คอลัมน์ Dooddot Visit อาทิตย์นี้ เราพาทุกคนไปพูดคุยกับชายที่หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตาเขากันดีจากหลายๆอีเวนท์หรือคอนเสิร์ต นั่นคือ Kor.Bor.Vor. (พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม) ผู้ที่อยู่เบื้องหลังผลงาน Projection Mapping ช่วยสร้างสีสันด้วยแสงไฟให้ค่ำคืนสุดพิเศษมากมาย จากกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ หนึ่งในอดีตสมาชิกกลุ่ม bored ที่โด่งดังในช่วงที่วงการออกแบบบ้านเรากำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคใหม่ รับประกันว่าลองถามคนในวงการช่วงปี 2000’s คงไม่มีใครไม่รู้จัก ถึงทุกวันนี้ Kor.Bor.Vor. ยังคงเดินหน้าต่อไปกับเทคนิคความรู้การทำ Projection Mapping ที่เขาสั่งสมมา ซึ่งเราเชื่อว่าแม้จะเคยเห็นในงานอีเวนท์หรืองานคอนเสิร์ตอยู่บ่อยๆ แต่หลายคนยังสงสัยอยู่แน่ว่าการ Mapping ที่ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เราไปทำความรู้จักศาสตร์นี้และผู้รังสรรค์มันขึ้นไปพร้อมๆกันเลยดีกว่า
“เราอยากให้วงการมันเคลื่อนไปด้วยคนที่ก็อปงานตามๆกันหรือคนที่คิดงานใหม่ล่ะ สำหรับเรา เราให้น้ำหนักกับแบบหลังนะ”
Projection Mapping คืออะไร?
จริงๆ Mapping เป็นสาขาใหม่สาขานึงของ Projection ครับ (บางคนก็เรียก Video Mapping) Projection ก็คือการฉายภาพ ลองย้อนไปก่อนดิจิตอลมันมีการฉายภาพมาตั้งแต่ยุคฟิล์มแล้ว อย่างฉายฟิล์มสไลด์หรือฉายหนังก็คือ Projection นะ มันคือ Cinema Projection จากหนังกลางแปลงพัฒนามาเป็นโรงหนังดิจิตอล จนตอนนี้มันเกิด Projection mapping ก็คือการเอาตัว Projector มาฉายบนวัตถุ หรือพื้นที่ที่ไม่เรียบ เพื่อสร้างมิติหรือความหมายใหม่ๆให้กับสิ่งที่ฉายและถูกฉาย ถ้าเข้าใจง่ายๆ Projection Mapping คือการฉายบน พื้นผิวอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่แผ่นจอปกติ
ทำไมถึงสนใจการทำ Projection Mapping ?
ส่วนตัวเราเอง แล้วเราว่าทุกๆคนที่เริ่มสนใจมันน่าจะคิดเหมือนกัน มันมาจากการที่คนกลุ่มนี้เป็นคนที่ชอบทำ Projection บนสกรีนมานานแล้ว แล้วรู้สึกเบื่อ รู้สึกว่าขอบเขตของการฉายภาพบนเจอเนี่ยมันซ้ำแล้ว จะ 16:9 หรือ 24:1 ไปฉายในโรงหนัง เหมือนว่าทุกคนทำ Content ไปไกลแล้ว แต่ยังโดนกรอบของจอเป็นตัวกำหนดภาพในเรื่อง Layout หรือคอมโพส ให้ต้องเป็นภาพจอทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนที่เราคุ้นๆกัน อะไรอย่างนี้ พอมันเริ่มติดกรอบปึ้บ เลยรู้สึกว่าพอได้ลองทำ Projection บนพื้นผิวที่มันไม่เรียบ มันเกิดไอเดียใหม่ๆเยอะมาก มันเกิดแรงบันดาลใจ หรือเกิดโจทย์ใหม่ๆขึ้นเยอะ นี่แหละคือที่มา ทำให้เราหลงรักแล้วก็อยากทดลองต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราว่ามันยังไปได้อีกไกลเลยล่ะศาสตร์นี้ ยังมีพื้นผิวอีกหลายแบบในโลกนี้ ยกตัวอย่างอันนี้ (พาไปดูโมเดลที่เขาทำเตรียมเอาไว้เป็นวงกลม 4 แผ่น) เมื่อก่อนแผ่นนี้นี่อาจจะเป็นแค่แผ่นสกรีนของโรงหนังก็ได้ แต่อยู่ดีๆเราลองเอาสกรีนโรงหนังมาทำเป็นวงกลมวางซ้อน แล้วฉายทะลุกันได้ 4 อัน มันก็เกิดเรื่องราวใหม่ๆแล้ว ซึ่งถามว่าตอนนี้ Projection Mapping ที่ยังสนุกอยู่เพราะว่า มันยังไงไปได้อีกไกล Map บนรถยนต์ Map บนอาคาร เรายังคิด Map กับอะไรได้อีกเพียบเลย
กระบวนการคิดกับการทำหนัง?
