fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit : Rap is Now ศึกวันทรงไมค์ อะไรในความโหดสัส!
date : 7.ตุลาคม.2016 tag :

Rap is now Visit 2016 dooddot 1

ก่อนที่เพลงฮิปฮอปจะเดินทางมาถึงยุค Golden Era มันเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือระบายความอัดอั้นจากการไม่ได้รับความเท่าเทียมและสื่อสารอุดมการณ์บางอย่างของชาวอเมริกันผิวสี ไม่ว่าจะสังคม ปากท้อง หรือการเมือง ฮิปฮอปจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ดนตรีประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่มันกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยที่มีผลต่อสภาพสังคมในวงกว้าง จาก ‘Rapper’ เป็น ‘Culture’ แม้ถูก มองว่าเป็นตัวตลกที่ชอบเรียกร้องความสนใจ หยาบคายและแหกคอก

ทว่าผ่านมาถึงวันนี้วัฒนธรรมฮิปฮอปก็ยังไม่มีใครโค่นได้ แถมยังแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เมืองไทยเอง กระแสเพลงฮิปฮอปดูจะคึกคักขึ้นมาทันทีหลังจากการเกิดขึ้นของชุมชนขนาดย่อม Rap is Now ที่เปิดให้นักแร็พหรือ MC ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเข้ามาประชันฝีปากกันสดๆ ถ้อยคำรุนแรงเดือดพล่านที่ต่างคนต่างงัดมาซัดคู่แข่งให้เจ็บจี๊ด ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของคนดู ในบรรยากาศดิบๆ ของปาร์ตี้ใต้ดินอย่างกับฉาก Battle ในหนัง 8 Mile 

การแข่งขันดำเนินมาถึงปีที่ 7 สยายปีกออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งปั้นแร็ปเปอร์หน้าใหม่ออกมาประดับวงการมากมาย เราคงเสียดายหากไม่ได้นัดคุยกับ ฟลุ๊ค-พลกฤต ศรีสมุทร Maneger, ต้าร์-สักกพิช มากคุณ Creative Producer และ โจ้ ศวิชญ์ สุวรรณกุล Art Director, Creative และ Founder แห่ง Rap is Now ว่าพวกเขาต้องแบต (เทิล) กับอะไรกันมาบ้าง

Rap is now Visit 2016 dooddot 2

ความหลงใหลในดนตรีฮิปฮอปเพลงแร็พเริ่มมาจากตรงไหน?

โจ้: เราโตมาในยุคที่เพลงฮิปฮอปกำลังบูม ก่อนหน้านั้นเราฟังเพลงทั่วๆ ไป Backstreet Boy, Limp Bizkit, Slipknot, Likin Park จนถึงเพลงประหลาดๆ จากสื่อนอกกระแสทั้งไทยฝรั่ง จนชาร์ตเพลงต่างๆ เริ่มมีเพลงฮิปฮอปอย่าง I’ll be missing you ของ P Diddy เข้ามา ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือฮิปฮอป รู้แค่ว่าเท่ว่ะ เราชอบท่อนแร็พแบบนี้ ชอบ Turntable มายุคโจอี้บอย ดาจิม ไทเทเนียม ที่ตอนนั้นเขามีโปรเจ็กต์ให้เด็กหน้าใหม่ส่งมิกซ์เทปไป เด็กอย่างเราก็เลยมีฝันอยากทำเพลงอย่างพี่ๆ เขาบ้าง

ฟลุ๊ค: ส่วนผมโตมาในยุค Alternative แต่ก็ฟังหลากหลายแนวเหมือนกัน จนมาถึงยุคของ Fat Radio ศิลปินอินดี้รุ่งเรือง ทำให้รู้ว่าเราสามารถทำเพลงกันเองได้ เพลงฮิปฮอปกล้าพูดสิ่งที่เพลงป๊อปพูดไม่ได้

ต้าร์: มันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากแผ่นซีดีมาเป็น MP3 ทำให้เราฟังเพลงฝรั่งหลากหลาย บวกกับตอนนั้นมีเว็บบอร์ดชื่อ Siam Hip hop เป็นพื้นที่สำหรับคนชอบฮิปฮอปทำเพลงแร็พแล้วส่งคลิปเสียงมาแชร์ มา Battle กันจริงจัง ความชอบของเราเลยเริ่มมาจากตรงนั้น

กระแสเพลงฮิปฮอปในบ้านเราช่วงนั้นเป็นอย่างไร?

