fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

Visit: “Art Jeeno” นักวาดภาพประกอบที่มีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ มาทำความรู้จักกับเขาในเรื่องราวบางมุมที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน!
date : 30.ตุลาคม.2014 tag :

หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน คำว่า Illustrator หรือนักวาดภาพประกอบ อาจจะเป็นคำที่ฟังดูแล้ว ก็พอรู้ล่ะว่าเป็นคนทำอาชีพอะไร แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าใกล้ชิดหรือถูกเป็นที่พูดถึงเท่ากับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อมีนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ในเมืองไทยเกิดขึ้นกันมากมาย และผลงานที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวไม่ซ้ำกันของพวกเขาก็มีให้เห็นตามที่ต่างๆทั่วกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณา ป้ายบิลบอร์ดต่างๆ รายการทีวี ภาพยนตร์ หรือแม้แต่บนรถไฟฟ้า และที่แน่นอนที่สุดคือใน “หนังสือ” วันนี้เราจะมาพูดคุยกับนักวาดภาพประกอบที่ผลงานรวมเล่มในหนังสือของเขากำลังได้รับความนิยมอย่างมาก กับลายเส้นที่สะอาดตาดูน้อยแต่พอดี ยิ่งมองแล้วก็รู้สึกว่าเต็มไปด้วยอารมณ์และการใช้สีที่น่าสนใจ เขาคือ “Art Jeeno” (ปิยพัชร์ จีโน) เห็นผลงานกันมานานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยสักที วันนี้คอลัมน์ Dooddot Visit จะขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเขากันให้มากขึ้น เรานัดเจอกันที่คาเฟ่นั่งสบายๆในซอยเอกมัย ชื่อว่า “One Ounce for Onion” บรรยากาศในวันครึ้มฟ้าครึ้มฝน เมื่อได้ชาเขียวร้อนแก้วอุ่น ของอร่อยของร้านนี้มาตั้งอยู่บนโต๊ะแล้ว เราก็เริ่มบทสนทนากันเลยดีกว่า…

เริ่มทำงานกับ Salmon Books ได้ยังไง?

ตอนแรกเรามี Blog ที่เราเขียนเล่นๆ ในเวป Exteen เป็นการ์ตูนสั้นๆวาดเร็วๆเขียนแซวเพื่อน พอสักพักเริ่มมีคนรู้จัก ทาง Salmon ก็ติดต่อมา อยากให้มาทำหนังสือกับเค้า แต่ก็คือเค้าอยากเอาจากที่เขียนในบล็อกมาเลยนะ คือเค้าอยากให้การ์ตูนในบล็อคออกมาเป็นเล่มหนังสือ เล่มแรกก็ดึงเอาจากในนั้นมาทำเป็นหนังสือเลย ชื่อ “กลับหลังหัน” การทำงานตอนแรกๆก็คือเราก็ลงมาจากเชียงใหม่เพื่อมาคุยกัน พอคุยเสร็จแล้ว ก็ต้องขึ้นกลับไปวาดที่เชียงใหม่ต่อ (หัวเราะ)​ เสร็จแล้วก็กลับมาส่งงานให้เค้า ตอนนั้นจำได้ว่าจะไปมาสักทีนึงก็ต้องทำเตรียมมาทั้งหมดเลยทีเดียว ต้องมาสแกนที่นี่เพราะว่าเครื่องสแกนของ Salmon ดีกว่าของเรา เมื่อก่อนตอนเริ่มเราวาดด้วย A4 แต่พอมาทำกับที่นี่เราต้องเปลี่ยนไปวาดด้วย A3 ต่อหนึ่งหน้า พอใหญ่ขึ้นแล้วสเกลการวาดของเรามันก็ต้องใหญ่และเยอะมากขึ้นด้วย แต่มันทำให้งานเราละเอียดมากขึ้นเหมือนกัน ซึ่งเราว่าการ์ตูนญี่ปุ่นเค้าก็น่าจะวาดกันด้วยวิธีนี้นะ

ส่วนใหญ่การ์ตูนของเราเอาเรื่องที่เขียนมาจากไหน?