ไม่เหมือนกันเลย แต่ก่อนเวลาเราทำหนัง เราไม่ได้คิดหรอกว่าเราจะเอาหนังไปฉายที่ไหน เราคิดแต่เรื่องของหนัง แต่กลายเป็นว่าพอเราไปหาเทคนิคในการฉายหนังอะ มันเป็น Inspried ในเรื่องของการออกแบบมากกว่าแล้ว มันทำให้เราสนุกกับสิ่งที่เราฉายมากขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อกี้เราฉายแค่เส้นกราฟิกง่ายๆเนี่ยล่ะ แต่ความสนุกมันเกิดจากว่าคุณเอาไปฉายบนอะไร นั่นแหละคือ Visual ที่เราอยากถ่ายทอดให้คนอื่นดู กลับกันลองเทียบกับการคิดแบบฉายหนัง สมมุติเราเอาเส้นกราฟิกเมื่อกี้ สี่เหลี่ยมวงกลมเส้นๆ ไปฉายในโรงหนัง SF Cinema ใครเขาจะไปดู ให้ทุกคนเข้าไปดูอะไร ดูกราฟิกอย่างนี้เหรอ แต่ถ้าเราเอาสิ่งเหล่านี้ Simple ง่ายๆเนี่ย ไปฉายในจอใหญ่ๆ มี 8 9 Layer ซ้อนชั้นๆกัน เราเชื่อว่าคนจะตกใจมาก หรือไปฉายอยู่ในถ้ำด้วยกราฟฟิกง่ายๆนี่แหละคือสิ่งที่เรากำลังเอา Visual มาเล่าให้คนดู เพราะฉะนั้นเราไม่ได้บอกว่าเราคือคนทำหนัง เราไม่ใช่ผู้กำกับหนัง เราเป็นผู้กำกับ Visual ดังนั้น นี่แหละคือ Visual ที่เราต้องการนำเสนอ
จากกราฟฟิกดีไซน์เนอร์อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญของเรา?
คงเป็นตอนที่ได้แสดงงานชื่อว่า Locomotive 1 ที่ซิดนีย์ครับ มันเป็นงานที่เราคิดว่าเอาศาสตร์ทุกอย่างที่เราเคยทำอะ ไปรวมอยู่ในงานชิ้นนี้ นี่คือชิ้นแรกที่เป็นจุดเปลี่ยนเลย เริ่มตั้งแต่ความรู้ตอนเราเริ่มเรียนกราฟิกจนถึงปี 2007 ที่เราเริ่มทำ Visual แสงสีให้กับคอนเสิร์ตต่างๆมากมาย อันนี้เป็นงานที่เราเอาทุกอย่างมาประยุกต์อยู่ในการฉายเครื่องๆนี้ นี่คือจุดเปลี่ยนเลย จากคำที่เรารู้สึกว่าอยู่เมืองไทยเราเป็นดีไซน์เนอร์อะ พองานชิ้นนี้จบเรารู้สึกเลยว่า นี่แหละ ช่องว่างระหว่างคำว่าดีไซน์เนอร์กับคำว่าอาร์ตติส มันไม่เหมือนกันแล้ว
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับว่าเกิดขึ้นได้ยังไง?
