‘ช่างภาพสตรีทแฟชั่น’ คือมนุษย์สปีชีย์หนึ่งที่ทำงานหนักในทุกเทศกาล Fahion Week หากินโดยใช้กล้องขนาดต่างๆ เป็นอาวุธ ยิงปังๆ ใส่ใครก็ตามที่ ‘เก๋พอ’ แล้วก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องสู้ชีวิตด้วยเหมือนกัน ในยุคที่เเทบเหยียบกันตายทั้งบล็อกเกอร์แฟชั่น ทั้งช่างภาพ เมื่อใครๆ ก็ถือกล้อง หรือแม้แต่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ลงทุนทำบล็อกของตัวเองอีกนิด บวกคอนเน็กชั่นในวงการอีกหน่อยเพื่อให้ได้บัตรผ่านทุกงาน หรือบัตรฟร้อนต์โรวทุกโชว์ วางคาแร็กเตอร์ให้ดูมีของเข้าไว้ เท่านี้ก็ชิกๆ กับเขาได้แล้ว
แต่มันก็ใช่ว่าช่างภาพคนไหนก็ได้ที่จะถ่ายทอดความหมายของแฟชั่นให้เป็นมากกว่านั้น ความมีชั้นเชิงในการเก็บแต่ละโมเม้นต์ไปพร้อมกับบอกเล่าคัลเจอร์และจิตวิญญาณของผู้คนบนถนนอย่างน่าสนใจต่างหากที่เราควรคารวะ
และนี่คือช่างภาพแฟชั่นสายสตรีทที่เราชอบ และแอบดูไอจีของเขาบ่อยๆ ด้วยความคลั่งไคล้!
Nabile Quenum
IG > @J’ai perdu ma veste
Nabile Quenum (นาบี้ล เกอะนัม) คือช่างภาพสตรีทแฟชั่นที่มองความเป็นไปบนถนนแฟชั่นปารีสมากว่า 15 ปี มีผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์ในนิตยสารและแบรนด์มากมายทั้ง Vogue, The Cut, Louis Vuitton, Addidas, H&M ฯลฯ เจ้าของบล็อก J’ai perdu ma veste (เช แปร์ดู มา แวสต์)
ระหว่าง Milan Fashion Week ปีที่แล้ว Nabile Quenum เป็นหัวเรือใหญ่ผู้ริเริ่มแคมเปญ #NoFreePhotos ร่วมกับช่างภาพราว 40 คน ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘The Photographers’ เพื่อคุ้มครองช่างภาพอาชีพที่มักถูกนายทุนหรือแบรนด์ต่างๆ เอาเปรียบด้วยการให้ถ่ายงานฟรีๆ แล้วสุดท้ายก็โดนเท หรือเอาไปใช้ในงานโฆษณาโดยที่พวกเขาไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือเครดิตใดๆ
แต่น่าเสียดายที่เขาจากเราไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองด้วยวัยเพียง 32 ขณะนอนหลับอยู่ในอพาตเมนต์ส่วนตัว (ตำรวจสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการได้รับคาร์บอนมอนอกไซด์มากเกินไป)
ภาพถ่ายของ Quenum ไม่เพียงบอกเราว่าตอนนี้คนแต่งตัวยังไง หรืออะไรกำลังปัง แต่เขาทำให้คนที่เดินผ่านเลนส์กล้องทุกคนมีตัวตนขึ้นมา และใครคนนั้นก็สามารถมีเรื่องราวของตัวเองได้ แม้จะตัวเล็กแค่ไหนบนถนนสายแฟชั่นก็ตาม
Kuba Dabrowski
IG > @Kukukuba
ช่างภาพสตรีทแฟชั่นมักสิงสถิตอยู่ตามเทศกาลแฟชั่นวีค ถ่ายทั้งเเนวสตรีท รวมถึงงาน commercial ให้กับแบรนด์ดัง Kuba Dabrowski (คูบา ดาโบรว์สกี) ช่างภาพจากกรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ ก็เหมือนกับช่างภาพคนอื่นๆ แต่พรสวรรค์ที่ทำให้เขาโดดเด่นจากช่างภาพทั่วไปก็คือ ไม่ว่าเป็นงานอาร์ตจัดๆ ส่วนตัว หรืองานขายจ๋าๆ Dabrowski ได้ทำให้เส้นแบ่งนั้นหายไป ด้วยความเชื่อว่าทุกภาพถ่ายคือ ‘ผลผลิต’ ของช่างภาพ
