ดู๊ดดอทของเรารู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้นั่งคุยกับศิลปินโดยเฉพาะศิลปินไทย อาจจะเป็นเพราะว่าเราอยากเห็นวงการศิลปะในบ้านเราดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงปีหลังๆ มานี้ เราได้เห็นสัญญาณที่ดีจากงานศิลปะและแกลอรี่หลากหลายขึ้น ถ้ามองในตลาดโฆษณาก็ต้องยอมรับว่าเจ้าของแบรนด์ทำงานร่วมกับศิลปินด้วยความเข้าใจมากกว่าเมื่อก่อนมาก อันนี้ขอชื่นชมจริงๆ ผลดีคือผู้ชมแบบเราๆ ที่จะได้เห็นงานศิลปะในพื้นที่กว้างมากขึ้น
ในวันนี้เราก็มีนัดกับทีม Visual and Lighting ชื่อดังของเมืองไทย Kor.Bor.Vor. (พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม) ผู้อยู่เบื้องหลังผลงาน Moon Installation ที่จัดแสดงในงาน Wonderfruit 2017 เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ต้องยอมรับว่าผลงานชิ้นนี้ได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาดจากผู้ชมหรือแม้แต่ศิลปินเองยังยอมรับเลยว่า “เกินคาดจริงๆ” วันนี้เราจะคุยกับ Kor.Bor.Vor ถึงจุดเริ่มต้นของงานสไตล์นี้ การพัฒนา รวมถึงทั้งหมดของงาน Moon installation !
สิ่งที่คุณทำอยู่เรียกว่าอะไร ?
ผมเรียกงานของผมว่า Visual and Lighting Installation ถ้าในสาขางานศิลปะจะเรียกว่า new media เป็นการเล่นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมมองว่าปกติสิ่งที่ผมทำเป็น visual art มันก็เลยครอบคลุมไปถึงงานเพ้นท์ งาน installation รวมถึง แสง สี เสียง มันก็เลยกลายเป็น visual and lighting installation
จุดเริ่มต้น ?
จุดเริ่มต้นของผมมาจากการ develop จากงาน Motion Graphic หลังจากที่ทำงานมาพักใหญ่ ผมเลยเริ่มทำลองให้งานของผมไปอยู่ในพื้นที่แปลกๆ อย่างพวกโปรเจคเตอร์ หรือ Led อะไรอย่างนี้ พวกที่มันไม่ใช่ขนาด 16 : 9 มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้สึกว่าเฮ้ย! เราเริ่มชอบงานทางด้านนี้แล้ว แล้วเริ่มรู้สึกว่ามันน่าสนใจกว่าการทำ Film 16 : 9
ก็เลยเริ่มศึกษางาน new media ก็เลยเจอพวกงานศิลปะประเภท projection กับ Visual Installation เพราะมันคู่กัน ระหว่างนั้นผมเริ่มทำงานอีเว้นท์ ต้องเริ่มดีไซน์จอเอง ต้องจัดวางทุกอย่าง ก็เลยเริ่มออกแบบคอนเทนท์แปลกๆ บนจอขนาดแปลกๆ ทำให้งามผมเริ่มแตกต่างจากคนอื่น ความรู้สึกตอนนั้นก็ไม่ใช่รู้สึกว่ามันเหมือนทำหนัง หรือทำอะไรแบบเดิมๆ แล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของ 10 ปีที่แล้ว
พัฒนามาเป็น Kor.Bor.Vor. ได้ยังไง ?
มันดันไปประจวบกับว่าเราเคยเรียนสถาปัตย์มาไง แล้วก็เคยเรียนกราฟฟิกดีไซน์ด้วย ตอนทำ Motion ไม่ได้ใช้ศาสตาร์ของสถาปัตย์เลย แต่พอเริ่มต้องออกแบบจอไซส์แปลกๆ มีเริ่มโครงสร้าง มีเรื่องสเกล ความเป็นสถาปัตย์ก็เริ่มเข้ามา
หลังจากนั้นก็ลองทำ Projection Mapping คือการใช้โปรเจคเตอร์ยิงใส่อาคาร ใส่ Mass model หรือ Sculpture ใหญ่ๆ งานที่ออกมามันก็เหมือนเราทำคอนเทนท์ให้กับสิ่งเหล่านั้นๆ มันก็เลยกลายเป็นที่มาของ Kor.Bor.Vor. ที่ผลิต Visual แปลกๆ
คนเสพเป็นยังไงในตอนนั้น ?
ผมว่าถ้าเทียบกับยุคแรกๆ ก็ถือว่าเป็นงานใหม่มาก ตอนนั้นคนก็มองว่ามันเป็นเทคนิค เป็นเทคโนโลยีใหม่ล้ำๆ เขามองในมุมอย่างนั้น ถ้าเป็นศิลปะก็เป็นงาน new media ทุกคนก็รู้สึกหวือหวา แต่ยังไม่ได้เข้าใจมันทั้งหมด
คนมองว่าขายเทคโนโลยี ?
