fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

รวม 10 สุดยอดหนัง “ท่องอวกาศ” ในดวงใจคอหนังตลอดกาล!
date : 11.พฤศจิกายน.2014 tag :

ช่วงนี้วงการหนังของโลกกำลังพูดถึง Interstellar ผลงานเรื่องล่าสุดของ Chirstopher Nolan กันอย่างยกใหญ่ ทั้งเสียงจากคนดู เสียงจากนักวิจารณ์มีทั้งกล่าวว่านี่คือ Masterpiece ชิ้นโบแดงของ Nolan เลย หรือบ้างก็บอกว่า หนังอะไรยาวเหยียดดูไม่รู้เรื่องเลยสักนิด แต่ที่แน่ๆในวงการภาพยนตร์หรือวงการผู้กำกับ เมื่อใดก็ตามที่คนทำหนังมีฝันจะทำหนังอวกาศสักเรื่อง นั่นแสดงว่าความทะเยอทะยานของมนุษยชาติได้ก้าวมาสู่หลักไมล์สำคัญอีกแล้ว (ไม่ได้เวอร์) เพราะไหนจะเรื่อง Production ที่แสนจะยุ่งยากสับสน และไหนจะเป็นการตีความโลกนอกโลกในแบบที่ยุคสมัยก็แตกต่างกันไป วันนี้เราจะมาไล่พูดถึงกันว่าตั้งแต่อดีตมา มีหนังอวกาศเรื่องใดบ้างที่ยังคงติดอยู่ในใจทุกคนจนถึงวันนี้

null

2001 : Space  Odyssey (1968)

ถ้าพูดถึงหนังอวกาศ ไม่ว่า List ไหนๆ ก็ต้องยกให้ผลงานขึ้นหิ้งเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก อยู่แล้ว เพราะ 2001 : Space Odyssey ของ Stanley Kubrick ได้ก้าวข้ามพรมแดนการทำหนังของคนในยุคเดียวกันไปหลายต่อหลายสเต็ป จากหนัง Sci-Fi อวกาศสมัยก่อนอาจจะเป็นแค่ฉากกระดาษ​และชุดคอสตูมเอเลี่ยนแบบงงๆ ที่ดูรู้ล่ะว่าโคตรปลอมและเป็นการแสดงล้วนๆแน่ๆ แต่เมื่อ Space Odyssey เข้าโรงฉายในตอนนั้น มุมมองต่ออวกาศทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด พาเอาคนดูตอนนั้นนั่งมองหน้ากันเลยว่า ไอ้หมอนี่มันถ่ายทำฉากอวกาศขนาดนี้แล้วมันรู้ได้ยังไงว่ายานอวกาศ จักรวาล หน้าตาแบบไหน แถมเนื้อหาก็ยังลึกพูดถึงเรื่องประเด็นการเกิดขึ้นและมีอยู่ของมนุษย์ไปจนถึงการเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีที่พวกเข้าสร้างขึ้น นี่ He เก่งไปแล้วจริงๆ (ติ่งมาเอง) หนังฉายในปี 1968 และหลังจากนั้นปีเดียว 1969 อเมริกันก็ส่งคนขึ้นไปอวกาศกันเลยทีเดียว ก็มีทฤษฎีออกมานะว่า Stanley Kubrick อาจจะเป็นคนทำ Foottage เหยียบดวงจันทร์ทั้งหมดขึ้นมาเอง… ก็เป็นได้… (เสียงแบบรายการผี) “เรื่องนี้คนเขียนจะไม่ยุ่ง”

null

Star Wars V : The Empire Strikes Back (1980)

