ถ้าแพลตฟอร์มไหนที่คนใช้เยอะ นักการตลาดก็จะวิ่งเข้าหาสิ่งนั้น ยกตัวอย่างที่ชัดเจนว่าของไทยเนี่ยเรามีการพูดถึงกันมากว่า “เฮ้ย ! ทำสติ๊กเกอร์ไลน์เนี่ย 1 ชุดว่าทำกันเป็น 7 ล้านบาท – 10 ล้านบาท” หรือที่เราแซวๆ กันว่าภาครัฐทำแพงกว่านั้นอีก แต่ว่าถ้ามองในมุมของนักโฆษณา โอเคเงินเยอะจริง แต่ประการที่ 1 คือเราเข้าถึงกลุ่มคนในทุกกลุ่ม คือคนทุกกลุ่มใช้งานเป็น ทั้ง Line และสติ๊กเกอร์ แต่ก่อนหน้านี้ในยุคของ Facebook นักการตลาดก็พยายามสร้าง Facebook pages และก็คอยปั้มเรื่องของ Fan page ให้สูงขึ้นๆ แต่ถามว่าจำนวนแฟนที่พยายามทำกันตอนนี้ก็ไม่ได้เท่าไหร่ เต็มที่ก็ 2 ล้านคน – 4 ล้านคน แต่ในขณะที่เอาเงินมาลงกับ Line ตอนนี้กดปุ่มเดียวได้เลย 5 ล้าน, 8 ล้าน หรือ 12 ล้าน มันต่างกันเยอะ! เพราะผู้ใช้มันไม่เท่ากัน
นอกจากนั้นนักการตลาดก็ต้องปรับตัวตามโอกาสที่มี อย่างเรื่องวิดีโอแต่ก่อนอินเตอร์เน็ตช้า วิดีโอก็เลยไม่ค่อยได้ใช้งาน แต่อยู่มาวันหนึ่งอินเตอร์เน็ตเร็วขึ้นทั้งในคอมพิวเตอร์และในมือถือ ถามว่าเร็วแค่ไหน? เร็วพอที่จะดูวิดีโอได้โดยไม่สะดุด นั่นแปลว่าเราสามารถเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเคยอยู่ในทีวีมาลงในนี้ได้ ซึ่งมันพิสูจน์มาแล้วว่า “คนไทยชอบทีวี!” ซึ่งต่างกันกับประเทศตะวันตก อย่างเช่นยุโรปหรือสวีเดน ถ้าเราไม่นับอินเตอร์เน็ต สื่อที่มีพาวเวอร์มากกว่าทีวีก็คือหนังสือพิมพ์ อย่างตลาดในไทย คนของเราชอบทีวี ชอบโชว์ ชอบละคร ชอบดราม่า งานการตลาดก็เลยไหลไปทางนั้น
เป็นไปได้ไหมที่จะมีแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จเริ่มมาจากประเทศที่กำลังพัฒนา ? มันจะมีแรงผลักดันที่มากพอไหม ?
การ Success ในระดับ global มันไม่ได้สำคัญว่าคนทำอยู่ที่ไหน? หรือเราก็จะพูดได้ว่าใครๆก็สามารถทำได้! เช่น เรามีแอปพลิเคชั่นหลายหลายตัวที่คนทำก็ไม่ได้อยู่ในอเมริกา แต่ถูกผลิตจากประเทศอย่าง ลิทัวเนีย, โรมาเนีย และจากหลายๆประเทศ เพราะฉะนั้นคนอยู่ในประเทศไหนไม่สำคัญ ที่สำคัญคือวิธีการคิดว่าตอนที่ออกแบบต้องคิดเผื่อที่ขายคนทั้งโลก ในอดีตถ้าถอยไปซัก 6 – 7 ปี คนไทยเราไม่เคยคิดแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรืออะไรก็ตาม คือก็เริ่มจากสิ่งที่เป็นไปได้และเราถนัด ก็คือการขายคนไทยด้วยภาษาไทย ก็เลยไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่เกิดขึ้นแล้วดังใน local และสามารถมุ่งต่อไปตลาด global ที่คุยคุยกันก็คือถ้าใครจะไป global คุณก็จะต้องเริ่มจาก global เลย เอาง่ายๆว่า เริ่มแรกคุณก็ต้องเริ่มจากภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาไทย คือถ้าเป็นสมัยก่อนใครทำอันแรกเขาก็เริ่มจากภาษาไทยกันทั้งนั้น เช่น เว็บ “วงใน” เขาสำเร็จถึงขีดสุดในตลาดท้องถิ่น ถามว่าถ้าเค้าจะเบนไปตลาดอื่นๆเค้าจะทำได้ไหม? เค้าก็น่าจะทำได้แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าสิ่งที่ Success ในไทยเมื่อขยายออกไปที่อื่นจะ Success ไหม? หรือมันยังทันกินอยู่หรือเปล่า? เพราะว่าในประเทศอื่นก็มีคนที่ทำไปแล้ว อย่างเว็บจากอเมริกาหรือแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จจากที่โน่น ตอนต้นมันก็ไม่ได้คิดถึง global เช่น Facebook แต่บังเอิญข้อได้เปรียบเสียเปรียบมันคือภาษา ที่เค้าตั้งใจทำให้คนที่นั่น แต่ถ้าคนอีกซีกโลกหนึ่ง ไปเห็นคนก็สามารถใช้เป็น! เพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษ แต่ถ้าในเมืองไทยเราทำภาษาของเราและหวังว่าจะ Success ในตลาดโลก คนเมืองนอกเข้ามาเห็นเค้าอ่านไม่ออกเขาก็ไม่สนใจ
10 ปีที่ผ่านมา การทำการตลาดบนโลกดิจิตอล มีกี่ยุคสมัย และเปลี่ยนไปอย่างไร ?
ผมแบ่งเป็น 2 ยุคแล้วกัน ยุคแรกคือปี 2005 ถึงปี 2010 ยุคนี้ค่อนข้างจำกัดมากๆ เพราะว่า 3G เราก็ยังไม่มี และ Facebook ก็ยังไม่ได้แพร่หลาย ส่วน Line ตอนนั้นยังไม่เกิด ในรูปแบบของโฆษณาตอนนั้นก็จะเน้นไปที่เว็บไซต์ในลักษณะของแบนเนอร์ หรือ Search Marketing เพราะโซเชียลมีเดียยังไม่มีพลัง และรูปแบบโฆษณาตอนนั้นก็ยังไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นตอนนั้นมันก็ไปอยู่ที่ Paid Media ก็คือการจ่ายเงินซื้อโฆษณา แล้วก็จะเป็นลักษณะการจ่ายเงินเพื่อดึงทราฟฟิกไปอยู่ที่เว็บไซต์ของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะกระจุกตัวอยู่ในประเภทสินค้าที่เป็น High Involvement ก็คือสินค้าที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจซื้อ เช่น บ้าน รถยนตร์ ส่วน Consumer goods ยังไม่มีเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ไป!
ส่นยุคที่สอง ช่วงปี 2010 ถึง 2013 ถ้าเทียบกับมนุษย์ เราเรียกว่าอาจจะเป็นช่วงเด็กเริ่มวิ่งก็ได้ เพราะเริ่มเห็นการเติบโต นักการตลาดในสินค้าบางกลุ่มที่ไม่เคยใช้ก็เริ่มเข้ามาใช้ คนในวงการมีความรู้มากขึ้น เม็ดเงินโฆษณาเริ่มโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ในระหว่างทางมีคนใช้ Smart Phone มากขึ้นเรื่อยๆ โซเชียลมีเดียเริ่มมีอิทธิพลสูง Facebook User จาก 2 ล้านคน มาเป็น 10 ล้านคน งานโฆษณาที่ไปยังโซเชียลมีเดียก็มีความหลากหลาย เริ่มมีคนคุยเรื่องสินค้าใน pantip.com เยอะขึ้น สินค้าที่ขายในออนไลน์เริ่มมีมากขึ้น มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น บทบาทของอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะทำอะไรต้องมีปริมาณการ Search ที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน Google ก็ตั้งสำนักงานในประเทศไทยเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและการโฆษณา ไม่ใช่แค่แบรนด์หรือบริษัทใหญ่ ใหญ่แต่ก็มีภาพที่บริษัท SME พวกนี้ก็เริ่มตื่นตัวเรื่องมาทำการตลาดกับ Google หรือ Facebook advertising มากขึ้น