ถ้าขายเทคโนโลยีผมว่าตรงนั้นมันฉาบฉวยไป ส่วนตัวมองว่าถ้าเราใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก สิ่งนั้นมันจะไม่ใช่ลายเซ็น Kor.Bor.Vor. เพราะใครๆ ก็ใช้ได้ แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเรามากกว่า น่าจะเป็นการหยิบมาประยุกต์ ใช้กับโจทย์แล้วก็คอนเซ็ปต์
เริ่มงานกับ Wonderfruit ได้อย่างไร ?
จริงๆ ผมคลุกคลีกับคอนเซ็ปต์เขาตั้งแต่ก่อตั้งงานแต่ยังไม่ได้ทำงานด้วยกัน เพราะว่าตอนเริ่มผมได้เข้าไปคุยเรื่องคอนเซ็ปต์ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่เขาเชิญศิลปินหลายๆ คนไปแชร์ไอเดียกัน ในปีแรกๆ คอนเซ็ปต์ Wonderfruit ยังเป็นอะไรที่ไกลตัวเราอยู่นิดนึง เพราะว่าการใช้วัสดุ การรีไซเคิล มันไม่ค่อยเข้ากับงานผมที่มีความเป็นเทคโนโลยีไป ซึ่งมันไม่เข้ากับงานของเขาในยุคปี 1 และ ปี 2 แต่ถามว่าศิลปินที่มาทำงานหรือทีมงานก็ยังอยู่ในแวดวงเดียวกัน คือเราก็ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของเขาตลอดว่าปีแรกโฟกัสเรื่องอะไร แล้วปีที่สองโฟกัสเรื่องอะไร
Wonderfruit กับ music festival อื่นๆ แตกต่างกันอย่างไร ?
สำหรับเอเชียผมว่ามันถูกปักหมุดแล้ว เพราะว่ามันมีคาแรคเตอร์เป็นของ Wonderfruit แล้ว เพราะว่า Music Festival คอนเทนท์ของมันคือเรื่องดนตรีใช่ไหมครับ แต่ว่าดนตรีมันไม่พอแล้ว ทุกวันนี้ดนตรีมันไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้ Music Festival เป็นที่น่าจดจำ เพราะว่าทุกคนก็จัดงานดนตรีได้หมด เรื่องดนตรีไม่พอ เรื่องของโชว์ก็ส่งผล คือถ้าคุณทำคอนเสิร์ตคุณสามารถใส่ใจกับโชว์ได้เต็มที่ แต่เมื่อคุณทำ Music Festival เนี่ย คุณมาสามารถโฟกัสโชว์ให้ดีได้สมบูรณ์ได้ยากมาก เพราะด้วยงบประมาณ ด้วยเวลาของวงที่จำกัด เพราะฉะนั้นมันจะโฟกัสกันคนละแบบ music festival มันต้องไปให้ความสำคัญกับ Element อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ กิจกรรมต่างๆ การจัดวางพื้นที่ให้น่าสนใจ แม้แต่การเลือกศิลปินทุกอย่างเลย ดังนั้น ผมเลยรู้สึกว่า Wonderfruit ได้จัดการทุกอย่างได้ไปในทิศทางเดียวกัน คนที่ไปก็เปรียบเสมือนเป็นหนึ่งใน Element ของ Music Festival ทุกคนรู้ว่าต้องแต่งตัวยังไง รู้ธรรมเนียม มันเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ซึ่งอันนี้แหละที่ Music Festival ต้องทำให้ได้
เห็นว่างาน Wonderfruit ปีนี้คุณทำงานร่วมกับแสงโสม ชิ้นงานนั้น คืออะไร ?
โจทย์ที่ผมได้จาก SangSom คือ ‘ดวงจันทร์’ และพระจันทร์ของแสงโสมจะต้อง Fullmoon เท่านั้น พอได้โจทย์นี้ผมไม่หนักใจเลย ผมรู้สึกชอบ Music Festival อยู่แล้ว ผมรู้ว่าคนอยากเล่นอะไร แต่ตอนนั้นติดปัญหาเรื่องเวลาเพราะผมมีเวลาน้อยมาก มีเวลาแค่ 2 อาทิตย์เอง ผมเลยบอกบอกทาง SangSom ว่างั้นผมขอขายไอเดียก่อน ถ้าชอบในสิ่งที่ผมจะทำเราถึงจะเริ่มงานกัน เพราะเรารู้สึกว่างานนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นงานคอมเมอร์เชียลที่เราต้องมานั่งแก้กัน ทาง SangSom ก็ไม่ติดปัญหาอะไร ผมก็เลยเริ่มออกแบบ
เสนออะไรไป ?