ก็มีทั้งการ์ตูนที่เป็นนิยายครับจะเป็นเรื่องแต่ง แล้วก็มีหลักๆการ์ตูนของเราจะเป็นการ์ตูนที่เกี่ยวกับตัวเอง ก็คือจะเป็นเรื่องที่เกิดจากตัวเอง พยายามหยิบเอาจากเรื่องใกล้ตัวที่สุดมาใช้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เราเข้าใจและมันดูมีเหตุมีผลในการเล่า เล่าแล้วมันมีอารมณ์ร่วมไปกับมัน ถ้าเป็นเรื่องของคนอื่นหรือเรื่องแต่งเราทำได้นะ แต่ก็อาจจะไม่ดีเท่า …อันนี้คงแล้วแต่คนด้วยล่ะมั้ง

แล้วการคิดตัวละครของเราจำกัดไหมว่าต้องแยกกันเป็นเรื่องๆ?

เรื่องตัวละครนี่ เราค่อนข้างฟรีมากเลย อย่างก่อนหน้านี้มันมีเรื่อง “D DAY” แล้วเรื่องล่าสุดที่เราแต่งคือ “Juice” เราดึงเอาตัวละครจาก D DAY มาใส่รวมไว้ด้วย เราว่ามันเหมือนแบบพวกค่าย Marvel หรือ DC ที่แต่ละค่ายเค้าจะเป็นจักรวาลของตัวเอง สามารถดึงมาใช้ข้ามเรื่องกัน การ์ตูนของเราก็จะมีดึงมาแจมกันนิดหน่อย ซึ่งจริงๆแล้วก็คือเรื่องใครเรื่องมันนั่นแหละ แต่แค่อยากให้มันมาอยู่ในโลกเดียวกันได้ด้วย

เสียงตอบรับที่ดีจากคนอ่านมีผลกับงานของเราไหม?

มีมากเลยครับ บางทีมันเหมือนกับพอเรารู้แล้วว่าเค้าต้องการอะไรจากเรา มันก็ดีที่ทำให้เรารู้ทิศทางในการทำงานมากขึ้นว่าจะเดินไปทางไหนต่ออะไรอย่างนี้ แต่ก็ไม่ได้ดีเสมอไปเพราะว่าบางอย่างที่ชอบ มันก็จะเริ่มเหมือนเป็นอะไรที่ Mass เป็นอะไรที่ Pop มากขึ้น สุดท้ายมันยังมีบางทีที่เราก็อยากเขียนอะไรตามใจตัวเองด้วยเหมือนกัน วิธีของเราก็คือจะเขียนทั้ง 2 แบบเลย จะมีแบบเขียนเพื่อขายกับเขียนเพื่ออยากเขียน โชคดีที่สำนักพิมพ์เค้าก็เข้าใจ เค้าก็ให้ทำทั้ง 2 อย่างออกมาเลยนะ สลับกันไปสลับกันมา อันนี้ก็คือสำนักพิมพ์ Salmon Books เค้าเปิดโอกาสให้เราดี

ทำไมถึงชอบเขียนการ์ตูน?

มาจากการที่เราชอบอ่านการ์ตูนครับ ตอนนั้นอ่านการ์ตูนแล้วก็รู้สึกอยากมีการ์ตูนเป็นของตัวเอง คือเราอยากเขียนการ์ตูนแบบที่เราอยากอ่าน แต่มันไม่มีให้อ่าน ก็เลยมีความรู้สึกว่าอยากเขียนการ์ตูนตัวเองขึ้นมา

ฝึกวาดการ์ตูนแบบนี้จากไหน?

ได้จากการอ่านการ์ตูนเลยครับ อย่างตอนแรกพอรู้ว่าอยากเขียนการ์ตูน เราก็ไปไล่ซื้อการ์ตูนมาอ่าน ซื้อมาสะสมไปเรื่อยๆ ช่วงนั้นสะสมอยู่ปีนึง สองปี สามปี ก็อ่านไปเรื่อยๆเลยครับ มันจะมาได้ผลที่สุดคือตอนเราวาด พอวาดไปด้วยอ่านไปด้วย มันเหมือนทำให้เรามองเปรียบเทียบงานตัวเองกับงานคนอื่น

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมงานของ Art Jeeno ถึงมีกลิ่นอายงานญี่ปุ่น?

