fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#MovieGuilde : รวมหนังไทย (ปี 2530 – ปัจจุบัน) ที่ยังคงติดอยู่ในใจเราเสมอมา รับรองว่าอ่านคอลัมน์นี้แล้วคุณจะรักหนังไทยมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว!
date : 14.มกราคม.2015 tag :

คอลัมน์แนะนำหนังคราวนี้ เราพูดถึงวงการหนังไทยกันบ้าง กับการรวบรวมหนังไทยคลาสสิคที่น่าดูตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา (เวลามันช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน) จริงๆก่อนปี 2530 ไล่ลงไปก็มีผลงานขึ้นหิ้งเยอะมากมายของผู้กำกับชั้นครูเหมือนกัน แต่ที่ต้องขอเอาเป็นช่วงปีนี้ไล่ขึ้นมาก่อนเพราะว่า เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่โปรดักชั่นการผลิตอย่างชัดเจนและยังสามารถพอไล่หาดูได้ แต่ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนเลยว่าตลอดเวลา 30 ปีมีภาพยนตร์ที่น่าสนใจจากผู้กำกับบ้านเรามากมายนับไม่ถ้วนอยู่แล้ว หนังที่เราคัดเลือกมานี้เป็นส่วนหนึ่งที่มองเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงน่าสนใจขึ้น เราไปดูกันดีกว่าว่ามีหนังไทยเรื่องไหนติดลิสต์นี้กันบ้าง…

null

บ้าน (พ.ศ. 2530)

สร้างจากบทประพัทธ์ “จนตรอก” ของ ชาติ กอบจิตติ นี่คือหนังที่คนดูหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าจะหดหู่และเศร้าไปถึงไหน เรื่องราวของครอบครัวที่เจอแต่เรื่องซวยซ้ำซวยซ้อน และการตัดสินใจในชีวิตแต่ละครั้งดูจะนำพาไปสู่สิ่งที่ผิดพลาดเสมอๆ นำแสดงโดยสรพงษ์ ชาตรี และได้ดาราใหญ่อย่าง ส. อาสนจินดา มาวาดลวดลายการแสดงไว้และสามารถกวาดรางวัลการแสดงจากเรื่องนี้ด้วย นี่ถือเป็นรอยต่อระหว่างที่หนังไทยกำลังจะก้าวไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง ก่อนที่จะเริ่มมีกระแสหนังวัยรุ่นของค่ายเพลงต่างๆทำออกมา ก็ดูจะมีเรื่องนี้นี่ล่ะ ที่คนรักหนังควรย้อนกลับไปดูกันสักครั้ง

null

กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน (พ.ศ. 2534)

หนังไทยคลาสสิคอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังจะถูกลืมไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนตัวคนเขียนก็เพิ่งได้มารู้จักกับหนังเรื่องนี้ไม่นาน (รู้สึกตัวเองผิดมาหลายปี) ผลงานของผู้กำกับมานพ อุดมเดช ที่หนังของเขามักเป็นเรื่องด้านมืดของมนุษย์ หนังเปิดตัวอย่างชัดเจนว่าเป็น “ฟิล์มนัวร์” ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องแรกของบ้านเราเลยที่ทำแนวนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่อง The Postman Always Ring Twice แบบจัดเต็ม (ถ้าจะเอา Noir จริงๆน่าจะเป็นเวอร์ชั่นขาวดำปี 1946) แต่ของเราเปลี่ยนจากเหตุเกิดในร้านอาหารเป็นปั๊มน้ำมันภาคใต้ (ต้องดูเอาเอง) ผลตอบรับที่ได้หนังทำรายได้ขาดทุน คนเข้าดูน้อยมาก แต่ในมุมของนักวิจารณ์นี่คือหนังไทยที่ทำออกมาได้ลงตัวและมีจริตจะก้านคมคายที่สุดเรื่องหนึ่ง กวาดรางวัลเวทีตุ๊กตาทองบ้านเราไปถึง 9 รางวัล

null

ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด (พ.ศ. 2536)

