fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT | คุยกับผู้จัด BANGKOK COFFEE CULT 2019 ถึงการทำความเข้าใจวัฒนธรรมของคนทำกาแฟ พร้อมเสพเรื่องราวที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
date : 22.มกราคม.2020 tag :

แม้งาน BANGKOK COFFEE CULT 2019 / RSC (Rising Star Cafe) จะจบไปกว่า 2 เดือน แต่เราก็อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องราวและวัฒนธรรมจากคนทำกาแฟในอีเวนต์นี้กันก่อนจะถูกจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม หรือในอีกประมาณ 4 เดือนข้างหน้า

เพราะเรื่องราวที่เรานำมาแชร์วันนี้มาจากการพูดคุยและถ่ายทอดความรู้สึกจากผู้ที่หลงใหลในวัฒนธรรมการดื่ม ไม่ว่าจะเป็น ค็อกเทล สาเก ชา และกาแฟ นี่จึงเป็นที่มาให้คนที่มีความชอบแบบเดียวกับคุณธูป – ศิริธรรม สว่างพลอย ผู้จัด BANGKOK COFFEE CULT ได้มาเสพประสบการณ์ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนไปพร้อมกัน

“ด้วยงานที่ทำกลายเป็นโอกาสสร้างประสบการณ์การดื่มจากหลายๆที่ให้เรา (เป็นครีเอทีฟ ทำงานงานสื่อ และเคยทำมาร์เก็ตติ่งมาก่อน) เราได้ไปเจอผู้คนและรับรู้สิ่งที่มีเรื่องราวซ่อนอยู่ หนึ่งในนั้นคือวัฒนธรรมการดื่มที่แต่จะมีความน่าสนใจและที่มาที่ไปแตกต่างกัน ทุกครั้งที่เรามีโอกาสไปเปิดประสบการณ์ก็จะพยายามเข้าใจว่าเขาต้องการจะสื่อสารอะไรกับเรา พอคิดแบบนี้มันสนุกมาก รู้สึกว่า ต่อให้เราสั่งเครื่องดื่มแก้วเดิม แต่ไปร้านใหม่ก็ไม่มีทางเหมือนเดิมเลย”

เปรียบอีเวนต์เป็นเหมือนคอนเทนต์ ?

พอพบเจอมากๆ ก็อยากแบ่งปันเรื่องพวกนี้ จึงกลับมาคิดต่อว่าทำยังไงให้คนได้รับรู้ และเข้าใจสิ่งที่แต่ละคาเฟ่หรือบาริสต้าแต่ละคนกำลังทำ ซึ่งคนสนิทเราจะบอกเสมอว่า เราไม่ได้จัดอีเวนต์หรอก ยังคงทำคอนเทนต์เหมือนเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ใช้อีเวนต์เป็นช่องทางในการเล่าเรื่อง สามารถทำให้หลายคนเข้าใจเรื่องนั้นพร้อมกันได้โดยผ่านอีเวนต์ ‘เสมือนคาเฟ่ก็เป็น Topic และแต่ละ Topic ก็มีคอนเทนต์ซึ่งก็คืออีเวนต์อยู่ในนั้น’

คอนเซปต์การจัด BANGKOK COFFEE CULT

เริ่มจากทำเปเปอร์ลิสต์ว่าจะพูดเรื่องอะไร สื่อสารเรื่องอะไร คอนเทนต์คืออะไร ทำไมคนต้องมา ครั้งต่อไปเป็นยังไง แล้วประสบการณ์ของคนที่มาถูกต่อเติมไหม บางอย่างมีการวางโครงสร้างไว้แล้ว เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดตามสถานการณ์กับเวลาที่อีเวนต์จะเกิดขึ้น 

ก่อนหน้านี้เป็นรวมคาเฟ่รุ่นพี่ ครั้งล่าสุดเป็นรวมคาเฟ่รุ่นน้อง เราตั้งใจว่าจะจัดปีละ 2 ครั้ง คือเดือนพ.ค. กับเดือนพ.ย. แม้ครั้งก่อนๆ จะเลื่อนมาไม่ตรงเดือนที่กำหนดบ้าง แต่ต่อไปจะยึดตามที่วางไว้เป็นหลัก ด้วยคอนเซปต์ที่เราต้องการสื่อสารกับความเป็นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ จึงนำไปสู่การหาสถานที่ที่ยังคงความเป็นคอมมูนิตี้ เข้ามาแล้วตัดขาดจากโลกภายนอก อยู่ได้เรื่อยๆ ไม่ต้องรีบกลับ คุยกันได้ชิลๆ สบายๆ อยากกินร้านไหนต่อก็เดินไป ซึ่งสถานที่ของคาเฟ่รุ่นพี่ก็จะเป็นมูดแอนด์โทนที่ขึงขัง ดูเป็นผู้ใหญ่ที่เก๋าเกม แต่พอมาเป็นคาเฟ่รุ่นน้อง เขามีความสนุกสดใส เราเลยเลือกจัดแบบเอาท์ดอร์ในสวน

ในฐานะผู้จัด ต้องทำอะไรบ้าง ?

หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้คนดื่มเข้าใจคาเฟ่ และอีกอย่างที่เป็นความตั้งใจส่วนตัว คือทุกคาเฟ่ที่มาอยู่ในงานต้องไม่มีใครเพลี่ยงพล้ำกัน ดังนั้นแต่ละร้านจะมีจุดเด่นต่างกัน เราเองก็ต้องเป็นที่ปรึกษาให้แต่ละร้าน โดยพยายามทำให้เขาสบายใจมากที่สุด เช่น มีคู่มือการออกอีเวนต์ (Exhibitor-Kit) ทำไฟล์เช็คลิสต์ให้ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง เพราะบางทีหน้างานมีดีเทลที่บางร้านคิดไม่ถึง หรือรู้แต่อาจจะลืม นอกจากนั้นก็มีซับพอร์ตเรื่องห้องน้ำและระบบไฟ เป็นต้น

ความน่าสนใจของอีเวนต์ในครั้งต่อไป

ครั้งต่อไปก็จะยังเป็นคาเฟ่รุ่นพี่รุ่นน้องไปเรื่อยๆ เพียงแต่เนื้อหาคาเฟ่ก็จะเปลี่ยนไปตามที่เราเลือกมา อาจจะมีคาเฟ่จากเชียงใหม่หรือต่างประเทศมาร่วมเยอะมากขึ้น หลังจากที่เจ้าของคาเฟ่จากโตเกียวมาแล้วกลับไปแชร์ให้เพื่อนๆฟัง ซึ่งคาเฟ่รุ่นน้องจากโตเกียวก็มาในครั้งล่าสุดนี้

เฟ้นหาร้านที่คิดว่าใช่อย่างไร

เราไม่มีเกณฑ์ในการเลือกแต่ละร้าน เพียงแต่คำถามแรกในหัวมาจาก ‘อะไรคือเหตุผลที่เรากลับไปคาเฟ่นี้’ ‘ร้านนั้นมีความพิเศษไม่เหมือนใครยังไง’ ถ้าเป็นคาเฟ่ที่รู้จักกันดีอยู่แล้วเราจะนึกถึงเขา อันนี้จะไม่ยาก แต่ที่ยากคือตอนไปบอกเล่าเรื่องราวว่าเราจะทำอะไร เขามาอยู่ในงานนี้ด้วยเหตุผลอะไร

ส่วนคาเฟ่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็จะเลือกจากที่เคยไปกิน 2-3 ครั้ง (รอบแรกนั่งดูอย่างเดียว ถ้ารู้สึกว่ามีอะไรน่าสนใจก็จะกลับไปอีกครั้ง ดูว่าสม่ำเสมอไหม เหมือนเดิมไหม ประสบการณ์ที่ได้เหมือนเดิมไหม มีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม) ส่องจนแน่ใจแล้วจึงชวนเขามา หรือถ้าคาเฟ่ยังไม่เปิด ก็ติดต่อโดยการไปเจอตัวแล้วนั่งคุยกัน ยกเว้นที่โตเกียวครั้งล่าสุด ก่อนหน้านี้เราไปคุยเองทั้งหมด เพราะเรา respect และรู้สึกว่าการไปเจอคือการให้คุณค่าตรงนั้น

เสน่ห์ของ BANGKOK COFFEE CULT

การที่เราชวนคุณมาเสพประสบการณ์กับวัฒนธรรมของคนทำกาแฟ ผ่านกาแฟที่เขาเสิร์ฟ ฉะนั้นทุกแก้วจึงมี value มากขึ้น ที่สำคัญถ้าสังเกตแต่ละคาเฟ่ในงานจะพูดคนละเรื่อง ไม่ซ้ำกันเลย พอแต่ละคาเฟ่พูดคนละเรื่อง คนที่มาในงานก็อยากจะลองทุกร้าน ซึ่งนี่อาจจะเป็นการตอบคำถามให้หายสงสัยสำหรับเจ้าของคาเฟ่ด้วยว่า ‘เมื่อไหร่จะถึงคิวเรา’

มากกว่าวัฒนธรรมการดื่มคือประสบการณ์และความรู้สึกใหม่ๆ ซึ่งทุกครั้งเราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันอยู่เรื่อยๆ บางเรื่องเราไม่เคยรู้มาก่อน บางเรื่องก็อาจคิดไปเองว่าคนดื่มกาแฟ หรือคนทำกาแฟรู้สึกแบบนี้ แต่จริงๆ เขาอาจจะไม่ได้คิดเยอะบ้าง บางคนคิดเยอะมากกว่านั้น รู้สึกว่าเสน่อยู่ตรงนี้

ความสุขทางใจของผู้อยู่เบื้องหลัง

ความสนุกคือ เราได้เห็นทุกคน enjoy ที่ได้บอกเล่าเรื่องราว โดยเฉพาะตอนพาทัวร์แล้วแต่ละร้านได้เล่าเรื่องของตัวเอง เราสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง เพราะปกติเวลาไปออกบูทที่อื่นจะไม่มีซีนแบบนี้ การพาทัวร์ทำให้คนเข้าใจว่าทำไมเราเลือกแบรนด์นี้มา เจ้าของคาเฟ่เองก็จะรู้สึกว่ามีคนเห็นสิ่งที่เขาทำอยู่ ในขณะเดียวกันคนที่มาเสพประสบการณ์ในงานก็จะรู้สึกว่า… ‘เดี๋ยวเราจะต้องไปร้านนี้อีก เราชอบอันนี้และไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีแบบนี้’