ก็ถ้า Kubrick ทำ 2001 ได้ผมก็ต้องทำหนังอวกาศได้เหมือนกัน! นี่คือคำพูดของ George Lucas ตอนที่ดูหนังข้อข้างบนไปครั้งแรก แล้วหลังจากนั้นอีก 9 ปีเขาก็ทำได้จริงๆ แถมดังมากๆด้วยก็คือ Star Wars (1977) ภาคแรก (เอ้ะหรือภาค 4) ที่หลายคนยังคงตราตรึง แต่ลิสต์นี้เราจะพูดถึงอีกภาคหนึ่งแทน นั่นก็คือ Star Wars V : The Empire Strikes Back เหตุผลก็เพราะว่าภาคนี้ลงตัวไปหมดทุกอย่าง ทั้งเนื้อหาที่เข้มข้นทำให้เรารู้สึกเลยว่าการจะเผชิญหน้ากับจอมทัพอย่าง Vader มันตื่นเต้นและระทึกขนาดไหน ทั้งเรื่องการ Production ที่จัดเต็มมากขึ้น (หลังจากดังภาคแรก ทุนสร้างก็มหาศาล) การแสดงที่สมจริงในฉากหักมุม… (Spoil นิดนึง) ที่ Darth Vader บอกความจริงกับ Luke Skywalker เบื้องหลังก็คือ นักแสดงในฉากนั้นไม่เคยรู้บทมาก่อนตั้งแต่เล่นภาคแรกจนมาถึงวันเข้าฉาก ก็มาหักมุมไปพร้อมๆกันทั้งกองถ่าย แถมสิ่งสำคัญก็คือ Lucas อ่านเกมขาด วางตัวเองไปเป็น Producer แล้วจับเอา Irvin Kershner ผู้กำกับที่เหมือนเป็นอาจารย์เขาอีกทีมานั่งแท่นแทน ทำให้หนังเรื่องนี้เป็น Masterpiece อีกเรื่องโดยไม่ต้องสงสัย

null

WALL-E (2008)

กระโดษมาไกลกันไปไหมนะ เรามากันในปี 2008 กับ Animation ที่หลายคนยกให้เป็นหนังการ์ตูนจาก Pixar ที่ดีที่สุดขณะนี้ “WALL-E” ! เรื่องราวน่ารักกุ๊กกิ๊กแต่แฝงไปด้วยสัจธรรมอนาคตมากมาย WALL-E เป็นหนังอวกาศที่แม้จะเป็นภาพการ์ตูนทั้งหมด  แต่ก็สามารถกินใจคนดูได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเชื่อไหมล่ะ แท้จริงแล้วในช่วงชีวิตของทุกคนก็ต้องเคยรู้สึกเป็น “หุ่นกระป๋อง” ตัวคนเดียวเหมือน WALL-E นี่ล่ะ ทั้งบทพูดที่กินใจ และการแสดงที่น่ารักของบรรดาตัวการ์ตูน บางนักวิจารณ์ถึงกับบอกว่านี่คือหนังดีท่ีสุดของทศวรรษเลยก็ว่าได้

null

Star Trek II: Wrath of Kahn (1982)

เหล่าแฟนบอยกำลังน้อยใจกันอยู่ล่ะสิ พูดถึง Star Wars ไปแต่ไม่ยอมพูดถึง Star Trek ถ้าจะถามถึง Star Trek ที่สมบูรณ์แบบ และครองใจคนดูมากที่สุดก็คงต้องเป็น Star Trek II: Wrath of Kahn เดินทางมาถึงภาคสอง แต่ก่อนหน้าจะเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์ก็โลดแล่นอยู่บนจอทีวีมาก่อนนานแล้วตั้งแต่ปี 1966 (ถ้าพูดถึงความเก๋า Star Trek กินขาดอยู่แล้ว) เหตุผลที่ทำไมเรื่องนี้ถึงติดในลิสต์น่ะเหรอ นอกจากเนื้อหาที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มมาถึงจุดพลิกเรื่องพอดี แล้วถามจริงๆเถอะจะมีคาแรคเตอร์ของซีรี่ส์ไหนที่ยังคงติดตาคนดูทุกวันนี้เท่ามนุษยหูยาว คิ้วตวัด ไว้ผมหน้าม้าเต่อ (อ่านๆดูนี่คนบ้าแน่ๆ) เขาคือ “Spock” ผู้ทรงปัญญา! ทุกวันนี้ใครมายืนทำมือนิ้วติดกัน (ถ้าคนเคยดูจะเข้าใจเลย) เราก็ต้องนึกถึงสป็อกเป็นอย่างแรก แถมที่น่าติดตามก็คือ Star Trek ภาคใหม่ ที่เพิ่งเข้าโรงฉายไปเมื่อปี 2009 และ 2013 ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีงามทั้งสองภาคทีเดียว

null

Alien (1979)