เราว่ามันมาจากการที่เราเริ่มวาดการ์ตูนญี่ปุ่นตอนแรก เพราะเราก็เริ่มฝึกด้วยการลอกมาจากมังงะ (Manga) อีกทีหนึ่ง นั่นก็ญี่ปุ่นแท้ๆเลย ซึ่งช่วงแรกเรามีปัญหาคือเราวาดตัวผู้หญิงไม่ได้ดั่งใจสักที ก็พยายามฝึกวาดตัวละผู้หญิงอยู่เรื่อยๆเรื่อยๆ จนพอรู้สึกว่าวาดได้ ถึงค่อยเริ่มปรับให้มันเป็นตัวละครผู้หญิงในแบบของเรามากที่สุด เริ่มตัดทอนไปมา เส้นมันก็เริ่มน้อยลง น้อยลง พอมันน้อยแล้ว มันก็คงเลยทำให้ดูเหมือนญี่ปุ่นล่ะ เพราะคนญี่ปุ่นเค้าชอบวาดอะไรน้อยๆกัน

มีการ์ตูนเรื่องไหนเป็นแรงบันดาลใจ?

จริงๆมันก็มีเยอะนะครับครับ แต่ว่า ถ้าเอาให้เริ่มคิดอยากวาดการ์ตูนจริงๆก็คงเป็น Slam Dunk ครับ เป็นช่วง ม. ต้น เลย คือ Slam Dunk นี่ ส่วนตัวเราชอบลายเส้นอยู่แล้วนะ แต่สิ่งที่ทำให้อยากเขียนการ์ตูนจากเรื่องนี้จริงๆก็คือ เนื้อเรื่องของเค้า โดยเฉพาะการเขียนตอนจบ มันรู้สึกว่าคนเขียนเค้าสามารถทำให้เราอินไปด้วยได้มาก แล้วมันก็ทำให้เราอยากทำแบบนั้นบ้างเช่นกัน

แล้วถ้าเป็นฝั่งศิลปินหรือจิตรกรมีงานของใครที่ชื่นชอบเป็นพิเศษไหม?

มีครับ เอาที่ตั้งแต่ตอนแรกและยังเป็นคนที่ชอบจนถึงทุกวันนี้เลย เป็นจิตรกรชื่อ “Eegon Schiele (1890-1918)” เป็นศิลปินชาวออสเตรียยุค 1900’s ต้นๆ งานของคนนี้เรารู้สึกว่าลายเส้นมัน… อืม อธิบายยากครับ ต้องเปิดให้ดูเลยดีกว่า (เปิดในโทรศัพท์ให้ดู) จะเป็นประมาณนี้ครับเป็นภาพวาดสีน้ำมัน เค้าจะเป็นศิษย์ของ “Gustav Klimt (1862-1918)” อีกทีนึง ซึ่ง Gustav นี่ดังมาก เป็นชาวออสเตรียเหมือนกัน มันเหมือนกับ Eegon เค้าได้รับอิทธิพลจาก Gustav มา แล้วเค้ามาเปลี่ยนให้เป็นสไตล์ของเค้าได้ หลักๆก็จะมีสองคนนี้ล่ะครับ เราชอบความเล็กๆน้อยๆของเค้า ที่มันมารวมกันแล้วมันทำให้ภาพ “อยู่” ได้เลย ก็ยังคงดูงานของเค้าอยู่เรื่อยๆครับ

null

null

null

(ซ้าย) “The Kiss (Lovers)”, 1908–1909 โดย Gustav Klimt / (ขวา) “Seated Woman with Bent Knee”, 1917 โดย Egon Schiele

ส่วนตัวแล้วทำงาน Painting อยู่ด้วยเหมือนกัน?