คือรัฐบาลที่โน่นเขาจะทำงานร่วมกับแกลอรี่ตลอดเวลา เค้าก็จะมีคล้ายๆกับตั้งโจทย์ให้ ศิลปิน 7 คน 7 งาน สมมุติแกลอรี่นึงมีประกาศว่าให้นักเรียนส่งโปรเจคเข้ามาประกวด เกี่ยวกับพื้นที่ที่เราจะไปแสดง อาคารหลังนี้ เรามีไอเดียอะไร ซึ่งโจทย์อาคารที่เราได้ตอนนั้นคือโรงงานทำหัวรถไฟเก่า คนที่เรียนอาร์ทอยู่ทุกคนก็จะส่ง Proposal ส่งไอเดีย เขียน Statement เข้าไป เสร็จแล้วเค้าก็จะคัดเลือกไปสอบสัมภาษณ์ พอผ่านเข้ารอบ 7 คนเขาก็ให้งบแล้วก็ให้ไปขลุกอยู่ที่นั่น 2 อาทิตย์เต็มๆกันเลย แล้วก็ทำงานชิ้นนี้ขึ้นมา คืออยู่เมืองนอกมันไม่เหมือนอยู่เมืองไทย เมืองไทยเราอยากจะแสดงงานหอศิลป์ จะเดินไปได้ยังไง หรือหอศิลป์เคยประกาศไหมว่ารับสมัครงานศิลปะจากคนทั่วไป? ไม่มี บ้านเรารัฐไม่มีงบให้คนทั่วไปแบบนี้
ตอนนั้นที่ไปอยู่คืออยู่รวมกับศิลปินคนอื่นด้วย?
ด้วย แล้วก็มีพี่เลี้ยงเป็นพวกอาจารย์เป็น Professor ที่คอยมาสอน เหมือนศิลปินดังๆที่เขาเตรียมงานอยู่ในหอศิลป์ก็จะรู้ว่า พวกกลุ่มนี้คือกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ เราอยากรู้อะไรในตัวเค้า อยากถามอะไรเค้าตอบให้หมด จะเชื่อมเหล็กตัดไม้ ก็ไปหาเค้าได้ ก็คือเราได้เรียนรู้ สมมุติบอกว่าเนี่ย เราอยากได้ Content เกี่ยวกับ อยากรู้ว่ารถไฟมันมาทุกๆกี่นาที เราก็เดินไปถามเค้าได้ เพราะตอนนั้นพอเราติดบัตรว่าเป็นศิลปินที่กำลังอยู่ในนี้ ทุกอย่างฟรีหมดเลย อุปกรณ์ทุกชิ้นไปเอามาได้ เค้า Funding ให้หมด เป็นแบบ Residency Artist คือมีสิทธิ์นั้นอะ เราอยากไปใช้ห้องสมุดมหาลัยอะไรในซิดนีย์ เราไปได้หมด
ถ้าย้อนกลับไปนิดนึงถึงตอนที่ทำ bored มันก็ประสบความสำเร็จ แลัวก็มีงานเยอะมาก พอเราออกไปเจองานต่างประเทศจริงๆตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไร?