ตอนนั้นผมบอกทาง SangSom ว่าทุกคนมองเห็นดวงจันทร์ไม่เหมือนกันแน่นอน สมมุติดวงจันทร์ของคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกคนเห็นภาพเงาเป็นกระต่ายบ้าง เป็นอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมดเลย ก็คือจินตนาการของแต่ละคน อันนี้เป็นหนึ่งเรื่องแล้วที่ต้องอยู่ในงานของผม สองคือในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วคุณเห็นดวงจันทร์กี่รูปแบบบ้าง ไม่ว่าเป็นเป็นเต็มดวง ข้างแรม จนเป็นเสี้ยว เพราะฉะนั้นผมก็เลยแกะออกมาว่าดวงจันทร์ลูกเดียวมันมีหลายรูปแบบ หลายเลเยอร์ ผมก็แยกมันออกมาคราวนี้ผมมีดวงจันทร์ 6 ดวง ที่มันจะซ้อนอยู่ในงานผม แล้วแต่ละดวงมันก็ต้องถ่ายทอดดวงจันทร์กันคนละแบบ แล้วก็จะมีเรื่องของเงา
ผมก็ถามทาง SangSom ว่างานชิ้นนี้จะถูกแสดงตรงส่วนไหน เขาบอกว่ามีสเปชอยู่อันนึงเป็นกระท่อมชื่อว่า Moon shack หลังจากที่ผมรู้เรื่องพื้นที่แล้ว ก็ไม่ยากแล้ว ผมเลยบอกว่าผมจะสร้าง Sculture อยู่หน้ากระท่อม หลังจากนั้นผมก็ใช้ไม้ไผ่ที่เป็นวัสดุหลักมาขึ้นงาน ทีนี้พอได้ทุกอย่างแล้วผมก็เริ่มใส่เทคนิคที่เราถนัดก็คือ Visual and Lighting Installation ผมเลยรู้สึกว่าถ้าเราจะเอาดวงจันทร์ทั้งหมดมาพูด แล้วเอาเงากระต่ายมาพูดมันก็จะเป็นการเล่าในเชิงภาพมันก็ธรรมดาเกินไป ผมเลยได้ไอเดียนึงว่าเวลาคนเที่ยว Music Festival แล้วจินตนาการระหว่างคนกับดวงจันทร์ ได้ลองเล่นกับเงา ให้คนดูได้ดรออิ้งเงาของเขาเอง ก็เลยกลายเป็นว่าผมทำให้เขามาอยู่ในดวงจันทร์แทน ทุกคนสามารถเป็นเงาของดวงจัทร์ได้ ก็เลยเป็นที่มาของ Moon Installation
จบเลยไหม ?
จริงๆ SangSom ชอบตั้งแต่เรื่องคนเข้าไปเล่นในดวงจันทร์ ก็เลยโอเคเพราะว่าผมทำให้ดวงจันทร์ของเขาดูสนุก คือศิลปินบางคนอาจจะตีความอย่างอื่นที่ทำให้เกินความซับซ้อนแล้วก็สับสน
คนที่เข้ามา interact กับ Moon installation ?
อันนี้เกินคาดมากเลยนะ มันเป็นงานเล็กๆ ที่ผมแฮปปี้มาก เพราะคนเล่นได้ง่าย เล่นได้เองโดยที่ไม่ต้องอธิบายอะไรเลย คือแบบมาถึงคนก็เข้ามาถ่ายรูป แล้วก็ลองเดินเข้าไปดูว่าเมื่ออยู่เลเยอร์นี้จะเกิดเงาที่ซ้อนๆ กันยังไง แล้วไม่ต้องบอกด้วยนะว่าตำแหน่งตรงไหนที่ต้องยืนเล่น บางคนยอมไปเปลี่ยนเสื้อผ้ามาเล่นกับงาน บางคนแต่งตัวเป็นผีเสื้อ แล้วก็มีคู่รักมาจูบกัน มันเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายเรามาก เพราะคนมาต่อยอดให้งานเรา มันทำให้คนจินตนาการต่อได้
ไปได้ไกลกว่าที่คิด ?
ที่ผ่านมางานของผมมีทั้งงานใหญ่ งานเล็ก ยากง่ายหลากหลาย แต่อันนี้ผมรู้สึกว่าเฟสติวัลเป็นพื้นที่กลางป่า แต่มันทำให้คนรู้สึกว่านี่มันกลายเป็นแกลอรี่ที่แสดงงานไปแล้ว แถมคนเข้ามาสนุกกันงานได้อีก คือมันได้รอยยิ้ม สำหรับเราถือว่าพอแล้วสำหรับงานนี้ แล้วมันก็ต่อยอดได้
SangSom
Website : www.thesangsom.com/
Facebook : www.facebook.com/sangsomexperience
#SangSom #Wonderfruit
RECOMMENDED CONTENT
อย่าให้ความสุขที่สำคัญที่สุด... ผ่านไป หนังสั้นเล่าเรื่องของคนวัยทำงาน ในหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง ที่ใช้เวลาไปกับงาน ก็ 1 ใน 3 ของวัน และยังมีเรื่องราวมากมายที่เราต้องรับรู้ หรือต้องเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องราวต่างๆ สิ่งที่เหลือก็คือสิ่งสำคัญของชีวิตที่ช่วยปลอบประโลมใจเราให้มีพลังก่อนกลับบ้านแล้วตื่นเช้าเพื่อเริ่มวันใหม่