คอลัมน์ Dooddot Visit ในครั้งนี้ เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับ เฟย์ สตอมเบลอร์ ปานศรีงาม (Fay Stombler Pansringarm) อดีตนักบัลเล่ต์มืออาชีพชาวอเมริกัน ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาเกือบๆ 30 ปี โดยเธอเป็นผู้ก่อตั้ง รวมถึงเป็นผู้อำนวยการของ “Rising Star Dance Studio” สถานที่ที่เธอทั้งสอนบัลเล่ต์ ยิมนาสติก และฮิปฮอป ด้วยวิชาความสามารถ และประสบการณ์ในการเต้นบัลเล่ต์ที่เธอฝึกปรือ และสั่งสมมาตั้งแต่สมัยที่เธอยังศึกษาอยู่ที่ Harkness House for Ballet Arts และ New York School of Ballet สองโรงเรียนบัลเล่ต์อันโด่งดังที่มีชื่อเสียงที่สุดในอเมริกา มาถึงตอนนี้เธอได้ผันตัวเองมาเป็นครูสอนบัลเล่ต์ในเมืองไทยอย่างเต็มตัว โดยตั้งใจที่จะมอบวิชาความรู้ทั้งหมดที่เธอมี ส่งต่อให้แก่ลูกศิษย์ของเธอทุกคน บทบาทการเป็นครูของเธอมีความยากง่ายอย่างไร เสน่ห์ของบัลเล่ต์อยู่ที่ตรงไหน และบัลเล่ต์มีความเข้าถึงยากจริงๆอย่างที่คนส่วนใหญ่รู้สึกกันหรือไม่ เราได้นัดพูดคุยกับเธอที่ Rising Star Dance Studio ในย่านทองหล่อที่ที่เธอยังคงทำงานสอนลูกศิษย์อยู่เป็นประจำ
บัลเล่ต์ในความหมายของเฟย์คืออะไร?
มันเหมือนเป็นภาษาอีกภาษาหนึ่งของเฟย์ เป็นวิธีการแสดงความรู้สึก เป็นวิธี communicate พูดสื่อสารต่อโลกและผู้อื่น
คนเอเชีย หรือคนไทย เขาจะมีระยะห่างกับบัลเล่ต์ค่อนข้างมาก เฟย์จะมีวิธีอธิบายภาษานี้ให้กับคนอื่นที่ไม่รู้จักบัลเล่ต์ยังไง?
จริงๆบัลเล่ต์มันเริ่มมีมาตั้งแต่ 400 ปีที่แล้ว และเป็นพื้นฐานของการเต้นทั้งหมด ในสมัยนั้นจะเป็นสมัยของเพลงคลาสสิค ซึ่งถือว่าเป็นเพลงสมัยใหม่ ส่วนบัลเล่ต์ก็เกิดขึ้นพร้อมๆกัน เป็นการแสดงและก็เป็นศิลปะที่ยากมาก มีคนพยายามที่จะ perfect มันมา 400 ปีแล้ว เพราะวิธีการสร้างนักเต้นให้ทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำไม่ได้มันยากที่สุด บัลเล่ต์จึงเป็นการเต้นที่ยากมากโดยเฉพาะเรื่องของปลายเท้า ส่วนปัจจุบันบัลเล่ต์ไม่ได้มีเฉพาะสไตล์คลาสสิค เพราะตอนนี้มีสไตล์ contemporary เยอะมาก แต่วิธีการใช้ร่างกายก็ยังมาจากบัลเล่ต์ สำหรับเราบัลเล่ต์เป็น physics ของการเคลื่อนไหวทั้งหมด
ช่วยเล่าให้ฟังถึงครั้งแรกที่เฟย์เข้ามาในโลกของบัลเล่ต์?
ตอนเด็กๆทุกคนต้องเคยเห็นภาพบัลเล่ต์ ซึ่งเป็นภาพสวยๆ แต่ตอนนั้นเราดูไม่รู้เรื่องหรอก จริงๆตอนแรกเราไม่ได้สนใจบัลเล่ต์มากขนาดนั้น เพราะจริงๆเราเริ่มเล่นยิมนาสติกมาก่อนตอนอายุประมาณ 11 ปี เพราะพี่ชายเล่นตอนมัธยม แต่ตอนหลังด้วยความชอบในบัลเล่ต์ เราก็เริ่มเล่น แต่ว่าฝึกยาก ในสมัยนั้นในเมืองบอลทิมอร์ที่เราอยู่ยังไม่มีที่ฝึก จำได้ว่าตอนเราอายุ 14 เรามีเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนบัลเล่ต์ เราก็ลองไปเรียนกับเขา ชอบมาก ก็เรียนอยู่ประมาณสองปี ตอนหลังพอดีก็มีเพื่อนอีกคนหนึ่งอยากไปนิวยอร์ก ไปสมัครเรียนบัลเล่ต์เป็นโปรแกรมซัมเมอร์ เราก็ไปเป็นเพื่อนเขา เพราะเราเคยไปนิวยอร์กบ่อย ปรากฏว่าเขาไม่ได้ แต่เฟย์ได้ ได้เข้าคณะหนึ่งในสี่ของอเมริกา คราวนี้ช่วงซัมเมอร์เราก็เรียนวันละเจ็ดชั่วโมง อาทิตย์ละหกวัน (หัวเราะ) ตกใจ! แต่ชอบมาก ที่คณะมี 24 คนที่เรียนที่นั่น ที่ Harkness House for Ballet Arts หนึ่งในนั้นคือ Patrick Swayze ที่นี้เขาให้ทุนการศึกษาเราทั้งหมด เราก็เลยคิดว่าโอกาสอย่างนี้พลาดไม่ได้ ต้องลองดู ตอนหลังเราก็ไม่ได้กลับมาบอลทิเมอร์เลย ก็อยู่ที่นิวยอร์ก 14 ปี ก่อนจะมาเมืองไทย ถือเป็นการเปลี่ยนชีวิต จริงๆก็ไม่รู้ตัวนะ ไม่ได้วางแผน ไม่ได้ตั้งใจที่จะมาเต้น หรือเป็นนักเต้นตั้งแต่แรก ไม่ได้คิดว่าจะไปอยู่นิวยอร์กแล้วชีวิตจะมาทางนี้
มันเป็นเหมือนในหนังที่เราดูกันหรือเปล่า?