โจ้: ช่วงที่ฮิปฮอปบูมมากๆ ทุกอย่างที่เราเห็นในสื่อล้วนเป็นฮิปฮอปหมด หนัง โฆษณา อีเว้นต์ ผมรู้สึกว่ามันเอียนไปหมดเหมือนโดนยัดเยียด จนกระแสเพลงโลกเริ่มเปลี่ยน แม้แต่ตัวเนื้อหาเพลงฮิปฮอปก็ยังเปลี่ยนเป็นป๊อป เป็นอีโม แล้วฮิปฮอปก็เงียบไปจากวงการเพลงไทย

ต้าร์: ยุคนั้นเราเป็นแค่ศิลปินที่ไปเล่นในงานปาร์ตี้ นึกไม่ออกว่าจะทำอะไรกับมันได้มากกว่านี้ ทั้งที่จริงๆ เราอยากให้ดนตรีฮิปฮอปกลับมามาก

โจ้: เรากำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นเริ่มไปปาร์ตี้เยอะ สังเกตว่าทุกแนวเพลงมีกลุ่มคนฟังของมัน มีออร์กาไนซ์เซอร์ที่เก่งเฉพาะทาง อย่าง Superzapp หรือ Dudesweet แต่ทำไมไม่มีใครทำฮิปฮอปจริงจังบ้าง เราเลยอยากทำแค่เป็นปาร์ตี้ฮิปฮอปเล็กๆ สนุกๆ จึงเกิดปาร์ตี้ครั้งแรกตอนปี 2009 ที่เซ็นเตอร์พ้อยต์-สยาม ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ครั้งที่ 2 เลยตามมา งานใหญ่ขึ้น เริ่มเอาซีน Rap Battle มาใส่ หลังจากนั้นช่วงผมเรียนปีสุดท้ายต้องพักทุกอย่าง ไป จนวันหนึ่งหลุยส์-ธชา คงคาเขตร (พิธีกร Rap is Now) ชวนผมให้เอาซีน Battle ที่ไม่ได้เห็นกันนานกลับมาอีกครั้ง เรียกว่าเป็นยุค Reborn ของ Rap is Now ในปี 2012

Rap is now Visit 2016 dooddot 3

Rap is now Visit 2016 dooddot 4

ตอนที่พวกคุณกลับมา วงการฮิปฮอปยังคึกคักเหมือนเดิมไหม?

โจ้: เงียบกริบครับ ดนตรีและปาร์ตี้เป็น EDM หมด แต่เราก็ยังอยากทำ จึงชวนพี่เอ็ม-จีรังกูล เกตุทอง เข้ามาช่วยตัดสินในซีนแบทเทิล เพราะเขาทำเพลงฮิปฮอปมานาน พอเปิดเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา ปรากฏว่ามีเด็กหน้าเก่าที่เคยรู้จักเราจากปาร์ตี้ครั้งแรกตามมาสมัคร แต่ที่ตกใจกว่าคือมีคนหน้าใหม่เข้ามาเยอะมาก แรกๆ เราให้ส่งคลิปเสียงมาเหมือนเมื่อก่อน แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนเป็นให้ส่งคลิปวีดีโอ อัพลงยูทูป แล้วส่งลิงค์มาให้เรา เทคโนโลยีมันช่วยได้เยอะ เมื่อก่อนการจะส่งคลิปร้องแร็พมาให้ใครดูเป็นอะไรที่เขินมาก

จุดประสงค์ของการ Rap Battle คืออะไร?

ต้าร์: ส่วนหนึ่งผมว่าคนที่มาแข่งต้องการทดสอบ Skill การแร็พของตัวเองว่าจะโจมตีหรือเอนเตอร์เทนคนได้แค่ไหน แต่ผลพลอยได้คือมิตรภาพ บ่อยครั้งที่พอแข่งเสร็จ เขากลายมาเป็นเพื่อนกัน ชวนกันไปทำเพลง เมื่อก่อนวัฒนธรรมฮิปฮอปมันอาจจะแบ่งออกเป็นแก๊งค์ แต่เราอยากให้มันเป็นเรื่องของกีฬา สร้างความเข้มแข็งในกลุ่มคนรักฮิปฮอปด้วยกัน

ลิมิตของถ้อยคำสบถด่าอยู่ที่ตรงไหน?