เรารู้สึกว่าสิ่งที่เป็น bored พอไปอยู่โน่น มันไม่มีประโยชน์เลย เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตอะ คุณจะเก่ง คุณจะเป็นดีไซน์เนอร์ได้ไง ในเมื่อคุณไปถึงโน่นคุณยังต้องไปเรียนภาษาอังกฤษอยู่เลย คุณซื้อข้าวยังต้องพูดภาษาอังกฤษให้เป็นเลย คุยกับแม่ค้ายังคุยกันไม่รู้เรื่องเลย คุณจะไปออกแบบปกให้ศิลปินเมืองนอกได้ยังไง เอาแค่สื่อสารยังไม่รู้เรื่อง เมืองไทยเราอะชอบอยู่ใน Culture ที่แบบ… ไม่แปลกเลยที่ตอนเด็กๆพ่อแม่ชอบบอกให้เรียนให้เก่งๆ ทั้งๆที่เราไม่เคยคิดเลยว่าทำไมเราต้องเรียนภาษาอังกฤษเก่งๆด้วย เราไม่เคยคิดว่าเราจะออกไปทำอะไรแบบนี้ แต่สุดท้ายแล้ว จะเก่งแค่ไหนคุณต้องมีเบสิกการใช้ชีวิตอะ การเรียนรู้นั่นล่ะสำคัญสุด สมัยก่อนตอนทำงานอยู่ไทยคุณมี google ก็จริงแต่คุณอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก คุณจะ Search อะไรได้ คุณก็อ่านแต่ในภาษาไทย ถูกปะละ อันนี้คือเบสิกที่ทำให้เรารู้สึกเลยว่า เห้ย หรือการที่เราเก่งแค่อยู่ในกรุงเทพเนี่ย เราใช้ภาษาไทยได้เก่งมาก เราสื่อสารศิลปะได้จริง แต่พอไปเมืองนอก สกิลการทำงานเหมือนกันกับฝรั่ง แต่เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เราจะรับงานยังไง ก็ต้องไปล้างจาน ขนาดเคยทำ bored มีงานจ้างเยอะมาก สุดท้ายอยู่เมืองนอกเนี่ยเก่งแค่ไหนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ต้องล้างจานอยู่ดี นี่คือเบสิก เพราะฉะนั้นก็เหมือนกัน การไปครั้งนั้นเราเรียกว่าไปเรียนเลยดีกว่า เรียนรู้การทำศิลปะ เพราะว่ามันเป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่ได้ทำ แล้วเราก็ทำไม่เป็น
Projection Mapping ก็เป็นเรื่องใหม่เช่นกัน?
จริงเรื่อง Mapping เราพูดตรงๆว่ามันก็ใหม่นะ มันใหม่ด้วยกันทั้งโลกเลยครับ ต่างคนต่างก็ต้องศึกษาด้วยตัวเอง ยังไม่มีอะไรที่เป็นแบบแผนมาก ขนาดโปรแกรมที่ใช้ทำงานก็เกิดจาก Community กลุ่มของเราที่ช่วยกันคิดค้นขึ้นมา รู้จักกันจาก Workshop ที่เป็นการรวมพวกทำ Mapping จากหลายๆประเทศมาเจอกัน จนถึงทุกวันนี้ก็ใช้กันสากลแพร่หลาย แต่ก็เป็นแค่หนึ่งในหลายๆโปรแกรมนะ ค่ายต่างๆกลุ่มต่างๆเค้าก็จะมีโปรแกรมคิดออกมา ไอ้สิ่งที่เราทำๆกราฟฟิกง่ายๆฉาย ถ้าย้อนไป 5 ปีที่แล้ว มันต้องทำกันเป็นครึ่งๆวันเลยนะ ไหนจะต้องไปทำใน Illustrator แล้วมาใส่เข้าโปรแกรมฉาย จนเราเริ่มทำ Plug-In ใช้กันได้ ก็ง่ายขึ้น มันเหมือนเราโตกันในยุค Adobe 1 อะไรแบบนั้นอะ (หัวเราะ) ต้องทดลองกันไป เราเองก็ยังต้องทดลองอะไรใหม่ๆตลอดเวลาทั้งวิธีการฉาย ทั้งสิ่งที่ฉาย ทุกอย่างเลย
การทดลองสำคัญยังไง?
