“เราจะไม่คิดเรื่องสิทธ์จนกว่าเราจะโดนลุกล้ำสิทธิ์”
บางคนบอกว่า ถ้าเราเป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตไปวันๆ คงไม่มีเวลามานั่งนึกถึงเรื่องพวกนี้ ถ้าลองนับดูเล่นๆ ตั้งแต่ก้าวท้าวออกจากบ้าน เราเจอคนสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ โดยไม่แคร์ว่าใครจะดมควันของเขาบ้าง, เรานั่งรถเมล์ที่ขับลากป้าย แบบไม่แคร์ว่าใครจะไปทำงานสายหรือเปล่า, เราโดนรถมอเตอร์ไซค์บีบแตรใส่ทั้งที่เดินอยู่บนทางเท้า ฯลฯ
นั่นทำให้กลับมาถามตัวเองว่าจริงหรือที่คนธรรมดาๆ อย่างเราจะไม่คิดเรื่องการถูกละเมิดสิทธิ์ ตราบใดที่ชีวิตประจำวันยังเป็นปกติ หรือจริงๆ แล้วเราถูกละเมิดสิทธิ์กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ต้องทำใจยอมรับว่ามัน ‘ปกติ’ กันแน่?
มันเป็นความจริงที่โหดร้ายว่าเราถูกสอนให้ปล่อยผ่านเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ จนเราชาชินแม้กระทั่งกับการละเมิดที่ใหญ่กว่านั้น
เช่นเดียวกับ ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย ศิลปิน Typewriter และ Graphic จากบรุกลิน, นิวยอร์ก ที่ตั้งคำถามว่าอะไรคือสิทธิ์ที่ขาดหายไปในสังคม สิทธิ์ที่เขาหมายถึงในที่นี้มันหมายถึงสิทธิ์ซึ่งเราทุกคนควรมีเท่ากัน ‘สิทธิ์ของความเป็นมนุษย์’
ณัฐวุฒิเป็นศิลปินไทยที่ทำงานศิลปะอยู่ในนิวยอร์กมาหลายปี งานของเขาเรียกว่า Typewriter Art หรือศิลปะพิมพ์ดีด เป็นการใช้เครื่องพิมพ์ดีดสร้างรูปภาพขึ้นมาพร้อมกับเล่าเรื่องด้วยการพิมพ์ข้อความลงไปบนภาพ
เขาสร้างงานศิลปะขึ้นมาจากคำถามนี้คำถามเดียว โดยส่งคำถามถึงเรื่องสิทธิไปยังคนส่วนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะซึ่งตัวเขาพอจะรู้จักอยู่แล้ว และไปยังคนอีกส่วนที่เขาไม่รู้จัก แต่เป็นคนทำงานเกี่ยวกับสังคม ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะตอบคำถามเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของ RIGHTS | TYPE นิทรรศการที่พูดถึงเรื่องสิทธิในหลายแง่มุม
การไปอยู่นิวยอร์กตั้งแต่อายุ 25 ทำให้เขาได้เห็นสภาพสังคมที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องสิทธิ?
ตอนแรกก็ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องพวกนี้เท่าไร ตอนที่อยู่เมืองไทยผมก็ใช้ชีวิตปกติ เหมือนคนทำงานทั่วไป คิดเเค่เรื่องชีวิตประจำวันของตัวเอง แต่พอได้ไปอยู่ที่โน่น มันได้เห็นความต่างกันของสังคมเยอะขึ้น
อะไรเป็นแรงกระทบที่ทำให้คุณอยากพูดเรื่องนี้?
ผมเป็นคนเอเชียไปอยู่ที่โน่น เขาอาจจะไม่ได้ดูถูกขาดนั้น แต่มันจะเป็นเเรงเสียดสีเรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างบางครั้งแค่ไปในที่ที่ไม่ควรไป เช่นตลาดบางแห่ง เคยโดนถามว่า ‘มาทำไม’ เฉยเลย ทำให้คิดว่า ถึงผมไม่ใช่ประชากรของที่นั่น แต่ก็อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่เหรอ
มันไม่ใช่แรงกระทบของผมคนเดียว แต่มาจากการเห็นคนรอบข้างด้วย อย่างบริษัทที่ผมทำงานประจำอยู่ เป็นองค์กรที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรมมาก อย่างตัวเจ้านายบริษัทที่ผมทำงานประจำอยู่ เขาเป็นเกย์ เป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมของเกย์มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก และเป็นคนกลุ่มแรกเลยก็ว่าได้ที่ได้แต่งงานอย่างถูกกฎหมาย สามีเขาเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน เรียกว่าเขาผ่านอะไรมาเยอะ ผมคิดว่าเขาตอบคำถามเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมได้ดีที่สุดคนหนึ่งเลย
ความเท่าเทียมที่คุณสนใจคือเรื่องอะไรบ้าง?