ต้าร์: ไม่มีเลย มีแต่กติกามารยาททั่วไป เช่น สามารถแตะตัวกันได้ แค่หยอกกัน แต่จะไม่ใช่การยั่วโมโหหรือการทำร้าย แร็ปเปอร์เขาจะรับรู้กันเอง

เคยมีเหตุการณ์ลงจากเวทีแล้วไม่จบบ้างไหม?

ต้าร์: ไม่เคยมีเลยตั้งแต่จัดมา 7 ปี ผมว่ามันคล้ายๆ นักมวย อยู่บนเวทีปล่อยหมัดเต็มที่ แต่พอชูมือแล้วทุกคนกอดกัน จับมือกัน มันคือสปิริตของนักกีฬา

โจ้: ผมว่ามันเป็นการแข่งกับตัวเองมากกว่า อย่าง MC King แร็ปเปอร์ที่เจนเวทีมานานคนหนึ่งของเราที่ตอนนี้มีคนเชิญเขาไปเป็นคนตัดสินแล้ว แต่เขาก็ยังอยากพิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ อยู่

Rap is now Visit 2016 dooddot 5

ถ้าซีน Rap Battle ไม่หยาบ ไม่ด่า รูปแบบของมันจะเปลี่ยนไปไหม?

ต้าร์: เราจะไม่ตีกรอบให้ว่าควรหรือไม่ควรใช้คำอะไร ถ้าเข้าไปกดดันเขา ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จะไม่เกิด แต่แร็ปเปอร์เขาก็จะมีลิมิตของตัวเองว่าแค่ไหนได้หรือไม่ได้ คำหยาบเหมือนเป็นคำสบถที่นึกออกมาได้ง่าย แต่คนที่เตรียมตัวมาดีๆ เขาจะมีวิธีการเล่าเรื่องที่บางครั้งแทบไม่มีคำหยาบเลยด้วยซ้ำ ถามว่าทำไมถึงต้องด่ากัน เพราะมันคือการแข่งขัน ต้องทำให้คู่แข่งเจ็บที่สุด ซึ่งต่างจากการร้องแร็พธรรมดา

ฟลุ๊ค: ยกตัวอย่างแร็ปเปอร์ชื่อ นิลโลหิต เขาพยายามแร็พให้หยาบน้อยที่สุดแต่เจ็บแสบมากที่สุด ซึ่งมันก็โฟลว์มาก แสดงว่าคำไม่หยาบก็สามารถทำให้เจ็บได้ อยู่ที่แร็ปเปอร์จะเลือกมาใช้

หลักการของการเซ็นเซอร์ในคลิปวีดีโอการแข่งรอบไฟนอลคืออะไร?

ต้าร์: เราดูที่เนื้อหา ไม่ได้เซ็นเซอร์คำหยาบทั้งหมด อย่างคำสบถ เช่น เหี้ย ควย สัตว์ คนสมัยนี้อาจจะฟังแล้วเฉยๆ เพราะมันกลายเป็นคำธรรมดาที่เราได้ยินจนชิน แต่ถ้ามาแบบ ‘แม่มึงเป็นกระหรี่ ให้เย็ดฟรี’ มันอาจเริ่มแรงไปจนเราคิดว่าควรเซ็นเซอร์ แต่อย่างที่บอกว่าแร็ปเปอร์เขารู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นแค่คำที่ใส่ลงไปเพื่อการแข่งให้คู่แข่งเจ็บ แต่ตอนนี้มีคนดูที่เป็นเยาวชนมากขึ้น เราเลยต้องใช้การดูดคำเข้ามาช่วยบ้าง

โจ้: ผมว่ามันจะค่อยพัฒนาไปเรื่อยๆ พอแร็ปเปอร์เขามีประสบการณ์ คำหยาบก็จะลดน้อยลง นี่คือสิ่งที่เห็นในเวทีของเรา

แพ้หรือชนะ ใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน?

