ลองจินตนาการว่าคุณมองไปที่วิทยุของคุณในตอนเช้า และมันก็มองกลับด้วยสีหน้าที่เหมือนคุณกำลังส่องกระจก ทำตาปรือ จือปาก หรือมองบน จากนั้นก็เริ่มมีเสียงเพลงคลอตามอารมณ์หน้าง่วงๆ ของคุณ หรือตกเย็นคุณกลับถึงบ้าน มองไปยังวิทยุของคุณ มันมองกลับมาพร้อมกับอ่านปมคิ้วของคุณที่ดูตึงๆ แปรผลเป็นฟีลหม่นๆ จมๆ แล้วเพลงบางเพลงของ Radiohead ก็ลอยมา…
นั่นคือไอเดียเบื้องหลังของเจ้า Emotional Radio ที่ครีเอทโดย “Uniform” บริษัทออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมจากอังกฤษ ซึ่งได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่จะหยั่งรู้ถึงมนุษย์ได้มากขึ้น โดยให้ชื่อว่า “Solo” วิทยุไฮเทคที่สามารถอ่านสีหน้า และการแสดงออกบนใบหน้าของผู้ฟัง เพื่อเลือกเพลงที่ตรงกับอารมณ์ของผู้ฟังมากที่สุด เริ่มจากผู้ใช้ยืนอยู่หน้าเครื่อง วิทยุจะถ่ายภาพ แล้วมีระบบอัพโหลดภาพนั้นส่งไปยัง Microsoft’s Emotions API โปรแกรมตรวจจับ วิเคราะห์สีหน้า และคำนวณ ประมวลผลอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้ในขณะนั้น โดยแบ่งเป็น ความสุข ความโศกเศร้า และความโกรธ ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้จะอิงกับดาต้าเซ็ทของ Spotify ที่มีเพลงถูกแบ่ง Playlist ตามอารมณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นระบบจะแมทช์ทั้งสองดาต้าเซ็ทเพื่อหาเพลงให้ตรงกับอารมณ์ผู้ใช้มากที่สุด
ต้นแบบวิทยุแขวนผนัง “Solo” ชิ้นนี้เปิดตัวครั้งแรกที่ V&A’s Digital Design Weekend ส่วนหนึ่งของงาน London Design Festival มันถูกออกแบบเป็นวงกลมสวยงาม พร้อมวัสดุไม้สีเหลืองสดใส และเสาอากาศริ้วขาวดำ
วิทยุ “Solo” ถือเป็นต้นแบบของนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้าถึง มีส่วนร่วม อย่างขี้เล่น และเป็นกันเองกับผู้ฟัง โดยฝ่าย creative technologist ของ Uniform บอกว่า ไอเดียนี้พร้อมที่จะให้มีการพูดถกถึงศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของเทคโนโลยีจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เชื่อมต่อกับมนุษย์มากขึ้น
“Solo” เป็นสิ่งที่ชวนให้เห็นว่าเทคโนโลยีไม่ใช่แค่เพียงอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่มันสามารถใกล้ชิด และให้ความหมายกับคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมื่อคุณได้ลองใช้งาน “Solo” คุณจะรู้ว่า ไม่เฉพาะเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีกับคนเราที่เปลี่ยนไปมากขึ้นทุกวัน
…แต่จริงๆ แล้ว อารมณ์ของคนเรา และสิ่งที่เราต้องการจะได้ยินไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเส้นตรงเสมอ อย่างบางคนอารมณ์ดีแฮปปี้ชิวๆ แต่ก็ฟังเพลงหม่นๆ ลอยๆ ของ Pink Floyd ได้เรื่อยๆ และบางทีกลับหงุดหงิดซะอีกถ้าเพลง K-Pop แดนซ์ๆ ดี๊ด๊าลอยมาเข้าหู แบบว่า มันไม่ใช่แนว อะไรประมาณนั้น ซึ่งในจุดนี้แหละที่ผู้พัฒนายังคงต้องคิดกันต่อไป เพราะถ้าจะให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำนั้น มันไม่ใช่แค่เพียงการรู้เกี่ยวกับเรา แต่มันต้องรู้ที่จะตอบเรายังไงด้วย และนั่นก็นับเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากทีเดียว อย่างไรก็ตาม “Solo” ก็ถือเป็นอีกก้าวของนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดความคิดได้อีกมากมาย เช่น สิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งที่สร้างมาเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนเรา แท้จริงแล้วนั้น มันให้เพียงการสะท้อนอารมณ์เสียใจกลับไปกลับมา หรือมันควรจะเป็นเพื่อนเรา เมื่อเราเศร้าแล้วมันเชียร์อัพให้เรารู้สึกดีขึ้นได้…
www.facebook.com/uniformcommunications
Writer : Jayda Sopasooksri
RECOMMENDED CONTENT
ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ยังคงเดินหน้าทำผลงานเพลงใหม่ ๆ ให้แฟน ๆ ฟังไม่ขาดสาย สำหรับศิลปินมากความสามารถอย่าง “เป้ อารักษ์” (Pae Arak) หรือ “เป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) หลังจากปล่อย 2 เพลงโดนใจจาก EP Album ชุดใหม่ล่าสุด