แข่งกันมาก แต่ว่าเราอยู่ในคณะ และเป็นลูกศิษย์ของคณะแล้ว สองปีแรกเราก็เลยไม่ต้องมาแข่งขันกับใคร เพราะเราอยู่ในนั้นเลย คลาสมีแค่ 6-12 คนเอง ที่อื่นเป็นร้อย แล้วก็มีครูชั้นนำของโลกมาสอนตลอด ก็เป็นสองปีที่ให้โอกาสเราเยอะมาก หลังจากนั้นก็ออกไปอีกที่นึง ที่ New York School of Ballet เราก็ไปอยู่กับเขาอีกสองปี ก็เป็นคณะที่เราไปแสดง แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของการคัดเลือก ไปหางาน อันนั้นยากมาก สมัยนั้นว่ายากแล้ว สมัยนี้ไม่รู้จะพูดยังไง มันยิ่งยากกว่า แล้วก็มีการแข่งที่บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ เราว่าการเอาบัลเล่ต์มาแข่งขันกัน มันเหมือนเอารูปภาพมาแข่ง เหมือนเอาศิลปะมาแข่งกัน ถ้าจะแข่งกันแบบตัดสินใจว่าใครเก่งที่สุด แบบนั้นเหมาะสำหรับกีฬามากกว่าไหม? อันนี้ไม่รู้ แต่สมัยนี้มันเป็นวิธีการที่เขาต้องโชว์ตัว ต้องแข่งกัน
เหมือนใน Black Swan?
Black Swan มันตลก คือมันเป็น setting ของบัลเล่ต์ก็จริง แต่โดยรวมแล้วก็เป็นหนัง horror film ทั่วๆไป (หัวเราะ) จริงๆบัลเล่ต์มีสิ่งที่น่าสนใจเยอะมาก ทั้งจิตใจของนักเต้น หรือปัญหาต่างๆ แต่มันไม่ขายหนัง เขาก็ไปเอาเรื่องที่ขายหนังได้ แล้วใช้บัลเล่ต์เป็น setting ซึ่งมันก็ไม่ค่อยจะสมจริงอะไรเท่าไหร่ จำได้ว่าตอนนั้น Black Swan ออกพร้อมๆกับ Burlesque ทุกคนที่เต้นบัลเล่ต์ก็บอกว่า โอย…เราพยายามสร้างให้คนเข้าใจมาตั้งหลายปี พอหนังเรื่องนี้ออกมา ดันมา trash ศิลปะชั้นสูง และในเวลาเดียวกัน Burlesque ก็ยกสิ่งนั้นขึ้นมาชู เราก็อืม…โอเค (หัวเราะ) แต่สุดท้ายเราก็เฉยๆ จริงๆนักเต้นบัลเล่ต์ส่วนมากก็เฉยๆกัน
บัลเล่ต์เข้าไปอยู่ในชีวิตคน หรือชีวิตครอบครัวในสมัยนี้ได้ยังไง?
