ในโอกาสที่ได้ไปเยือนสิงคโปร์ช่วง Art Week 2015 ครั้งนี้ นอกจากร่วมงาน Art Stage ที่เป็นไฮไลท์ของทริปแล้ว ทางการท่องเที่ยวสิงคโปร์ยังพาเราไปพบกับ Pinacotheque Singapore มิวเซียม Pinacotheque ชื่อที่คนศิลปะรู้จักกันดี โด่งดังในปารีสเป็นมิวเซียมที่มีผลงานศิลปะชิ้นสำคัญของศิลปินชื่อดังระดับโลกมากมาย จนตอนนี้ตัดสินใจมาเปิดอีกแห่งที่เกาะสิงคโปร์ ถือว่าเป็นโชคดีมากเพราะเราได้พบกับงานของ Claude Monet ชิ้นจริงๆเป็นบุญตาอีกด้วย! นอกจากนั้นเรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ Marc Restellini ผู้อยู่เบื้องหลังมิวเซียมแห่งนี้ ถึงความเป็นมาของ Pinacotheque Singapore และมุมมองที่เขามีต่อโลกศิลปะในเอเชียทุกวันนี้
Marc Restellni ผู้ก่อตั้ง Pinacothèque de Paris
ทำไม Pinacotheque ถึงเลือกสิงคโปร์?
เพราะสิงคโปร์มีความพร้อมครับ ที่จะนำเอา Pinacotheque มาจากปารีส ทั้งเรื่องตลาดของวงการศิลปะ ประเทศนี้ส่งเสริมเรื่องศิลปะอย่างมาก คุณจะเห็นเลยว่ามีมิวเซียมศิลปะดีๆเริ่มทยอยเกิดขึ้นเรื่อยๆเลยที่นี่ เรื่องของรัฐบาลส่งเสริมนี่ล่ะ ถึงทำให้สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่ดีเลยสำหรับผม
Exhibition ที่จัดแสดงระหว่างที่นี่กับปารีสมันจะติดต่อกันไหม?
เรื่องคอนเทนต์อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยครับ บางงานศิลปะเราต้องเลือกให้คนเข้าถึงง่ายๆ อาจจะต้องมีการอธิบายที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เราเพิ่มเข้ามาคือเราอาจจะมี Interactive, Games ให้คนได้ร่วมเล่นในมิวเซียม เป็นลูกเล่นสนุกๆเล็กๆให้คนเพลิดเพลิน แต่โดยรวมแล้วงานที่จัดแสดงเราจะพยายามทำให้การเข้ามาชมที่นี่ไม่ต่างจากปารีสเลย
ทำไมตอนนี้คนในเอเชียส่วนใหญ่ Contemporary Art หรือศิลปะร่วมสมัย ถึงได้ดูมีคนให้ความสนใจมากกว่า FIne Art งานชิ้นเก่าแก่ของศิลปินชื่อดัง?
ส่วนตัวผมว่าตรงนี้เราเร่งตัวเองเกินไปหน่อยครับ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปัญหาอยู่เหมือนกันด้วย การที่คุณรู้จักปลายทางแต่คุณไม่รู้จักต้นทางเลย มันไม่สามารถไปด้วยกันได้ เหมือนกับคุณจะสร้างตึกหรือบ้านสักหลัง คุณไปทำความรู้จักกับผลลัพธ์แต่คุณยังไม่ฝึกทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างก่อนเลย ผมไม่เถียงนะครับว่า Contemporary Art เป็นศิลปะที่น่าสนใจและกำลังขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ เราก็เห็นกันอยู่ว่าทั่วโลกตอนนี้มีผู้คนให้ความสนใจและซื้อขายงานกัน ลงทุนกันมากมาย แม้แต่ตัวผมเองที่อยู่ในยุคนี้ก็ชื่นชอบงานร่วมสมัยเช่นกัน แต่ปัญหาอย่างที่บอกข้างต้นก็คือ ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่อง Art History ที่มีในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยุคต่างๆมากว่า 6,000 ปีนี้เลยสักนิด มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะทำความเข้าใจ Modern Art หรือ Contemporary Art ได้ดี ที่ผมพยายามจะบอกคือเราแค่ต้องทำความเข้าใจมันบ้าง อย่างน้อยก็รู้ถึงการเคลื่อนไหวที่เคยมีมา แล้วถ้าคุณอยากเป็นนักสะสมหรือผู้ซื้องานศิลปะ อย่างน้อยก็ควรซื้อและชื่นชมศิลปะอย่างมีความรู้บ้าง มันจะทำให้โลกศิลปะหมุนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน
ภาพบรรยากาศด้านหน้าของ Pinacothèque de Paris ที่กรุงปารีส
ทำไม Southeast Asia ถึงยังดูห่างไกลจากโลกของศิลปะ?
จริงๆมันไม่ได้ห่างมากนะครับ มันอาจจะดูเหมือนห่างแต่จริงๆแล้วมันไม่ได้ห่างอย่างที่เราคิดกัน ส่วนตัวผมไม่เคยมองว่าห่างไกลเลยสักนิด เพราะยกตัวอย่างเมืองไทยของคุณ ประเทศคุณก็มีประวัติศาสตร์ศิลปะที่เก่าแก่และคุณก็อยู่กับมันตลอดเวลา แค่คุณเดินเข้าไปในวัดคุณก็พบกับงานศิลปะมากมายแล้ว เรื่องนี้มันไม่แยกกันหรอก คนฝรั่งเศสเดินเข้าไปในไทย เห็นศิลปะแบบไทย เขาก็มองว่าสวยได้ หรือคนจีนเองได้ไปยืนอยู่หน้าโบสถ์ Rotterdam ก็ทึ่งความสวยงามมันได้ หรือแม้กระทั่งศิลปะระดับโลกที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองพวกคุณก็มี เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มันอยู่กับเราตลอด ทุกคนสามารถสัมผัสถึงความสวยงามได้ เพียงแต่ตั้งใจศึกษามันลงไปแค่ไหนเท่านั้นเอง
ความแตกต่างของการเป็น Private Art Museum ต่างกับมิวเซียมที่ดูแลโดยรัฐบาล ต่างกันอย่างไร?
