เทศกาลหนังเมืองคานส์ที่เพิ่งจบลงไปหมาดๆ ในปีนี้มีเรื่องน่าจดบันทึกหลายสิ่งอย่าง หนึ่งในนั้นคือ The Beguiled หนังทริลเลอร์เรื่องล่าสุดที่พาให้ Sofia Coppola คว้ารางวัล Best Director ไปนอนกอด ซึ่งนับว่าเธอคือผู้กำกับหญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของคานส์ที่ได้รับรางวัลนี้ต่อจากผู้กำกับฯ หญิงโซเวียตเมื่อปี 1961 เรียกว่าทิ้งห่างกันถึง 56 ปีเลยทีเดียว
จริงๆ แล้วชื่อของโซเฟีย คอปโปลาไม่ใช่ชื่อใหม่ในวงการหนังสักเท่าไร เพราะในฐานะลูกสาวของผู้กำกับฯ คนดังแห่งฮอลลีวูด Francis Ford Coppola (The God Father I,II,III) และมี Roman Coppola –พี่ชาย—ซึ่งก็เป็นนักทำหนังมืออาชีพคนหนึ่งของวงการอีกคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธอจะดำเนินรอยตามครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีเช่นทุกวันนี้
แต่ในฐานะทายาทผู้กำกับฯ รุ่นเก๋าก็ไม่ได้หมายความว่าอะไรๆ จะง่ายไปเสียหมด และนั่นอาจหมายถึงความคาดหวังสูงลิ่วที่มาพร้อมกับการจับจ้อง เปรียบเทียบฝีมือระหว่างพ่อกับลูกมาโดยตลอด นับตั้งแต่ก้าวเข้ามาทำหนังยาวเรื่องแรกในชีวิต The Virgin Suicides ที่เดบิวต์เมื่อปี 1999 ซึ่งคอปโปลาผู้ลูกก็น่าจะพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเธอสามารถเป็นคนทำหนังมือดีคนหนึ่งที่มี ‘สไตล์’ เป็นของตัวเองชัดเจนได้เหมือนกัน ไม่ต้องพึ่งบุญพ่อเลยแม้แต่นิด!
มาดูกันสิว่าลายเซ็นอันโดดเด่นที่ทำให้เราจดจำงานของเธอได้เสมอนั้นมีอะไรบ้าง…
Being Lost & Found ตามหาตัวตนที่หล่นหาย
คอปโปลาเป็นผู้กำกับฯ หญิงอีกคนที่เขียนบทหนังด้วยตัวเอง ครั้งหนึ่งเธอเคยบอก “My movies are not about being, but becoming” แปลได้ว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนหนังของเธอหาใช่ตัวเรื่อง หากแต่เป็น ‘ตัวดำเนินเรื่อง’ ซึ่งถ้าลองย้อนกลับไปดู หนังของเธอมักดำเนินเรื่องด้วยการ ‘ค้นหา’ ตัวเองในทางใดทางหนึ่งของตัวละครหลัก ท่ามกลางความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายไม่เชื่อมต่อกับโลก
จะเห็นได้ชัดใน Marie Antoinette (2006) ราชินีฝรั่งเศสที่ถูกคอปโปลาตีความขึ้นมาใหม่ในร่างของเด็กสาว 18 ผู้กำลังก้าวพ้นวัย ซึ่งคล้ายคลึงกับชีวิตแก๊งเด็กวัยรุ่นคลั่งวัตถุใน The Bling Ring (2013), ภาวะหลงทางของตัวละครชายหญิงเหงาๆ ที่บังเอิญมาเจอกันใน Lost in Translation (2003) หรือคุณพ่อวัยกลางคนที่มีลูกสาวมาช่วยเติมเต็มชีวิตกลวงเปล่าไร้แก่นสารใน Somewhere (2010)
มีความ Stylish ในทุกอณู
หนังของคอปโปลาถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่าให้ความสำคัญกับ Visual Aesthetic (สุนทรียศาสตร์ด้านภาพ) มากกว่าความแข็งแรงของเนื้อเรื่อง ที่เป็นอย่างนั้นเพราะความหลงใหลในศิลปะหลากหลายแขนง ทั้งภาพวาด แฟชั่น และการถ่ายภาพ ล้วนถูกปล่อยออกมาเต็มเหนี่ยวในหนังของคอปโปลาแทบทั้งสิ้น ดูได้จากคอสตูมอลังการกับภาพโทนพาสเทลของ Marie Antoinette, ห้องนอนชวนฝันของเด็กสาวยุค 70s จาก The Virgin Suicides ที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้กระจุกกระจิก หรือแม้แต่งานโฆษณา Miss Dior Cherie Perfume ซึ่งน่าจะโชว์ความเป็น Stylish จ๋าในตัวเธอได้ดีที่สุดอีกชิ้นหนึ่ง
Move by Music ให้เพลงเล่าเรื่อง
ถึงนักวิจารณ์บางคนจะบอกว่าการใช้ดนตรีในหนัง (บางเรื่อง) จะเป็นแค่เทคนิคกลบเกลื่อนความอ่อนแอของหนัง (ย้ำ! บางเรื่อง) ก็ตาม แต่เราก็ยังเอ็นจอยกับการเลือกใช้เพลงของผู้กำกับฯ หญิงคนนี้อยู่ดี อย่างเพลงดังปี 1970s ของ The Hollies, Bee Gees และเพลงเศร้าๆ So Far Away ของ Carol King ใน The Virgin Suicides ทั้งเพลง Post-punk ของวง The Cure ใน Marie Antoinette ที่มาเปลี่ยนมู้ดของหนัง Biopic จ๋าที่พูดถึงชนชั้นสูงแตะต้องยาก ให้เชื่อมโยงกับคนดูด้วยเพลงที่ทุกคนเก็ทได้
หรืออย่าง Lost in Translation ที่ไม่ได้มีเพียงซาวนด์แทร็กดีงามโดยวง The Jesus and Mary Chain เท่านั้น แต่แทร็ก Alone in Tokyo (วง Air) ยังเป็นตัวขับเน้นความรู้สึกแปลกแยกจากวัฒนธรรมต่างชาติต่างภาษาของตัวละครผู้ร่อนเร่อยู่ในดินแดนไม่คุ้นเคยได้ดีทีเดียว
Sofia’s Style เหตุผลของคนเหงา!
เคยมีคนบอกว่าเมื่อนึกถึงหนังโซเฟีย คอปฯ จะนึกถึงความเคว้งคว้าง เหงาๆ ลอยๆ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเธออยากให้หนังของเธอไม่ดูเป็นหนัง แต่มีความเป็นชีวิตจริง และในชีวิตจริง คนเราก็ไม่ได้พร่ำพรรณาความรู้สึกออกมามากนัก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังของเธอถึงไม่มี Dialogue ยาวเหยียด ทว่าใช้สไตล์ภาพ รวมถึงองค์ประกอบในฉากเป็นตัวถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแทน
ไม่ว่าจะเป็น ภาพฟุ้งๆ ให้อารมณ์ Dreamlike ในเวลาที่ตัวละครอยู่ในห้วงคิดฝัน หรือการใช้ Handheld Camera ให้ภาพสั่นไหวบอกความรู้สึกสับสนวุ่นวายของตัวละคร
และที่หลายคนน่าจะคุ้นตาก็คือการใช้ ‘กระจก’ เช่น ฉากนั่งเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่างของตัวละคร Charlotte (Scarlett Johansson) ใน Lost in Translation หรือฉากที่ Lux (Kristen Dunst, The Virgin Suicides) มองออกไปนอกกระจกรถที่กำลังเคลื่อนไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่สะท้อนระหว่างความรู้สึกของตัวละคร โลกความฝันกับโลกจริง จนแทบไม่ต้องอาศัยถ้อยคำเยิ่นเย้อมาอธิบายก็สามารถเข้าใจอารมณ์ของหนังและผู้ที่อยู่ในนั้นได้อย่างถ่องแท้
Writer : Wednesday
RECOMMENDED CONTENT
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมี Florence Pugh ผู้ไ ด้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งรับบทเป็นจิตแพทย์จีน แทตล็อก เช่นเดียวกับ Benny Safdie, Josh Hartnett, Rami Malek เรียกได้ว่านักแสดงเบอร์ใหญ่ทั้งนั้น