คาดว่าอีเวนต์นี้จะส่งผลในแง่ไหนของธุรกิจร้านกาแฟบ้าง

ที่น่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ คือพอคนเข้าใจก็จะให้ value ได้ และแฮปปี้ที่จะจ่าย เมื่อก่อนหลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมราคาสูง แต่พอรู้ว่าเมล็ดสายพันธุ์อะไร มาจากที่ไหน หายากแค่ไหน หรือกรรมวิธีการคั่วและที่มาที่ไปอย่างไร ก็พร้อมจ่าย ขณะเดียวกันฝั่งร้านกาแฟหรือผู้ขาย พอลูกค้าเข้าใจคนทำก็อยากเสิร์ฟมากขึ้น อยากทำอะไรที่เมื่อก่อนไม่กล้าทำมากขึ้น แต่ถ้าไม่มีการสื่อสารเรื่องนี้ก็ขาดการเชื่อมโยง พอมีงานนี้คนดื่มและคนทำก็ยิ่งเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น 

มองทางรอดของธุรกิจร้านกาแฟในตอนนี้อย่างไร ?

ต่อให้ไม่มีอีเวนต์นี้ ก็รู้สึกว่าอุตสาหกรรมนี้โตขึ้นได้อยู่แล้ว เพราะคนเริ่มดื่มกาแฟเป็น dairy drink มากขึ้น เพียงแต่อีเวนต์นี้จะพอเป็นแนวทางให้หลายๆ คาเฟ่เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ‘หนทางแห่งการอยู่รอดคือเราต้องมีตัวตน’ เมื่อใดก็ตามที่เจ้าของทำคาเฟ่นั้นเป็น monopoly cafe ก็จะเป็นร้านที่มีแต่คนรุมล้อมตลอดเวลาช่วงแรก แต่เมื่อผ่านไป 3 เดือนก็ต้องมาชุบตัวรีโนเวทร้านใหม่ ซึ่งพอมีร้านสวยเกิดขึ้นใหม่คนก็ชี้เป้าใหม่ แล้วแห่ไปอีกเรื่อยๆ ที่เก่าก็จบ หน้าที่ของเจ้าของร้านจึงต้องทำให้คนมาหา ไม่ใช่เพราะใหม่หรือใหญ่ แต่ต้องมาเพราะคอนเทนต์ที่ดี ดังนั้นเมื่อธุรกิจเติบโต ร้านนั้นก็จะโตไปพร้อมธุรกิจโดยรวมทั้งหมด ซึ่งการปรับตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ

บางคนไม่รู้เพราะมือใหม่มาก ไม่ใช่เรื่องผิด ส่วนบางคนที่รู้แต่ต้องการดึงความสนใจแค่ทำร้านสวยให้คนมาเยอะ แบบนั้นก็จะได้ลูกค้าระยะสั้นๆ เท่านั้น คนกาแฟจะมีประโยคน่ารักที่พิมพ์เตือนกัน คือ ‘ลูกค้าเยอะคือมายา ลูกค้ากลับมาคือของจริง’

สิ่งที่ต้องทำหลังลูกค้ากลับมา

เจ้าของร้านต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ value เกิดขึ้น ลูกค้าอยากกลับมาหาและเขายอมจ่าย จะทำยังไงให้เหนื่อยน้อยกว่าแต่ได้กำไรมากกว่า ถ้าเป็นมาร์เก็ตติ่งก็เช่น ทำกาแฟ 20 แก้วได้กำไรเท่านี้ แต่ถ้าทำแค่ 5 แก้ว แล้วได้กำไรมากกว่าหละ นี่จึงสิ่งที่ต้องหาทางสร้างโปรดักส์ให้มี value

อีกส่วนหนึ่งคือเซอร์วิส ที่ปกติเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทุกร้านต้องมีคือ knowledge able services ทุกอย่างที่เจ้าของร้านให้องค์ความรู้ แชร์ความคิดความรู้สึกกับลูกค้า ลูกค้าก็จะรู้สึกพิเศษ ประทับใจ และอยากกลับมาอีกอย่างแน่นอน

BANGKOK COFFEE CULT 2019
https://www.facebook.com/BangkokCoffeeCult/

RECOMMENDED CONTENT

28.พฤษภาคม.2019

พาเที่ยวในโตเกียว ซื้อรองเท้า ให้'สายวิ่ง' เก็บตก ที่เที่ยว ช้อปปิ้ง หลังจากงานวิ่ง Tokyo Marathon  . INSIDER JOURNY EP5 : เมื่อ 'สายวิ่ง' เก็บตก Shopping หลัง วิ่งในงาน Tokyo Marathon . Dooddot x Running Insider x Runner’s journey