ที่นิวยอร์กเขาจะบอกกันว่า มีเพียงแค่หนึ่งในหมื่นคนเท่านั้นแหละ ที่คิดอยากเป็นนักเต้นอาชีพแล้วทำได้จริงๆ คือมันน้อยมาก อย่างเช่นถ้าเราจะว่ายน้ำ ถ้าเราไม่ได้จะเป็นนักว่ายน้ำโอลิมปิก ก็ไม่ต้องเรียนหนักอะไรขนาดนั้นหรอก จริงๆทุกคนได้อะไรกลับไปอยู่แล้วจากการฝึกบัลเล่ต์ เหมือนถ้าเราว่ายน้ำ เราว่ายเพือสุขภาพ เพื่อความสุข เพื่อช่วยชีวิต เพื่อเข้าใจร่างกายมากขึ้น ทุกคนทำได้อยู่แล้ว มีเด็กๆเยอะมากที่มาเรียนบัลเล่ต์กับเรา แล้วมาตรฐานไม่ให้ เพราะส่วนมากคนทั่วๆไปรูปร่างจะไม่ได้ คือถ้าตัวคุณไม่อ่อนแบบสุดๆ หรือแข็งแรงสุดๆ ก็เป็นสิ่งที่ยาก การจะเจอคนที่ทั้งรูปร่างให้ นิสัยก็ให้ ครอบครัวสนับสนุน มีความชอบ มีความตั้งใจ มีความมีวินัย การจะมีทุกสิ่งเหล่านั้นในคนๆเดียวมันยากมาก มีเด็กหลายคนที่มา แล้วพ่อแม่บอกว่าลูกอยากเป็นนักเต้น โอเค ฝึกได้ เต้นตลอดชีวิตได้ มีความสุข อาจจะเป็นครูสอนในอนาคตได้ ใช้สำหรับการแสดง สำหรับออกแบบทำงานในโรงละคร อันนั้นได้หมด แต่ดูรูปร่างแล้วไม่ได้ เหมือนสูง 150 ซม. แต่บอกอยากเป็นนักบาสเกตบอล คือมันไม่ได้อยู่แล้ว แต่ว่าก็ยังมีสิทธิเรียนเพื่อตัวเอง เฟย์มีลูกศิษย์เยอะมากที่เรียนแล้วใช้บัลเล่ต์สำหรับการฝึกแอ็คติ้งในมหาวิทยาลัย พวกเขาบอกว่าได้เยอะมากจากบัลเล่ต์ ไม่ว่าจะเป็นการยืน การ project ตัวตน การสื่อสารกับผู้ชม อย่างการเคลื่อนไหว นักแสดงทุกคนต้องเรียนหมด ในเรื่องของสุขภาพ บัลเล่ต์ก็มีส่วนของโยคะ จริงๆบัลเล่ต์คือการออกกำลังกายที่ดีมาก ได้ทั้งความสง่า หรือการฝึกยืนหลังตรง ค่านิยมในการเต้นบัลเล่ต์ในเมืองไทยอาจจะยังแบบว่า ไฮโซๆ แต่จริงๆมันคือสำหรับทุกคน ถึงแม้คุณจะเป็นคนจนไม่มีฐานะ แต่ถ้าคุณมีพรสวรรค์ อันนี้ต้องสนับสนุน ไม่ใช่แค่คนรวยที่เป็นนักเต้นได้
บัลเล่ต์ในเมืองไทย สมัยก่อนกับตอนนี้?
เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เพราะในสมัยแรกๆกลุ่มเด็กที่มาเรียนจะเป็นพวกไฮโซของเมืองไทย มีมาเรียนกับเพื่อนในวังก็มี ก็จะเป็นกลุ่มระดับนี้ แต่ตอนหลังก็เริ่มกระจายไปถึงคนทั่วๆไป สมัยนั้นยังมีโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ไม่กี่แห่ง ในขณะที่ตอนนี้มีเยอะมาก แต่ว่าคุณภาพดีหมดไหม อันนี้ก็แล้วแต่ สมัยก่อนบัลเล่ต์เป็นการเต้นที่ดูมีฐานะ ดูดี จะให้ไปเต้นแจ๊ซ เต้นเหมือนหางเครื่องอันนั้นไม่ได้ ดูไม่สุภาพ ดูไม่ดี เราจำได้ตอนมาแรกๆ เราก็ให้เด็กนั่งฉีกขา โอ้โห…พ่อแม่แบบ oh my god! ลูกฉันมานั่งฉีกขา ไม่ได้ๆ! แต่ตอนนี้ไม่มีใครสนใจ แต่ความคิดของคนแค่เมื่อ 28 ปีที่แล้ว จะให้ลูกตัวเองมาเต้นฉีกขาน่ะไม่ได้ ซึ่งจริงๆ 28 ปีก็ไม่ได้นานเลยนะ แสดงให้เห็นว่าความคิด ค่านิยมต่างๆนั้นเปลี่ยนเร็วมาก สมัยนั้นแค่ให้ใส่ชุดเต้นยังอาย รู้สึกไม่เรียบร้อย ไม่อยากให้ลูกใส่ แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปหมดเลย
ยังเป็นสำหรับกลุ่มคนไฮโซ?
ไม่ สำหรับคนทั่วๆไปนี่แหละ แต่ว่าสตูดิโอก็ยังมีไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ก็คิดว่าในเมืองไทย เรากำลังสร้างครู ก็จะพยายามรับลูกศิษย์มากขึ้น พอมีลูกศิษย์มากขึ้นก็จะมีครูมากขึ้น อยากให้โตแบบธรรมชาติ ในสมัยปี 1917 ตอนที่เกิดการปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution) คนรัสเซียที่อพยพมาอเมริกาก็ต้องมาริเริ่มวัฒนธรรมบัลเล่ต์ จากนิวยอร์ก ไปซานฟรานซิสโก แล้วก็ไปที่ชิคาโก เพราะตอนแรกอเมริกายังไม่มีเต้น ไม่มีบัลเล่ต์ ทุกอย่างค่อยๆเริ่มโตแบบธรรมชาติ
จะทำความรู้จักบัลเล่ต์ ควรจะเริ่มยังไง?
ง่ายที่สุดนะ ถ้าเราอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับคณะบัลเล่ต์ใหญ่ๆที่มีชื่อเสียง ก็แค่เปิดกูเกิ้ล แล้วพิมพ์คำว่า biggest ballet company หรือไม่ก็เปิดยูทูป ลองหาไปเรื่อยๆ ทีนี้คุณจะดูบัลเล่ต์จากที่ไหนก็ได้ สมัยนี้อินเตอร์เน็ตมันให้โอกาสคนเท่ากันหมด แค่เปิดยูทูปคุณก็สามารถดูคณะดีๆแสดงได้แล้ว Swan Lake คืออะไร? ก็ลองเปิดดู อาจจะเสิร์ชก่อนว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร เสร็จแล้วก็ไปดู เหมือนคนชอบบอกว่า อาหารฝรั่งกินไม่เป็น เอ่อ…ได้ยินครั้งแรกๆตอนเรามาใหม่ๆ เราก็คิด…กินไม่เป็น ก็อ้าปาก ใส่อาหาร เคี้ยว แล้วก็กลืน ลองชิม ลองดู คือมันแค่นี้เอง ถ้าอยากรู้ว่าบัลเล่ต์คืออะไร ก็ลองเปิดหาดู ในเมืองไทยอาจไปหาดูยากหน่อย มีบ้างปีละครั้ง แต่ว่าพวกเรามียูทูป พวกเราสามารถเปิดดูได้ตลอด
ทำไมนักบัลเล่ต์จากนิวยอร์กอย่างเฟย์ ถึงมีความกล้าที่จะมาเปิดบัลเล่ต์สตูดิโอในเมืองไทย?
เราก็เต้นอาชีพมาหลายปีที่นิวยอร์ก คือต้องบอกก่อนว่าใครที่คิดว่าจะมาเต้นบัลเล่ต์เป็นอาชีพ แล้วจะมีรายได้นี่ลืมไปเลย น้อยมาก แม้กระทั่งในอเมริกาหรือในยุโรปเองก็ตาม คนที่จ่ายค่าเช่าบ้านได้จากรายได้บัลเล่ต์นี่ไม่มีเลย น้อยมาก ศิลปินส่วนใหญ่ก็ต้องคอยหาวิธีอื่นเลี้ยงตัวเอง ในนิวยอร์ก ถ้าขาดพวกศิลปิน อย่างนักแสดง นักร้อง หรือนักเต้นที่มีกันเยอะแยะอย่างนี้นะ ร้านอาหารก็จะไม่มีคนเสิร์ฟ ครัวก็จะไม่มีคนทำอาหาร หรือแม้กระทั่งคนขับแท็กซี่ หรือบาร์เทนเดอร์ เราจำได้ว่าบาร์เทนเดอร์ติดกับร้านเราสมัยก่อน มีชื่อว่า Bruce Willis นะ เขาเคยเป็นบาร์เทนเดอร์มาก่อน คือทุกคนก็พยายามหาโอกาส แต่ก็ต้องเลี้ยงตัวเองไปพร้อมๆกัน แต่ถ้าคิดว่าจะยึดบัลเล่ต์เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองเนี่ยยากมาก ตอนแรกเฟย์ก็มีคณะของตัวเอง แล้วก็เริ่มดัง เริ่มแสดง แต่เหนื่อยมาก แต่ที่นิวยอร์กก็จะมีสังคมแบบนี้อยู่แล้ว ไปร้านอาหารตอนเย็น บาร์เทนเดอร์ได้งานนี้ เด็กอีกคนได้เต้น โอเค อีกสองเดือนเจอกันนะ แต่ระหว่างว่างงานก็ต้องกลับมาล้างจาน เสิร์ฟอาหาร เป็นเรื่องปกติในนิวยอร์ก คราวนี้พอเรามาเมืองไทย เราก็คิดว่าเออ พอแล้ว เราเหนื่อย น่าจะเลิกเต้น แล้วหันมาทำธุรกิจแทน แต่พอมาถึงแล้วทุกคนรู้ว่าเราเต้นบัลเล่ต์ ทุกคนก็อยากดึงตัวเราให้มาสอน อยากได้มาเป็นครูที่โรงเรียน ตอนนั้นในเมืองไทยมีครูสอนบัลเล่ต์น้อย เราก็เลย โอเค สอนก็สอน พอคิดว่าจะเลิกตอนแรก ก็กลับมาสอนเต็มเวลา (หัวเราะ)
เลยเกิดมาเป็นสตูดิโอที่นี่?
ก็เลยเกิดมาเป็นครู เพราะตอนนั้นเราก็เป็นนักแสดง มีคณะอะไรแบบนี้ แต่พอมาที่นี่ เราก็ไม่เคยสอน ก็เลยหาทางว่าจะมอบสิ่งที่เราได้จากครูเราส่งมอบให้แก่นักเรียน เพราะว่าเราโชคดีมากที่เคยได้ครูชื่อดังของโลกมาสอนเรา ซึ่งเราได้จากเขาเยอะมาก เราก็อยากจะมอบสิ่งนั้นกลับไป ทุกวันนี้เรายังเห็นภาพอาจารย์ของเรา ยังได้ยินเสียง คำแนะนำ การอธิบายอะไรของเขาที่เราได้ยินมา 40 กว่าปีที่แล้ว ออกจากปากเราอยู่ตลอด เรายังขอบคุณเขาทุกวัน ยังเอารูปภาพเขามาติดในห้อง เรารักเขามากในสิ่งที่เขาให้เรา
Philosophy เบื้องหลัง Rising Star Studio?