จริงๆตั้งแต่เรียนศิลปะจบ พอเริ่มวาดการ์ตูนตอนนั้นก็พักไปเลยครับ ไม่ได้ทำเลย แต่ก็เพิ่งกลับมาทำเองครับ เพิ่งกลับมาได้สดๆร้อนๆเลย  ตอนแรกที่มาอยู่กรุงเทพมันมีปัญหาเรื่องขนาดห้อง ก่อนหน้านี้ผมเช่าหออยู่เล็กๆกับเพื่อน 2 คน แล้วทำงาน Paint มันต้องใช้พื้นที่หรือกลิ่นสีก็อาจจะเหม็นเกินไป มันก็เลยทำไม่ได้ แต่ตอนนี้มาเช่าเป็นสตูดิโออยู่คนเดียวมันก็ทำได้แล้วครับ ตอนนี้ก็ได้เริ่มบ้างแล้ว Paint เสร็จไปเฟรมนึง มีสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกเลยคือพอเราทำวาดภาพประกอบ วาดการ์ตูนมาสักพัก แล้วกลับมาทำงาน Paint มันเห็นได้ชัดว่างานเปลี่ยนไปเลย จริงๆมันก็ยังไม่รู้อะไรมากหรอกครับ ก็เหมือนเพิ่งกลับมาเริ่มล่ะ แต่เราสัมผัสได้ว่า ถ้าเราวาดต่อไปเรื่อยๆมันจะต้องมีอะไรโผล่ขึ้นมาแน่ๆ

แสดงว่าสองอย่างนี้สามารถเชื่อมโยงกันได้? 

ตอนนี้ที่เริ่มกลับมาเขียน Painting เพราะอย่างนี้ล่ะครับ คือเราอยากไปสายนั้นบ้างแล้ว เราอยากกลับไป จากตอนนั้นสมัยเรียนเรารู้ว่างานเราไม่ได้ขนาดนี้ มันเหมือนตอนนั้นลายเส้นเรายังไม่ชัด พอเรามาเขียนการ์ตูนมันช่วยทำให้ลายเส้นเราชัดขึ้น มันสามารถนำไปใช้กับ Painting ของเราได้เหมือนกัน เหมือนทำให้เราค้นพบตัวเองมากขึ้นว่าเราควรกลับมาทางนี้ได้แล้ว การเขียนการ์ตูนเรารู้สึกว่ามันทำให้เรามีเอกลักษณ์ จากเมื่อก่อนเราวาดภาพเหมือนอะไรอย่างนี้เราก็วาดไม่ได้โดดเด่นกว่าคนอื่น ก็เรื่อยๆทั่วไป แต่พอตอนนี้มันเหมือนเจอจุดเด่นแล้วจากการที่เราฝึกวาดภาพประกอบที่ผ่านๆมา

ความแตกต่างระหว่างการทำงานวาดภาพประกอบกับงาน Painting?

เราว่าสองอย่างนี้ มันคนละแบบตั้งแต่วิธีคิดอยู่แล้ว อย่างภาพประกอบคือ มันจะเป็นวาดให้ตามโจทย์ วาดจากเรื่องราว มันเหมือนเป็นการทำภาพเล่าเรื่องที่มีเรื่องมาอยู่แล้วให้มันสวยงาม ดูแล้วสื่อสาร นั่นก็คือภาพประกอบ ส่วน Painting มันเปิดกว้างมาก มันสามารถทำอะไรก็ได้ มันสามารถที่จะวาดออกมาแล้วไม่จบในตัวเอง มันสามารถมีการตีความเข้ามาเกี่ยวข้อง รูปรูปหนึ่งสามารถตีความออกมาได้มากมาย โดยที่มันขึ้นอยู่กับคนมาดูด้วย คือคุณจะทำอะไรก็ได้ครับ มันไม่มีผิดถูก หรืออย่างขั้นตอนการทำ เวลาทำ Painting บางทีก็อาจจะมีการสเก็ตช์มาก่อน เพื่อกำหนดทิศทาง แต่ส่วนตัวเราชอบใส่ลงไปก่อนเลย เวลาสเก็ตช์มาก่อน มันเหมือนตัวเราไปลอกจากตัวเองมาอีกที มันเหมือนการต้องทำซ้ำ เราไม่ถนัดทำแบบนั้น ซึ่งในทางกลับกันไอ้การวาดการ์ตูนเนี่ยมันต้องทำซ้ำกันมาก (หัวเราะ) เช่น ขั้นตอนที่หนึ่งวาดสตอรี่บอร์ด แล้วมาวาดรูปเดิมอีกแล้ว อันนี้คือความน่าเบื่อของการวาดการ์ตูน นี่ล่ะ มันต่างกันตรงขั้นตอนเหล่านี้ Painting มันไม่มีขอบเขตเลยอะ เราวาดยังไงก็ได้ บางทีวาดไม่ต้องเนี๊ยบ ทำเฟรมทะลุทำอะไรก็ได้ คือมันไปได้หมดเลย

null

มีโอกาสที่จะได้เห็น Exhibition ไหมในอนาคต?

