“สูท” คำง่ายๆ ที่นิยามการแต่งกายของสุภาพบุรุษมานานนับร้อยปี…เมื่อคุณเห็นสูทตัวนี้คุณคิดว่ามันแตกต่างกับสูทตัวอื่นอย่างไร? บางคนอาจจะบอกว่ามันก็เหมือนๆ กัน แต่เชื่อไหมว่าทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของสูทตัวนี้ไม่ได้เป็นแค่ “สูทธรรมดาตัวหนึ่ง” แต่นี่คือ “Neapolitan Suit” หรือสูทสไตล์อิตาลีรูปแบบเฉพาะตัว วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนสู่ห้วงเวลาที่สูทสไตล์นี้เริ่มต้นสร้างความแตกต่าง ประกาศจุดยืนเอกลักษณ์โดยเปล่งออกมาทางเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สูทสไตล์ดังกล่าวจะพาเราวิ่งไปหาความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์แฟชั่นเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษได้อย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้เท่านั้น!
จุดกำเนิดของสูท Neapolitan
นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปกว่า 700 ปีก่อนมีสมาคมชื่อว่า “Confraternita dell’arte dei Giubbonai e Cositori” หรือ สมาคมช่างตัดเย็บเสื้อผ้าก่อตั้งขึ้น นั่นทำให้รากฐานสไตล์ที่ถูกรวบรวมเป็นศูนย์กลางของเมืองเนเปิลส์หรือนาโปลีในภาษาอิตาเลียนกลายเป็นจุดร่วมที่สำคัญในการเป็นรากฐานจนถึงทุกวันนี้แต่ภาพเมื่อกว่า 7 ศตวรรษมิอาจสร้างภาพที่ดูเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าจุดกำเนิดของวิถีทางการตัดเย็บและรูปแบบแพตเทิร์นของชาวอิตาเลียนได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และหากจะพูดถึงคำว่า “นีอาโปลีตาน” (Neapolitan) ต้องเดินทางข้ามเวลามาถึงช่วงระหว่างศตวรรษที่ 17 และ 18 เมื่อปรากฏหลักฐานว่าความเนี้ยบในแบบฉบับของชาวเนเปิลส์ถูกบันทึกไว้เป็นงานศิลปะอยู่เสมอ ลองคิดดูภาพคุณกำลังสวมสูทตัวโปรดที่มีแพตเทิร์นการตัดเย็บเป็นอมตะมาเกือบ 400 ปีมันจะพิเศษมากเพียงใด ในยุคนั้นต้องเรียกได้ว่าบริบทของสังคมก็ละม้ายคล้ายคลึงปัจจุบันตรงที่การสวมสูทอาจถูกมองว่าทางการหรือเชยจนเกินไป โดยเฉพาะในหัวเมืองแฟชั่นอย่างลอนดอน มิลาน และปารีส แต่ความคลาสสิกของสูทสไตล์นีอาโปลีตานก็ยืนหยัดได้เหมือนกับที่อยู่อย่างมั่นคงในยุค 2020 แบบนี้
รูปซ้าย Luca Rubinacci (Photo by rubinacci.i)
รูปขวา (Photo by Salva Lopez for Bloomberg Pursuits)
และเมื่อเทรนด์ความเนี้ยบกริบแบบสุภาพบุรุษที่ทุกสัดส่วนและองค์ประกอบคือความเฉียบคม ซึ่งรากฐานสูทแบบดั้งเดิมเองก็มาจากประเทศต้นตำรับอย่างอังกฤษและเมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงโรม ซึ่งช่างที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นคงหนีไม่พ้น Giacchino Trifari และ Raffaele Sardoni และ Filippo De Nicola 2 ช่างในตำนานก็เริ่มโด่งดังตามไทม์ไลน์ขึ้นมา โดยลูกชายของช่างคนหลังได้มีโอกาสซึมซับสูทสไตล์อังกฤษจากการเดินทางไปใช้ชีวิตที่นั่น และนำเอกลักษณ์ของชุดสูทเมืองผู้ดีกลับมา ยิ่งตอกย้ำได้อย่างชัดเจนว่าในช่วงยุคแรกสไตล์ของสูทโดยส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกาะอังกฤษอย่างแท้จริง
“ความสำคัญของการตัดสูทไม่ใช่แค่ “วิธีการ” แต่หมายถึง “วัฒนธรรม” ฝีมือที่ยอดเยี่ยมเรียกลูกค้าระดับพรีเมี่ยม”
ชื่อของเหล่าผู้อำนาจและมีชื่อเสียง ไล่ตั้งแต่ราชวงศ์อิตาลี ศิลปิน นักกวี หรือแม้แต่นักแสดง ทั้งหมดกลายเป็นลิสต์ลูกค้าของห้องเสื้อ De Nicola และห้องเสื้อชั้นนำอื่นๆ พวกเขาไม่ได้มาแค่ตัดสูท แต่พวกเขามาเสพศิลป์ทุกแง่มุมภายในร้านและแลกเปลี่ยนความคิดด้านต่างๆ สูทสไตล์นีอาโปลีตานจึงไม่ใช่แค่เสื้อผ้าอาภรณ์แต่มันหมายถึงงานศิลปะจากวัฒนธรรมชายหนุ่มอิตาเลียน
Prince Charles wearing Anderson & Sheppard suit
จุดเริ่มต้นจากอังกฤษสู่ความเป็น Neapolitan
การเปลี่ยนแปลงย่อมมีจุดเริ่มต้น…เราย้อนรำลึกไปถึงสมัยการตั้งสมาคมช่างตัดเย็บเรื่อยมาจนถึงยุคสูทสไตล์อิตาเลียนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประเทศอังกฤษ แต่วันหนึ่ง Rubinacci ห้องเสื้อชื่อดังที่เมื่อก่อนคือ London House โด่งดังมากจนผู้คนต่างยกให้เป็นห้องเสื้อชั้นนำของวงการ เชื่อไหมว่าสมัยก่อนสูทของห้องเสื้อแห่งนี้ไม่ได้มีรูปแบบเหมือนสูทสไตล์อิตาเลียนดั่งในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นเมื่อ Gennaro Rubinacci ผู้ก่อตั้งแนะนำให้ Vincenzo Attolini ช่างประจำร้านปรับสไตล์การตัดเย็บเป็นแบบ “Soft Tailoring” โดยยึดถืองานของ Frederick Scholte และ Anderson & Sheppard เป็นพื้นฐาน โดยช่างยอดฝีมือคนนี้นำเอาสไตล์ “Drape Cut” ของ Anderson & Sheppard มาปรับใช้ และแล้วสูทสไตล์นีอาโปลีตานที่เราเห็นกันจนคุ้นตาก็เกิดขึ้น
Anderson & Sheppard Suit Style Photo by (Anderson & Sheppard)
การลดทอนโครงสร้างจากสูทแบบอังกฤษให้น้อยลง โดยเฉพาะช่วงไหล่และซับในที่เป็นจุดสังเกตสำคัญของสไตล์นีอาโปลีตาน สูทสไตล์นี้ทำให้ใส่สบายและนำมาสไตลิ่งได้หลากหลายสไตล์มากขึ้น เหมาะกับสภาพอากาศและการเปิดกว้างด้านแฟชั่นบุรุษทางตอนใต้ของอิตาลี และแล้วแจ๊กเก็ตของ Attolini ที่ถูกขนานนามว่า “ผิวหนังชั้นที่ 2” ก็กลายเป็นต้นแบบของสูทอิตาเลียนยุคโมเดิร์น มันเปรียบเสมือนการปรุงแต่งรสชาติของนีอาโปลีตานให้เป็นภาพจำของสูทสไตล์นี้เรื่อยมาจวบจนปัจจุบันอย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว
Cesare Attolini Suit’s Style (Photo by Jamie Ferguson.)
นอกจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาแล้วรากเหง้าของเหล่าตระกูลช่างตัดสูทก็เป็นเรื่องจำเพาะของแต่ละตระกูลและเป็นเคล็ดลับวิชาที่ประเมินราคาไม่ได้ สุดยอดช่างฝีมือแต่ละคนได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อครั้ง “L’arte del taglio. Libro per i maestri-sarti” ตำรารวบรวมการตัดเย็บสูทสไตล์นีอาโปลีตานถือกำเนิดขึ้นในปี 1887 โดยฝีมือ Antonio Caggiula เคล็ดลับวิชาเริ่มกลายเป็นเรื่องสาธารณะมากขึ้น ถึงแม้ช่วงแรกจะเป็นการเผยแพร่ผ่านการเรียนการสอนในโรงเรียนตัดเย็บของตัวเอง แต่แล้วมันก็เผยแพร่กว้างออกไป นี่คือรากฐานการเหลาคมวิชาการตัดสูทนีอาโปลีตานที่เป็นรูปแบบของโลกสมัยใหม่ เมื่อก่อนเป็นรูปแบบจากพ่อสู่ลูกสืบทอดกันผ่านสายเลือด ต่อมาผ่อนปรนลงให้คนภายนอกตระกูลเข้ามามีบทบาทได้แต่ก็กว่าจะมาเป็นช่างตัดเย็บได้ต้องผ่านบททดสอบสุดหฤโหด คือเริ่มจากการนั่งสังเกตเทคนิควิธีการอย่างตั้งใจ เรียนรู้เรื่องเนื้อผ้าและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างละเอียด ฝึกฝนเย็บจากบทเรียนง่ายๆ พอฝีเข็มเริ่มสมบูรณ์แบบจึงมีโอกาสจับชิ้นงานจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดจากปรมาจารย์ในห้องเสื้อต่างๆ หลังร้านตัดสูทแห่งนั้นปิดลงในช่วงเวลากลางคืน เหล่าช่างฝึกหัดต้องเรียนรู้นานนับสิบปีกว่าจะถูกเรียกว่า “sarto imparato” หรือช่างตัดเย็บผู้ผ่านการเรียนรู้และสามารถตัดเย็บไอเท็มคลาสสิกต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพ ถ้าหากเปรียบให้คนไทยเข้าใจง่ายขึ้นคงเหมือนกับการฝึกฝนเป็นเชฟซูชิของชนชาติญี่ปุ่นนั่นเอง
แต่ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก กว่าคนจะเข้ามาเรียนรู้สาขาวิชาแขนงนี้ก็ปาเข้าสู่วัยมัธยมปลายหรือช้ากว่านั้นด้วยซ้ำ และโลกที่หมุนเร็วแบบยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนรู้ด้วยระยะเวลานานขนาดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายถึงคุณภาพของชุดสูทนีอาโปลีตานที่ลดลง เพราะยังคงมีหัวหน้าช่างควบคุมคุณภาพอยู่เสมอ หนำซ้ำยังอาจจะได้ไอเดียใหม่ๆ จากคนที่ไม่ได้อยู่ในกรอบเดิมๆ นานเป็นสิบปีแบบเมื่อก่อน
สูทสไตล์นีอาโปลีตานจึงไม่ใช่แค่ “สูททั่วๆ ไป” แบบที่ใครหลายคนมองผ่านและรีบตัดสิน แต่มันคือวิถีชีวิตของชาวอิตาเลียนที่ส่งผ่านออกมาเป็นผลงานศิลปะเครื่องแต่งกายชั้นยอดให้เราได้สวมใส่กันจนถึงทุกวันนี้
Contributor : The Decorum Bangkok
RECOMMENDED CONTENT
ทุกวันนี้ศิลปะในการผลิตมิวสิควิดีโอนั้นถือว่าก้าวหน้าไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องเทคนิคและวิธีการเล่า ที่ศิลปินไม่น้อยให้ความสำคัญกับมันไม่แพ้ตัวเพลงที่พวกเขาทำ