ผมตั้งใจจะให้ครอบคลุมทั้งหมด เรื่องเชื้อชาติ ความเชื่อ เรื่องเพศ ไม่แค่เฉพาะ LGBTQI แต่ยังหมายรวมถึงความเท่าเทียมของผู้หญิงและผู้ชายด้วย เพราะเราจะเห็นข่าวอยู่บ่อยๆ ว่าหลายประเทศมีกรณีเรื่องความไม่เท่าเทียมของการจ่ายค่าจ้างแรงงานหญิงกับชายอยู่ นอกจากนั้นก็มีงานที่ผมตั้งชื่อมันว่า ‘กวีเว้นวรรค’ พูดถึงการเมืองไทยกับสังคมไทยที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีวันเท่ากัน ผมมองว่าทุกอย่างมันนำไปสู่ความเท่าเทียมได้หมด
________________________________________________________
ก่อนหน้านี้ณัฐวุฒิทำงานศิลปะ Typewriter Portrait หรือการวาดภาพพอร์เทรตด้วยพิมพ์ดีดมานานแล้ว แต่เป็นการพิมพ์ภาพคนเฉยๆ ไม่ได้มีข้อความหรือแฝงความหมายอะไร แต่งานเซ็ตนี้เป็นการใส่คำพูดของเจ้าของพอร์เทรตนั้นๆ ลงไปด้วย
กระบวนการทำงานของเขาเริ่มจากการเขียนบันทึกไอเดียขึ้นมาก่อนเป็นประโยคสั้นๆ แล้วจึงนำมาพิมพ์ดีดโดยใช้กระดาษญี่ปุ่นในการทำงาน เสน่ห์ของกระดาษชนิดนี้คือ เวลาซื้อมาเป็นปึ๊ง ในนั้นจะมีทั้งกระดาษที่ใช้ได้กับใช้ไม่ได้ ไม่เหมือนกันสักแผ่น แต่เขาชอบที่ว่ามันเป็นกระดาษที่บางพอจะใส่เครื่องพิมพ์ดีดได้
ณัฐวุฒิเคยทำงานเพ้นติ้งมาก่อน แต่เขารู้สึกว่าไม่สามารถหาจุดเด่นหรือสไตล์ในงานของตัวเองได้ จนกระทั่งวันหนึ่งไปเจอเครื่องพิมพ์ดีดที่บ้านเพื่อน แล้วจากนั้นก็ค้นพบงานศิลปะที่เรียกว่า Typewriter Drawing ที่มีมานานตั้งแต่ยุค 50s ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่ที่ใช้เทคนิคนี้จะกวี หรือนักเขียน ซึ่งใช้การวาดรูปในลักษณะ Geometric ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดทับลงไปบนบทกวี ทำให้เกิดมิติบทกวีและงานเขียนมากขึ้น
_____________________________________________________________
ทำไมถึงเลือกใช้เครื่องพิมพ์ดีดในการสื่อสารเรื่องเหล่านี้?
ผมชอบการเขียน ชอบเล่าเรื่องอยู่แล้ว ศิลปะเครื่องพิมพ์ดีดสามารถแสดงทั้งภาพและคำพูดได้เลยในภาพๆ หนึ่ง โดยไม่ต้องเขียนยาวๆ ได้ พอทำไปเรื่อยๆ ผมว่ามันท้าทายดี เพราะเครื่องพิมพ์ดีดถ้าพิมพ์ผิด มันแก้ไม่ได้ พิมพ์ทับได้อย่างเดียว อาจจะลบได้บ้าง แต่ก็ยังเห็นร่องรอยอยู่ เหมือนจารึกไว้บนนั้นแล้ว ทำให้ผมนึกถึงชีวิตคน ที่ทำผิดพลาดไปแล้ว ไม่ว่าจะแก้ยังไงก็ยังมีรอยบันทึกไว้อยู่ดี
การเป็นศิลปินในอเมริกาต้องเจอกับความยากอะไรบ้าง?
ผมเองเริ่มต้นจากการไปแบบเป็น Nobody ยอมรับว่าที่นั่นการแข่งขันมันสูงมาก การจะมีนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองก็ไม่ง่ายเลย แต่ข้อดีคือมีโอกาสเยอะกว่า อีกอย่างคือ ความแตกต่างกันของคนในสังคมทำให้ศิลปินมีหลากหลายเรื่องราวให้หยิบมาทำงาน
การทำงานของศิลปินที่โน่นต่างกับศิลปินไทยยังไง?
ศิลปินส่วนใหญ่จะตัดเรื่องความสวยงามออกไป ไม่เหมือนกับฝั่งบ้านเราที่ค่อนข้างอิงศิลปะเข้ากับความสวยงาม ผมมองว่ามันอาจเป็นเรื่องความต่างของวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก ตะวันออกเน้นการทำให้เยอะ ใส่ใจกระบวนการ แต่ฝั่งตะวันตกจะเน้นที่วิธีคิดคอนเซ็ปต์กับผลลัพธ์ที่ออกมามากกว่า ตัดกระบวนการให้สั้นลง และเล่าเรื่องให้กระชับที่สุด
ศิลปินส่วนใหญ่เขาทำงานสไตล์ไหนกัน?
