“คิดอยู่เหมือนกันว่า อีกหน่อยโลกเราอาจไม่มีตรงกลาง ฝั่งเร็วก็จะเร็วไปเลย ส่วนฝั่งช้าก็จะช้าเกินไป” หญิงสาวในเสื้อผ้าฝ้ายกล่าว
ทำเรานึกไปถึงอีเมล์ที่เพิ่งเด้งเข้ามาในกล่องเมื่อเช้า 2 ฉบับ ฉบับเเรกเป็นจดหมายเปิดตัวแบรนด์แฟชั่นเจ้าใหญ่จากจีนใจกลางห้างฯ ดังเป็นที่เรียบร้อย กับอีกฉบับมาจากเเบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ฝั่งตะวันตกที่ส่งมาอัพเดตว่าตอนนี้ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่บนเว็บไซต์ให้ลูกค้าที่ซื้อออนไลน์สามารถตรวจสอบความโปร่งใสของขั้นตอนการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นได้แล้ว
นิทรรศการ Inanimate, Animate. (Only) Half The Reflection by Phoebe English
เมื่อช่วงที่ผ่านมา แบรนด์ Luxury อังกฤษ Phoebe English ทำโชว์ A / W 19 ควบคู่ไปกับทำเอ็กซิบิชั่นที่ตั้งใจให้เห็นว่าในปีๆ หนึ่ง เราหายใจเอาพลาสติกและกินโพลีเอสเตอร์กันไปมากแค่ไหนจากการผลิตเสื้อผ้าทั่วโลก แบรนด์สตรีทแวร์ Bethany Williams เห็นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์จริงจังด้วยการให้ผู้หญิงไร้บ้านในลิเวอร์พูลตัดเย็บเสื้อผ้าให้ ส่วน Stella McCartney ก็ปวารณาตนเป็นแบรนด์วีแกน 100% พยายามเสาะหาวัสดุ สารพัดเทคโนโลยีต่างๆ นานา มาลดขยะ ลดมลพิษในการผลิตเสื้อผ้าของตัวเองมากที่สุด
ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งเริ่มตระหนักและอยากให้เราตระหนักได้แล้วเหมือนกันว่า ผลกระทบของอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าอย่างรวดเร็วหรือฟาสต์ แฟชั่น (Fast Fashion) ในเวลานี้มันเลวร้ายเพียงใด ไม่ใช่แค่ต่อโลก แต่กระทบต่อสังคม และสุขภาพของมนุษย์เต็มๆ ก็ยังมีผู้ผลิตกลุ่มใหญ่ที่ยังคงเร่งสายพานสินค้าแฟชั่นให้มากขึ้นและมากขึ้นอีก จนบางครั้งสงสัยว่า เราต้องการเสื้อผ้ามากมายขนาดนั้นจริงหรือ
สิ่งที่ผู้บริโภคตัวเล็กๆ อย่างเราพอจะทำได้ คงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดในการบริโภค ทำให้ฟาสต์ แฟชั่น กลายเป็น ‘สโลว์ แฟชั่น’ (Slow Fashion) ก็อาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้วงล้อนี้มันดีต่อโลกมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้
แต่จะเปลี่ยนยังไง แล้วเริ่มจากตรงไหน นั่นคือสิ่งที่เราจะถาม อุ้ง – กมลนาถ องค์วรรณดี อดีตบล็อกเกอร์สาวสายคราฟต์ หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลัง Fashion Revolution Thailand เครือข่ายที่กำลังทำงานหนักเพื่อปฏิวัติวงการฟาสต์ แฟชั่น ซึ่งจัดกิจกรรม Fashion Revolution Week มาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา
Fashion Revolution Thailand คือใคร และกำลังทำอะไรอยู่
ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 เมษา เมื่อ 6 ปีก่อน Rana Plaza โรงงานเย็บเสื้อผ้าที่ใหญที่สุดแห่งหนึ่งในบังกลาเทศถล่มทับคนงานเสียชีวิตราวหนึ่งพันคน ส่วนใหญ่เป็นคนงานวัยหนุ่มสาว ท่ามกลางกองเสื้อผ้าจากแบรนด์ฟาสต์ แฟชั่นชั้นนำของโลกที่พวกเขากำลังตัดเย็บ นั่นเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้กลุ่ม Fashion Revolution เริ่มเคลื่อนไหว โดยกเริ่มจากลุ่มดีไซเนอร์ในอังกฤษออกมารวมตัวกันบอกว่า วงการแฟชั่นจะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วนะ เพราะนี่มันคืออุตสาหกรรมทาสสมัยใหม่ของโลกชัดๆ (Modern Slavery) เกิดเป็นเคมเปญเเฮชเเท็ก #whomademyclothes เพื่อให้คนเกิดการตั้งคำถามว่า กว่าจะมาเป็นเสื้อผ้าที่เขาใส่อยู่ มันมีที่มาจากไหน ใครเป็นคนทำ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ส่วนไหนของโลก ก็สามารถมีส่วนร่วมกับการตั้งคำถามนี้ได้เหมือนกัน จากปีแรกที่มีคนร่วมแคมเปญไม่ถึงหนึ่งพันคน จนถึงตอนนี้มีคนร่วมกว่าแสนคนแล้ว แคมเปญนี้จะรันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนงานในบังกลาเทศ
ตอนนี้ Fashion Revolution ขยายไปทั่วโลกกว่า 100 ประเทศแล้ว ซึ่งแต่ละประเทศจะมีผู้ประสานงานเครือข่าย ส่วนในไทย เราเป็นทีมเล็กมาก ทำงานกันแค่ 2 คน
อุ้งเองทำงานเป็นนักออกแบบในวงการแฟชั่นและสิ่งทอ เคยเขียนบล็อกที่พูดเรื่องงานคราฟต์มาเป็น10 ปีได้ เราชอบเรื่องชุมชน เรื่องผ้า งานคราฟต์ อะไรแบบนี้อยู่แล้ว และรู้ว่ามีคนที่ชอบเหมือนกันค่อนข้างเยอะ อุ้งก็เลยไปประชาสัมพันธ์ในกลุ่มคนรู้จักในวงการแฟชั่น ทำให้ปีที่แล้วซึ่งเป็นปีแรกของการจัดกิจกรรม มีคนมาร่วมงานกันไม่มาก เพราะอาจเป็นอะไรที่ค่อนข้าง Niche ต้องใช้เวลาและการประชาสัมพันธ์มากหน่อย
จนมาถึงกิจกรรมครั้งที่ 2 ในปีนี้ ซึ่งค่อนข้างเหนือความคาดหมาย เนื่องจากเราบอกต่อไปถึงบรรดาบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ให้มาร่วมแคมเปญกับเราด้วย และเราโชคดีมากที่ได้พาร์ตเนอร์ดีๆ ไม่ว่าจะเป็น British Council, Wework, Doc Club กลุ่ม Expat ที่รวมตัวกันแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าอย่าง Swap ‘til you drop หรือกลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร เราไม่อยากให้เรื่องนี้มันอยู่แค่ในวงของคนแฟชั่น แต่อยากให้มันออกไปถึงคนที่สนใจเรื่องของสังคมด้วย
เเคมเปญแฮชเเท็กมีวิธีการยังไง และไอเดียของมันคืออะไร
วิธีการคือให้เราใส่เสื้อกลับด้านในออกมา แล้วเเท็กแบรนด์ของเสื้อตัวนั้น จากนั้นก็แฮชแท็ก #whomademyclothes ลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อบอกกับเเบรนด์ว่าเราใส่เสื้อผ้าเเบรนด์คุณนะ แต่เราขอใส่ใจเรื่องนี้หน่อยเถอะ ทำให้แบรนด์ฟังเสียงของผู้บริโภคจริงๆ ไม่ใช่แค่ผลิตอะไรออกมาก็ได้อย่างไม่มีความรับผิดชอบ ให้เขากลับมาดูแลระบบตัวเองให้เป็นธรรม และปลอดภัยกับทุกคนมากขึ้น
เราตั้งใจให้คนในอุตสาหกรรมแฟชั่นทุกฝ่ายมาคุยกัน ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนักเคลื่อนไหวที่ตั้งหน้าตั้งตาจะไปแบนหรือโจมตีเขา แต่เป็นการตั้งคำถาม เพราะปัญหานี้มันซับซ้อนและเป็นปมมานาน แฮชเเท็กนี้อาจช่วยให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน แล้วก็มานั่งแก้จุดนั้นร่วมกัน เราอยากให้เกิดความเชื่อมโยงของผู้ผลิตกับผู้บริโภค ทำให้รู้สึกเห็นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น ใส่ใจกันมากขึ้น
ฟีดแบ็กจากแบรนด์ที่เราเเท็กเขาไปที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง
ทุกๆ ปี ทางกลุ่มจะทำข้อมูลที่เรียกว่า Fahion Transparency Index เป็นเล่มที่รวบรวมว่าจากหลายร้อยแบรนด์ที่เราไปตรวจสอบ แบรนด์ไหนมีท่าทียังไงกลับมาบ้าง เราไม่รู้หรอกว่าเขาเต็มใจหรือเปล่า แต่ผลก็ออกมาในทางที่ดีขึ้น
ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่ทำข้อมูลแบบนี้ ผลปรากฏว่าจำนวนของเเบรนด์ที่ตอบรับเข้าร่วมนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วคะแนนความโปร่งใสของแต่ละเเบรนด์ก็ดีขึ้นมากด้วย เพราะในปีแรกๆ ไม่มีแบรนด์ Luxury แบรนด์ไหนเลยที่ตอบรับ แต่ปีนี้มีแบรนด์อย่าง Chanel, Dior และ Sandro มาเปิดเผยข้อมูลการผลิตเป็นครั้งแรก
แต่ที่น่าแปลกใจคือแบรนด์ที่ได้คะแนนความโปร่งใสเยอะๆ จะเป็น Addidas, Reebox และ Patagonia ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเเบรนด์สปอร์ตแวร์ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าตัวแบรนด์เอง มี Vision ของการอยู่กับธรรมชาติ การใช้ชีวิตกลางเเจ้งอยู่แล้ว เขาจึงสนับสนุนลูกค้าของแบรนด์ให้อินกับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปด้วย ซึ่งอุ้งว่านี่คือคอมมิวนิตี้ที่น่าสนใจมาก เราคาดหวังว่าทุกๆ ปี มาตรฐานเหล่านี้จะขยับขึ้น
จากจุดเริ่มต้นของกลุ่ม จะเห็นว่าค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องคนหรือแรงงาน แล้วการเคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อมล่ะ
เรื่องนี้มันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งหมดนั่นแหละ เพราะจริงๆ สาเหตุของโศกนาฏกรรมที่บังกลาเทศก็เกิดจากการไปโฟกัสที่กำไรกับความเร็ว โดยไม่ได้สนใจเลยว่าทรัพยากรจะเป็นยังไง คนจะเป็นจะตายยังไงไม่สน ขอให้ได้กำไรมากๆ เข้าไว้ เราเลยไม่ลืมที่จะพูดถึงมันทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมด้วย อย่างปีนี้เราเริ่มจัดกิจกรรมในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งเป็นวัน Eath Day ทาง Fashion Revolution เองก็เพิ่งลงนามกับ UN ว่าจะทำให้แฟชั่นเป็น Sustainable ให้ได้
หนังสารคดี River Blue (David McIlvride, Roger Williams / 2017)