ทำ Mapping มันต้องมีการทดลองตลอดเวลา การทดลองช่วยให้งานเรามีความชัดเจนกับลูกค้ามากขึ้น เวลาคุยกันเราต้องตอบได้หมดว่างานเราโปรเจคเตอร์แบบไหน ยิงยังไง ออกมายังไง เพราะโปรเจคเตอร์มันก็มีขนาดมีรุ่นของมันอีกนะ ยิงแรงไม่เหมือนกัน อย่างของเราทดลองมาตั้งแต่ปี 2007 แล้ว แต่เรามาเริ่มรับงาน แบบเริ่มทำมาหากินกับมันจริงๆก็ 3 ปีหลังนี้เอง เพราะตอนช่วงทดลองเราก็ไม่กล้าไปทำรับงาน การทำ Mapping มันเป็นงานสเกลใหญ่ ทุกคนรอดูคุณทำแค่วันเดียวเวลาเดียว เหมือนคอนเสิร์ต คุณมี Performance ครั้งเดียว เมื่อคุณทำพลาดคุณไม่มีสิทธิ์แก้ตัว นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้มันมีความเสี่ยงสูง และต้องใช้เวลาในการทดลองเยอะ การทำเยอะ ทดลองเยอะ ทำให้เรามีประสบการณ์เยอะ แล้วความเสี่ยงในการพลาดก็น้อยลง เมื่อความเสี่ยงน้อยลง ความมั่นใจก็จะเพิ่มขึ้น คุณก็จะรับงานลูกค้าได้ใหญ่ขึ้น เขาก็จะกล้าจ้างเราขึ้น เราเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้จบมาก็ทำ Mapping เป็น แต่ความเสี่ยงเยอะ เพราะไม่มีประสบการณ์ ลูกค้าก็ไม่กล้าให้งาน ทำได้จริงแต่ถ้าพลาดขึ้นมาอะไรรับผิดชอบ อะไรคือหลักประกัน ความกดดันสูง แล้วต้นทุนมันมหาศาล งานกราฟฟิกอื่นๆมันผิดมันรอปริ้นท์ใหม่ได้ แต่พวกนี้มันครั้งเดียวไง
ตอนที่กลับมาไทย คนคิดอย่างไรกับ Projection Mapping?
มันยังใหม่มากครับ จริงๆตอนแรกเรากลับมา เราก็ตั้งใจเลยว่าเราไม่อยากกลับไปทำงานที่เราเคยทำก่อนหน้านี้แล้ว ถึงแม้ว่าพวกงานกราฟฟิกเหมือนตอนสมัยอยู่กลุ่ม bored จะมีคนจ้างเราเยอะเลยนะ แต่เรารู้สึกว่าเราเดินมาไกลกว่าตอนนั้นเยอะแล้ว เลยอยากลองทำ Projection Mapping แบบเต็มๆไปเลย แต่ก็อย่างที่ว่าล่ะ สิ่งที่เราทำมันใหม่มากตอนนั้น ตอนกลับมาปีแรกเราไปบอกว่าอยากทำ Projection Mapping ใครเขาจะให้ตังค์เราทำ สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นเราก็เลยคิดว่าเราตัวคนเดียวทำไงดี ก่อนอื่นเราก็ต้องสร้างออฟฟิศสร้างองค์กรณ์พื่อให้เรามีทีมงานรับงานได้หลายอย่าง เราอยากทำ Mapping ก็จริง แต่ถ้าเราไม่โดดไปทำหนังโฆษณาหรืองานที่มีคนจ้างตอนนั้น เราจะเอาเงินที่ไหนมาทำให้ออฟฟิศอยู่ได้ ซื้อคอมซื้ออะไร ก็ชวนน้องๆมาช่วยกันทำ แล้วเราก็ค่อยทำให้คนเห็นว่า Mapping มันคืออะไร จากงานต่างๆ ถ้าเราไม่เริ่มทำมันก็ไม่เกิดในบ้านเราซะที ก็นี่แหละ นั่นคือจุดเริ่มต้นครับ เทียบกับตอนนี้ ถ้าเอาจากที่เห็นปีที่ผ่านมานี้ เราก็รู้สึกว่าคนรู้จัก Mapping กันเยอะมากขึ้นแล้วนะ
มาตรฐานงาน Visual หรืองานทำ Mapping ที่ดีในความคิดของ Kor.Bor.Vor คืออะไร?