ทั้ง Alien และ Aliens ต่างก็เป็นผลงานระดับ Masterpiece ด้วยกกันทั้งนั้น (ภาค 1 ภาค 2 ต่างกันแค่เติม S กับไม่เติม พหูพจน์กับเอกพจน์นะจ้ะเด็กๆ) ที่เราพูดถึงภาค 1 ของ Ridley Scott เรายกเครดิตให้กับความสดใหม่ของเนื้อหา และแนวคิด จากที่ผ่านๆมาหนังอวกาศยังคงวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องโคจรนอกโลก ทำภารกิจ หรือถ้ามีมนุษย์ต่างดาว มันก็จะเป็นมนุษย์ที่ “อยู่คนละดาว” แต่ไม่เคยมีเรื่องไหนพูดถึงคำว่า “เอเลี่ยน” ในรูปแบบสัตว์นักล่านอกโลกแบบนี้ แล้วผลลัพธ์หลังจากหนังออกมาก็คือ ทำเอาคนกลัวรูปทรงหัวไข่ๆ คล้ายหมวกกันน็อคกันไปหมดเลย ความระทึกที่ Alien มอบให้กับคนดูนั้นทำให้ผลงานเรื่องนี้เป็นหนัง Sci-Fi ระดับคลาสสิคอีกเรื่องได้อย่างง่ายๆ ซึ่งความเก่งของสองผู้กำกับก็คือ เมื่อ James Cameron ขอกระโดดมาทำภาคสอง ก็ยังทำให้ความสนุกของหนังเรื่องนี้ยังอยู่ครบ แหม่ พูดแล้วก็นึกถึงภาพตอนพี่เอเลี่ยนเขาอ้าปากมีเอเลี่ยนจิ๋วน้ำลายยืด บรืออห์~

null

Silent Running (1972)

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างชั้นดีของมุมมองคนในยุค 70’s ที่เมื่อโลกได้ตื่นเต้นกับการเหยียบดวงจันทร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บรรดานักทำหนังหรือนักคิด นักเขียนนิยายก็ตกผลึกไปสู่ขอบเขตสิ่งที่ไม่เคยคิดหรือนึกถึงมาก่อน เส้นที่เคยแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับโลกอวกาศค่อยๆทลายลง จากสิ่งเป็นไปไม่ได้หลายๆอย่างเริ่มจะกลายเป็นสิ่งเป็นไปได้ หนังนอกกระแสเรื่องนี้ (จะเรียกว่าเป็นคัลต์เลยก็ได้) เป็นผลงานการกำกับของ Douglas Trumbull ผู้ที่เคยเป็นคนดูแลเรื่อง Special Effects ให้กับ 2001: Space Odyssey มาก่อน Silent Running พูดถึงเรื่องราวความเป็นไปได้ เมื่อโลกในอนาคตได้พัฒนาไปไกลซะจนพันธุ์ไม้ธรรมชาติเริ่มสูญพันธ์ไปหมด เป็นหน้าที่ของตัวเอกในเรื่องที่เขาต้องนำพืชพรรณก้อนสุดท้ายออกไปสู่นอกโลก และพัฒนาขึ้นในสถานีอวกาศ ยุคนั้นอาจจะดูว่าเป็น Fiction ชั้นดี แต่ไปๆมาๆในสมัยนี้อาจจะฟังดูคุ้นกับแนวคิดในโลกตอนนี้เหมือนกันนะ อย่างที่คำกล่าว หนังสือหรือหนังภาพยนตร์คือการพยากรณ์จากโลกอนาคตที่ใกล้เคียงที่สุด

 null

Solaris (1972)