การผลิตอย่างรวดเร็ว ไม่ได้เป็นผลดีต่อใครเลย แรงงานต้องรีบทำงาน ต้องโดนกด พอไม่มีมาตรฐานในการผลิต เรื่องสารเคมี เรื่องการบำบัดก็ปล่อยปละละเลยกันเต็มที่ อย่างบังกลาเทศ จีน อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ประเทศพวกนี้ตกเป็นเหยื่อของประเทศที่อนุญาตให้ผลิต Out Source ได้ อย่างในหนังเรื่อง River Blue (David McIlvride, Roger Williams / 2017) ที่พูดถึงเมืองเเห่งการผลิตยีนส์ในอเมริกา นั่นคือรัฐเท็กซัสที่ผลิตกว่า 2 ล้านตัวต่ออาทิตย์ จนวันหนึ่งเเม่น้ำทั้งเมืองเเห้งไปเลย เพราะต้องใช้น้ำใช้สารเคมีมากมายในการฟอกยีนส์ อเมริกาเลยแก้ปัญหาด้วยการอนุญาตให้แบรนด์ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศโลกที่ 3 ได้ นั่นเป็นการปัดความรับผิดชอบให้มาตกอยู่ที่ประเทศพวกนี้ ซึ่งต้นทุนการผลิตถูกลงจริง แต่ต้องเเลกมาด้วยคนและสิ่งแวดล้อมเต็มๆ แล้วรัฐบาลก็ไม่มีมาตรการควบคุมอะไรเลย
แต่อย่างประเทศไทยถือว่าไม่แย่นักถ้าเทียบกับเพื่อนบ้าน เอาจริงๆ แล้วเราไม่สามารถวัดได้ว่าที่ไหนวิกฤติที่สุดหรอก แต่ละที่ก็จะมีปัญหาต่างกันไป อย่างกัมพูชากับเวียดนามจะมีปัญหาเรื่องแรงงาน ที่เขาออกมาประท้วงกันอยู่บ่อยครั้ง ส่วนจีนกับอินโดฯ จะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมหนักหน่อย มันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่มากกว่าแค่แฟชั่น แต่เเฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เห็นภาพชัดที่สุดเท่านั้นเอง
ในฐานะผู้บริโภค เราจะหาสมดุลระหว่างฟาสต์ แฟชั่น กับสโลว์ แฟชั่นได้ยังไง แบบไหนยั่งยืน แบบไหน Green Watching (การกระทำใดๆ ที่ถูกทำให้เข้าใจว่าดีต่อโลก แต่ข้างในกลวง)
อุ้งเพิ่งคุยกับเพื่อนเรื่องนี้เหมือนกันว่าอีกหน่อยโลกเราจะไม่มีตรงกลาง มีแต่ไม่เร็วไปเลยก็ช้าไปเลย ฝั่งฟาสต์ ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีดีเลย ข้อดีอย่างหนึ่งคือเขามีเงินมาก มีเทคโนโลยีพอที่จะคิดค้นเส้นใยใหม่ๆ ย่อยสลายได้ รีไซเคิลได้ แบบปลูกขึ้นมาในห้องเเล็บเลย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหน่อยกว่าจะทำให้มันกลายเป็นของที่คนทั่วไปจับต้องได้ หรือมาอยู่ในชีวิตประจำวัน เหมือนอย่างพลาสติกรีไซเคิลที่มีมาตั้งแต่ยุค 60s แล้ว
ส่วนฝั่งสโลว์ จะให้ทุกคนกลับไปใส่เสื้อผ้าฝ้ายหรือม่อฮ่อมไปเลยก็คงทำไม่ได้ ด้วยกำลังการผลิตหรือปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคา ต้นทุน อุ้งว่ามันอาจเป็นอะไรที่ใกล้ตัวกว่านั้น ประหยัดกว่า และทำได้เลยตอนนี้ด้วย การสโลว์คือการให้ความสำคัญกับการใช้งาน ว่าง่ายๆ คือเปลี่ยนวิธีคิดตั้งแต่ก่อนเราจะตัดสินใจซื้อของอะไรสักอย่าง เช่น เราควรคิดว่ามันจำเป็นมั้ย หรืออยากได้เฉยๆ เรามีอยู่แล้วหรือยัง ซึ่งมันคือไอเดียของการ Swaping Clothes คือการที่คุณไม่ต้องการมันแล้ว แต่คนอื่นอาจจะต้องการก็ได้ วิธีนี้ช่วยลดปริมาณขยะเสื้อผ้าได้ด้วย
กิจกรรม Ethical Consumption Talk & SWAP ซึ่ง Fashion Revolution จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
