ช่วงที่กระแสแฟชั่นวินเทจ comeback เมื่อหลายปีก่อน ทำให้รองเท้ารุ่นเก๋าอย่างรองเท้า oxford กลับมาผงาดง้ำค้ำโลกาได้อีกครั้ง ในฐานะรองเท้าที่ผู้ชายทุกคนต้องมีอย่างน้อยๆ 1-2 คู่ (หรือมากกว่านั้น) ติดตู้รองเท้าไว้ เพราะคาแร็กเตอร์ที่เรียบเท่ จึงสามารถปรับเปลี่ยนโอกาสในการสวมได้ได้ดั่งใจ ตั้งแต่ออฟฟิสจนถึงปาร์ตี้เฟี้ยวฟ้าว ซึ่งถือเป็นความพิเศษของรองเท้า oxford ที่ต้องยอมยกให้ตลอดมา
THE DRESS SHOE
ถ้าผู้หญิงมีส้นสูงเป็นอาวุธ ผู้ชายก็คงมีรองเท้า oxford เป็นมือขวา เพราะรองเท้า oxford จัดอยู่ในหมวด dress shoe หรือรองเท้าออกงาน ที่จะช่วยให้การแต่งตัวสุภาพและดูดีขึ้นกว่าเดิม โดยองค์ประกอบของรองเท้าออกงาน จะมีอยู่ 4 ส่วนที่เป็นตัวฟันธงลักษณะของรองเท้าแต่ละแบบ นั่นก็คือ toe (ส่วนหัว), vamp (หนังส่วนกลาง), facing (ส่วนบน รวมลิ้นและเชือก) และ quarter (ชิ้นหนังส่วนบน)
WHY OXFORD?
รองเท้าชื่อหล่อๆอย่าง oxford มีที่มาที่ไปจากมหาวิทยาลัย Oxford ในอังกฤษนั่นแหละ โดยในช่วงปี 1800 ชาว Oxanian (หรือชาวมหาวิทยาลัย Oxford) จะนิยมสวมรองเท้าทรงนี้ แต่จะสั่งตัดให้เล็กกว่าขนาดเท้าจริง เพื่อให้ดูเยื้องย่างอย่างสุขุมเวลาสวมใส่ ส่วนตัวเชือกรองเท้า แต่เดิมจะอยู่ด้านข้าง ก่อนจะย้ายฐานมาอยู่ด้านหน้าเหมือนปัจจุบัน ส่วนแถบหนังตรงหัวรองเท้า จะลูกเล่นหลายแบบด้วยกัน ถ้าฉลุเส้นสองเส้นจะเรียก quarter-brogue หรือฉลุเส้นสองเส้นบวกลวดลายตรงหัวรองเท้า จะเรียก semi-brogue แต่ถ้าฉลุเป็น wingtip (ปลายปีกนก) แบบเต็มรูปแบบ ก็จะกลายเป็น full-brogue ไปในทันที ตรงกันข้ามกับทุกวันนี้ที่รองเท้า oxford ไม่จำเป็นต้องมีรอยฉลุส่วนหัวรองเท้าก็ได้ เพราะบางคู่มาแบบเรียบๆ ใช้หนังชิ้นเดียวตัดเย็บ ไม่มีลวดลายอะไร และอีกจำนวนมากที่ไม่มีส่วนหัวรองเท้า เพื่อลุคทันสมัย เหมาะกับหนุ่มสมัยใหม่ที่ชอบความมินิมัลแบบกำลังดี
TAKE A CLOSER LOOK
สิ่งที่ต้องสังเกตให้ดีในรองเท้า oxford ก็คือส่วนเชือกของรองเท้าที่จะต้องเป็นแบบ closed lacing หรือการร้อยเชือกแบบปิด สังเกตได้จากส่วนลิ้นของรองเท้าที่จะไม่เผยหน้าตาออกมาให้เห็น ในขณะที่รองเท้าทรง derbys ซึ่งมีลักษณะเกือบเหมือนรองเท้า oxford จะร้อยเชือกรองเท้าในแบบเปิด (open lacing) คือส่วนรูร้อยเชือกสองฝั่งจะแยกออกจากกันชัดเจนตั้งแต่ต้นจรดปลาย ทำให้หลายคนคิดไปว่า derbys อาจจะเป็น oxford แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะมีความต่างอยู่ตรงดีเทลส่วนนี้นี่เอง
TYPES OF OXFORD
สไตล์ของรองเท้า oxford มาในหลายรูปแบบ และ oxford ไม่จำเป็นต้องเป็น brogue เสมอไป เพราะตัวรองเท้า oxford มีใจความสำคัญอยู่ที่ตัวเชือกรองเท้ามากกว่ารอยฉลุ ทำให้สไตล์ของรองเท้าทรงนี้แตกต่าง และจับความเท่เอาไว้ได้อยู่หมัดตลอดมา
ONE-PIECE ความน่าสนใจของ oxford ทรงนี้ก็คือ การใช้หนังชิ้นเดียวตัดเย็บรองเท้า แทนที่จะนำหลายๆชิ้นมาเย็บติดกัน โดยจะมีรอยเย็บแค่ส่วนหลังของรองเท้าเท่านั้น ซึ่งอาจจะเรียกวิธีการนี้ว่า wholecut ก็ได้ แต่ถ้าเป็น seamless จะไม่มีรอยเย็บปรากฎอยู่เลย จึงต้องใช้การตัดเย็บ one by one เพราะต้องพิถีพิถันกว่าจะทำเสร็จออกมาแต่ละคู่ เหมาะกับหนุ่มนักสะสมรองเท้า oxford ที่ชอบความเรียบง่ายในแบบตัวเอง