มาถึงยุคหลังคือช่วง 2 ปีหลังจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อินเตอร์เน็ตใช้งานเร็วขึ้นถึงขนาดที่ว่าดูวิดีโอแล้วไม่ต้องรอ ก็ทำให้เกิดมีพฤติกรรมใหม่ๆ เป็นช่วงที่เบ่งบานเต็มที! มี Mobile Application ที่ใช้งานได้ง่ายๆ อย่างเช่น Line ก็เกิดกลุ่ม new user ที่ใช้อินเตอร์เน็ตใหม่ๆเพิ่มขึ้นมากมาย Line ก็มีพาวเวอร์ YouTube ก็มีพาวเวอร์ Search Marketing ก็ยังอยู่และในช่วง 2 ปีหลัง สิ่งที่ทำให้บทบาทของอินเตอร์เน็ตเปลี่ยนไปอย่างมากมายก็คือจำนวนสินค้าที่มีขายบนอินเตอร์เน็ตมีมากขึ้นหลายเท่าตัว จนเราเกือบที่จัดอยู่ในจุดที่ว่าทุกอย่างมีขายในอินเตอร์เน็ต ผมเปรียบเทียบง่ายๆว่าคนเริ่มหันมาใช้ Google เพราะว่าหาอะไรก็เจอ! และปัจจุบันไม่ว่าจะเอาอะไรก็ตามไป Search ก็จะเจอใครสักคน ที่ขายอยู่บนอินเตอร์เน็ต นี่คือบทบาทที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
จุดที่ยากสุดในการทำงานโฆษณาคืออะไร ?
จริงๆทุกๆเรื่องมันมีความท้าทายในหลายๆแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดตามเทคโนโลยีหรืออะไร แต่ตอนนี้ที่เราคุยกันก็คือจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกอยากที่จะมาทำงานออฟฟิศ! และการทำงานออฟฟิศในสายโฆษณาด้วย ซึ่งตอนนี้มันไม่ใช่เทรน! ผมคุยกับเด็กนิเทศ 40 คน มีคนอยากทำงานออฟฟิศจริงๆแค่ 2 ถึง 3 คนเท่านั้น แต่มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร มันคือเทคโนโลยีที่เรามีรูปแบบแพลตฟอร์มที่มันทำให้เราเป็นผู้ประกอบการได้ง่าย ข้อจำกัดเรื่องเงินทุน ข้อจำกัดเรื่องสถานที่หายไป ใครที่มีความกล้าอยากเป็นผู้ประกอบการก็ทำได้ ไม่ใช่แค่การเป็นพ่อค้าแม่ค้า แต่มันมีอาชีพอิสระที่ทุกคนทำได้ คนก็ลองกันเยอะ ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าที่อยากจะลองก็มี คนที่อยู่ในการทำงานประจำแบบ Full time ก็จะน้อยลง ซึ่งเรื่องนี้เรามองว่าเป็นเรื่องที่นายจ้างต้องปรับตัว เพราะว่าลูกจ้างไม่เปลี่ยนแล้ว! มันไม่มีหรอกที่ลูกจ้างทุกคนบอกว่า “เฮ้ย! เรากลับมาทำงานออฟฟิศเถอะ” ในขณะที่คนเห็นความเป็นไปได้อยู่ด้านหน้า และเราอยู่ในเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต คนบ้านเราพื้นฐานก็มาจากค้าขาย กลับมาที่นายจ้างเราเองก็ต้องปรับตัวให้มันมีความน่าทำงานมากขึ้น เสน่ห์ของงานประจำมันก็มีอยู่คือการได้พัฒนาทักษะและความรู้ กับคนที่กระโดดไปทำเองเลยก็ต้องไปเรียนเอง
คุณป้อมมีวิธีการทำให้ออฟฟิศน่าทำงานได้อย่างไร ?
อันแรกคือที่ทำงานต้องเป็นที่ที่น่าอยู่ แล้วที่ที่น่าอยู่… แปลว่าอะไร? คือต้องทำให้คนรักที่จะมาทำงาน ที่ที่น่าอยู่คือต้องสามารถมีทางเลือกในการนั่งทำงาน เดินไปเดินมา มีสถานที่ๆสบาย ไม่ทรมาน ไม่มีฝุ่น ไม่มีความอึดอัด เป็นสิ่งที่เห็นแล้วสัมผัสได้ว่าอันนี้คือสิ่งที่ดีน่าอยู่หรือไม่น่าอยู่ แต่หลายอย่างก็เป็นสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ด้วยตนเองในทันที แต่เป็นสิ่งที่ถ้าไม่ได้ออกแบบไว้ดีพอก็จะส่งผลเสีย เช่น ฝุ่น ไม่มีฝุ่นเลยมันดีอยู่แล้ว มีฝุ่นมากมันก็รู้สึกได้เลย แต่มีฝุ่นกลางๆ ทำยังไงให้อยู่สบาย นั่นคือความยาก เก้าอี้หรือความสูงของโต๊ะ หรือ แสงสว่าง มันตอบไม่ได้หรอกว่าแสงส่องสว่างดีไม่ดี จนกว่าจะคนที่จะนั่งไปสักพักแล้วรู้สึกขึ้นมา
คุณภาพแสงสว่างที่ดีสำหรับคุณป้อมคืออะไร ?