ผมว่าเป็นงาน Abstract ค่อนข้างเยอะ ประมาณ 80% ถ้าเทียบกับบ้านเราที่จะเป็นงานวิจิตรศิลป์ เป็นจิตรกรรมซะส่วนใหญ่ ที่เหลือเป็นคอนเซ็ปต์ชวล ผมสังเกตจากสตูดิโอ Print Making ที่ผมใช้ทำงาน ศิลปินมักจะทำงาน Abstract ซึ่งผมว่างานแบบนั้นอาจอยู่ในบ้านเรายากกว่า
กลุ่มศิลปินไทยที่นิวยอร์กมีมูฟเม้นต์เรื่องการเมืองหรือสังคมกันมากน้อยแค่ไหน?
เรามีกลุ่มศิลปินไทยในนิวยอร์ก Thai Artists in New York ซึ่งผมไปจอยกับเขาตั้งแต่เเรกเริ่ม ตัวผู้ก่อตั้งคนหนึ่งคือ คุณป๊อก – ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล เขาเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะเกี่ยวกับคนไร้บ้านอยู่ แล้วก็ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายเชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังคมในบริบทอเมริกา
จะทำยังไงให้คนตระหนักเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันมากขึ้น?
ตอนแรกผมไม่ได้คาดหวังเลย แต่คำตอบของคนเหล่านั้นมันพูดเรื่องสังคมในตัวเองได้ดีมาก เริ่มเเรกผมอยากให้คนสนใจเทคนิค ดึงคนเข้ามาด้วยเทคนิคที่แปลกใหม่ก่อน แล้วจากนั้นค่อยสนใจแมสเสจที่อยู่ในนั้น
ศิลปะจะเป็นการเมืองได้มั้ย?
คิดว่าเป็นไปได้ ตัวผมเองอาจไม่ได้แสดงออกด้วยการไปเดินขบวนเรียกร้องหรืออะไรแบบนั้น ด้วยปัจจัยทั้งเวลาหรือครอบครัวที่ต้องดูแล แต่ผมพยายามทำงานอะไรที่สะท้อนความคิดต่อสังคมมากกว่า
งานบางส่วนในนิทรรศการนี้ก็เคยแสดงในนิทรรศการชื่อ ‘Queens’ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จัดในแกลเลอรี่ย่านควีนส์, นิวยอร์ก ย่านที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ เรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม เลยเป็นเรื่องที่มักถูกหยิบยกมาพูดอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งงานชิ้นนั้นมันก็พูดเรื่องพวกนี้
เชื่อว่าทุกคนจับตามองเหมือนกันกับเรื่องการเมืองบ้านเรา แต่ศิลปินไทยในนิวยอร์กอาจไม่ได้ทำงานที่พูดเรื่องการเมืองไทยมากนัก เพราะมันไม่ใช่บริบทของสังคมที่นั่น เขาจะพูดประเด็นที่ค่อนข้าง Universal เช่นเรื่องเชื้อชาติ สีผิว
ผมเคยเอางานชิ้นที่พูดเรื่องการเมืองไทยให้ฝรั่งดู เขาก็เฉยๆ แบบ ‘อ๋อ เหรอ’ ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เหมือนเอาเรื่องการเมืองในประเทศไกลๆ สักที่มาให้เราดู เราก็คงไม่ได้อินอะไรมาก งานที่ไหนก็ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมนั้นมากกว่านะ ผมว่า
แต่การตั้งคำถามสั้นๆ ประโยคเดียวของผมก็ยังมีบางคนขอไม่ตอบ พอมันเป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็น อาจเข้าใจได้ว่าบางทีคนถูกถามก็ไม่รู้ว่าจะตอบว่าอะไร หรือตอบไปแล้วจะมีผลต่อตัวเขายังไงบ้าง เราเองก็เป็นคนตัวเล็กๆ เหมือนกัน ไม่สามารถไป Protect อะไรเขาได้
มันสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่าแม้แต่การจะแสดงความคิดเห็นก็ยังทำได้ไม่ง่ายนักในบางสังคม
นิทรรศการ RIGHTS | TYPE โดย ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย
จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 6 กันยายน 2562
ที่ Kalwit Studio & Gallery ซอยร่วมฤดี 2 ถนนวิทยุ (BTS เพลินจิต)
เปิดทำการวันอังคาร – วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา : 10.00 – 18.00 น. โทร. 02-254-4629
http://www.kalwitgallery.com/upcoming
ชมผลงานของณัฐวุฒิเพิ่มเติมได้ที่ :
RECOMMENDED CONTENT
กลับมาอีกครั้งสำหรับสองพี่น้องวงดูโอ้มากความสามารถระดับอินเตอร์อย่าง “Plastic Plastic” (พลาสติก พลาสติก) ประกอบด้วย “เพลง - ต้องตา จิตดี” (ร้องนำ, คีย์บอร์ด) และ “ป้อง - ปกป้อง จิตดี” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) หลังจากปล่อยอัลบั้ม Anything Goes ให้แฟน ๆ ได้ฟังไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา