“I wouldn’t wear a tie-dyed T-shirt unless it was dyed with the urine of Phil Collins and the blood of Jerry Garcia.” Kurt Cobain
ถึง Kurt Cobain ฟร้อนต์แมนวง Nirvana จะเคยกล่าวไว้ในปี 1992 ว่า Tie dye คือสัญลักษณ์ความล้มเหลวของฮิปปี้และเขาปฏิเสธที่จะใส่มันก็ตาม แต่ถ้าพี่เคิร์ทได้เห็น แกคงงงเหมือนกันว่าทำไมเสื้อมัดย้อมก็ยังคงมีวางขายอยู่ ตั้งแต่ตลาดนัดข้างออฟฟิศยัน H&M, Zara, Mango ยันแบรนด์หรู Prada และอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แล้วอะไรกันล่ะที่ทำให้มันกลับมาเเรง (สัญชาติญาณบอก) ในซีซั่นนี้อีกระลอก
จริงๆ ศิลปะการมัดย้อมผ้าแบบ Tie dye มีมานานแล้วในหลายภูมิภาคของโลก ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกา ในอินเดียที่มีผ้า Bandhani หรือของญี่ปุ่นเรียกว่าชิโบริ (Shibori) ที่ว่ากันว่าเก่าแก่เป็นพันๆ ปีโน่น
แต่มันเพิ่งเข้ามาในอเมริกาเมื่อปี 1960s นี่เอง ซึ่งจะเรียกว่าชาวฮิปปี้เป็นพวกเเรกที่รับเอาวัฒนธรรมนี้มาเลยก็ได้ เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะเสื้อผ้า Tie dye คืองานศิลปะจากวัสดุธรรมชาติที่ทำแบบแฮนด์คราฟต์โดยอาศัยฝีมือและประสบการณ์ของมนุษย์ล้วนๆ ด้วยกรรมวิธีการมัดย้อมที่จะได้ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนกันเลยของมัน เเสดงถึงความเป็นปัจเจกของผู้สวมใส่ เหมือน Expresstion Art เฉพาะตัวที่แต่ละคนจะถ่ายถอดออกมา มันเลยไปกันได้พอดิบพอดีกับวัฒนธรรมปรปักษ์ของเหล่าฮิปปี้ที่เชื่อในความเสรี ความขบถต่อต้านกระแสหลัก การแสวงหาตัวตนในโลกทุนนิยม และการแสดงจุดยืนทางการเมือง-สังคม ผ้ามัดย้อมจึงไม่ได้เป็นแค่เเฟชั่นสุดชิคในยุคนั้น แต่มันยังเป็น Social Revolution ไปในตัวด้วย
Janis Joplin ใส่มัดย้อมทั้งชุดที่ Woodstock ปี 1969
และที่ทำให้ Tie dye เป็นที่รู้จักในชุมชนมากขึ้นไปอีก ก็คือบริษัทสีย้อมผ้าชื่อ Rit Dye ซึ่งกำลังเจอปัญหาขาดทุนอย่างหนักในช่วงปี 60s คุณเซลส์แมนยุคนั้นเลยเกิดสมองใสปิ๊งทำการตลาดด้วยการเดินทางไปพรีเซ้นต์งานขายให้กับ Greenwich Village แมนฮัตตัน, นิวยอร์ก ย่านรวมตัวชาวบีทเจเนอเรชั่น ดนตรีโฟล์กซอง ศิลปิน กวี เขาผู้ทำการตลาดด้วยการปรับเปลี่ยนนิดหน่อย จากแบบผงย้อมมาเป็นแบบน้ำ ใครๆ ก็ย้อมเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน
เท่านั้นยังไม่คูล เขาบอกบริษัทให้จ่ายตังค์ชวนศิลปินนักร้องนักดนตรีมาคอลลาบอเรชั่นทำเสื้อมัดย้อมขายในเทศกาลดนตรี Woodstock กัน ประหนึ่งงาน Cat T-shirt จนปรากฏว่าขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นอกจากผู้คนจะกลับมาสนใจสีย้อมผ้ายี่ห้อ Rit Dye จนกู้สถานการณ์ไม่ให้บริษัทล้มละลายได้แล้ว เสื้อมัดย้อมกลายเป็นไอเท็มมหาชนไปโดยปริยาย
กระเเสเสื้อมัดย้อมส่งต่อไปถึงบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ในทุกวงการ เรามี Kendall หรือ Bella ฉันใด ตอนนั้นก็มีนางแบบ Marisa Berenson ฉันนั้น เธอใส่ชุดมัดย้อมถ่ายนิตยสาร Vogue ปี 1970s แล้วจากนั้นนักแสดง-นางแบบ Ali McGraw ก็ใส่เดินสวยๆ ย่านฟิฟธ์ อเวนิว จากนั้นอีกรอบ วัยรุ่นทั่วอเมริกันก็พาใส่เสื้อมัดย้อมไปในทุกๆ ที่กันอย่างพร้อมเพรียง
Ali McGraw
มาถึง Tie dye ที่กลับมาผงาดอีกครั้งทุกรันเวย์ปีนี้ ในแง่บริบทเชิงสังคมของมัน บางคนบอกว่า Tie dye อาจยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการยืนตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เป็นการประกาศความแตกต่างหลากหลาย เสรีภาพ และการมีความหวังอยู่เสมอ แต่ท่ามกลางมัดย้อมที่ขายกันคึกๆ อยู่เต็มไปหมดแบบนี้ ก็อาจมองได้อีกนั่นแหละว่า หรือจริงๆ แล้วมันเป็นแค่สินค้าแฟชั่นอย่างหนึ่งที่ปั๊มจากโรงงาน ผ่านมาแล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป ไม่ได้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์อะไรอยู่ภายในอย่างเช่นอดีต
Proenza Schouler Spring 19
บริบทที่เปลี่ยนไปของ Tie dye อย่างชัดเจนอีกแง่หนึ่งเลยคงเป็นเพราะการที่เรากลับมาตระหนักถึงแฟชั่นภายใต้จิตสำนึก (Ethical Fashion) กันเช่นทุกวันนี้ หลายแฟชั่นเฮาส์หยิบเอาเทคนิค Tie dye มาเล่น ซึ่งนอกจากจะทำให้มันดูร่วมสมัย ใส่ง่าย ใส่แล้วไม่เขิน แบรนด์อย่าง Proenza Schouler หรือ Stella McCartney ยังไม่ลืมแก่น นั่นคือการที่มันเป็น Slow และ Eco Fashion ในตัวเอง โดยกลับมาโฟกัสที่การผลิตจากวัสดุธรรรมชาติ ไม่เป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงคนใส่ ก็แปลว่า Tie dye ยังทำหน้าที่ต่อต้านกระแสหลักอันรวดเร็วฉาบฉวย ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมตามกันอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
ถ้าหากการทำเสื้อผ้า Tie dye ในยุคนี้เคารพจิตวิญญาณดั้งเดิมจริงๆ และสามารถนำความหมายเดิมที่ถูกลืมไปแล้วกลับมาได้ ก็อาจเป็นเหตุผลดีๆ ที่ทำให้ Tie dye เป็นไอเท็มไม่มีวันตายจนถึงตอนนี้
Stella McCartney Spring 19
RECOMMENDED CONTENT
แคมเปญล่าสุดของไนกี้ "Play New" เชิญทุกท่านมาค้นพบกับกีฬาในมิติใหม่ พร้อมเปิดตัวด้วยภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยนักกีฬาชื่อดัง ได้แก่ ซาบริน่า อิโอเนสคู (Sabrina Ionescu), ไดน่า แอชเชอร์-สมิธ (Dina Asher-Smith) และ เบลก ลีเพอร์ (Blake Leeper) รวมถึงศิลปินระดับโลกอย่าง โรซาเลีย (Rosalía) สิ่งที่ทั้ง 4 คนนี้มีเหมือนกันก็คือความชื่นชอบในการเคลื่อนไหว การเล่น และการแข่งขัน