อยู่ตรงที่ “Idea” กับ “Quality” แล้วก็ “เวลา” อันนี้คือสิ่งสำคัญเลย งานอีเวนท์ Projection Mapping อะไรก็ตาม เรื่องเวลา มันเป็น Fact ที่แม่งสำคัญและมีค่ามากๆ เพราะว่างานพวกนี้ไม่มีใครมีตังค์เช่าเครื่องโปรเจคเตอร์ราคาแพงๆให้เราได้หลายวัน มันไม่เหมือนการทำงานในทีวี ทำเสร็จเราเทสต์เมื่อไหร่ก็ได้ กลับถึงบ้านเราก็เปิดดูในจอดู แต่ Mapping ตึกๆนึง การเทสต์ลองผิดลองถูกมันมีค่าใช้จ่าย ใช้โปรเจคเตอร์กี่ตัว วันละกี่แสนบาท กี่ล้านบาท ไม่มีใครให้เวลาเราเยอะ เพราะฉะนั้นความยากมันอยู่ตรงนี้ล่ะ เมื่อกี้ที่ถามว่า Standard งานดีมันคืออะไรใช่ไหม? อย่างนึงก็คือ Idea ที่ดี นี่คือเรื่องทั่วไป ทุกคนมีสิทธิ์คิดไอเดียดีๆได้ สองคือ Quality ก็คือการคราฟท์ การทำออกมาให้สวยให้เนียน อีกอย่างคือการ Manage เวลาให้มันทันการและประหยัดที่สุด ให้ลูกค้าจ่ายเงินคุ้มที่สุด ไม่เสียอะไรที่ไม่จำเป็น
สิ่งที่ทำให้งานเราแตกต่างกว่าคนอื่น?
ความแตกต่างมันคือเรื่องของวิธีคิด เราว่าทุกอาชีพล่ะ มันต้องแยก 2 อัน คือเรื่องเทคนิคกับวิธีคิด เหมือนช่างภาพเทคนิคอุปกรณ์คือกล้อง วิธีคิดคือไอเดียมุมมองการถ่าย การทำ Projection Mapping ก็เหมือนกัน เรื่องเทคนิคอะ เราเชื่อว่าตอนนี้มีคนเริ่มทำเป็นกันเยอะแล้ว แต่วิธีคิดมันก็อยู่ที่สำนักใครสำนักมัน คนรุ่นใหม่ที่เวลาเค้าดูงานเราหน้างาน เค้าเห็นเรายิงภาพหนึ่งสองสามสี่ ปึ้บปั้บก็เสร็จแล้ว ไม่เห็นมีอะไรยากเลย ก็เห็นยิงเครื่องรุ่นนี้ ลายกราฟฟิกง่ายๆแบบนี้ อ้าว เค้าก็คิดว่าใครก็ทำได้ แต่ขั้นตอนการคิดเหล่านั้นมันต้องมีที่มา บางทีเราเห็น Mapping ที่จำๆตามกันมาแล้วก็ทำกันออกมาง่ายๆ มันก็ทำได้ แต่คำถามคือเราอยากให้วงการมันเคลื่อนไปด้วยคนที่ก็อปงานตามๆกันหรือคนที่คิดงานใหม่ล่ะ สำหรับเรา เราให้น้ำหนักกับแบบหลังนะ เรามีคนที่เป็นอาจารย์ เป็นแรงบันดาลใจก็จริง แต่เวลาเราทำงานของเรา เราจะไม่ย้อนกลับไปก็อปเค้าอีก มันเหมือนผลิตซ้ำ สู้เราทำอะไรที่มันใหม่ดีกว่า เหมือนอย่างที่เราบอกเรื่องเรามีกลุ่มที่รู้จักกันหลายประเทศคิดทำโปรแกรมกัน เราต้องทดลอง เราต้องคิดค้นอะไรใหม่ๆ ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน มันไม่เหมือนกับทำเพื่อเงินนะ ทำ Mapping เพื่อเงินให้งานอีเวนท์ไม่ยากเลย ก็เปิด Reference อันนี้ดี เอาไปขายลูกค้า แล้วก็ทำตาม ก็ได้ตังค์ แต่มันไม่ได้พัฒนาวงการเลย แล้วเรื่องนี้เราว่ากำลังเป็นปัญหาทุกวงการ ยุคที่ข้อมูลเยอะแบบนี้ คนก็ขายงานด้วย Reference ทั้งนั้น อย่างวงการออกแบบอะ ขายงานกันด้วย Pinterest ก็เห็นกันอยู่ปกติ จริงอยู่ที่ทุกอย่างมันต้องมี Reference เพราะ Reference มันเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเห็นภาพ เห็น Direction และเข้าใจกันง่าย แต่พอทำงานจริงๆมันก็ต้องมีสไตล์ของเราด้วย ไม่งั้นมันไม่ไปไหนสักที
จากที่ผ่านมาประทับใจผลงานไหนเป็นพิเศษบ้าง?