นำแสดงโดย สัญญา คุณากร นี่คือผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่ทำให้คนเห็นฝีมือของเขา คาแรคเตอร์หนุ่มกลางคนที่ชื่อว่า “นพ” เขาเป็นพนักงานดีเยี่ยม ตั้งใจตั้งหน้าตั้งตาทำงานในโรงงานกระป๋องแบบไม่มีปากมีเสียงใดๆ จนวันหนึ่งเขาได้รับข่าวร้ายจากยมบาลว่าตัวเองมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกในเวลาจำกัด จึงเกิดเป็นการทำเควสลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ของตัวเอกขึ้นมา หนังตั้งคำถามถึงชีวิตการทำงานแบบไม่สนใจสิ่งสำคัญอื่นๆในชีวิตของคนทำงาน หรือมนุษย์เงินเดือนในยุคที่ประเทศไทยกำลังผลักดันธุรกิจ ถือเป็นหนังจากค่ายไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ที่ทำออกมามีเนื้อหาหนักหน่วงพอสมควร แต่ผ่านมือการกำกับของอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ทำให้หนังออกมาดูสนุกและเพลิดเพลิน หากไปถามถึงหนังขึ้นหิ้งในยุค 2530 นี่จะต้องเป็นเรื่องหนึ่งอยู่ในลิสต์แน่ๆ

null

ท้าฟ้าลิขิต (พ.ศ. 2540)

แหม หนังสองเรื่องที่นำแสดงโดย สัญญา คุณากร มาอยู่ในลิสต์นี้ของเราทั้งคู่เลย หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นเขาเคยวิ่งหน้าตั้งมาแล้วทั่วกรุงเทพ! ผลงานแจ้งเกิดของผู้กำกับ ออกไซด์ แปง ที่ประสบความสำเร็จล้นหลาม คว้ารางวัลเวทีในไทยไปมากมาย เรื่องราวชายหนุ่มคนหนึ่งไปค้นพบว่าตนเองมีภารกิจที่สามารถรู้ล่วงหน้าอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ โดยช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นแลกกับกรรมที่เคยก่อ (โยงความเป็นพุทธศาสนาของไทยได้สมบูรณ์เสร็จสรรพ) คงเป็นเพราะเนื้อหาที่สนุกเข้มข้นลุ้นนาทีต่อนาทีคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้หยิบมาดูกี่ทีก็ไม่เบื่อ

null

กล่อง (พ.ศ. 2541)

หากจะพูดถึงหนังขึ้นหิ้งของท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ที่ถูกใจเราคงต้องไปกองอยู่ในยุคก่อนปี 2530 หลายเรื่อง แต่ถ้าในยุคหลังมานี้เราขอยกให้เรื่อง “กล่อง” เป็น Masterpiece ชิ้นสำคัญในเส้นทางการทำหนังของท่านเลยทีเดียว เอาแค่การเลือกดาราคู่พระนางของเรื่องเป็นโน๊ต อุดม แต้พานิช กับ ลูกเกด เมทินี กิ่งโพยม ก็พอรู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้มันจะออกมา Absurd ขนาดไหน สิ่งที่เราชอบสำหรับหนังเรื่องกล่องในทุกๆครั้งที่ได้ดู (ยอมรับว่าครั้งแรกตอนเด็กดูแบบไม่ตั้งใจ ยังคิดเลยหนังไรเนี่ยเบื่อมากๆ) คือการใช้ Scene ทั่วไปที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันของหนุ่มไทยคนหนึ่งในยุคฟองสบู่แตก นำมาใส่เรื่องราวและนำเสนอผ่านการเล่าเรื่องที่ทำให้บรรยากาศโดยรวมของหนังมันมีความแปลกใหม่และน่าสนใจสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ตัวเอกไปเจอกล่องจากคนแปลกหน้า (ถึงตรงนี้ลุงนั่นแกเป็นคนรึเปล่าก็ไม่รู้) เพื่อนบ้านรวมถึงแฟนสาวของพระเอกที่ดูจะไม่ใช่คนพูดรู้เรื่องสักคน โลเคชั่นทั้งหอพักและที่ทิ้งขยะ สีสันที่ใช้ในเรื่อง จนมาจบด้วยฉากจบที่พีคซะจนมันทำให้เราทั้งเศร้าทั้งมึนได้อย่างไม่น่าเชื่อ หากใครรู้จักชื่อท่านมุ้ยเพียงแค่สุริโยไทย หรือสมเด็จพระนเรศวร คุณจำเป็นต้องหาหนังเก่าโดยเฉพาะ กล่อง เรื่องนี้มาชมโดยด่วน

null

คนจร ฯลฯ (พ.ศ. 2541)

ไล่ไปไล่มา รู้สึกว่าปี 2541 นี่จะเป็นปีที่มีหนังไทยแปลกๆเข้าโรงฉายกันไม่น้อยเลยนะเนี่ย จากข้อที่แล้วเจองานฝั่ง Absurd ของท่านมุ้ยเข้าไป มาถึงข้อนี้ คนจร ฯลฯ ถือเป็นหนังอินดี้นอกกระแสเรื่องแรกเลยก็ว่าได้ ที่ได้เข้าโรงฉายแบบจัดเต็มไม่มีจำกัดเหมือนหนังอินดี้ทั่วไป ผลงานของ อรรถพร ไทยหิรัญ หนึ่งในผู้กำกับของบ้านเราที่น่าจับตามองแต่ดันมาเสียชีวิตไปเสียก่อนเมื่อช่วง 2 ปี ที่ผ่านมานี้ ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะได้ เรย์ แมคโดนัลด์ มาประกับเป็นตัวเอกคู่กับฉัตรชัย เปล่งพานิช แต่เสียงตอบรับของหนังเรื่องนี้ตอนเข้าฉายก็ยังเป็นไปในทิศทางที่ไม่มีคนเข้าใจอยู่ดี เพราะการถ่ายทำทำออกมาแบบหลุดขั้วสุดๆ ทั้งกล้องที่สั่นไหวไปมาตลอดทั้งเรื่อง บทพูดสารพัดคำหยาบ รวมไปถึงคอสตูมการใช้สีในเรื่องที่แสบสันและ Weird กว่าโลกปกติ แต่เพราะหนังแบบนี้นี่ล่ะที่เมื่อเวลาผ่านไป ย้อนกลับมาดูจะถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามของวงการ

null

มนต์รักทรานซิสเตอร์ (พ.ศ. 2544)

เราเชื่อว่าใครที่เคยดูหนังเรื่องนี้ต้องชอบทุกคน เพราะมันมีเนื้อหาที่ถ้าคุณเป็นคนไทยก็จะอินและเข้าใจกันได้หมด รวมไปถึงทักษะการเล่าเรื่องของเป็นผู้กำกับเป็นเอก รัตนเรือง ที่ในผลงานชิ้นนี้เขาอาจจะไม่ต้องมีความพิศดารอะไรมากมาย แต่แสดงให้เห็นว่าคนๆนี้รู้ว่าต้องทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่จริงๆ เค้าโครงเรื่องมาจากงานประพันธ์ชื่อเดียวกันของ วัฒน์ วรรลยางกูร ที่พอนำเสนอออกมาเป็นหนังแล้ว ส่วนตัวเรารู้สึกเลยว่าใครที่คิดว่า เรื่องราวของ Forrest Gump สนุกอย่างไร ถ้าเปลี่ยนให้ตัวเอกเป็นตามนิทานคลาสสิคประเภท หนุ่มลูกทุ่งอยากเป็นนักร้อง มาหลงเข้าเมืองกรุง ก็จะเป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำออกมาได้สมบูรณ์แบบเลยจริงๆ หนังยาว 2 ชั่วโมง แต่ดูแล้วรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วจนไม่รู้ตัวเลย

null

เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (พ.ศ. 2546)

ที่จำเป็นต้องพูดถึง Last Life in the Universe ถึงแม้ว่าความสนุกและเข้าถึงคนดูจะไม่ได้ชัดเจนเหมือนกับ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ข้อข้างบน แต่เรารู้สึกเสมอว่าเพราะหนังเรื่องนี้นี่ล่ะทำให้คนจำภาพคำว่า “หนังของเป็นเอก” ได้อย่างชัดเจน การเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพและอารมณ์ที่ดูจะมีค่ามากกว่าบทพูดและไดอาล็อกระหว่างตัวละคร สิ่งที่หนังพยายามจะบอกอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนถ้าหากเอาใจของการดูหนังเรื่องอื่นๆมาจับ คนดูหลายคนอาจจะจบด้วยคำว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” นอกจากนั้นหนังยังได้นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่มีสำนวนของตัวเองชัดเจนอย่าง “ปราบดา หยุ่น” มารับหน้าที่เขียนบท ได้นักแสดงชาวญี่ปุ่นอย่าง “อาซาโน่ ทานาโดบุ” มาเล่นคู่กันกับสองพี่น้องบุญยศักดิ์ (หลงรักพวกเธอก็จากเรื่องนี้ล่ะ)  และจะมีสักกี่ครั้งในประวัติศาสตร์วงการหนังไทย ที่งานภาพได้มือ Cinematographer ระดับโลกอย่าง “คริสโตเฟอร์ ดอยล์” เคยร่วมงานมาแล้วทั้ง หว่อง กาไว หรือจางอี้โหม่ว มาร่วมงานกับผู้กำกับชาวไทย (ก็ประทับใจงานภาพขนาดต้องขอยืมเฟรมนิ่งมาเป็นปกของคอลัมน์นี้เลยคิดดู) ผลงานชิ้นนี้ของ เป็นเอก รัตนเรือง จึงเป็น 112 นาทีที่ควรค่าแก่การ “ดู” ที่สุดแล้ว

null

องค์บาก (พ.ศ. 2546)

ความรู้สึกแรกของคนที่ได้ดูองค์บากโดยเฉพาะคอหนังต่างประเทศ คงไม่ต่างอะไรกับครั้งแรกที่เราเปิดหนังไม่กี่ปีมานี้จากประเทศอินโดนีเซียอย่าง The Raid: Redemption ดู สิ่งที่กำลังจะบอกคือ นี่เป็นหนังไทยที่ทำให้ต่างชาติหันมามองวงการหนังบ้านเรา โดยใช้ “ศิลปะการต่อสู้” เป็นใบเบิกทาง เช่นกันกับ The Raid ที่เราดูแล้วรู้สึกว่าวงการหนังอินโดเขาก็มีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์และน่าจับตามองเช่นกัน ถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องจะไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อนมาก หนุ่มจากชนบทถูกขโมยเศียรพระที่เป็นสัญญะถึงจุดศูนย์กลางความเชื่อของชุมชน ต้องเข้ามาต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเชื่อนั้นกลับคืนในเมืองหลวงใหญ่ แต่รับรองว่าด้วยผลงานการกำกับของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่ทำให้หนังแอคชั่นเรื่องนี้ดูสนุกและอะเมซซิ่งในเวลาเดียวกัน ทุกคนท่ีดูองค์บากจะต้องเพลิดเพลินไปกับการแสดงศิลปะการต่อสู้มวยไทยโบราณและความผาดโผนโดยไม่ต้องพึ่งสตันท์และสลิงใดๆของ จา พนม (Tony Jaa) แบบลืมเวลาไปเลย

null

หมานคร (พ.ศ. 2547)

