fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT — ‘Spacebar Design Studio’ : จุดนัดพบแห่งใหม่ของผู้สนใจงานศิลปะและ Zine
date : 18.ธันวาคม.2017 tag :

จะบอกว่าปี 2017 ดูเป็นฝันร้ายของวงการสิ่งพิมพ์ก็ว่าได้ ตั้งแต่ต้นปีเราเห็นนิตยสารหัวใหญ่หลายๆ เจ้าทะยอยปิดตัวกันไป ร้านหนังสือที่หลายๆ คนเติบโตมาก็พากันยุติกิจการ เหมือนเป็นการตอกย้ำความจริงของวลี ‘สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย’ อยู่ตลอดเวลา แต่ท่ามกลางข่าวร้ายของบรรดาสิ่งพิมพ์กระแสหลัก เราก็เห็น movement สำคัญบางอย่างของวงการหนังสืออิสระที่ดูเหมือนจะค่อยๆ ก่อฐานที่มั่นคงขึ้นมาท่ามกลางสมรภูมิขนาดใหญ่ของสื่อออนไลน์และออฟไลน์ในปัจจุบัน

หนึ่งในนั้นคงจะเป็นการเกิดขึ้นของ Spacebar Design Studio ที่เปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการในงาน Bangkok Art Book Fair 2017 ที่ผ่านมา Spacebar Design Studio เป็นเหมือนกับ hub ของผู้ที่สนใจในงานสิ่งพิมพ์และงานดีไซน์ ที่เชื่อมต่อระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน โดยแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ Spacebar Online ที่รับทำเว็บไซต์ / Spacebar Zine และ Spacebar Shop สำหรับที่ๆ เราจะไป #VISIT ครั้งนี้ก็คือ ตัวสตูดิโอหลักที่รวบรวมหนังสือทำมือ ซึ่งตั้งอยู่ใต้อาคาร My Place 8 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย

Spacebar Shop เปิดต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มแรกในชื่อ Spacebar – Thai Artist Online Space จาก Online Community ที่ให้ศิลปินฝากแฟ้มผลงานตัวเองได้ ขยับขยายเว็บให้มีบล็อก ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และเริ่มมามีหน้าร้านเล็กๆ ให้ซื้อขายจนกลายเป็น Spacebar Shop ในปัจจุบัน

วิว – วิมลพร รัชตกนก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบอกเราว่า “ตอนแรกใช้คำว่า Thai Artist Online Space เพราะเรามองว่าทุกคนเป็นศิลปินได้ ขอแค่คุณเป็น creator เรารู้สึกว่าเป็นผู้สร้างงานถือว่าคุณเป็นศิลปินแล้ว แต่ที่เปลี่ยนเพราะว่ามีหลายคนแหละ ที่ติดกับคำว่า ‘ศิลปิน’ เราเห็นเองด้วยจากการที่คนเอางานมาฝาก บางคนก็จะรู้สึกว่าใช้คำว่าศิลปินเลยเหรอแบบนี้ คนคิดไม่เหมือนกัน ก็เลยเปลี่ยนมาใช้คำว่าสตูดิโอ ให้เป็น hub ที่รวมคนที่สนใจในงานศิลปะมารวมตัวกันเป็นสตูดิโอแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อ เราก็รู้สึกว่ามันเฟรนด์ลี่ขึ้นเยอะ”

อีกส่วนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้สำหรับ Spacebar คงจะเป็น Spacebar Zine แพลตฟอร์มสำหรับสำหรับผลิตและขายหนังสือทำมือ “เราเป็นคนชอบทำ Zine ก็ทำ Zine ไปออกงานของ a day / Make a Zine ทั้ง 2 ครั้ง ตัวเราทำภาพประกอบแต่ก็ไม่ได้โด่งดังมีชื่ออะไร กลายเป็นว่าเราทำทั้ง 2 ล็อตของงาน ครั้งละ 100 เล่ม เราขายหมดเลย เลยรู้สึกว่าคนเราเวลาทำผลงานบางทีมันท้อนะ ที่เราทำงานไปแล้วรู้สึกว่าไม่มีใครสนใจเลย แต่พอเราเห็นว่ามันไปอยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้อง เรารู้สึกว่ามันขายได้ เรารู้สึกว่าการขายได้สำหรับศิลปินอาจจะไม่ใช่เรื่องรายได้ แต่เป็นเรื่องกำลังใจมากกว่า ก็เลยมองว่าที่ไทยยังไม่มีพื้นที่ในการรวม Zine ขึ้นมาเลยนี่ เราอยากทำที่ที่รวมมันได้จริงๆ ให้มันเป็น community ไม่ใช่แบบมีเทศกาลแล้วไปเห็นแค่ที่นั่นก็จบไป”