ต้องยอมรับว่าที่นี่จะแตกต่างจากระบบทั่วๆไปในเมืองไทย สไตล์การสอนของเอเชียคือเปิดหนังสือ อ่าน สอบ ได้เกรด รับประกาศนียบัตร แม้กระทั่งพวก performance arts หรือสายศิลปะต่างๆทั้งหมดก็เป็นแบบนั้น เราก็เข้าใจว่า โอเค นี่เป็นวิธีแบบนึง แต่ถ้ามีศิลปินเก่งจริงๆ อย่างนักสีไวโอลินในเมืองไทย อาจารย์ นพ โสตถิพันธุ์ แล้วคุณอยากให้ลูกมาเรียนกับอาจารย์นพ ถ้าอาจารย์นพสอนแบบหลักสูตรเปิดหนังสือ แล้วเริ่มสอน คุณจะต้องมาหาศิลปินเก่งขนาดนี้ไปทำไม? จริงๆหาใครก็ได้มาสอนแบบนี้ แต่สิ่งที่เราจะได้จากศิลปินที่เก่งๆ ก็คือเราจะได้เข้าไปอยู่ในโลกของเขา เราจะได้เข้าใจเหมือนที่เขาเข้าใจ อาจจะไม่เข้าใจเหมือนอีกคนนึง คนสีไวโอลินสองคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราโชคดีได้โอกาสมาอยู่ในบุฟเฟ่ต์นะ เหมือนที่นิวยอร์กที่เป็นบุฟเฟ่ต์นะ เราจะได้เจอคนเก่งๆ และเรียนรู้อะไรจากพวกเขาเยอะ เหมือนเราได้ไปเรียนกับเชฟ การทำกับข้าวคืออะไร วิธีการทำข้าวผัดมีสูตรไหม มีสูตรเดียวในโลกไหม ไม่มี! อยู่ที่รสชาติ อยู่ที่เครื่องปรุง คนที่ทำ คนที่กิน เพราะฉะนั้นการไปตีกรอบเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่ศิลปะ เราเลยอยากทำจากประสบการณ์ของตัวเอง ดูลูกศิษย์ต้องดูทีละคน เพราะไม่มีใครเหมือนกัน อย่างคอมพิวเตอร์มีรุ่นที่เหมือนกันหลายรุ่น แต่คนเราไม่มีใครเหมือนกันสักคน ทั้งรูปร่าง ความตั้งใจ ความสนใจ ความสร้างสรรค์ ความอ่อน ความอะไร ไม่มีใครเหมือน เราจึงต้องพยายามทำให้สิ่งนี้เข้ากับ individual ของคนๆนึงให้ได้ เพราะฉะนั้นการเป็นครู เราจะเอาอันนี้มาปรับใส่อีกคนไม่ได้ เราเลยคิดว่าถ้าจะ mass produce อันนี้มันยาก
มีลูกศิษย์เป็นผู้ชายบ้างไหม?
น้อยมากๆ เรายังจำคำพูดของอาจารย์คนนึงที่มาแสดงกับเราทุกปี มาตลอด 20 ปีได้ เขาเป็นคุณพ่อลูกอ่อน มีภรรยาสุดสวย เขาก็บอกว่า เขารู้ว่าตัวเองไม่ใช่เกย์ เขารู้ว่าตัวเอง straight แต่เขาก็ไม่กลัวที่จะเข้ามา คนที่ไม่กล้าเข้ามา เขาอาจจะไม่รู้ว่าเขาคืออะไร แต่เขามั่นใจว่าเขา straight เขาชอบผู้หญิง แล้วเขาก็เห็นว่ามีผู้หญิงเยอะแยะ สวยๆทั้งนั้นเลย จะไม่เข้ามาทำไม? บัลเล่ต์เหมือนเป็นกีฬา ใครที่ไม่กล้าเข้ามาเพราะกลัวว่าจะเป็นเกย์ อันนั้นก็อาจเป็นปัญหาของเขา แต่ถ้าคุณบอกว่าเป็นเกย์ เราก็ไม่มีปัญหาเลย คนเราจะเป็นอะไรก็เป็น ขอให้เป็นคนดี ขอให้เจอคนที่คุณรัก แล้วก็มีความสุขกับชีวิต ยังมีคนเคยมาถามเราเลยว่า ถ้าลูกชายเป็นเกย์ แล้วเขาอยากเรียนบัลเล่ต์ เราจะทำยังไง? ถ้าลูกชายเราเป็นเกย์ เราก็ขอให้เขาเป็นคนดี มีคนที่เขารัก แล้วมีความสุขกับชีวิต เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวเลย ทุกอาชีพมีทั้งผู้ชายที่ straight ที่เป็นเกย์ มีหมด ที่นิวยอร์กนะ เรายังเคยเห็นช่างก่อสร้างตัวใหญ่ๆเดินจับมือกันก็มี หรือช่างทำผม แต่งหน้าที่เป็นชายแท้ก็ยังมี
ค่านิยมนี้สำหรับเมืองไทย?