งานที่ชอบเหรอ ก็ 3 ปีนี้ Commercial ที่ชอบก็มี งานส่วนตัว Personal Project ที่ชอบก็มี Commercial ที่ชอบก็จะมีพวก Nike (Nike Cortez) มี G-Shock พวกงานออกแบบนาฬิกา มี Absolute อะไรพวกนี้ หรืองานอีเวนท์บางอย่างแม้จะดู Commercial มาก แต่เราก็ยังชอบอยู่ คือจริงๆงานส่วนใหญ่ที่พวกเรารับทำอะ มันต้องชอบก่อน มันเลยกลายเป็นว่าทุกงานคือทำแบบจัดเต็ม เพราะงานที่ไม่ค่อยชอบและดูไม่ค่อยเข้ากับเรา เราก็จะบอกลูกค้าตรงๆเลยว่า ลองจ้างทีมอื่นที่เค้า Professional กว่าเราในด้าน Commercial ดีกว่า อะไรแบบนั้น
เราไม่มีปัญหากับการ Balance ทำงาน Commercial กับงาน Art?
มันไม่เชิง Balance นะ เรามองมันเป็นการแยกโหมดมากกว่า เมื่อก่อนเคยคิดจะ Balance แต่รู้สึก Balance ไปก็ลำบาก เราเลยแยกมันเลยดีกว่า ก่อนทำงานทุกชิ้นเราจะถามลูกค้าเลยว่าอยากได้งานที่มันขายของ หรือต้องการทำเพื่อสร้าง Branding โอเค ถ้าเขาบอกเขาอยากขายของ อยากเน้น Product เราก็จะเอาเทคนิคพวกนี้มาเน้น Product เค้าให้เท่ให้ขายได้ไปเลย ก็ต้อง Research เรื่อง Marketing ใครชอบอะไร ลูกค้า Target เค้าแบบไหน พอออกมาเป็นแบบนั้น ทั้งลูกค้าและเราทำงานร่วมกันก็จะมีความสุขมาก แต่สมมุติเราไปทำแบบพยายาม Balance ขออาร์ตตรงนี้บ้าง ขอนั้นบ้าง มันก็ตีกันไม่จบ ซึ่งส่วนใหญ่เวลาเราพูดให้ชัดแบบนี้ บางครั้งเค้าก็มีนะแบบ โอเคงานนี้ ขอแบบเป็นอาร์ต โชว์สิ่งที่เราเป็นหรืออยากทำได้เต็มๆเลย เค้าก็กล้าลงทุนให้เราเต็มที่เลย เพราะฉะนั้นมันไม่มีการเหนื่อยต้องมานั่งแบ่งฝั่ง มันคือการแยกโหมดการทำงานให้ชัด แค่นั้นเอง
คิดยังไงกับวงการศิลปะบ้านเราตอนนี้ วิธีการที่ชอบเอาศิลปะมาอยู่ในอีเวนท์?