โอเค ถึงตรงนี้ เราหลุดออกมาจาก Hollywood เรียบร้อยแล้ว นี่คือผลงานของ Andrei Tarkovsky ผู้กำกับชาวรัซเซียที่นักทำหนังหลายคนยังกล่าวขานว่าเป็นเหมือนครู ผลงานของปรมาจารย์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากงานเขียนอีกทีหนึ่ง โดยเนื้อหาเป็นเรื่องที่เหมือนจะไม่ลึก แต่ก็ลงไปลึกพอสมควร เมื่อจิตแพทย์คนหนึ่ง ถูกส่งขึ้นไปบำบัดและค้นหาที่มาว่าทำไมนักบินที่ประจำอยู่บนสถานีอวกาศถึงได้เกิดอาการวิกลจริตหรือคล้ายๆว่าบ้านั่นเอง ซึ่งตัวละครหลักๆของเรื่องก็คือตัวนักจิตวิทยาและนักบินอวกาศสาวบนนั้น นอกจากเรื่องเนื้อหาและบทหนังจะหนักหน่วงแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจของ Solaris คือ ในจังหวะที่หนังเรื่องอื่นยังคงเป็นเรื่องตื่นเต้นกับอวกาศ แต่ Solaris ได้ก้าวข้ามและพูดถึงในมุม Realistic ใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้นไปอีก ในกรณีที่เมื่อนักบินอวกาศต้องขึ้นไปประจำการและปฏิบัติหน้าท่ีอยู่บนนั้นเป็นเวลานานจริงๆจะเกิดอะไรขึ้น หนังถูกนำมาสร้างอีกครั้งเมื่อปี 2002 นำแสดงโดย George Clooney และกำกับโดย Steven Sodenberg ที่แฟนๆดูแล้วก็ถือว่าทำออกมาได้ไม่แย่เลยทีเดียว สามารถเลือกชมได้ทั้งสองแบบ

 null

Moon  (2009)

หนังนอกกระแสที่ครองใจนักวิจารณ์และกวาดรางวัลจากเวทีประกวดหนังมามากมายเรื่องนี้ ที่ถ้าได้เห็นภาพปกหนัง เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นอยู่ในตะกร้าหนังลดราคาในบ้านเรากันบ่อยๆ เป็นหนังที่ได้แรงบันดาลใจจากข้อที่แล้ว Solaris แบบเห็นได้ชัด แต่มาปรับในมุมมองโลกและเทคโนโลยียุคใหม่จนกลายเป็นหนังอวกาศที่อาจจะเรียกได้ว่า Minimal ที่สุดเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ ก็ทั้งเรื่องมีนักแสดงหลักอยู่แค่คนเดียววนเวียนไปมาอยู่ในสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ (คนอื่นๆโผล่ๆไม่ถึงกี่นาทีหรือไม่ก็โผล่มาแค่เสียง) หนังพูดถึงนักบินอวกาศท่ีขึ้นไปประจำการอยู่บนสถานีอวกาศคนเดียวและค้นพบว่าแท้จริงแล้วเขามีความลับที่แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่เคยรู้มาก่อน (เรื่องนี้นี่ Spoil ไม่ได้เลยจริงๆ) ต้องลองไปดูกันเอาเอง แล้วจะรู้ว่าความอัจฉริยะของการทำหนังไม่ได้จำเป็นต้องมาพร้อมทุนสร้างที่มหาศาลเสมอไป

 null

The Fifth Element (1997)