ใช่! สำหรับเมืองไทยยังมี ซึ่งเป็นเรื่องตลกมากเลย เพราะในยุโรป หรืออเมริกามันเปลี่ยนไปเยอะมาก ผู้ชายที่นู่นเขาถือว่าบัลเล่ต์เป็นกีฬา อาจเป็นเพราะว่าคนมองบัลเล่ต์กับผู้หญิงเป็นของคู่กันมาหลายปีแล้ว ส่วนผู้ชายมาทีหลัง โอเค ในบัลเล่ต์ทั่วโลกอาจจะ 50/50 มีเกย์มากกว่าก่อสร้าง แต่น้อยกว่าแต่งหน้า แต่จริงๆแล้วทุกอาชีพมีหมด ไอ้ที่ชอบมองว่าบัลเล่ต์คือการใส่สีชมพู วิ่งไปวิ่งมา ดูตุ๊ดๆ อันนั้นไม่ใช่ คือก็มีบ้าง แต่คนเหล่านั้นก็สนุกของเขา
เพราะเขาจะรู้สึกว่าเขาจะเป็นตัวประหลาดในคลาสหรือเปล่า?
ก็มีนะ มีเด็กผู้ชายคนนึงเขาเต้นบัลเล่ต์ แล้วตอนหลังเพื่อนที่โรงเรียนรู้เข้า เด็กคนนี้กลับบ้านก็ไปบอกแม่ แม่เขาก็บอกว่า ไปบอกเลยว่าก็เธอชอบผู้หญิง แล้วที่โรงเรียนบัลเล่ต์ก็มีผู้หญิงเยอะ…เออ ใช่ (หัวเราะ) อีกอย่างเธอก็เป็นนักกีฬานะ พอพ่อแม่บอกอย่างนี้ เด็กก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวเองว่าฉันได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ของอย่างนี้อยู่ที่พ่อแม่ด้วย คือลูกอาจจะโดนล้อจากเพื่อนๆ แต่เราก็ต้องสอนลูกให้รู้จักตอบ และให้เข้าใจด้วยว่าถ้าเธออยากทำนะ ไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะว่ายังไง เราทำในสิ่งที่เราชอบ เราเป็นเรา สอนให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง
อยากเห็นอะไรในเมืองไทยกับสิ่งที่เราทำอยู่?
อยากให้มีคนส่งลูกชายมาเรียนมากขึ้น เมืองไทยกำลังขาดผู้ชายมาก แล้วสิ่งที่แปลกที่สุดก็คือ แหล่งผลิตนักบัลเล่ต์ผู้ชายในประเทศไทยคือจังหวัดมหาสารคาม ที่นั่นมีครูเลย ทั้งของมัธยมและมหาวิทยาลัย แล้วอยู่ต่างจังหวัดนะ เดินทางง่าย ก่อนไปโรงเรียน ฝึก กลับจากโรงเรียน ฝึก เป็นอย่างนี้ทุกวัน ส่วนใหญ่ผู้ชายในเมืองไทยที่เต้นบัลเล่ต์ก็มาจากที่นี่ แปลกมาก ใครจะคิดเนอะว่าส่วนใหญ่มาจากอีสาน เป็นเรื่องเล่าได้เลย (หัวเราะ) อีกอย่างที่อยากเห็นก็คือ ความทั่วถึง เพราะการจะหาคนเก่งๆสักคนมาสร้างชื่อเสียงนี่ยาก
เพราะคนไทยไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรต่อไง เพราะบัลเล่ต์อาชีพในเมืองไทยมันไม่มี?
ไม่มี ไม่มีอยู่แล้ว และรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีนโยบายสนับสนุนศิลปิน แม้กระทั่งศิลปินไทย แถมยังเห็นว่าศิลปะสากลเป็นคู่แข่ง ศิลปะสากลไม่ใช่คู่แข่งของศิลปะไทย ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่ มันควรจะไปพร้อมกัน ที่อเมริกานะ โห…ใครจะสอนรำบาหลี รำอินเดีย นี่เป็นเรื่องที่ดีมาก พวกเราอยากได้หมด เป็นการให้ไอเดีย เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่ว่าของใหม่เข้ามาเราจะมองเป็นคู่แข่ง ไม่เอา ผลักออก มันไม่ใช่ แต่กับรัฐบาลไทย ยังไม่ค่อยมีการสนับสนุนกับอะไรทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับศิลปะ จริงๆของอย่างนี้ต้องสนับสนุนนะ เพราะมันสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้เหมือนกัน แล้วเราว่าจะต้องมีการผสมผสานกันเกิดขึ้น ระหว่างความสากลกับความดั้งเดิมของประเทศนั้นๆ เราเคยพูดตลอดว่าการรำของไทย ส่วนมากเหมือนดูในพิพิธภัณฑ์ รำแบบนี้คือของ 700 ปีที่แล้ว แบบนี้คือ 1,000 ปีที่แล้ว แต่สำหรับบัลเล่ต์ ของ 400 ปีก่อน เราก็ยังมี ของ 300 ปี 250 ปี 100 ปี เราก็ยังเก็บหมด แต่ก็มีการ evolve พัฒนา มีการเติบโตพร้อมกับชีวิตคน ไม่งั้นเราก็เต้นแต่ Swan Lake ไปตลอดชีวิต ไม่ได้ไปไหน เหมือนถูกแช่แข็ง เพราะฉะนั้นเราอยากให้ศิลปะไทยเติบโตขึ้นเหมือนกัน
โชว์ประจำปีที่เราจัดขึ้นทุกปีนี่มันเกิดขึ้นได้ยังไง?