เมื่อย้อนดูภาพหนังไทยที่ผ่านมาตลอด 30 ปีนี้ หมานคร ต้องโดดเด่นออกมาแน่นอน เพราะสีสันและฉากการเล่าเรื่องที่ Surreal ไม่เหมือนใคร หนังพูดถึงเรื่องหนุ่มต่างจังหวัด เข้ามาทำงานในโรงงานกระป๋องในกรุงเทพ เสร็จแล้วก็ต้องออกจากงานด้วยอุบัติเหตุบางอย่าง (อยากให้ไปดูกันเอง) จนมาเจอกับพนักงานทำความสะอาดสาวสวยคนหนึ่ง จริงอยู่ที่หนังแปลกในโลกนี้มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งเนื้อหาที่เอกลักษณ์ หรือการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ แต่จุดเด่นหมานครคือการผสมผสานระหว่างโลกความจริงกับโลกเหนือจริง คุณจะได้พบกับอะไรก็ไม่รู้เกิดขึ้นในหนังไม่ต่างจากโลกการ์ตูน รวมถึงสีสันในเรื่องที่ไม่น่าจะมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ (ตามหลักวรรณกรรมมันคือ Magical Realism ที่อิงกับโลกความจริงเพียงแต่เรื่องราวที่สามารถกระโดดข้ามความเป็นจริงได้เลย) ตอนที่หนังออกมาเสียงตอบรับในบ้านเราค่อนข้างจะเงียบและขาดทุน เพราะวงกว้างยังไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและแสดงออกมาในหนัง (จะมีก็แต่ถูกมองว่าเป็น “หนังเด็กแนว” เท่านั้น) แต่ผิดกับฝั่งยุโรปที่ในภายหลังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปขาย และเป็นที่ชื่นชอบของคนต่างชาติมากมาย สร้างชื่อให้ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เป็นคนทำหนังในดวงใจคอหนังหลายๆคน

null

สัตว์ประหลาด! (พ.ศ. 2547)

ใครจะไปรู้ว่าวันดีคืนดีในปี พ.ศ 2547 จะมีการเกิดขึ้นครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์หนังไทย นี่คือหนังที่สามารถรื้อระบบความเข้าใจของคนดูหนังกันอย่างราบคาบ ซึ่งความแปลกใหม่ของหนังเรื่องนี้เรียกว่าขนาดต่างประเทศยังยกนิ้วให้ ผลงานเรื่องที่ 4 ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นักทำหนังที่มองการทำหนังเป็นศิลปะ การทำหนังของเขาเปรียบเสมือนการทดลองที่ไม่มีขอบเขตและขนบการทำหนังใดๆมาปิดกั้นได้ทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของคนดูส่วนหนึ่ง ต้องสามารถที่จะยอมรับและอิ่มเอมกับรสศิลปะแบบของเขาตามไปด้วยได้ (อย่าไปสนใจคำของคนที่เคยดูมาก่อนถ้าคุณไม่เปิดใจดูด้วยตัวเอง) สัตว์ประหลาด! เล่าเรื่องด้วยการแบ่งเป็นสองเรื่อง เรื่องหลักๆเกี่ยวกับเรื่องราวความรักระหว่างชายสองคน กับอีกเรื่องเป็นการนำเอานิทานพรานล่ามานำเสนอ เราเองยอมรับว่าครั้งแรกที่เคยดูตอนเป็นเด็กก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร แต่พอได้ตั้งใจดูจริงๆแล้วค้นพบเลยว่า คนๆนี้ได้เดินนำหน้าความเข้าใจของเราไปไกลหลายขุม หนังคว้ารางวัลในเวทีต่างประเทศมากมาย รวมถึงเทศกาลหนังเมืองคานส์ และก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเหมือนเดิมที่หนังของพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ มักจะต้องไปเวียนทัวร์เทศกาลเมืองนอกก่อน แล้วถึงค่อยได้ไฟเขียวฉายในไทย (จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังหาแผ่น “ลุงบญมีระลึกชาติ” ผลงานชิ้น Masterpiece ที่ไปคว้าสุดยอดรางวัล Palme d’or) ทั้งๆที่นี่คือผลงานของคนไทยคนหนึ่งที่จะต้องมีชื่ออยู่ในตำราทำหนังยุคต่อไปของคนทำหนังทั้งโลกแน่ๆ

null

เฉิ่ม (พ.ศ. 2548)