การ Swap จะต่างกับการซื้อเสื้อมือสองตามตลาดนัดทั่วไปตรงที่เราได้เจอเจ้าของ ได้พูดคุย ได้เเลกเปลี่ยนกันโดยตรงเลย ไม่ต้องกลัวว่าซื้อไปแล้วจะเจอผีติดมากับเสื้อ (หัวเราะ) เป็นการสร้างคอมมิวนิตี้ย่อยๆ ในต่างประเทศ ธุรกิจอย่าง Ebay เขาถึงประสบความสำเร็จเพราะเขาใช้จุดนี้แหละ มีการคาดการณ์ว่าต่อไปตลาดเสื้อผ้ามือสองจะโตขึ้นในปี และจะโตกว่าฟาสต์ แฟชั่นในปี 2025
สิ่งสำคัญคือเป็นการกลับมาที่ Mindset ของเราเองนั่นแหละ โลกมันเร็วขึ้น ใช่ แต่เราจำเป็นต้องตามกระเเสทุกครั้งที่มีของใหม่ออกมาจริงเหรอ อุ้งว่าเราจะเป็นอิสระขึ้นเยอะเลย ถ้าเราไม่ต้องวิ่งตามมันมากนัก
แล้วเราจะสามารถซื้อเสื้อผ้าฟาสต์ แฟชั่น ได้อยู่อีกมั้ย ถ้าบางคนบอกว่าตัวเองมีเงินซื้อได้เท่านี้ จะให้ซื้อ Stella MacCartney คงเป็นไปไม่ได้
เราจะได้ยินข้ออ้างนี้อยู่บ่อยๆ บางคนบอกว่าเงินไม่มี ซื้อได้เท่านี้ แต่ไอ้การที่ซื้อเสื้อผ้าที่คุณว่ามันถูกนั่นน่ะ คุณซื้อมันตลอดเวลา บางทีทั้งหมดตู้นั่นรวมกันแล้วไม่ใช่แค่เป็นเงินมหาศาล แต่พอเบื่อ คุณโยนทิ้ง แล้วยังไงต่อ มันคือขยะจำนวนเท่าไรล่ะ ฟาสต์ แฟชั่น ข้อเสียของมันคือราคาไม่แพง ซื้อง่าย ใส่ง่าย นั่นทำให้ทิ้งง่ายด้วย
อุ้งมองว่าถ้าเขานำเสนอโปรดักซ์แบบที่เราชอบ และถ้าเขาทำทุกอย่างถูกต้อง ไม่ผิดถ้าเราจะซื้อ สุดท้ายก็ต้องไปบาลานซ์เอาเองว่าคุณจะบริโภคมันแค่ไหน บริโภคมันแบบสโลว์ลงมาหน่อยมั้ย เราไม่อยากให้คิดว่ามีกำลังซื้อน้อยแล้วจะ Sustain ไม่ได้
แล้วถ้าเรายังซื้อสินค้าฟาสต์ แฟชั่น มันจะเป็นการไปสนับสนุนวงจรความเร็วนี้ต่อไปหรือไม่
คือเราไม่ได้มีเป้าหมายที่จะไปหยุดเขา เราแค่ต้องการให้เขาเข้าไปจัดการหรือควบคุมให้มันถูกต้อง ไอ้การที่เราไม่ซื้อเสื้อผ้าเขา ไม่ได้แปลว่าเขาจะหยุดทำ ในกรณีแบรนด์ใหญ่ๆ การเปลี่ยนเชิง System อยู่ดีๆ จะเปลี่ยนด้วยคนไม่กี่คนไม่ได้หรอก แบรนด์ต้องเป็นคนรับผิดชอบเรื่องพวกนี้ และภาระของราคาไม่ควรมาตกอยู่กับผู้บริโภค ความยั่งยืนไม่ควรเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมันเกี่ยวโยงกันไปหมด ยังไงเราก็หนีไม่พ้น
บอกเราหน่อยว่าแผนต่อไปของกลุ่มและกิจกรรมในปีต่อไปจะเป็นยังไง
เราอยากทำให้เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ขึ้น เฟรนด์ลี่ขึ้น อย่างปีนี้เราเน้นเรื่องการสร้าง Awareness ผ่านการจัดฉายหนังสารคดี การเเลกเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือเวิร์คช็อปต่างๆ ในปีหน้าเราอาจจะจัดงานให้ขยับวงกว้างขึ้น เช่น จัดเป็นครีเอทีฟมาร์เก็ต ให้เเบรนด์ที่ดีต่อโลกมาขายของ หรืออาจจะชวนแบรนด์ฟาสต์ แฟชั่นเจ้าใหญ่ๆ เข้ามาร่วมด้วย เพราะอุ้งว่ามันควรเกิดการคุยกัน ถ้าเราไม่ดึงเขามาเป็นหนึ่งในบทสนทนา มันก็อาจจะไม่เกิดการแก้ปัญหาจริงๆ สักที
RECOMMENDED CONTENT
ถือเป็นศิลปินที่กำลังมาแรงและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดอีกหนึ่งคน สำหรับศิลปินเดี่ยว “Morvasu” หรือ “มอร์ - วสุพล เกรียงประภากิจ” นักร้องนำวงดนตรีอินดี้อย่าง “Ten To Twelve” สังกัดค่ายเพลง What The Duck ที่กลับมาทำผลงานเพลงในโปรเจ็กต์เดี่ยวเป็นของตัวเองครั้งแรก