เราค้นพบว่า เมื่อยามที่ต้องเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง การได้นอนพักในโรงแรมที่ไม่ต้องหรูหรามากมาย แต่หลับฝันดีได้อย่างรื่นรมย์นั้น ก็นับว่าเพียงพอแล้ว จริงอยู่ที่เราเดินทางเพื่อไปทำความรู้จักเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่ครั้นจะนอนอยู่แต่บนเตียงก็ใช่เรื่อง ดังนั้น ขอแค่หลับสบาย ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ในยุคที่โฮสเทลทั้งหลายเริ่มทลายความดิบง่าย ให้กลายเป็นความบูธีค เช่นกันกับโรงแรมไซส์กลางหลายแห่งก็เริ่มทำตัวเองให้เป็น Design Hotel จนขยับขยายกลายเป็นเทรนด์ไปทั่วโลกนั้น ก็มีโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Norfolk Square ในย่าน Paddington ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กำลังทำให้สิ่งที่คล้ายคลึงกัน คือการพยายามให้ตัวเองเป็น Design Hotel ที่ดี …อย่างไร?
The Pilgrm ตั้งใจให้โรงแรมแห่งนี้คือประสบการณ์การต้อนรับแขกในแบบที่ใส่ใจทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราจึงได้เห็นตัวโครงสร้างเดิมของโรงแรมที่เดิมทีคืออาคารเก่าแก่สถาปัตยกรรมจากยุควิคตอเรี่ยน ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งนั้นช่างทันสมัยเหลือเกิน
แต่เดิมนั้น ตัวอาคารของ The Pilgrm คือที่พักอาศัยที่ตกแต่งทั้งภายนอกและภายในแบบวิคตอเรี่ยน การมาถึงของโรงแรมนั้นจึงยึดอยู่บนคอนเซ็ปต์ที่สะท้อนถึงความประณีตและงดงามของศิลปกรรม งานทำมือ และมรดกทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคารเอาไว้เท่าที่จะทำได้ ก่อนที่จะสวมใส่ความร่วมสมัยเข้าไปในแบบที่อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เคอะเขิน แตกต่างอย่างกลมกลืน เหมือนกับชื่อของโรงแรม ที่แปลว่า ผู้แสวงบุญ แต่เมื่อมาถึงในยุคสมัยปัจจุบัน นักเดินทางก็เปรียบได้กับผู้เดินทางเพื่อแสวงบุญ อย่างไม่ต่างกัน
The Pilgrm ไม่ได้ทักทายเราด้วยส่วนต้อนรับเหมือนกับโรงแรมทั่วไป พวกเขาเลือกที่จะให้เราเดินเปิดประตูเข้ามาเพื่อเจอกับคาเฟ่บรรยากาศเรียบง่าย วินเทจ และเป็นกันเองเป็นอย่างแรก จุดมุ่งหมายคือการให้ความรู้สึกของการเป็นสถานที่ที่พร้อมต้อนรับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นแขก เพราะเราต้อนรับหมดทั้งคนท้องถิ่นและคนต่างถิ่น ส่วนแขกที่ต้องการจะเช็คอิน ก็เพียงแค่เดินขึ้นบันไดหินขัดและไม้แกะสลักเก่าแก่ไปยังชั้นหนึ่ง ลงทะเบียนออนไลน์นิดหน่อยก็ได้กุญแจกับมือแล้ว
นอกจากนั้น The Pilgrm ยังได้สร้างประสบการณ์การเป็นดีไซน์โฮเต็ลที่ดี ด้วยการออกแบบการเข้าพักแบบใหม่ทั้งหมด เพื่อให้แขกที่เข้าพัก รู้สึกได้ว่าการนอนโรงแรมคือหนึ่งในประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด ที่นอกจากจะเน้นเรื่องขั้นตอนการเช็คอินและเช็คเอ้าท์ให้ง่ายและน้อยที่สุดแล้ว ถ้าสังเกตในแต่ละห้องดีๆ จะพบว่าพวกเขาได้ตัดเอามินิบาร์ออกไป แต่ปรับแปรเปลี่ยนให้มีพื้นที่ส่วนกลางที่เต็มไปด้วยเครื่องดื่มชนิดพรีเมี่ยมและคัดสรรมาอย่างดีให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แถมด้วยเครดิต 10 ยูโร เพื่อใช้ซื้อเครื่องดื่มจากคาเฟ่ที่ชั้นแรกได้อีกด้วย