ต้าร์: การตัดสินจะมี 3 เสียงคือเสียงจากคนที่ดูสดตรงนั้น คนดูออนไลน์ และเสียงจากทีมเรา ซึ่งมันค่อนข้างแฟร์ ทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบได้หมด ไม่ค่อยมีอะไรที่ค้านสายตามวลชน บางคู่ทีมงานแทบไม่ต้องตัดสินกันเลย เพราะเสียงจากคนดูมันชัดอยู่แล้ว

โจ้: จริงๆ คือความชอบล้วนๆ แล้วแต่รสนิยมของคนดู ไม่มีถูกมีผิด แต่ความชอบถูกบาลานซ์ด้วยคนจำนวนมาก ถึงบางครั้งอาจมีดราม่าบ้างว่าพวกใครพวกมัน แต่สุดท้ายถ้าใครไม่เจ๋งจริงก็แพ้อยู่ดี

สนับสนุนแร็ปเปอร์ที่ได้แจ้งเกิดจากเวที Rap is Now อย่างไรบ้าง?

โจ้: หลักๆ คือหางานให้เขา ช่วยพีอาร์ เวลามีโปรเจ็กซ์ก็จะเรียกกันมา จะเลือกให้เหมาะกับลักษณะงานไป คนที่เห็นชัดตั้งแต่ซีซั่นแรกคือ MC King ที่อยู่ได้จริงๆ จากการทำเพลงเองในยูทูป ต้องบอกว่าบนเวทีกับร่างจริงเป็นคนละคนกันเลย ใครจะเชื่อว่า MC King ชอบทำเพลงรัก แบบหวานจนมดขึ้น แต่เวลาแบทเทิลนี่หยาบคายเป็นที่สุด (หัวเราะ)

Rap is now Visit 2016 dooddot 6

การที่กลุ่มคนดูกว้างขึ้น ทำให้ความ Underground ของวัฒนธรรม Rap Battle ลดลงไหม?

ต้าร์: บรรยากาศการ Battle ในงานก็ยังดิบเหมือนเดิม แค่พออกสื่อ พออยู่ในคลิปอาจต้องซอฟต์ลงหน่อย แต่เรายังรักษาความเป็นอันเดอร์กราวน์อยู่ ทำให้มันดีขึ้น สนุกขึ้น

ฟลุ๊ค: เรามีทุกอย่างตามมาตรฐานที่อีเว้นต์หนึ่งมี ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับคอนเสิร์ต มีรถพยาบาล มีแพทย์ มีทหารมาคุม กันคนมีเรื่อง แต่ตั้งแต่จัดมาก็ยังไม่เคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทชกต่อยกันมาก่อน

อย่างที่คุณบอกว่าตอนนี้มีกลุ่มคนดูที่เป็นเยาวชนมากขึ้น เกรงผลกระทบในแง่ของสังคมไหม?

ต้าร์: ไม่ได้ปฏิเสธว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กพูดคำหยาบ แต่เราไม่ได้ไปชี้จุดตรงนั้นว่ามันดี ทำสิ ต้องหยาบถึงจะเจ๋ง แค่พยายามจะบอกว่า ถ้าคุณมีฝัน คุณต้องทำมัน เรามองเรื่อง Inspiration ทักษะ การฝึก การเตรียมตัวมากกว่า สิ่งสำคัญคือการให้เกียรติกัน ในกลุ่มแร็ปเปอร์ ในกลุ่มคนดู จะสอดแทรกเรื่องพวกนี้เข้าไปในชุมชนของเราอยู่ตลอด ยิ่งตอนนี้มีพ่อแม่จูงลูกเล็กมาดู ซื้อเสื้อแร็ปเปอร์ที่ตัวเองชอบให้ลูกใส่ มันกลายเป็นความบันเทิงครอบครัวไปแล้ว ผมว่ามันเหมือนสื่อต่างๆ ที่เราเห็นกันในทีวี ถ้ามีผู้ใหญ่คอยสอนอยู่ด้วย ใช้วิจารณญาณแยกแยะว่ามันคืออะไร เขาก็อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา เรื่องแบบนี้มันสอนกันได้ 