มีครับๆ คือต้องมี Exhibition ของตัวเองในแบบ Painting ให้ได้ เราคิดไว้เลยว่าต้องมีให้ได้ ตอนนี้เรามี Curator อยู่ เป็นเพื่อนรุ่นน้องกัน เวลาทำงานก็ให้เค้าดูให้ตลอด เราดึงเค้ามาช่วย เพราะจริงๆเราก็ดูออกนะว่าเค้าคงมาทำสายนี้ได้อยู่แล้ว มันหายากนะ คนที่เรียนจบมาแล้วมีแววเป็น Curator ทั้งนี้ทั้งนั้นที่สำคัญคือมันควรจะเป็นคนที่คุยกันรู้เรื่อง ปกติเราทำงานกับเค้าโดยส่งรูปไปให้เค้าดู ให้เค้าวิจารณ์ บางทีมันก็เหมือนเค้าเป็น บก. เราอีกทีนึง (หัวเราะ) เค้าก็จะคอยบอกว่าให้เราลองเขียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไปเขียนเพิ่มเพราะว่ามันยังไม่ชัด ซึ่งเค้าไม่ได้มากำหนดเลยนะว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ๆ แค่เหมือนเค้าจะช่วยดูให้มากกว่าว่าโอเคมั้ย ซึ่งจริงๆหน้าที่ Curator มันมีหลายอย่าง ก็คือทั้งการดึงศิลปินไปแสดงงาน จัดการทุกอย่าง รวมถึงพูดแทนเรา ซึ่งในใจเราคิดไว้เหมือนกันนะ ว่าเราอยากทุ่มให้กับตรงนี้เต็มๆไปเลย

คิดว่าศิลปินไทยกับคำว่าระดับโลกอยู่ไกลกันไหม?

จริงๆก็มีศิลปินคนไทยอยู่ในระดับโลกไม่น้อยเลยนะครับ เพียงแต่คนในบ้านเราอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องนี้เท่าไร ต้องไปโด่งดังก่อนแล้วถึงจะมาเริ่มให้ความสนใจกัน จริงๆเราคิดว่าในระดับโลก “ศิลปะ” มันเป็นสิ่งที่มีช่องทางให้ไปได้ไกลได้เยอะมากๆ คือมันไม่มีขอบเขตเลย

สิ่งสำคัญสำหรับนักเขียนการ์ตูนหรือคนทำงานศิลปะ?

สิ่งสำคัญคือต้องเขียนครับ ต้องทำตลอด ทุกอย่างมันต้องลงมือทำตลอด สิ่งสำคัญไม่ใช่การมาบอกกันว่าผมอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนหรือผมเป็นศิลปิน ถ้าบอกอย่างเดียวแต่ไม่เริ่มทำ สุดท้ายมันก็เหมือนบอกกันเฉยๆ บอกแล้วไง เทียบกับคนที่ไม่ต้องบอกอะไร แต่อยู่ดีๆเค้ามีผลงานโผล่ออกมา มันต่างกันเยอะเลย การทำอยู่ตลอดเวลาเรื่องสำคัญมากเพราะว่าการทำเป็นการฝึกที่ดีที่สุดแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือต้องทำและไม่ลืมที่จะดูคนอื่นเปรียบเทียบ มันคือวิเคราะห์งานตัวเอง สมมุติถึงแม้ต่อให้ทำตลอด ไม่มีหยุด แต่เราเขียนเหมือนเดิมอยู่ทุกครั้ง ผ่านไป 3-4 ปี มันก็เท่าเดิม มันก็วนเวียนเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นกลับมาที่สิ่งสำคัญมันคือเราต้องทำก่อนครับ พอทำแล้ว มีคนเค้าเห็น เมื่อถึงเวลา เราเชื่อว่าเรื่องจังหวะกับโอกาสมันก็มาของมันเอง

null

ทุกวันนี้มีวิธีหาแรงบันดาลใจจากอะไร?