ก็ถ้าอเมริกาเคยมี Taxi Driver กำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซี ได้แล้วทำไมบ้านเราจะมีหนังเกี่ยวกับคนขับแท็กซี่ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี บ้างไม่ได้ล่ะ!? ถึงแม้ว่าอาชีพคนขับแท็กซี่ในมุมมองของผู้กำกับสองคนนี้จะมี “ความเหงา” เป็นทุนเดิมเหมือนกัน แต่ถ้า Travis Bickle (รับบทโดยโรเบิร์ต เดนีโร) เป็นคนขับแท็กซี่ที่มองเห็นทุกความเน่าเฟะในเมืองและต้องการจะกวาดล้าง ในฝั่ง สมบัติ ดีพร้อม (รับบทโดยเพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา) ของคงเดช คือคนขับแท็กซี่ที่มองเห็นโลกอบายมุขยามค่ำคืนอยู่แบบเหงาๆอย่างคนแปลกหน้าและตกหลุมรักมันในที่สุด หนังพูดถึงชีวิตที่ว่างเปล่าของตัวเอกท่ามกลางความมั่วซั่วยามค่ำคืนของกรุงเทพได้อย่างสนุกน่าติดตามและเศร้าไปพร้อมๆกัน และการผูกเอาเพลงลูกกรุงเก่าๆมาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง ก็ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยในยุคใหม่ที่น่าจดจำอย่างมาก

null

วันเดอร์ฟูลทาวน์ (พ.ศ. 2550)

หนังรักที่ (ดูเหมือนจะ) เรียบง่ายธรรมดาๆ ทั้งการเล่าเรื่อง บทพูด นักแสดง งานภาพที่ดูแล้วเรียบง่ายดูสบาย แต่การจะ “เรียบง่าย” ให้มี “พลัง” เหมือนที่หนังเรื่องนี้ทำได้นี่ล่ะ คือความพิเศษที่ผู้กำกับ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ได้โชว์ให้เราเห็นในหนังเรื่องนี้ หนังพูดถึงเรื่องราวหลังภัยสึนามิภาคใต้ ในเมืองเล็กๆที่ชื่อว่าตะกั่วป่า สถาปนิกหนุ่มจากกรุงเทพค้นพบว่าเขากำลังตกหลุมรักสาวผู้ดูแลโรงแรมที่อาศัยอยู่ และชีวิตของทั้งคู่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงกันหลังจากได้พบเจอ เป็นหนังไทยที่ดูแล้วรับประกันว่าคุณต้องอิ่มแน่นไปทุกความรู้สึกแน่นอน หลังจากเมื่อปี 2010 มีอีกหนึ่งผลงานออกมาคือ Hi-so ถึงตรงนี้อาทิตย์ อัสสรัตน์ ก็ทำให้แฟนๆหนังของเขารอคอยอยู่ (เราเองคนหนึ่ง) ไว้มีข่าวคราวคืบหน้าเมื่อไรจะรีบนำมาบอกกัน

null

หมาแก่อันตราย (พ.ศ. 2554)

วลี No Country for Old Men ที่มีความหมายในแง่คนแก่ไม่มีที่อยู่ในโลกยุคใหม่ ในฝั่งของพี่น้องโคเอนที่ทำหนังชื่อเดียวกันอาจจะหมายถึงฝั่งตำรวจผู้พิทักษ์สันติ แต่ในมุมมองของ ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค เขากล้าท่ีจะนำเสนอเรื่องราวในฝั่งของ “มือปืน” อาชีพที่ดูจะมีตัวตนอยู่ในสังคมไทยบ้านเรามานานทั้งๆที่ไม่เคยมีกฎหมายใดๆรองรับพวกเขา หนึ่งในหนังไตรภาคมือปืน (เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 2) นำแสดงโดย เทพ โพธิ์งาม ดาวตลกค้างฟ้าที่มีเรื่องราวชีวิตจริงน่าสนใจไม่แพ้บนจอ มาโชว์ฝีมือการแสดงในบทบาทที่เจ้าตัวเรียกว่าหนักที่สุดแบบไม่ต้องขำกันสักแอะได้อย่างน่าจดจำ รวมไปถึงตัวละครแปลกๆที่โผล่มาให้เห็นกันไม่มีหยุด ล้วนเป็นเสน่ห์ในหนังของต้อม ยุทธเลิศ ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี (เปิดฉากมา มีมือควงมีดมาเล่นกวนๆ ทำเอางงไปเลย) หนังนอกจากดูสนุกยังฝากถึงข้อคิดความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันคนสูงอายุที่มีอาชีพเป็นถึง มือปืน จะสามารถยืนหยัดต่อไปทั้งในแง่คนในสังคมและกับชีวิตคนใกล้ตัวได้รึเปล่า? ก่อนเข้าโรงฉายในบ้านเราหนังมีการเลื่อนกำหนดอยู่หลายครั้ง สุดท้ายต้องไปได้รางวัลจากประเทศเซี่ยงไฮ้มาก่อนถึงจะได้เข้าฉาย การันตีสาขาการกำกับภาพยอดเยี่ยม (Best Cinamatography) ด้วยฉากสุดท้ายที่ตัวเอกและลูกสาวไปพบกันริมทะเล ฉากนั้นเป็นฉากที่ติดตาเลยจริงๆ