บัลเล่ต์ก็คือ performing art ก็เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อแสดง มันเกิดขึ้นมาเพื่อการโชว์ แต่แทนที่จะเต้นสอบ เราคิดว่าการแสดงมันสำคัญกว่า เป็นการรวมความรู้ทั้งหมดของปีนี้ เป็นการฝึก คือแทนที่จะฝึกโชว์คนที่นั่งติดกันแล้วก็สอบ ทำไมไม่ฝึกโชว์ให้ผู้ชมดู แถมยังเป็นโอกาสมอบให้กับสังคมที่นี่ด้วย เขาจะได้มีโอกาสมาดูโชว์ ดูงานเป็นเรื่องเป็นราวบนเวที ทุกปีเราก็เริ่มตั้งแต่เทอมแรก คัดสอนทีละเล็กทีละน้อย ให้ความรู้เรื่องนี้ ให้ฟังเพลงทั้งหมด เป็นโปรเจกต์ต่อปี ถ้านักเรียนอยู่ที่นี่หลายปีเข้า เขาก็จะรู้จักบัลเล่ต์เยอะ พอฝึกแสดง ฝึกโชว์ไปเรื่อยๆ ทุก 7-8 ปี อีกหน่อยเขาก็จะเป็นตัวกลาง เสร็จแล้วเป็นตัวนำ คือเราเป็นโรงเรียนนานาชาติ เด็กที่มาอยู่ 3-4 ปี แล้วไปก็เยอะ แต่เราก็มีคนไทยและต่างชาติที่อยู่ถาวรก็มี ที่เราเลี้ยงตั้งแต่ 3 ขวบจนจบมหาวิทยาลัยก็มีเหมือนกัน
เฟย์กำกับเด็กเล็กๆได้ด้วย?
ส่วนใหญ่จะเป็นวัย 5 ขวบขึ้นไป คือเราฝึกให้เด็กสนุกไปกับเรา การบังคับเด็กเล็กมันไม่ได้ เขาไม่ใช่ทหาร ถ้าเราหาวิธีที่ทำให้เขาสนุก อย่างเช่นบางครั้งตอนเราสอนท่า เราก็จะร้องคำสั่งแบบเป็นเนื้อเพลง ทีนี้เขาก็จะรู้สึกสนุก เราทำให้มันเหมือนเกมส์ เพราะเด็กทุกคนชอบเล่นเกมส์อยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องทำให้เขาสนุกให้ได้ เมื่อเขาสนุก เวลาเขาอยู่บนเวทีก็จะตื่นเต้น เขาแฮปปี้ คนดูก็จะชอบ เคยเห็นเด็กที่ยืนแล้วกลัวทุกอย่างไปหมดไหม เราเห็นเราก็อึดอัด ไม่อยากดู สิ่งที่สำคัญที่สุดบนเวทีคือความรู้สึก เด็กบางคนเครียด กลัวไปเสียทุกอย่าง แต่บางคนเวลาเต้น ความเคลื่อนไหวเขาออกมาจากใจ ทุกอย่างก็จะดูสวยงาม และอีกอย่างเราจะเครียดกับเด็กไม่ได้ มานั่งด่าอะไรแบบนี้ไม่ได้ เพราะเขายังเล็ก ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย บางครั้งเราก็โมโห เฮ้ย! สอนมาหลายครั้งแล้วทำไมยังจำไม่ได้? แต่กับเด็กเล็กนี่ไม่ได้ ต้องทำให้เขามีความสุข อีกอย่างเวลาสอนเด็กเล็กคือ เราต้องสร้างภาพให้เขา ม่านหนึ่ง ม่านสอง ม่านสาม บันไดอยู่ตรงไหน อะไรก็ว่าไป หรือเขาฟังเพลงท้ายก่อนเพลงของเขา เขาก็จะรู้ว่าถ้าเพลงนี้จบ ต้องเตรียมตัวพร้อม บางทีเราก็ขอเวลาโรงละครสักอาทิตย์นึง ให้เด็กๆเข้ามาทำความคุ้นเคยกับสถานที่ สำหรับเด็กโตมันไม่ยาก แต่กับเด็กเล็กต้องให้เวลา ต้องให้เขาเข้าใจเองว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมต้องขึ้นจากฝั่งนี้ ไม่ใช่อีกฝั่ง เปลี่ยนชุดคืออะไร เตรียมตัวคืออะไร และไม่น่าเชื่อว่าภายใน 3-4 วัน เขาทำได้
โชว์สำหรับปีนี้ “A Midsummer’s Night Dream”?
