“การวาดรูปในหลวง ทำให้ผมเป็นคนเขียนรูปที่อยากพัฒนาตัวเอง” แรงบันดาลใจเบื้องหลังภาพ ‘ในหลวง’ : ซุฟ – สราวุธ อิสรานุวรรธน์ by วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ของ ซุฟ – สราวุธ อิสรานุวรรธน์ ประทับใจคนไทยหลายคนที่ได้เห็นลายเส้น แสงเงา และสีสันที่ปรากฏ ทำให้ภาพในหลวงของเขา สวยงามและดูมีชีวิตชีวาจนยากที่จะไม่หยุดมอง
คุณอาจเคยผ่านตาภาพในหลวงที่ ซุฟ-สราวุธ วาดมาบ้าง อาจจะบนปกนิตยสาร ปกหนังสือ ปฏิทิน โปสเตอร์ ป้ายโฆษณา หรือภาพที่ได้รับการแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียแต่มีน้อยคนที่รู้ว่า เบื้องหลังภาพเหล่านั้น จากภาพในหลวงภาพแรกที่วาดเมื่อสิบปีที่แล้ว จนถึงภาพที่ ๙๙ ซึ่งเป็นภาพล่าสุดที่ ซุฟ-สราวุธ วาดในคืนวันที่ ๔ ธันวาคม ก่อนจะแล้วเสร็จในเช้าวันรุ่งขึ้น ได้เป็นแรงบันดาลใจและเปลี่ยนเขาให้เป็นคนใหม่ เพราะทุกครั้งๆ ที่ลงมือวาดภาพ ซุฟ-สราวุธ ก็ได้วาดภาพชีวิตของตัวเองด้วยเช่นกัน
ก่อนจะเป็นดิจิทัลอาร์ทติสแบบทุกวันนี้ ซุฟ – สราวุธ อิสรานุวรรธน์ อดีตบัณฑิตปริญญาตรี เอกจิตรกรรม สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานที่โรงงานทำอาหารส่งออก ไม่ได้จับงานศิลปะอยู่พักใหญ่ จนกลับมาทำงานโฆษณาที่บริษัทแห่งหนึ่ง ในตอนนั้นเองที่เขาได้กลับมาวาดรูปอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เขาได้หัดวาดรูปผ่านคอมพิวเตอร์การทำงานที่ต้องวาดภาพคนทุกวัน ทำให้เขาค่อยๆ พัฒนาทักษะการวาดที่มีให้เพิ่มขึ้น ก่อนจะตัดสินใจวาดรูปในหลวงอีกครั้ง หลังจากได้เห็นภาพในหลวงที่ตัวเองเคยวาดไว้เมื่อนานมาแล้ว
เราวาดภาพคนอื่นมาเยอะมาก แต่เราจะไม่วาดพระองค์ท่านเลยเหรอ?
ซุฟเริ่มต้นวาดภาพแรกขึ้นในวันหนึ่ง และตั้งใจว่าจะวาดภาพพระองค์ท่านให้ได้ ๙๙ รูป เมื่อวาดเสร็จ เขาก็โพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดีย จากนั้นก็มีคนเริ่มติดตามภาพวาดในหลวงของเขามากขึ้นเรื่อยๆ มองจากสายตาคนนอก เมื่อดูจากจำนวนภาพในหลวงที่ ซุฟ-สราวุธ เคยวาด เขาน่าจะวาดภาพพระองค์ท่านได้อย่างง่ายดาย แต่เขากลับบอกว่า “จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก”
(ภาพวาดลำดับที่ 99)
โดยเฉพาะภาพที่วาดยาก มักจะเป็นภาพที่มีต้นแบบจากภาพเก่าที่ถ่ายในยุคฟิล์มขาว-ดำ ภาพไม่ชัดมาก ทำให้มีหลายส่วนที่ทำให้เขาต้องใช้ทักษะการมองและจินตนาการเพื่อจับรายละเอียดอันพร่าเลือน แล้ววาดส่วนนั้นขึ้นมาให้เกิดขึ้นจริงจนภาพนั้นเป็นภาพที่สมบูรณ์
ภาพในหลวงมีนับพันนับหมื่น คุณเลือกรูปพระองค์ท่านที่จะเอามาวาดจากอะไร?—เราถาม
“ช่วงแรกที่วาด เนื่องจากผมตั้งใจเขียนพอร์ทเทรต คือ ภาพพระพักตร์ ฉะนั้นผมจึงเลือกภาพที่พระองค์ยิ้ม”
แต่เมื่อวาดมากขึ้น ซุฟ-สราวุธ เริ่มมองหาภาพที่จะสื่อความหมายและตัวตนของพระองค์ท่านได้กูเกิ้ล คือ เครื่องมือชิ้นสำคัญที่พาเขาท่องไปในจักรวาลภาพถ่ายพระเจ้าอยู่หัวอันกว้างใหญ่ เมื่อเจอภาพที่ถูกใจ เพื่อเข้าถึงสาระในภาพ ซุฟ-สราวุธ จะเสิร์ชหาที่มาและเรื่องราวในภาพทุกครั้งก่อนลงมือวาดเมื่อได้รู้เรื่องราวข้างหลังภาพทีละภาพๆ ภาพในหลวงในดวงใจของเขาก็ยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ
“ตอนแรกที่เริ่มวาด ผมรู้แค่ว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่อง แต่ว่าไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้ง พอยิ่งเขียน ยิ่งหารูป ก็ได้รู้ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงงานเยอะมาก นอกจากงานหลักหรือพระราชกรณียกิจที่ต้องทำ ก็ได้เห็นว่าพระองค์ทรงมีงานอดิเรกหลายอย่าง ทั้งด้านศิลปะ กีฬา ดนตรี ฯลฯ ที่สำคัญแต่ละอย่าง ท่านก็ทำได้ดี และทำทุกอย่างให้ดีที่สุด” ซุฟ-สราวุธ เล่าว่า สิ่งที่เขาได้จากการเรียนรู้เรื่องราวของพระองค์ คือ ความเพียร
“ความเพียร” คือ สิ่งที่ผมเอามาใช้กับตัวเอง พระองค์สอนให้ผมรู้ว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ทำแค่ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วทำได้
“เมื่อก่อนผมเป็นคนขี้เกียจพอสมควร ถ้ามีเวลาว่างก็ไปเที่ยวเล่น นอนหลับ แต่พอได้รู้เรื่องราวของในหลวง ร. 9 มากขึ้น ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมีความพยายาม ไม่ขี้เกียจ”
จากที่เคยเที่ยวเล่น ถ้ามีเวลาว่าง ซุฟ-สราวุธ จะแบ่งเวลาไปกับการทำงาน และฝึกทักษะการวาดภาพ จากที่เคยทำงานแบบแค่นี้ก็พอ เขาได้หันมาใส่ใจในรายละเอียดของงานให้มากขึ้น ฝึกมากขึ้น ทำมากขึ้น จนกระทั่งเกิด ‘ลายเซ็น’ ของตัวเอง ซึ่ง ซุฟ-สราวุธ บอกว่า ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที
“ผมเป็นแค่คนหนึ่งที่ทำงานซ้ำๆ”
ซุฟ-สราวุธ สรุปว่า ลายเซ็นหรือสไตล์งานในแบบของเขานั้นไม่ได้มีต้นกำเนิดจากอะไรที่ซับซ้อน แค่… “ต้องทำซ้ำ ทำซ้ำ และทำซ้ำ ในสิ่งที่ชอบ”
การวาดรูปในหลวง นอกจากเขาจะวาดแล้ว ภาพของพระองค์ท่านก็ได้วาดภาพชีวิตของ ซุฟ-สราวุธ ด้วยเช่นกัน
“ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้เราพัฒนาฝีมือ”
กว่า ๑๐ ปีที่วาดภาพในหลวง ท่านได้เป็นแบบอย่างด้านความเพียรและบอกว่าความสำเร็จนั้นไม่มีทางลัด มีแต่ต้องลงมือทำด้วยความตั้งใจจริงเท่านั้น ตลอดระยะที่ผ่านมา ซุฟ-สราวุธ จึงมุ่งมั่นฝึกฝนทักษะที่มีจนได้พบ ‘ลายเซ็น’ ของตัวเอง แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตาม แต่ถึงที่สุด ก็ถึงฝั่ง
“หากผมเขียนรูปเหมือนเดิม ผมก็เป็นคนวาดรูปคนหนึ่ง แต่การที่ได้วาดรูปในหลวง ทำให้ผมได้เป็นคนเขียนรูปที่อยากพัฒนาตัวเอง”
“ถ้าเราขยัน พยายามทำงานด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น สิ่งที่ดีก็จะตามมา”
“แม้ผมจะจำคำสอนของพระองค์ท่านไม่ได้ครบถ้วนทั้งหมด แต่เรื่อง ความเพียร นี้ สำหรับผมคงจะเป็นมากกว่าคำสอน เพราะปฏิบัติจนฝังจิตวิญญาณไปแล้ว”
และนี่คือเบื้องหลังภาพวาดในหลวง รัชกาลที่ ๙ ฝีมือของ ซุฟ – สราวุธ อิสรานุวรรธน์ ที่ประทับใจใครหลายคน โดยคุณสามารถเก็บภาพแห่งความทรงจำอันล้ำค่านี้ได้ ด้วยการเข้าไปแสดงปณิธานความดีที่ http://www.ทำดีตามพ่อ.com
DIDYOUKNOW
- ๒ วัน คือ ระยะเวลาที่ ซุฟ – สราวุธ อิสรานุวรรธน์ ใช้วาดภาพในหลวงหนึ่งภาพพร้อมลงสีในกรณีที่ไม่ได้มีอะไรเร่งด่วน หากนับเป็นชั่วโมงการทำงาน คือ เฉลี่ยประมาณ ๘ ชั่วโมง ส่วนระยะเวลาที่ใช้วาดนานที่สุด คือ เกือบ ๕ วัน
- ศิลปินคนโปรดของ ซุฟ – สราวุธ อิสรานุวรรธน์ คือ Drew Struzan เจ้าของผลงานภาพโปสเตอร์หนังในช่วงยุคทศวรรษที่ ๑๙๘๐ และ ๑๙๙๐ เช่น Star Wars, Indiana Jones, Blade Runner หรือหนังแอ็คชั่นของซิลเวสเตอร์ สตอลโลน อย่าง Rambo เป็นต้น
เครดิตภาพประกอบ: www.facebook.com/sarawut.itsaranuwut
RECOMMENDED CONTENT
ทำเอาแฟนๆฮือฮาสุด สำหรับเพลงใหม่ของ Three Man Down ที่แอบสปอยจนแฟนเพลงลุ้นตัวโก่งว่าศิลปินที่จะมาร่วมแจมในเพลงใหม่คือใครกันแน่ แล้วก็สมการรอคอยจริงๆ เพราะงานนี้เป็นการโคจรจับคู่ฟีเจอริ่งทางดนตรีครั้งแรกกับแร็ปเปอร์มาดเท่อย่าง URBOYTJ