เชื่อเลยว่าหนึ่งในความฝันของทุกคนคือมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง บ้านในจิตนาการก็คงเป็นบ้านที่มีความสวยสมบูรณ์แบบ ทั้งในแง่ของดีไซน์และการใช้งานที่แข็งแรงคงทน แต่รู้ไหมว่าก่อนที่จะรับบ้านเราต้องมีการตรวจบ้านก่อนจะโอน หลายคนคงตั้งคำถามว่า “ถ้าซื้อบ้านเป็นหลังแรกแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าควรตรวจอะไรบ้าง” โอเค วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก
ก่อนอื่นเลยเราต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับตรวจเช็คขั้นแรกๆ ภายในบ้าน คือ ไฟฉาย, สายชาร์จโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้ทดสอบไฟ, ขนมปัง(เลี้ยงปลา)ใช้ทดสอบแทนมูลในชักโครก, กระดาษและปากกาเพื่อจดรายการที่ต้องแก้ไข, ลูกแก้วหรือลูกปิงปองเพื่อใช้เช็คระดับความลาดเอียงของพื้น และกล้องถ่ายรูปเพื่อบันทึกจุดที่ต้องแก้ไขเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยการตรวจสอบควรดูอย่างถี่ถ้วนทั้งภายนอกและภายใน ตั้งแต่ระบบโครงสร้าง หลังคา ผนัง ฝ้าเพดาน ระบบน้ำ ระบายน้ำ ระบบไฟ วงกบกรอบบานประตู-หน้าต่าง งานสีภายนอกภายใน รวมถึงเช็คตรวจสภาพความเรียบร้อยทั้งหมด
หลังจากเตรียมอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยเราจะเริ่มตรวจบ้านกัน กับ 7 ขั้นตอนที่รับรองได้เลยว่าตรวจครบไม่มีพลาด!
1. ตรวจสอบภายนอกตัวบ้าน – ดูสภาพรอบๆ ตรวจระดับแนวดิ่ง ฉาก ความลาดเอียงของท่อระบายน้ำ ท่อประปา ถังบำบัด ท่อน้ำทิ้ง ท่อน้ำดี ว่ามีระยะความลาดเอียงเป็นอย่างไร ระบายน้ำได้ดีหรือไม่
2. ระบบโครงสร้าง – ตรวจเช็คความลาดเอียงของพื้นว่ามีน้ำขังหรือไม่ รวมถึงรอยร้าวต่างๆ เพราะโครงสร้างถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะบริเวณพื้น คาน เสา และผนัง ไม่ควรมีรอยแตกร้าวหรือเป็นโพรง
3. ระบบผนังและฝ้าเพดาน – ดูบริเวณรอยต่อรอยชนของผนัง ตลอดจนพื้นผิวที่ฉาบเสร็จว่ามีความเรียบเนียนเสมอกัน สีที่ทาหลุดร่อนหรือไม่ ตรวจดูรอยแตกรอยร้าวตามผนัง ส่วนฝ้าเพดานสังเกตได้จากความเรียบร้อยในการเข้ามุม หากพบร่องรอยหยดน้ำแสดงว่ามีการั่วซึมจากรอยต่อต่างๆ
4. ตรวจสอบระบบช่องเปิด – บานประตู-หน้าต่าง รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กุญแจ บานพับ กลอนประตู ว่าติดตั้งได้แนวระดับที่ถูกต้อง การปิดเปิดสนิทดีหรือไม่ ทดลองกลอนทุกตัว ดูการยาแนวตรวจดูความเรียบร้อยของกระจกกับบานประตู หน้าต่าง ทุกบาน ตลอดจนตรวจสอบว่ามีการรั่วซึมจากน้ำฝน บริเวณ ขอบประตู หน้าต่างหรือไม่
5. ระบบไฟฟ้า – ตรวจสอบสวิทซ์ไฟทุกจุดด้วยการทดลองเปิดปิดหลายๆ ครั้ง เช็คปลั๊กไฟโดยนำสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ ที่เตรียมมาเสียบดูว่าทุกเต้าเสียบสามารถใช้งานได้เป็นปกติดีหรือไม่ รวมถึงถ้ามีระบบตัดไฟให้ลองทดสอบดูด้วยการหมุนปุ่มทดสอบดู 2-3 ครั้งว่าปุ่มหมุนอยู่ที่ศูนย์หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ให้หมุนไปที่ปุ่มศูนย์ ถ้าไฟดับแสดงว่ามีไฟรั่วในจุดใดจุดหนึ่ง
6. ระบบสุขาภิบาล – เปิดเช็คน้ำจากก๊อกและฝักบัวทุกตัวให้ครบ เพื่อดูว่าน้ำไหลดีหรือไม่ เช็คการหมุนของวาล์ว เช็คหารอยรั่วด้วยการปิดก๊อกน้ำทุกตัว ถ้าวาล์วยังหมุนหรือปั๊มน้ำยังทำงานแสดงว่ามีการรั่วซึมอย่างแน่นอน จากนั้นเช็คระบบน้ำล้นในสุขภัณฑ์บริเวณอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ อ่างครัว ทดลองขังน้ำไว้ให้เต็มดูว่าช่องน้ำล้นทำงานหรือไม่ แล้วค่อยปล่อยน้ำออกเพื่อดูว่าน้ำไหลได้สะดวก ถ้าพบอาการปุดๆ แสดงว่าไม่มีท่ออากาศ หรือท่ออากาศตัน รวมถึงทดลองกดชักโครกด้วยการเอาขนมปังที่เตรียมมาแทนมูลแล้วกดน้ำทิ้งว่าใช้งานได้ดีไม่มีการอุดตัน
7. วัสดุงานสถาปัตยกรรม – เป็นการตรวจสอบเรื่องคุณภาพของวัสดุที่เกี่ยวกับความสวยงาม เช่น พื้นกระเบื้องชั้นล่าง พื้นลามิเนตชั้นบน ว่าปูได้ระดับหรือไม่ โดยการเอาลูกแก้วมาวางดู ถ้าไม่กลิ้งก็แสดงว่าได้ระดับ และเดินดูว่าพื้นกระเบื้องเดินแล้วสะดุดหรือไม่ พื้นลามิเนตมีเสียงหรือไม่ นอกจากนี้ให้ตรวจสอบความเรียบร้อยของงานบันได ด้วยการเดินว่ามีเสียงดังหรือไม่ งานประตู หน้าต่าง และอุปกรณ์ต่างๆ ให้ทดสอบด้วยการเปิดปิดซ้ำๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัสดุต่างๆ มีคุณภาพและความแข็งแรงเพียงพอ
ผู้ประกอบการบางรายพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่อลดความยุ่งยากในการตรวจรับบ้านให้ลูกค้า อย่างเช่น พฤกษา เรียลเอสเตท ที่มีนวัตกรรมตรวจรับบ้านอัจฉริยะ i-Inspection เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรับบ้านให้กับลูกค้า โดยการบันทึกความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน ตรวจสอบได้ง่าย และทำให้ส่งมอบบ้านได้รวดเร็ว ก่อนจะทำการโอนบ้านควรตรวจสอบให้แน่ใจเพื่อจะได้ย้ายเข้าอยู่บ้านใหม่ได้อย่างมีความสุข
สนับสนุนข้อมูลโดย บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) คิด สร้างสรรค์คุณค่า เพื่อลูกค้า www.pruksa.com
RECOMMENDED CONTENT
ROLL-ROYCE จับมือ HERMÈS สร้างสรรค์ PHANTOM ORIBE ด้วยง […]