Private Art Museum สามารถทำอะไรได้อิสระกว่าครับ มันทำกำไรได้ เราสามารถสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศได้ อย่างตอนนี้ที่มี Network ข้ามประเทศก็จะมี เช่น Guggenheim และ Pinacotheque ของเรา และเราก็เป็น Private Museum ด้วยกันทั้งคู่ จริงๆจะว่าไปมิวเซียม 90% ทั่วโลกต่างก็เป็น Private มิวเซียมด้วยกันทั้งนั้นล่ะครับ ความยากของเราคือเมื่อเราไม่ได้รับการสนับสนุนจากเงินของรัฐบาล เราจะทำให้โปรแกรมมันดำเนินต่อไปได้อย่างไรด้วยเงินของเราเอง จริงอยู่ที่งานของ Claude Monet หรืองานศิลปินชื่อดังคนอื่นๆจำเป็นต้องเก็บไว้เป็น Private Collection อยู่แล้ว แต่นั่นไม่ได้แปลว่าการทำ Private Art Museum ไม่ได้สร้างผลกำไรนะครับ
ภาพผลงานตัวจริงของ (ซ้าย) “Amedeo Modigliani, Young Lady with Earrings 1915” / (กลาง) “Claude Monet, Suzanne with Sunflowers 1890” / (ขวา) “Chaïm Soutine, The Bellboy 1927-1928”
บริบทของมิวเซียมต่อสังคม?
ผมว่าเรื่องสำคัญเลยของสังคมทุกวันนี้คือ ผมห่วงว่าเด็กๆหรือคนรุ่นต่อไปจะมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ต่างกันกับเราไปแบบผิดๆ ยกตัวอย่างวันนี้ เวลาเราพูดชื่อ Michelangelo สิ่งที่พวกเรานึกถึงเป็นอย่างแรกคือศิลปินชาวอิตาลีผู้โด่งดัง แต่สำหรับพวกเขา Michelangelo อาจจะจะหมายถึงชื่อไวรัสในคอมพิวเตอร์ที่เคยระบาดช่วงหนึ่ง หรือเวลาเราพูดถึงชื่อ Beethoven ภาพที่เขาเห็นอาจจะมีแต่หนังที่มีสุนัขกับครอบครัวเรื่องนั้น แทนที่จะนึกถึงนักดนตรีที่สำคัญแห่งประวัติศาสตร์ ที่ชัดมากเลยอีกอันคือ เมื่อนึกถึง Google พวกเขานึกถึง Search Engine แต่จริงๆแล้วพวกเขาลืมไปเลยว่า Nikolai Gogol ที่ชื่อคล้ายๆกันเป็นนักเขียนชาวรัซเซียที่มีชื่อเสียงมากๆ เรื่องพวกนี้อาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าความรู้เหล่านี้มันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่มีการดูแลที่ดี คนรุ่นหลังๆค่อไปก็อาจจะลืมชื่อเหล่านี้และค่อยๆหายไปในที่สุด เพราะฉะนั้นเราในฐานะมิวเซียม ต้องให้ความรู้ตรงนี้ ให้เขาได้เห็นผลงานในประวัติศาสตร์
อะไรที่จะทำให้คนสิงคโปร์ และ ชาว South East Asia สนใจเข้ามิวเซียมแห่งนี้?
การเรียนรู้คือคำตอบของทุกอย่างครับ มิวเซียมก็เป็นสถานที่เรียนรู้ที่ดีแห่งหนึ่ง คุณเดินเข้ามาในมิวเซียมด้วยความรู้สึกหนึ่ง แต่เมื่อคุณเดินกลับออกไปหลังจากตั้งใจดูสิ่งที่จัดแสดงอยู่ ผมรับประกันว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้นแน่นอน คุณจะต้องรู้อะไรมากขึ้น เพราะสิ่งที่คุณได้กลับไปมันคือความรู้ที่ได้เห็นหรือได้แลกเปลี่ยน ไม่มากก็น้อยมันคือความรู้ที่คุณสัมผัสด้วยตัวเองเมื่อคุณเข้ามาในมิวเซียม หลังจากนั้นคุณอาจจะไปเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง หรือที่ไหนก็ได้ นี่คือเสน่ห์ของมิวเซียม
Singapore Art week
Website: http://artweek.sg/
Facebook: www.facebook.com/SGArtWeek
Instagram: @SGArtWeek
YourSingapore
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวสิงคโปร์เพิ่มเติมได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/YourSingaporeThailand
Website: http://www.yoursingapore.com
RECOMMENDED CONTENT
หากผู้บริโภคต้องการเห็นการตลาดแบบเดิม ๆ นิสสันเอเชีย และโอเชียเนีย ขอเตือนว่า อย่าเปิดดูแบรนด์แคมเปญล่าสุด หรือเข้าไปดูเว็บไซต์ใหม่ของนิสสัน ซึ่งเริ่มเปิดตัวในประเทศออสเตรเลีย ประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ เร็วๆ นี้ นิสสันนำเสนอกลยุทธ์ทางการตลาดล่าสุด