อันนี้มันเป็น Marketing อยู่แล้ว ถามว่าดีไหม? เราว่ามันมีทั้งดีและไม่ดี อย่างน้อยๆมันก็เปลี่ยนมาจากยุคที่สมัยก่อน เอาแต่ดารามาเป็นพรีเซนเตอร์อย่างเดียว โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ขายของมันไม่ใช่แค่ดาราอย่างเดียว เดี๋ยวนี้เราก็เห็นว่าดีไซน์เนอร์หรือศิลปินเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ข้อดีคือศิลปินใหม่ๆมีโอกาสมากขึ้น เพราะคนเก่าๆที่เค้าเป็นศิลปินเค้าขายงานได้ เค้าอยู่ได้เองแล้ว เค้าก็ไม่ต้องแคร์สื่อก็ได้ อันนี้คือเปิดให้เด็กยุคใหม่เข้ามามีโอกาสกันได้มากขึ้น แต่ข้อเสียที่ต้องระวังเลยคือ ศิลปินอาจจะกลายเป็นเครื่องมือให้กับวงการ Commercial ได้ ถ้าไม่เคลียร์สิ่งที่ตัวเองทำให้ชัดเจน
[vsw id=”105571679″ source=”vimeo” width=”650″ height=”430″ autoplay=”no”]
นอกจาก Mapping มี Medium อื่นที่กำลังสนใจ?
อืม เราก็ยังคงอยู่ในเรื่อง Projection Mapping นะ แต่เราจะทำให้มันออกมาเป็นงานแขนงศิลปะ ที่มีความเป็น Installation เข้ามามากขึ้น ของพวกนี้มันมาตามเทคโนโลยีของมัน เราทำงานแบบนี้เราต้องตามเทคโนโลยี เรื่องวัสดุ อยู่ดีๆไม่กี่ปีมานี้บ้านเรามีไฟ LED ที่ผลิตได้ถูกลง เราก็ต้องคิดอะไรที่มันสามารถต่อยอดบ้างละ หรือ Projection Mapping เอง เราอาจจะคิดมาตั้งแต่ปี 2007 ละ แต่เราทำไม่ได้ เพราะมันแพง อุปกรณ์มันแพงมาก กว่าจะทำได้จริงจังก็ต้องเป็นช่วง 2011 ที่ลูกค้าเริ่มมีงบ เริ่มจ้างได้ เพราะเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์มันอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้แล้วเราดันทำงานศิลปะเกี่ยวกับเทคโนโลยีไง มันก็ต้องไปพร้อมๆกัน ถ้าเรา Painting มันก็มี Canvas มันก็มีสี แต่พอเรามาทำงานประเภท New Media แบบนี้ ถ้าปุบปับออกใหม่มา แล้วเรากระโดดไปเล่นเลย ก็คงต้องบ้านรวยนิดนึง (หัวเราะ) มันต้องรอเล่นไปเรื่อยๆ
ผลงานต่อไปในช่วงใกล้ๆนี้?
ตอนนี้ที่จะมีก็ช่วงวันที่ 20 เดือนหน้านี้ล่ะ เป็นงาน Installation ทำที่ โรงหนังสกาล่า อันนี้ก็เป็นงาน Commercial ที่ลูกค้าเค้าให้งบเรามาทำอะไรแบบที่เราต้องการได้เต็มๆเลย เพราะเราจะแบ่งชัดเจนว่าโซนหนึ่งขายของกัน อีกโซนเป็นเหมือนจัดแสดงงานศิลปะ ก็มีเราทำกับศิลปินอีกสองคน แต่ยังบอกแบรนด์ไม่ได้ ไว้ต้องรอดูกัน
Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
“เครื่องดื่มตราช้าง” ดึงตัวเจ้าพ่อเพลงรัก ‘บอย โกสิยพงษ์’ และนักร้องสุดอบอุ่น ‘นภ พรชำนิ’ มาร่วมแต่งเนื้อร้องและทำนองเพลงเชียร์นักเตะทีมชาติไทยครั้งแรก ในโปรเจ็กต์สุดพิเศษภายใต้แคมเปญ #เล่นไม่เลิก ส่งเพลง “ช้างศึก เล่นไม่เลิก” แทนพลังเชียร์ของแฟนบอลไทยทุกคน