PLAIN OXFORD ตามชื่อก็คือรองเท้า oxford เพลนๆ ไม่มีลูกเล่นเยอะ มีส่วนหัวรองเท้าที่อาจจะฉลุนิดหน่อย เพื่อความคลาสสิก โดยหนังที่ใช้อาจมีทั้งหนังมัน หรือหนังมันวาววับเหมือนกระจก รองเท้าทรงเรียบๆนี้มักจะเป็นตัวเลือกของหนุ่มวัยทำงานที่ต้องการสวมรองเท้าสุภาพ แต่ก็ไม่น่าเบื่อธรรมดา เพราะ plain oxford สีน้ำตาลแดง หรือกรมท่า จะแอบมีความเปรี้ยว และเข้ากันได้ดีกับเสื้อผ้าที่ต้องการไอเท็มสนุกๆมาเติมเต็ม
CAP TOE พูดง่ายๆก็คือส่วนหัวรองเท้านั่นแหละ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับใส่ลายฉลุตามแบบรองเท้า oxford แต่ปัจจุบันก็มีการตัดเย็บส่วนนี้ในสีสันที่แตกต่างจากตัวรองเท้า อย่างสีดำตัดกับหนังรองเท้าสีขาว เพื่อให้รองเท้าดูฮิปขึ้น ไม่เก๋าจนเกินไป
SADDLE สำหรับรองเท้า oxford แบบ saddle จะต่างจากทรงทั่วไปตรงที่มีแถบวัสดุตรงส่วน vamp แทนที่จะใช้หนังแบบเดียวกับส่วนอื่นของรองเท้า ความกว้างเท่ากับส่วนร้อยเชือกอีกฝั่งไปอีกฝั่ง ซึ่งทรงนี้เห็นได้มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะมีทั้งแถบหนังกลับ แคนวาส หรือพลาสติก มาแทนที่ ทำให้รองเท้ามีความก๋ากั่นต่างจากออริจินัลพอสมควร โดยสีตรงส่วนแถบก็มักจะแตกต่างออกไปด้วย จึงเหมาะกับการสวมแบบลำลองมากกว่าชุดทางการ
HOW TO WEAR THEM
คีย์หลักของการสวมใส่ oxford คือการเลือกหนังและสี รวมถึงรายละเอียดบนรองเท้าให้เหมาะกับโอกาส เช่นเดียวกับคาแร็กเตอร์ของเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เพราะ oxford แต่ละคู่มีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป อย่าง oxford ที่มี wingtip หรือ brogue หนักๆ จะถูกมองว่าสุภาพมากกว่าแบบ cap toe แต่ในเมืองไทย อาจจะถูกมองด้วยหางตาได้ ถ้าใส่ไปประชุมงาน ส่วน oxford แบบ whole cut ก็มีความหล่อเนี้ยบนุ่มลึกกว่า oxford ธรรมดาทั่วไป หากเลือกแบบหนังมันวาวสีดำขลับ จะเหมาะกับสวมคู่กับ tux หรือสูททักซิโด้ แต่ถ้าเลือกหนังด้าน สีขาว ก็สามารถสวมไปเที่ยววันหยุดได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎการสวม oxford จึงไม่มีแบบตายตัว แต่อยู่ที่บุคลิกและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนมากกว่า ว่าจะพา oxford แต่ละคู่ไปลุยในแบบไหน โอกาสไหน ในชุดอะไร ถึงจะดูดี
TIPS : ENJOY MATCHING! อย่ากลัวที่จะแมทช์รองเท้าอย่างอิสระ กับเสื้อผ้าที่ดูไม่น่าจะเข้ากัน เพราะในอดีต oxford ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สวมใส่เที่ยวเล่นกันเหมือนอย่างในทุกวันนี้ ที่สำคัญ ลองเลือกสีถุงเท้าให้หลากหลาย เพราะ oxford แต่ละสีก็ช่วยส่งเสริมถุงเท้าเท่ๆให้ดูดีได้ ไหนๆจะเล่นดีเทลแล้ว ก็ลงให้ลึกซะ เพราะ oxford ทำอะไรได้มากกว่าที่คิดเยอะเลย
Writer: Natty Pongpiboonkiat
RECOMMENDED CONTENT
Quattro Design เปิดเทรนด์ปี 2021 การออกแบบเพื่อความสุข และสร้างพลังในการใช้ชีวิต รับสไตล์คนในโลกยุคปัจจุบันต้องอยู่อาศัยบ้านมากขึ้น พร้อมสื่อสารผ่าน VDO กับโปรเจ็ค THE DIPLOMAT 39 คอนโดมิเนียมสุดหรู ตอกย้ำผู้ให้บริการ Interior Design แบบ One-Stop Service