เป็นเรื่องของเชคสเปียร์ (William Shakespeare) เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จัก เรื่องนี้มีอายุประมาณ 410 ปี ถึงแม้แต่ละเรื่องของเชคสเปียร์จะมีอายุเก่าแก่ แต่ทำไมคนยังชอบเรื่อง Romeo and Juliet หรือ Macbeth อยู่? เชคสเปียร์นี่เป็นอัจฉริยะจริงๆ และเป็นคนมันส์ เรื่องของเขาทั้งตลก ทั้งสนุก คล้ายๆลิเก เป็นละครน้ำเน่าชั้นสูง มีหมดครบทุกรสของชีวิต แต่ว่าอ่านยากมาก อย่าลืมว่าภาษาที่ใช้เป็นของเมื่อ 400 ปืที่แล้ว ถ้าเราจะอ่านเชคสเปียร์ เราต้องมีอีกเล่มที่เขียนอธิบายว่าเรากำลังอ่านอะไร แต่เรื่อง A Midsummer’s Night Dream นี่เป็นคอเมดีจริงๆ ตลกมากเลย เป็นเรื่องของการสับสน ผิดพลาด ระหว่างสองโลก โลกของมนุษย์ธรรมดา กับโลกเวทมนต์ นางฟ้า นางไม้ แต่ว่าทั้งสองโลกก็อยู่คู่กัน พวกนางฟ้า นางไม้ สามารถมองเห็นพวกคนจากโลกธรรมดา แต่คนธรรมดาไม่สามารถมองเห็นพวกนางฟ้า แล้วทีนี้พวกนางฟ้าดันมาวุ่นวายกับพวกมนุษย์ คิดว่าจะแก้ปัญหาต่างๆ แต่ทำไปทำมากลับทำให้ทุกอย่างไปกันใหญ่ สุดท้ายต้องแก้ให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มี quote อันโด่งดังคือ “All’s well that ends well” ที่หมายความว่า ถ้าทุกอย่างจบดี ก็แล้วไป ไม่เป็นไร เป็นเรื่องที่สนุกมากอีกเรื่องหนึ่งของเชคสเปียร์ ส่วนการเต้นสำหรับเรื่องนี้ จะไม่ใช่การเต้นแบบคลาสสิค แต่เป็นการแสดงมากกว่า เราก็พยายามสอนน้องๆว่าครั้งนี้ท่าเต้นทั้งหมดต้องฟังจากเนื้อเรื่อง คุณต้องใช้ท่าเต้นเป็นการสร้างเนื้อเรื่องทั้งหมด
คนที่จะมาดูต้องมีแบคกราวน์เรื่องบัลเล่ต์มากน้อยแค่ไหน?
ไม่ต้อง บัลเล่ต์ก็เหมือนอาหารฝรั่ง อ้าปาก เคี้ยว กลืน บางคนบอก โอ๊ย ดูบัลเล่ต์ไม่เป็น ก็แค่เปิดตา แล้วก็มอง บางคนดูแล้วก็รู้สึก เออ…มันสวย ส่วนบางคนไปดู ก็ไม่รู้ว่ากำลังดูอะไร แต่รู้สึกดูเพลิน ครั้งแรกก็จะเป็นอย่างนี้ ครั้งที่สองก็จะเริ่มจับรายละเอียดต่างๆได้มากกว่า จะค่อยๆเริ่มรู้เอง บางคนไปดูบัลเล่ต์ ก็ไม่ได้รู้เรื่องเทคนิค เรื่องท่า แต่ไปดูแล้วชอบ เหมือนเราไปกินอาหารฝรั่งเศส ร้านนี้ซุปอร่อยกว่า ร้านนั้นเพสตรี้ดีกว่า ถามว่ารู้ส่วนผสมไหม ไม่รู้ แต่ยังสนุกกับการกินอาหารฝรั่งเศสได้ บัลเล่ต์ก็เหมือนกัน จะอ่านเนื้อเรื่อง ศึกษาหาข้อมูลไปดู หรือจะไปดูเลยก็ได้ คิดว่าไม่ยาก ง่าย (หัวเราะ)
เป้าหมายต่อไปในสายอาชีพนี้ของเฟย์คืออะไร?
ตอนนี้ก็มีลูกศิษย์ 2-3 คนที่จะมอบให้เป็น generation รุ่นต่อไปได้ เราอยากได้คนที่ได้เรียนต่างประเทศ ได้เรียนกับครูที่ดีเหมือนกัน และมาที่นี่เพื่อมาทำต่อในสิ่งที่เราทำ แต่ว่ามันก็คงไม่ง่าย ส่วนตัวเราเองก็คงหยุดเต้นไม่ได้ ทุกวันนี้เราก็ยังเต้นทุกวัน คิดว่าจะเต้นตลอดไป
Interview: Norrarit Homrungsarid
Writer: Thip S. Selley
Photographer: Kongkarn Sujirasinghakul
RECOMMENDED CONTENT
คลิปสุดเซอร์ไพรส์ที่มีเนื้อหาที่ตัดตอนมาจากภาพยนตร์เรื่อง Electroma ในปี 2006 ของพวกเขา ถูกปล่อยลงเมื่อเช้าวันจันทร์ (22 กุมภาพันธ์ 2021)