คือไม่ต้องเพ่ง มันจะไม่มีความสงสัยในใจประมาณว่า “นี่เราต้องเพ่งนะถึงจะดูรู้เรื่อง” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่พนักงานจะต้องมาบอกเอง มันคือเรื่องที่บริษัทจะต้องสนับสนุน และจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบอกว่าสิ่งนี้โอเคหรือไม่โอเค ดีกับสุขภาพหรือไม่
มุมโปรดในออฟฟิศ ?
ผมชอบตรงโถงเพราะมันโล่งโปร่ง จริงๆแล้วผมว่าพนักงานทุกคนแหละ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานหรือผู้บริหาร เราจะมีโหมดที่อยู่ในสเปซของเรา ไม่ว่าจะเป็นห้องหรือโต๊ะทำงาน แต่ว่ามันจะเป็นที่ปิด ผมคิดว่าการทำงานด้วยพลังสมาธิก็สำคัญ แต่มันก็จะมีบางโหมดที่เราต้องการความโปร่ง ที่ทำให้ความคิดเราโปร่งไปด้วย ซึ่งโดยหลักการ คนเราบางครั้งก็ต้องการความโปร่งโล่งอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ความคิดที่ดี
คุณป้อมทำงานเยอะแบบนี้มีเวลาใช้เวลาเอ็นจอยกับพื้นที่ที่บ้านบ้างไหม?
คือจริงๆอยู่บ้านเนี่ยเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ผมก็ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน แต่ประเด็นคือการที่เราอยู่ที่บ้าน คุณภาพของมันมีมากน้อยแค่ไหน? ต้องอยู่แล้วสบาย อยู่แล้วไม่อึดอัด อย่างผมเนี่ย ก็เหมือนคนทำงานหลายหลายคนที่ทำงานในวงการโฆษณา เราอาจจะไม่ได้มีเวลาเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องการคุณภาพที่สูงในการอยู่บ้าน อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
อีกอย่างตอนนี้ผมมีความเข้าใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ทำงานเยอะมากจนไม่ได้ดูแลสุขภาพ แต่ตอนนี้ด้วยความที่เรามีอายุมากขึ้น เราจึงมีความเข้าใจในเรื่องทางร่างกายและสมอง สุขภาพที่ดีกับสมองที่ดี ร่างกายที่ดีกับความฉับไวในการคิดการตัดสินใจก็มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน คือถ้าพูดในแง่ของการบริหาร เราเข้าใจแล้วว่าต้องนอนให้พอ ต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ทำให้จะมีความคิดและการตัดสินใจในการทำงานที่ดีมากกว่าที่จะสมองตื้อๆอัดๆ ซึ่งเราก็พยายามที่จะสะท้อนแนวความคิดนี้ให้กับพนักงานด้วย ตอนนี้ก็จะมีทีมงานที่คิดได้แล้ว ก็จะมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น แต่ก็ยังมีทีมงานที่ยังทำงานมากไปอยู่ และก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เขาก็ดูแลตัวเองกันอย่างดี ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ดีครับ
หลังจากนี้ 5 ปี 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไงบ้าง ?
