“งานวิจัย” เป็นคำที่คุ้นหู แต่ไกลตัวคนทั่วไปยิ่งนัก มีไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นงานเหล่านี้ออกสู่สาธารณะ เพราะมักถูกจัดแสดงอยู่ในพื้นที่จำกัด อย่างรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้คนทั่วไปและผู้ประกอบการหลายๆคน เข้าไม่ถึง อีกทั้งยังไม่สามารถเชื่อมต่อความคิดสร้างสรรค์ระหว่างฝั่งนักวิจัย กับฝั่งผู้ประกอบการ และนักออกแบบได้ ทำให้ขีดความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยมีไม่สูงนัก ที่จะออกไปแข่งขันในเวทีโลก
เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) และสร้างกลไกการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างบุคลากร ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และสาธารณชน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและโจทย์ให้ตรงความต้องการ และเสริมสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการออกแบบตั้งแต่เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดนิทรรศการ “งานวิจัย กึ่งสำเร็จรูป” Talent Mobility: Matching Lab with Design Business โดย นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของงานครั้งนี้ และได้รับเกียรติจาก ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิด
โดย ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ได้กล่าวว่า “ผมเพิ่งไปดูงานที่ Kyoto มา ที่นั่นกำลังพัฒนา New Startup ให้เกิดขึ้น โดยเขามองไปไกลถึง 50 ปีข้างหน้า ซึ่งเราก็ต้องพัฒนาเช่นกัน ต้องสร้าง Ecosystem ให้คนรุ่นใหม่ ต้องทำให้เกิด New Startup ให้ได้”
ผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ แสดงเห็นเห็นถึงกระบวนการคิด วิจัย การทดลอง และกระบวนการผลิต ก่อนจะเป็นผลงานการวิจัยสุดสร้างสรรค์ เพื่อให้นักวิจัยมีโอกาสเผยแพร่และนำเสนองานวิจัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งผู้ประกอบการ นักออกแบบ และสาธารณชน โดยแบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่ บรรจุภัณฑ์, วัสดุ, สิ่งทอ, เครื่องมือ/อุปกรณ์ และ Internet / Big Data รวมทั้งหมด 50 ชิ้น และวันนี้เราจะแนะนำผลงานบางส่วนให้เห็นกันว่า แต่ละผลงานน่าสนใจขนาดไหน ก่อนที่คุณจะออกไปดูผลงานจริง!
เส้นใยนาโนเมตร จากโปรตีนธรรมชาติ
เส้นใยโพลิเมอร์ที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่ผลิตมาจากกระบวนการฉีดจากเครื่องจักรและการปั่นด้วยไฟฟ้าสถิต จะทำให้เส้นใยที่ได้มีขนาดเล็กลงถึงระดับนาโนเมตร มีน้ำหนักเบา มีพื้นที่ผิวมากขึ้น นักวิจัยพบว่าการผลิตโพลิเมอร์สามารถใช้วัสดุธรรมชาติอย่างถั่วเหลืองและข้าวโพด มาผลิตทดแทนวัสดุสังเคราะห์ได้ เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในทางการแพทย์ เช่น โครงร่างรองรับเนื้อเยื่อ, วัสดุปิดแผล หรือใช้เป็นวัสดุปล่อยยา เป็นต้น
นักวิจัย: ผศ.ดร. มณิศรา พิริยวิรุตม์ ภาควิชาอุตสาหกรรมและวัสดุ คุณวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผ้ายืดลดแผลเป็น
หลังจากประสบอุบัติเหตุไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใด สิ่งที่ไม่อยากให้ติดตัวมาคือแผลเป็น นักวิจัยจึงคิดค้นผ้าที่มีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษและใส่สารสำคัญอย่าง “ซิลิโคนเจล” เพื่อให้ออกซิเจนซึมเข้าไปทำงานกับคอลาเจนที่ผิวหนังเราสร้างขึ้น ทำให้แผลเป็นที่ปูดโปนลดน้อยลง และที่สำคัญราคาถูกกว่าต่างประเทศ
นักวิจัย: ดร. วนิดา จันทร์วิกูล, หน่วยวิจัยกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
“ซิลิกา แอโรเจล” ราคาประหยัด
ปี 1931 Steven Kistler ผลิต “ซิลิกา แอโรเจล” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีลักษณะเป็นของแข็งที่มีน้ำหนังเบา มีคุณสมบัติเป็นตัวนำคลื่นเสียงและนำความร้อนต่ำ วัสดุชนิดนี้จึกถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย ทั้งการทำฉนวนกันความร้อน ฉนวนกันเสียง ใช้ดูดซับสารอินทรีย์และคราบน้ำมัน ซึ่งนาซ่าเองก็ใช้ ซิลิกา แอโรเจล เป็นฉนวนดักจับฝุ่นในอวกาศ แต่ด้วยราคาที่แพงจึงไม่ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย
นักวิจัยจึงคิดต้นการบวนการสังเคราะห์ใหม่ โดยใช้สารตั้งต้นที่มีราคาถูกกว่า ใช้วิธีการสังเคราะห์ที่ซับซ้อนน้อยกว่า ทำให้ต้นทุนลดลงมาถึง 10 เท่า และคุณสมบัติที่ได้เพิ่มมาจากจากเดิมคือ น้ำหนังเบา กันน้ำ ไม่ดูดความชื้นและทนต่อกรด – ด่าง ที่สำคัญราคาถูกและยังเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีที่สุด
นักวิจัย: ดร. สุพรรณ ยอดยิ่งยง, สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
เกราะแข็งกันกระสุนจากพอลิเมอร์คอมพอสิต
นวัตกรรมใหม่สำหรับป้องกันการเจาะทะลุนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อผลิตเกราะกันกระสุนสำหรับใช้งานในประเทศ และลดต้นทุนการใช้จ่ายเรื่องยุทธภัณฑ์ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องสั่งซื้อเสื้อเกราะจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงและมีน้ำหนักมาก นักวิจัยจึงพัฒนาเกราะกันกระสุนโดยใช้วัสดุหลักคือพอลิเมอร์คอมพอสิตที่ทำจากเส้นใยเสริมแรงที่มีแรซินสรรมถนะสูงเป็นตัวประสาน ทำให้มีน้ำหนักเบาและราคาถูก!
นักวิจัย: รศ.ดร. ศราวุธ ริมดุสิต และคณะ, ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขุดย้ายต้นไม้แบบเบาแรง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คิดค้นเครื่องช่วยขุดย้ายแบบต่อพ่วงท้ายรถแทรคเตอร์ ทำงานด้วยกลไกลแบบกึ่งอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิกเครื่องแรกของเมืองไทย สามารช่วยเบาแรงในการเคลื่อนย้ายต้นไม้ขนาดใหญ่ และไม่ทำให้เกิดการเสียหาย
นักวิจัย: ผศ.ดร. ศุภกิตต์ สายสุนทร, ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หอมกลิ่นยางพารา
กลิ่นไม่พึงประสงค์ของยางดิบเกิดจากองค์ประกอบของกรดไขมันเล็กๆ แม้จะมีการแยกกรดไขมันออกไป แต่กระบวนการนี้มีต้นทุนสูงจุงไม่นิยมนำยางดิบไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ นักวิจัยจึงคิดค้นวิธีการกลบกลิ่นไม่พึงประสงค์ของยางพาราด้วยการพัฒนาแคปซูลที่ผลิตจากสารธรรมชาติสำหรับใช้ห่อหุ้มน้ำหอม และควบคุมการปล่อยยาวนานกว่า 10 เดือน ซึ่งทนความร้อนและความดันได้ดี กระบวนการดั่งกล่าวนอกจากจะไม่ทำให้คุณสมบัติของยางสูญเสียแล้ว ยังลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย
นักวิจัย: รศ.ดร. ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง, ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “การวิจัยและพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม” โดยมี ดร. ภราดร สุรีย์พงษ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ. อาซีซัน แกสมาน จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ ดร. พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล จากหน่วยวิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ มาร่วมเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้สนใจมานั่งฟังกันมากมาย และหอบอาความรู้กลับบ้านไปเต็มกระเป๋าทุกคน
นิทรรศการ “งานวิจัย กึ่งสำเร็จรูป” จะจัดแสดง ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม – 13 ธันวาคม 2558 ณ แกเลอรี่ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 5 ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ ผู้สนใจเข้าชมฟรี หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ TCDC โทร. 02 664 8448 ต่อ 213, 214 เวลา 10.30 – 21.00 น. (ปิดวันจันทร์)
TCDC information
Website: http://www.tcdc.or.th/
Facebook: https://www.facebook.com/tcdc.thailand
RECOMMENDED CONTENT
คู่นายแบบ นางแบบ ที่เอกลักษณ์รอยสัก และสไตล์โดดเด่น เท่กว่าใครๆกับตนตัว และสไตส์สักที่แนวยิ่งกว่า