แล้วไอ้ผลผลิตของ Kuba Dabrowski ก็ดันทำให้เรารู้สึกอินกับคำว่า ‘Young & Wild’ ขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมันเต็มไปด้วยความสนุกของวัยหนุ่มสาวอย่างแท้จริง เล่าเรื่องผ่านมุมมองแปลกใหม่ แล้วถ่ายทอดออกมาในเชิงสารคดี ซึ่งเราจะเห็นวัฒนธรรมของผู้คนอยู่ในนั้นด้วย ไม่เกินไปหรอกที่จะบอกว่าไม่ใช่ช่างภาพทุกคนจะทำให้ออกมาทั้งเซอร์ ทั้งดิบ ทั้งเรียลอย่างเป็นธรรมชาติ และดูไม่พยายาม
‘มินิมอล’ และ ‘เซอเรียล’ น่าจะเป็น 2 คำที่เหมาะกับงานของ Julien Boudet (จูเลียง บูเดต์) ที่สุดแล้ว เขาคือช่างภาพแฟชั่นจากปารีสที่เก๋สุดทุกรันเวย์อีกคน กับการถ่ายภาพที่เน้นความเฉียบคมของรูปทรงและสีสัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า Julien Boudet ไม่ได้แค่ถ่ายภาพแฟชั่นเป็นงานหลักเท่านั้น แต่เขายังชอบท่องเที่ยวไปทั่วโลก พร้อมกับถ่ายภาพสถาปัตยกรรมอยู่เป็นนิจด้วย แล้วอิทธิพลจากความหลงใหลในการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมเข็งๆ ดิบๆ เวียร์ดๆ แบบที่เรียกว่า Blutalist ด้วยกล้องฟิล์มคู่ใจนี่แหละ ที่สะท้อนอยู่ในภาพสตรีทแฟชั่นของเขาเช่นเดียวกัน
Yu Fujiwara
IG > @8and2
ถ้าใครเป็นแฟน Dazed Magazine พนันเลยว่าต้องแอบหลงรักงานของ Yu Fujiwara เข้าให้บ้าง ถึงกับพึมพำคนเดียวว่า ‘ทำไมมันเท่จัง (วะ)?!’ เพราะมันไม่เหมือนกับภาพสตรีทแฟชั่นเกร่อๆ ที่เราเห็นจนชินตา แต่กลับชัดเจนทั้งมุมมอง สไตล์ และโทนสีของภาพอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ทำให้จำได้ทันทีว่านี่แหละภาพของเขาล่ะ
ช่างภาพแดนปลาดิบที่มีภูมิลำเนาอยู่ในลอนดอนอย่าง Fujiwara ไม่เพียงนำเสนอภาพสตรีทแฟชั่นตามแฟชั่นวีคประจำหัวเมืองใหญ่ๆ เขายังถ่ายทอดจิตวิญญาณของ ‘Youth Culture’ วิถีของหนุ่มสาวเจเนอเรชั่นใหม่ หรือผู้คนตามท้องถนนที่ได้พบเจออย่างมีเสน่ห์เป็นที่สุด ใครก็ตามที่อาจไม่คูลมากในทางแฟชั่น แต่เมื่ออยู่ในสายตาของ Fujiwara คนๆ นั้นก็จะดู ‘โคตรคูล’ ขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล
Eva Losada
IG > @eva.al.desnudo
Eva Losada ช่างภาพสาวเปรี้ยวหนึ่งเดียวจากลอนดอนที่แม็กกาซีนนอกกระแสอย่าง Hypebeast, Dazed และ i-D เรียกใช้บริการอยู่ตลอดๆ ผู้ที่หลายแบรนด์ดัง เช่น Yoji Yamamoto, Raf Simons, Off-White จนถึงแบรนด์และดีไซเนอร์สายสตรีทอีกมากมายไว้ใจให้เธอเก็บภาพ Backstage ด้วยความสดใหม่ เก๋ ละมุนละไม ทั้งมุมมองและสไตล์โดดเด่นจากภาพ backstage ที่เราเห็นกันทั่วไป ที่บางครั้งสวยก็จริง แต่ไร้อารมณ์ ไร้ชีวิต ดูแล้วก็ผ่านไป แต่เบื้องหลังรันเวย์ของ Losada นั้นแตกต่าง เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก มีกลิ่นอายความดิบนิดๆ เหมือนกำลังดูงานอาร์ตดีๆ ชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว
RECOMMENDED CONTENT
ภายในงานสุดเอ็กซ์คลูซีฟซึ่งจัดขึ้นที่กลาสเฮาส์ (Glass House) ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อูโบลท์ (Hublot) และ ทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami) ได้ประกาศโปรเจกต์สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันเป็นครั้งที่ 4 ด้วยการเปิดตัวผลงานศิลปะดิจิทัล NFT ใหม่ 13 ชิ้น พร้อมด้วยนาฬิกาที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร 13 เรือน