ตอนนี้เรากำลังจะออกจากโลกที่มันเป็นคอนเทนท์แล้วฝังอยู่ในสื่อ ไปยังโลกที่อุปกรณ์แต่ละตัวมีข้อมูลและ Data ที่อุปกรณ์ที่มีความเก่งและข้อมูลนิดๆหน่อยๆฝังอยู่ในอุปกรณ์ทุกชนิด แล้วมันก็จะฉลาดขึ้น ทุกสิ่งจะโยน Data เล็กๆไปมา เพื่อให้หลายหลายอุปกรณ์ทำงานเข้ากับเรามากขึ้น และยังพัฒนาไปได้อย่างมากมายมหาศาล อย่างเช่นตอนนี้มี Home automation ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกัน คือสามารถเปิดแอร์ได้ก่อนที่เราจะถึงบ้าน ปรับอุณหภูมิตามความชอบของคนๆนั้น หรือคุณสามารถเปิด – ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดในบ้านผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แล้วอุปกรณ์แต่ละตัวถูกตั้งให้เปิด – ปิดได้หลายรูปแบบ ซึ่งมันจะไม่ใช่การที่คนมานั่งใส่ข้อมูลว่าฉันชอบแบบไหน แต่มันจะเป็นการที่เครื่อง automation เหล่านี้อ่านค่าจากข้อมูลในหลายๆฝ่ายเพื่อมาปรับ ให้เข้ากับความชอบของคนนั้นๆ
อย่างตอนนี้มี “Dynalite application” อันนี้ก็จะช่วยได้เยอะเหมือนกัน เพราะบางครั้งต้องเดินทางไปต่างประเทศ แล้วเราจะแน่ใจได้ไงว่าที่บ้านปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้วทุกอย่าง ซึ่งเราสามารถควบคุมทุกอย่างได้ผ่าน application นี้ได้ แต่ถ้ามองในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นสิ่งเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทกับเราในอนาคต แล้วมันจะช่วยให้คุณภาพชีวิตเราดียิ่งขึ้น
สิ่งที่ทำให้พื้นที่นั้นทำงานได้ดียิ่งขึ้นและก่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ คือแสงสว่าง งั้นเรามาทำความรู้จักกับหลอดไฟ LED Bulbs กันดีกว่า
คำว่า LED มาจากอะไร?
LED ย่อมาจากคำว่า Light Emitting Diode หรือเป็นภาษาไทย ก็คือสิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่ง ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่างได้
ข้อดีของหลอดไฟ Philips LED Bulbs
1. แสงที่ได้จะเป็นแสงที่ดูเป็นธรรมชาติมากกว่าหลอดทั่วไป ทำให้บรรยากาศในบ้านน่าอยู่ยิ่งขึ้น
2. หลอดไฟ LED กินไฟน้อยกว่าถึง 85% (เมื่อเทียบกับหลอดไส้ 40 วัตต์) ซึ่งถ้าหากคุณเปลี่ยนทั้งบ้าน จะทำให้คุณประหยัดค่าไฟได้เยอะขึ้น
3. ไม่มีแสง UV มาทำร้ายผิวหนัง และดวงตาของเรา ซึ่งถ้ามองเผินๆอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้ามองไปในรายละเอียดแล้ว หลอดไฟ LED จะไม่ทำให้ดวงตาของคุณเสื่อมก่อนที่ควรจะเป็น แน่นอนว่าทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพของคุณดียิ่งขึ้น
4. ที่สำคัญคุณเปลี่ยนหลอดครั้งเดียวสามารถใช้ได้นานถึง 15,000 ชม. – จ่ายทีเดียวคุ้ม!
เห็นไหมว่าหลอดไฟ Philips LED Bulbs ดีขนาดไหน อย่างที่บอกไปว่าประหยัดไฟกว่าหลอดชนิดอื่นๆ ลองคิดดูว่าถ้าคุณเปลี่ยนทั้งบ้านจะช่วยประหยัดไฟต่อเดือน ต่อปี มากมายขนาดไหน แถมเปลี่ยนครั้งเดียวใช้งานได้ยาวอีกด้วย เห็นอย่างนี้แล้วจะมีเหตุผลอะไรอีกไหมที่ทำให้คุณไม่เลือกใช้
สามารถหาซื้อได้ที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ
Philips
Website: http://www.philips.co.th/
Facebook: https://www.facebook.com/PhilipsLightingThailand
RECOMMENDED CONTENT
เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จึงนำ “เสียง” หรือความคิดเห็นจากประชาชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการส่งเสียงผ่านการสำรวจของ ‘Business of the People Poll’ ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโดย สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในจัดทำการสำรวจผ่านตัวแทนผู้ประกอบการไทยจำนวน 451 ตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นหัวข้อไปที่ ‘ปัจจัย, ความท้าทาย, โอกาส และคำแนะนำ ในการเสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ เพื่อที่จะทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจของประเทศไทย