เชื่อว่าชาว dooddot คงเห็นผ่านตา กับ ‘SRICHAND x asava COLOR CREATION’ ที่ได้จับ 3 Iconics ตัวพ่อของแต่ละวงการมาร่วมงานกันครั้งแรก พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นคอลเล็กชั่นสุดเริ่ด และด้วยไอเดีย Visual สุดพลิ้วไหวที่จับปลากัดสีสันฉูดฉาด มาสื่อถึงสีสันและการเคลื่อนไหว ในมุมมองของแฟชั่น ทั้งยังแสดงถึงความเป็นไทยได้อย่างลงตัว หลายคนคงสงสัยกันแล้วใช่ไหมว่าผู้ที่เป็นเบื้องหลังในการสร้างสรรค์ภาพความสวยงามของปลากัดให้กับเครื่องสำอางศรีจันทร์ครั้งนี้คือใครกัน
SRICHAND x asava COLOR CREATION
เราจะพาชาว dooddot ไปทำความรู้จักกับช่างภาพชื่อดังที่หลายคนคุ้นเคย จากเด็กชายตัวน้อยๆ ผู้มีความหลงใหลในสีสันและรูปลักษณ์ของปลา กลายมาเป็นศิลปินช่างภาพชาวไทยผู้ที่นำปลากัดไทยให้เป็นที่รู้จักในวงการศิลปะภาพถ่ายทั่วโลก เขาคนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ คุณวิศรุต อังคทะวานิช วันนี้เราจะได้พูดคุยกับคุณรุตถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมงานกับ ‘ศรีจันทร์’ กัน
คุณ วิศรุต อังคทะวานิช
เริ่มหลงใหลในการถ่ายภาพปลากัดตั้งแต่เมื่อไร
โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบปลาตั้งแต่เด็กๆ เวลาไปร้านอาหารก็จะชอบไปดูที่ตู้ปลา เดินผ่านคูน้ำก็ชอบไปดูว่ามีตัวอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ไปตลาดก็ชอบดูแผงขายปลา พอโตขึ้นมาก็ชอบไปดำน้ำ ตกปลา ดู Aquarium อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับปลาเราจะรู้สึกหลงใหล รู้สึกพิเศษกับเขา และมียังโอกาสได้เจอกับปลากัดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ถูกเลี้ยงดูและพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้เกิดสีสันและรูปทรงใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยได้เห็นตอนเด็กๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้รู้สึกว่าปลากัดเขามีเสน่ห์และมีความน่าสนใจ ผมจึงเริ่มถ่ายภาพปลากัด
ถ่ายรูปปลากัดยากไหม
ในเรื่องของเทคนิคไม่ถือว่ายากอะไร เพียงแต่ว่าความยากคือ เราจะไปหาปลาที่สวยได้อย่างไร และยังต้องเรียนรู้พฤติกรรมของเขา ว่าเขาตอบสนองกับอะไรบ้าง กับกระจก หรือกับปลาตัวผู้อีกตัว แต่ถ้าถามว่ายากไหมก็ไม่ยาก แต่เมื่อยมากกว่า เพราะต้องนั่งถ่ายทีละ 3–4 ชั่วโมง กล้องก็ต้องถือเพราะว่าถ้าตั้งกล้องมันจะ fix เกินไปจะตามถ่ายปลาไม่ทัน
เบื้องหลังการถ่ายภาพปลากัดของคุณรุต
พูดถึงเสน่ห์ของปลากัด
ผมมองถึงการเคลื่อนไหวและสีสันของเขาครับ คือตอนแรกๆ ถ่ายเพราะว่าชอบปลา แต่พอถ่ายไปเรื่อยๆ ก็ค้นพบแง่มุมของเขามากขึ้น เราไม่ได้มองเขาว่าเป็นปลา เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของ Dynamic และการเคลื่อนไหว เขาเป็นตัวแทนของแรงที่อยู่ในน้ำ เวลาเราถ่ายเราจะไม่เห็นแรงที่อยู่ในน้ำ แต่มันจะสื่อมาจากการเคลื่อนไหวของครีบ ปลา ถ้าเขาอยากจะลอยตัวก็สามารถลอยขึ้นมาได้ ถ้าอยากจะจมก็สามารถจมได้ ซึ่งแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น นกที่ไม่สามารถลอยอยู่เฉยๆ ได้ ผมจึงรู้สึกว่าปลากัดมันมีเสน่ห์และไม่ขึ้นอยู่กับกฎของแรงโน้มถ่วง
มาร่วมงานกับศรีจันทร์ได้อย่างไร
พี่หมูเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งเดินผ่านผลงานที่แขวนอยู่ที่ออฟฟิศ ซึ่งเป็นงานของผม พี่หมูก็เลย get idea ว่าปลากัดมันเป็นตัวแทนของความเป็นไทย ก็เลยชวนมาร่วมงานด้วย และพี่หมูก็เป็นเพื่อนที่เคยเรียนมาด้วยกันครับ
SRICHAND x asava COLOR CREATION
รู้สึกอย่างไรบ้างกับการร่วมงานครั้งนี้
ผมรู้สึกดีใจมากๆ ผมมองว่าการเลือกปลากัดเป็นการดึงสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ถูกมองข้ามไปขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำมาเป็นอัตลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของประเทศไทย เวลาพูดถึงประเทศไทยคนมักจะนึกถึงแค่ ช้าง มวยไทย หรือธงชาติ ทั้งๆ ที่เรายังมีอีกหลายสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งชาติอื่นไม่มี และเราสามารถทำให้ปลากัดเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของประเทศไทยได้ เมื่อปลากัดแสดงบนสื่อต่างประเทศ ผลตอบรับก็คือคนชอบกันเยอะ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครสนับสนุนต่อ พอศรีจันทร์ติดต่อผมก็ดีใจมาก เพราะว่าการร่วมงานครั้งนี้ทำให้ปลากัดขึ้นมาอยู่ใน pop culture ได้อีกครั้งหนึ่ง
“ผมมองว่าคอนเซ็ปต์ครั้งนี้ เราใช้ทรวดทรง และความพลิ้วไหว จากภาพที่ออกมาในสื่อ เราจะไม่ได้เห็นปลากัดปั๊บแล้วดูเป็นปลากัดเลย แต่เราจะเห็นเหมือนเป็นรูปร่างอะไรสักอย่าง ที่มีความน่าสนใจ มีรายละเอียดที่เราไม่คุ้นตา มันทำให้งานดูมีความน่าสนใจมากขึ้น และสีสันของปลากัดก็มีความหลากหลายเหมือนกับสีของเครื่องสำอางที่ผู้หญิงใช้”
ปลากัดสื่อถึงคอลเล็กชั่นนี้ได้อย่างไร
ปลากัดเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย พอมาอยู่ในคอลเล็กชั่นนี้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นการเปิด attitude ของคนให้รู้สึกถึงรากฐานของความเป็นไทยที่ทั้งมีเสน่ห์ และสามารถนำมาต่อยอดได้ครับ
‘ปลากัด’ และ ‘แฟชั่น’ 2 สิ่งนี้มารวมกันได้อย่างไร
ปลากัดสมัยใหม่มีความสวยงามของสี มีครีบที่สวยงาม และมีเสน่ห์มากกว่าเดิม ผมมองว่าการนำปลากัดมาไว้ในงานแฟชั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องที่ส่งเสริมกันด้วยซ้ำ เพราะ breeder (ผู้เพาะเลี้ยง) สามารถพัฒนาสีสันของปลากัดให้หลากหลายได้เรื่อยๆ ก็เหมือนกับแฟชั่นที่มีความครีเอทีฟเรื่อยๆ เราไม่ได้ทำคอลเล็กชั่นนี้จบแล้วจบเลย มันเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และการต่อยอด ซึ่งผมมองว่ามันเข้ากันได้
SRICHAND x asava COLOR CREATION
ความสวยงามของปลากัดกับผู้หญิง
ถ้าพูดถึงความสวยงามของผู้หญิง ผมรู้สึกว่าผู้หญิงมีเสน่ห์ที่ความคิด และทัศนคติ แต่ก่อนที่เราค้นพบเสน่ห์เหล่านี้ ความสวยที่หน้าตาเป็นหมากแรกที่เขาจะเผยออกมา ถ้าผู้หญิงมีด้านนอกที่ดูน่าสนใจ ก็จะเป็นสิ่งที่พาเราไปค้นพบเสน่ห์ที่แท้จริงของเขา
ความรู้สึกเมื่อเห็นชุดของคุณหมู และ เมคอัพของคุณนิค ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปลากัด
พอได้มาดูงานที่สร้างสรรค์ร่วมกันทั้งเสื้อผ้าของพี่หมู asava และการแต่งหน้าของคุณนิค พอมารวมกับภาพปลากัดผม ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเคยทำแล้วมันสุด ยังมีทางที่จะพัฒนาต่อไปได้ เรามีทีมเวิร์ค เรามีคนมาเพิ่มพลังให้กับงานดีไซน์ของคนไทย ปลากัด และแบรนด์ไทย พอมีความร่วมมือกันเกิดขึ้นก็รู้สึกว่านี่แหละใช่ นี่แหละเป็นสิ่งที่คนไทยควรภาคภูมิใจและสืบสานต่อไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้เรารู้สึกว่าเราจะต้องใช้แต่ของฝรั่ง ผมมองว่าทุกวันนี้คนไทยเก่งๆ เยอะ ไม่ว่าจะอยู่ในสายงานอะไรก็ตาม แต่เราต้องมีความภาคภูมิใจและยอมรับตัวเราก่อน เราจึงสามารถยืนยันได้ว่านี่คืองานของเรา
พอได้เห็นผลงานที่ออกมาแล้วรู้สึกอย่างไร
มันสวยมากๆ และอยากให้คนอื่นได้เห็นงานเร็วๆ เขาจะได้รู้ว่ามันแปลกใหม่ และปลากัดนั้นไม่ใช่เรื่องของเด็กผู้ชายที่เอามากัดกันอีกต่อไป แต่มันสามารถไปอยู่ในงานดีไซน์ เสื้อผ้า หรือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่เชยอะไร
คุณนิค คุณหมู และคุณรุต 3 Iconics ตัวพ่อ กับการร่วมงานกันครั้งแรก
การร่วมสร้างสรรค์ ‘SRICHAND x asava COLOR CREATION’ กับ ศรีจันทร์ ของคุณรุตในครั้งนี้ ถือว่ามีส่วนช่วยอย่างมากในการเติมเต็มความสวยงามในรูปแบบของความเป็นไทยลงบนศรีจันทร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และยังทำให้เราได้เห็นและได้ทึ่งกับแนวคิดหรือแง่มุมต่างๆ ของคุณรุตที่บางครั้งเราคาดไม่ถึง รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ ได้สร้างผลงานที่แสดงถึงความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล สุดท้ายนี้… ต้องรอติดตามกันว่าศรีจันทร์จะปล่อยไม้เด็ดอะไรให้เราติดตามกันอีก …พลาดไม่ได้!
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.srichand.com หรือ Fanpage: Srichand ศรีจันทร์
RECOMMENDED CONTENT
เนื่องจากคุณฟูจิตระหนักถึงปัญหาการผลิตสินค้าด้วยพลาสติกจำนวนมากที่เติบโตขึ้นในชีวิตประจำวันของเราเหมือนดอกเห็ดตั้งแต่ยุค 70 ในปีค.ศ. 1997 เขาจึงได้เริ่มเก็บสะสมของเล่นพลาสติกที่ไม่เล่นแล้วตามบ้านเรือน