ฟลุ๊ค: ตัวจริงของแร็ปเปอร์ เวลาไม่ได้อยู่บนเวที เขาก็เป็นสุภาพชนปกตินี่แหละ ไม่ได้มีความก้าวร้าวเลย แถมบางคนยังมีสัมมาคารวะมากกว่าเด็กสมัยนี้เสียอีก บางทีการแข่งมันอาจช่วยสอนให้เขามีน้ำใจนักกีฬา มีความอดทนอดกลั้นมากกว่าปกติก็ได้

โจ้: ผมขอยืมคำพูดของหลุยส์-ธชา มาละกัน เราเหมือนห้องใต้ดิน ถ้าคุณไม่ชอบ คุณก็ไม่ต้องลงมาอีก ก็เท่านั้น

มองว่าฮิปฮอปไทยกำลังจะมุ่งหน้าไปทางไหนในเวลานี้?

ฟลุ๊ค: เมื่อก่อนฮิปฮอปในเอเชียอาจดูตลกๆ หน่อย แต่พอ 10 ปีหลังมานี้มันโตขึ้นมาก เริ่มตีออกหลายสายพันธุ์ มีฮิปฮอปเกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว ที่ทั่วโลกยอมรับ หรือแม้แต่ในไทยเอง เราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ฝรั่งก็มองว่าถึงรสชาติเพลงแร็พของเราจะต่างออกไป ไม่คุ้นหู แต่ก็อร่อยดีเหมือนกัน มันมีความแข็งแรงในแบบของมัน เมื่อทุกคนมียูทูปเป็นของตัวเอง วัฒนธรรมฮิปฮอปในโลกก็เชื่อมต่อกันได้หมด

Rap is now Visit 2016 dooddot 7

แล้วหมุดหมายต่อไปของ Rap is Now คืออะไร?

ต้าร์: เรากำลังจะทำรายการใหม่ที่พูดเรื่องแรงบันดาลใจ เน้นไปแนวคิดของแร็ปเปอร์ เพราะแต่ละคนก็จะมีเรื่องราวเบื้องหลังน่าสนใจ เผื่อมันจะปลุกไฟของเยาวชนได้

ฟลุ๊ค: เราอยากให้แร็ปเปอร์กลายเป็นอาชีพจริงจังเหมือนนักร้องคนหนึ่ง ไม่ได้อยากให้การเป็นแร็ปเปอร์ถูกล้อ หรือเป็นตัวตลกอย่างที่ผ่านมา

โจ้: สังเกตว่าเวลาแร็ปเปอร์หรือเราเองไปออกรายการทีวี พิธีกรแม่งก็จะ ‘โย่วๆ’ ใส่ ซึ่งเรากลับคิดว่า ‘เดี๋ยว อะไรของมึงวะ’ (หัวเราะ) คือต้องเข้าใจว่าการโย่วใส่แร็ปเปอร์ในยุคนี้มันหมายถึงคุณดูถูกกันแล้วนะ มันไม่คูลเอามากๆ เลย

ต้าร์: สมัยนี้แร็ปเปอร์มันทำอย่างอื่นได้แล้วเว้ยยย (หัวเราะ)

Writer: Wednesday

RECOMMENDED CONTENT

22.กันยายน.2022

ประเดิมโปรเจกต์ “PUBG MOBILE x 4EVE ที่ #1 ในใจฟีฟเลย!” ด้วยการปล่อยซิงเกิลคอลแลปสุดพิเศษ JACKPOT เพลงจังหวะเร้าใจ ผสมบีทที่หนักแน่น มาพร้อมท่อนฮุคติดหู “ไม่คิดว่าจะได้เจอ คนน่ารักอย่างเธอ JACKPOT! ยิงเข้ามาที่ใจ BABY YOU’RE MY TYPE JACKPOT!” ให้สาวก For Aye และแฟนๆ ได้ฟังกันไปเมื่อ 14 กันยายนที่ผ่านมา และได้กระแสตอบรับแรงเกินต้าน โดยคอเกม PUBG MOBILE สามารถปลุกความมัน ฟังเพลงกันเพลินๆ ได้ที่ Lobby Music ภายในเกม