ไม่เพียงแค่เป็นที่สำหรับรวบรวมและขายงาน Zine เท่านั้นแต่ Spacebar ให้คำปรึกษาและร่วมผลิตผลงานที่น่าสนใจอีกด้วย เราก็เลยอดที่จะถามไม่ได้ว่าในยุคที่สิ่งพิมพ์ค่อนข้างเงียบเหงาแบบนี้ยังมีคนให้ความสนใจหนังสือทำมือแบบ Zine อยู่อีกหรือ

“Spacebar มีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งเพราะเราเอาทั้งดิจิตอล และทั้งสิ่งที่คนหลายๆ คนบอกว่ากำลังจะตายเอามารวมกัน เรามีสิ่งพิมพ์ในขณะที่เราก็มีดิจิตอลด้วย แบบควบกันไปเลย มันทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ตายหรอก เพียงแค่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ดิจิตอลก็กลายเป็นสิ่งพิมพ์ สิ่งพิมพ์ก็เป็นดิจิตอลได้ ตัวต้นฉบับหลายๆ อย่างของ Zine ก็มาจากดิจิตอล” ภูภู่—วิศรุต วิสิทธิ์ อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งให้คำตอบกับเรา

“สำหรับ Zine จริงๆ มันก็มีอยู่แล้ว แต่มันไม่มีพื้นที่ อย่าง Bangkok Art Book Fair ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่า ทุกคนอยากจะทำอยู่แล้ว การที่มีพื้นที่หรือมีงานมันก็ทำให้เหมือนการระเบิดออกมาอีกครั้ง ทุกครั้งที่มีงานก็มีคนที่อยากทำ Zine โพล่ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ว่าพอหลังหมดงานแล้ว Zine จะไปไหนต่อ การที่เราทำให้มีร้านเพื่อกระจายงานก็เป็นการรองรับตรงนี้แหละครับ ถามว่าคนอยากทำ Zine เยอะไหม มีตลอดเวลาแหละครับแต่ว่าเขาไม่มีพื้นที่ที่จะปล่อยของ”

วิวเสริมว่า “อย่าง Zine ที่ออกในงาน Bangkok Art Book Fair คือส่วนหนึ่งเราชวนมาเอง อีกส่วนหนึ่งเราประกาศหาผู้ที่สนใจมาทำ Zine ด้วยกันหรือส่ง Zine ของคุณเข้ามาเลยถ้าคุณพร้อมผลิตเอง กลายเป็นว่าฝั่งของคนที่ส่ง Zine น่ะเยอะมาก 20–30 คน สำหรับเราถือว่าเยอะแล้ว เหมือนเพิ่งอธิบายบน Social เองว่า Zine คืออะไร เราก็เลยคิดว่ามันเป็นที่ที่น่าจะไปได้ไกล เรารู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกับการที่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็น Content Editor ได้ เป็นบล็อกเกอร์ได้ เรารู้สึกว่า Zine มันก็เหมือนเป็นที่ๆ หนึ่ง เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งในการถ่ายโอนข้อมูลจากดิจิตอลมาเป็นสิ่งพิมพ์ เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วทุกคนก็สนใจงานเขียนอยู่แล้ว”

สำหรับใครที่สนใจการทำ Zine ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเริ่มต้นยาก เพราะวิวบอกเราว่า “ไม่ต้องรู้เรื่องการพิมพ์อะไรมากมาย แค่รู้การจัดเรื่องราว เรียบเรียง เลือกรูปและการวางหน้าคร่าวๆ ทาง Spacebar นอกจากพิมพ์ให้ เราจัดหน้าให้จัดรูปเล่มให้ด้วยมีสเป็กกระดาษให้เลือก คือไม่ต้องรู้อะไรก็ได้ค่ะ ขอแค่มีคอนเท้นต์มาก็ทำได้”

นอกจากจะมี  Zine และสินค้า Handmade วางขายแล้ว ที่ Spacebar Shop ยังมีนิทรรศการซึ่งจะหมุนเวียนไปทุกๆ 2 เดือนให้ชมกัน ซึ่งงานที่จัดแสดงอยู่ในเวลานี้ก็คือ Bearathon นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ หมี–จิรณรงค์ วงษ์สุนทร (Jiranarong) ที่กำลังจะจบลงแล้วในสิ้นเดือนนี้ เพราะฉะนั้นถ้าในสนใจต้องไปด่วน!

Spacebar Design Studi

อาคาร My Place 8 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย
MRT สุทธิสาร ประตู 4
10.00–18.00 น.
(หยุดวันอาทิตย์และวันจันทร์)

www.facebook.com/gospacebar

RECOMMENDED CONTENT

21.กันยายน.2020

beabadoobee หนึ่งในศิลปินหญิงที่มาแรงที่สุดในปี 2020 ด้วยยอดสตรีมมากกว่า 900 ล้านครั้ง และเพลงติดหูอย่าง ‘Coffee’ ที่ภายหลังนำท่อนฮุกในเพลงนี้มาฟีตในเพลง ‘deathbed (coffee for your head)’ ของ Powfu และประสบความสำเร็จอย่างมากมายจนมียอดสตรีมมิ่งเป็นอันดับที่ 6 ของฤดูร้อนนี้