ถ้าเป็นศิลปินคนที่ชอบมากๆอย่างที่บอกไปตอนแรก ก็ยังคงวนดูงานเค้าเรื่อยๆครับ คือเราเป็นคนที่เวลาเราดู เราไม่ได้ตั้งใจตอนดูว่าเราจะเอามาใช้ แต่เราจะพยายามดูซ้ำๆเป็นสิบๆรอบเลย งานใหม่ๆก็ยังพยายามหาดูอยู่ตลอดเวลาครับ จะหาอยู่เรื่อยๆตามเวปไซต์ของศิลปิน นักวาดประกอบ หรือหาตามอินสตาแกรมก็มีเยอะเลยครับ บางทีเราไปเจอ Account ที่แบบคน Follow เค้าไม่ถึงพัน แต่เราชอบงานเค้า แค่นี้เอง คือดูแล้วได้เป็นแรงบันดาลใจกลับมา ปรับใช้ต่อ ไม่ใช่แค่งานวาดอย่างเดียวนะ อย่างหนังเรื่องไหนที่รู้สึกว่ามันได้ เราก็ดูได้หลายรอบเหมือนกัน ถ้าสังเกตงานช่วงแรกๆที่เราเขียนอะไรตลกๆออกมา คงเพราะเราดู Kick-Ass หลายรอบ เราชอบมาก แค่ไอ้ฉากเปิดตัวที่มันกระโดดม้วนๆลงมาจากตึก นั่นเราก็ดูซ้ำหลายรอบเลย คือพอดูบ่อยๆมันจะค่อยๆซึมซับ แล้วเวลาเราเขียนงานมันเหมือนว่าเราไม่ต้องไปบังคับให้มันออกมา มันจะค่อยๆซึมออกมาเอง ส่วนการ์ตูนทุกวันนี้ก็ยังอ่านการ์ตูนอยู่ตลอดครับ แต่จะไล่ตามอ่านการ์ตูนเก่าๆมากกว่า เคยลองหาการ์ตูนใหม่ๆมาอ่านเหมือนกัน แต่มันเหมือนไม่ใช่รุ่นเราไปแล้ว อันนี้มีผลเหมือนกันนะ ก็เลยหาการ์ตูนเก่าๆ พวกการ์ตูนเนื้อหาโตๆมีสาระหน่อย หรือถ้าจะไร้สาระก็ตลกหลุดๆไปเลย (หัวเราะ) ถ้านึกออกชัดๆก็อย่างเช่นของ Studio Gibli ก็ชอบครับ ชอบมาก

โปรเจคต์ต่อไป?

ก็เป็นหนังสือ “Juice” ครับ ตอนนี้เป็นเล่มสองแล้ว น่าจะออกตอนงานหนังสือครั้งต่อไป ส่วนงานหนังสือที่เพิ่งผ่านไปครั้งนี้ก็มี หนังสือชื่อว่า “Outline” ครับ ก็ในนั้นเป็นเรื่องที่เรามานั่งคุยกันวันนี้ล่ะ (หัวเราะ) อยู่ในหนังสือหมดเลย  โจทย์เค้าเหมือนให้เราเล่ามาว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนได้อย่างไร แบบแรงบันดาลใจอะไร แต่เราก็ไม่อยากใส่ตรงๆซะทีเดียว เราก็เลยใส่เรื่องไร้สาระอื่นๆเข้าไปเต็มเลย มันเหมือนเป็นทีเราเอาคืนสำนักพิมพ์ล่ะครับ (หัวเราะ)

Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom

ขอบคุณ One Ounce for Onion สำหรับสถานที่

RECOMMENDED CONTENT

2.พฤศจิกายน.2017

STAR WARS: THE LAST JEDI ตัวล่าสุดที่ได้ปล่อยออกมาวันที่ 1 พฤจิกายน กับประโยคที่ตั่งคำถาม 'มันไม่ได้จะเป็นไป ในแบบที่คุณคิด' จาก 'ลุค' ถึง 'เรย์'