เมื่อไม่มีแผนกต้อนรับ พนักงานก็แทบไม่จำเป็น The Pilgrm ตัดตำแหน่งหน้าที่ไม่จำเป็นออก สมมติว่าถ้าเราอยากได้อะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่โรงแรมมีให้ ก็เพียงแค่เดินลงมาที่ร้าน Larder นี่คือร้านขายของชำสำหรับแขกโดยเฉพาะที่มีหมดทุกความ room service หนังสือนิตยสารก็มีขาย หรือแม้แต่อุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวก็มีหมด
The Pilgrm ยังไม่จบเรื่องสร้างประสบการณ์ จริงอยู่ที่พวกเขาอำนวยความสะดวกเราในแบบทำเองก็ได้ง่ายจัง แต่หากอยากทานอาหารที่ดี เพิ่งเดินไปที่ Le Swine ซึ่งเป็นเล้าจน์เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มชั้นดี ตกแต่งแบบเวรี่เข้ากันด้วยความวิคตอเรี่ยนเดิม และความโมเดิร์นจากเหล่าเฟอร์นิเจอร์กลิ่นอายยุคก่อนมิลเลเนี่ยม ที่เสิร์ฟอาหารแบบคัดสรรเมนูที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลก จะกินข้าวเช้าเป็นข้าวผัดกิมจิ แล้วต่อมื้อเที่ยงด้วยสปาเก็ตตี้ก็ยังได้
ไม่ใช่แค่อาหารนะที่ถ้วนทั่วเหมาะแก่ผู้แสวงบุญเยี่ยงเรา ค็อกเทลบาร์ก็คัดสรรเหล่าซิกเนเจอร์สำคัญจากบาร์เด่นๆ ทั่วโลก ทั้ง Midnight Rambler ในดัลลัส สหรัฐอเมริกา The Clumsies ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ หรือจะเป็น Bar Trench บาร์ชื่อดังประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือจะเป็น Jerry Thomas Project ประจำกรุงโรม ที่นี่ก็มีทุกเครื่องดื่มซิกเนเจอร์โดดเด่นให้ลองจิบลองเมากันได้
The Pilgrm มีห้องพักทั้งหมด 73 ห้อง ทั้งแบบ Bunk, Small, Medium และ Large พื้นห้องยังคงโครงสร้างไม้ปาเก้อายุกว่า 200 ปีเอาไว้ แต่ไว้ใจได้เรื่องความปลอดภัย เพราะผ่านการรีโนเวตและดูแลเป็นอย่างดี ทุกห้องมีลำโพง Marshall อย่างดีให้คุณได้เพลิดเพลินเพลงได้ตลอดเวลาที่อยู่ห้อง เฟอร์นิเจอร์บางส่วนจาก Tom Dixon ผสมกับเฟอร์นิเจอร์ของเดิมที่ซ่อมแซมจนเหมือนใหม่ไร้กาลเวลา
นี่แหละคือดีไซน์โฮเต็ลแบบที่เราชอบใจ เพราะมันเป็นมากกว่าแค่ที่นอน ได้ทั้งคุ้มค่าและคุณค่า ในแบบที่โรงแรมใหม่ๆ เก๋ๆ ให้คุณไม่ได้อีกแล้ว
RECOMMENDED CONTENT
เป็นครั้งแรกที่บริษัทผู้สร้างตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง Monotype ได้ทำการออกแบบตกแต่งตัวชุดอักษรที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกอย่าง Helvetica หลังจากที่พยายามปลุกปล้ำกันอยู่นานกว่าสองปีเพื่อที่จะปรับปรุงชุดตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบ swizz font