ผลงานของผู้กำกับฝรั่งเศส Luc Besson เรื่องนี้เราคุ้นเคยกันดีในยุคหนังม้วนวิดีโอ ที่สมัยนั้นแม้หลายคนเขาจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ได้รางวัลเพียบและเป็นโคตรหนังมากๆ แต่ตอนเด็กเปิดดูก็สารภาพว่าดูแทบจะไม่รู้เรื่อง (รู้แต่ว่ายิงกันหูดับตามสไตล์หนังลุค แบชอง) เป็นการประชันบทบาทกันระหว่าง Bruce Willis ที่จากหนังตายยากมารับบทเป็นคนชับแท็กซี่อนาคต ชนกับ Gary Oldman นักแสดงร้อยบทบาท ที่คราวนี้เขามารับบทเป็นตัวโกงทรงผมขัดใจแม่ (ต้องชมเอาเอง) ที่แม้จะ Weird ขนาดไหนแต่แกก็แสดงได้สุดจริงๆ แถมเรื่องนี้เหมือนเป็นการแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ Milla Jovovich ในโลกภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ กับลุคสาวชุดขาวผมสีส้มที่เป็นตัวละครสำคัญกุมคีย์เวิร์ดสำคัญหลายๆอย่าง (ตอนเด็กดูแล้วแอบกลัวแบบบอกไม่ถูก) แต่เมื่อย้อนกลับมาดูอีกครั้งไม่นานมานี้ ก็ค้นพบเลยว่านอกจากหนังจะโดดเด่นเรื่องสีสันอนาคตแบบจัดเต็มแล้ว เนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ลึกซึ้งเท่ากับระดับปรัชญาเลยทีเดียว ไม่แปลกใจว่าหากพูดถึงหนังดีแห่งยุค 90’s เมื่อใด Fifth Element ก็ต้องติดอยู่ในโผเสมอๆ

 null

Apollo 13 (1995)

“Houston, We Have a Problem” วลีเด็ดจากหนังเรื่องสุดท้ายในลิสต์นี้ Apollo 13 เป็นหนังที่พูดถึงโลกอวกาศในวิถีแห่งอเมริกันชนได้ลงตัวที่สุด ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเหมือนกันนะ เพราะถ้าหากเราสนใจเรื่องราวการขึ้นสู่อวกาศของพวกเขา หนังเรื่องนี้ก็ทำออกมาได้แบบไม่ใส่ไข่ (มากท่ีสุดแล้วมั้ง) ดูสนุกสนานและไม่รู้สึกเลี่ยนจนเกินไป (เหมือนกับบางเรื่องที่โอเคทำให้ดูสนุกตามแต่ก็พระเอ๊กพระเอกเกินไป)  ได้ดาราดังมาประกบกันคับจอ ทั้ง Tom Hanks, Kevin Bacon, Ed Harris และอีกมากมาย ซึ่งพล็อตเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวโกงตัวดีใดๆทั้งสิ้น มีแต่มนุษยชาติสู้กับขีดจำกัดของตัวเอง ที่แทนด้วยนักบินอวกาศสามคนเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการส่งขึ้นไปบนอวกาศ ก็ทำให้เป็น 2 ชั่วโมงกว่าที่ดูสนุกและไม่น่าเบื่อ  Apollo 13 ถือเป็นอีกหนึ่งหนังอวกาศที่เราคงไม่พูดถึงไม่ได้ และวางไว้ตำแหน่งสุดท้ายก็ทำให้จบลิสต์นี้ได้สมบูรณ์เหมือนกัน

Writer: Pakkawat Tanghom

RECOMMENDED CONTENT

8.กันยายน.2020

Jackson Wang ร่วมงานกับดูโอ้ดีเจเพลงอิเล็กทรอนิกส์ชาวสวีเดนระดับโลก Galantis ส่งซิงเกิลใหม่ “Pretty Please” ในสไตล์ Pop Dance พร้อมมิวสิกวิดีโอที่มาในบรรยากาศแบบหนังจีนฮ่องกงคลาสสิกที่แจ็คสันได้ลงนั่งกำกับ เขียนบท และตัดต่อเองด้วยตัวเขาเอง