null

36 (พ.ศ. 2555)

ถือเป็นหลักไมล์สำคัญอีก 1 ก้าวของวงการภาพยนตร์ไทย หนังยาวเรื่องแรกของ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่คนสำคัญของบ้านเราตอนนี้ จากที่ตอนแรกเขาสั่งสมผลงานมาจากการทำหนังสั้นและเป็นมือเขียนบทในค่าย GTH มาก่อน 36 โดดเด่นในลักษณะของการดำเนินเรื่องที่หั่นเอาความยาว 60 นาที ออกเป็น 36 ช่วง (จำนวนเฟรมของม้วนฟิล์ม 35mm) เนื้อหาพูดถึงความสัมพันธ์ของคนสองคนที่พบเจอกันในช่วงระยะเวลาทำงานร่วมกัน ด้วยมุมมองของ นวพล หนังเรื่องนี้จึงสามารถนำเสนออารมณ์ความสัมพันธ์ของคนยุคนี้ได้อย่างถูกที่ถูกทาง นอกจากจะเป็นการแจ้งเกิดชื่อและวิธีทำงานของนักทำหนังรุ่นใหม่ในบ้านเราแล้ว 36 ยังเป็นที่พูดถึงในเทศกาลหนังที่ต่างประเทศมากมาย และคว้ารางวัลใหญ่ๆอย่างเทศกาลหนังปูซานมาครองอีกด้วย

null

ตั้งวง (พ.ศ. 2556)

เรื่องสุดท้ายของลิสต์นี้ เราขอจบกันด้วยอีกหนึ่งผลงานของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ก่อนเขียนก็นึกอยู่ตลอดเลยว่า จะพลาด “ตั้งวง”​ ไปไม่ได้ เพราะนี่คือหนังไทยที่ตอกหน้า “ความเป็นไทย” แก่คนดูแบบจังๆ หนังชวนตั้งคำถามความเป็นไทยที่เราต่างภาคภูมิใจกันมาตลอดเวลา โดยเล่าเรื่องผ่านชีวิตตัวละครของแก๊งค์เด็กหนุ่มวัยมัธยมที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและการเมืองในประเทศ ความพิเศษของหนังเรื่องนี้คือ ตลอดเวลาของหนังเราไม่ได้รู้สึกผิดแปลกหรือสงสัยในความคิดที่เชื่อมั่นความเป็นไทยของตัวละครเลย จนมาถึงตอนจบหากตั้งใจดูพัฒนาการแต่ละย่างก้าวของคาแรคเตอร์ต่างๆ จะค้นพบว่าผู้กำกับได้วางโครงสร้างหนังไว้อย่างแยบยลและชาญฉลาดมาก ตั้งวง ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ หนังไทย ที่ถ้าหากคุณอยากรู้ว่าวงการหนังบ้านเรามีชั้นเชิงขนาดไหน ก็ควรดูเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

Writer: Pakkawat Tanghom