“ตอนแรกอึ้งนะ ‘เกเตอเรด’ ถามมาว่าสนใจไปบอสตันมาราธอนไหม… อึ้งเลย เอ๊ะ เราจะได้ไปเหรอ เพราะเราฝันมานานมากแล้ว” ครูดินเผยความรู้สึกแรกหลังจากเกเตอเรดออกบากชวนให้ไปรายการวิ่งเมเจอร์สำคัญระดับโลก
“ขอบคุณเกเตอเรดด้วยครับที่ได้พาไปสนามนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 เมเจอร์ของโลก” พี่ป๊อกกล่าวขอบคุณอีกครั้งหลังจากได้เดินทางไกลไปถึงสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมรายการวิ่งระดับตำนาน
‘เกเตอเรด’ เชิญดู๊ดดอทของเราไปนั่งคุยกับครูดิน สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย และพี่ป๊อก อิทธิพล สมุทรทอง คนที่นักวิ่งรู้จักกันดีและเป็นเจ้าของเพจ ‘42.195 k club…เราจะไปมาราธอนด้วยกัน’ ที่มีสมาชิกกว่าแสนคน ทั้งสองคนได้รับเชิญจากเกเตอเรดควบกับเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ให้เดินทางไปวิ่งที่บอสตันมาราธอน 1 ใน 6เมเจอร์ ที่นักวิ่งควรไปวิ่งด้วยขาตัวเองสักครั้ง
—————
ตอน ‘เกเตอเรด’ เอ่ยปากชวนตอนนั้นรู้สักอย่างไร
ครูดิน : ตอนแรกอึ้งนะ เกเตอเรดถามมาว่าสนใจไปบอสตันมาราธอนไหม… อึ้งเลย เอ๊ะ เราจะได้ไปเหรอ เพราะเราฝันมานานมากแล้วกับโอกาสที่จะได้ไปวิ่งที่บอสตันมาราธอน เปรียบเราเหมือนม้าแก่ ไม่ได้อยู่ในวัยที่เราจะไปแล้ว เราก็ถามว่าได้ไปจริงเหรอ ถ้าไปจริงเราจะซ้อม
พี่ป๊อก : ขอบคุณเกเตอเรดด้วยครับที่ได้พาไปสนามนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 เมเจอร์ของโลก
ความยากของการไปเมเจอร์ของโลก
พี่ป๊อก : ปัจจุบันผู้สมัครที่ได้ไปจะต้องผ่านการคัดเลือกเวลา ผมอายุ 50 ปี ต้องวิ่งให้ได้ 3 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนครูดินอายุ 55 ปีต้องวิ่งให้ได้ 3 ชั่วโมง 35 นาที แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้นะ จะต้องมีการแข่งขันบนสนามสำคัญก่อน อย่างในประเทศไทยก็จะมีสนามจอมบึงกับสนามขอนแก่น ที่สามารถเอาเวลาไปใช้ได้ แต่เวลาที่เอาไปใช้ต้องปีต่อปีนะครับ
แล้วจะต้องไปแข่งกับคนทั่วโลก เพราะจะมีคนแต่ละช่วงอายุจากทั้งโลกสมัครไป แล้วสุดท้ายก็ใช้วิธีล็อตเตอรี่ เพื่อเลือกผู้เข้าแข่งขัน แต่ปรากฎว่าพวกเราไม่ต้องแข่งกับใคร เพราะเราเป็นแอมบาสเดอร์ของเกเตอเรด ดังนั้นสนามนี้สำคัญคือ 1 ใน 6 สนามที่ยากที่สุดและเก่าแก่ที่สุด สนามนี้ก็จะได้เหรียญยูนิคอร์นเป็นเหรียญที่ 122 ปี ไม่เคยเปลี่ยนดีไซน์
วางแผนการฝึกซ้อม พิเศษกว่ารายการอื่นๆ ไหม
ครูดิน : การลงสนามแบบนี้ ไปแบบที่เรียกว่าไปง่ายๆ ไม่ควรจะทำ ไปแล้วมันได้พิสูจน์ตัวเอง ไปทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีที่สุดในสนามระดับนี้ อย่างน้อยที่สุดมันไม่ใช่แค่ไปสัมผัสว่านี่คือสนามในเมเจอร์ที่ดีที่สุด มันไม่ใช่ เพราะว่าผมไม่มีพรสวรรค์ในการถ่ายทอดเรื่องราวเหมือนพี่ป๊อก ที่เล่าเรื่องราวได้ละเอียดและเป็นประสบการณ์จริง ซึ่งตรงนี้พี่ป๊อกได้ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการวิ่งมากเลย
แต่สำหรับครูเนี่ยทำแบบนั้นไม่ได้ ครูก็ต้องตั้งใจซ้อมที่จะไปทำสถิติในสนามแห่งนี้ ในช่วงระยะเวลาสองเดือนสำหรับมาราธอนบอกเลยครับ ถ้าหากเราไม่ได้เตรียมตัวสำหรับมาราธอนมาก่อนเนี่ย ต้องบอกว่าการสะสมไม่พอ เพราะการสะสมของการวิ่งมาราธอนเพื่อให้ร่างกายคุ้นชิน อย่างน้อย 4 ครั้ง สำหรับการวิ่งที่ต้องเกินกว่า 3/4 ของระยะทาง คือประมาณ 30–32 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย ครูวิ่งไม่ถึง ครูวิ่งได้แค่ 25 กิโล แค่ 4 ครั้ง แต่ก็น่าจะพอไหว คิดว่านะ เพราะว่าเพิ่งแข่งมาราธอนมาเมื่อเดือนธันวาคม ตอนนั้นคุยกับพี่ป๊อกใจก็ปอดนะ
พี่ป๊อก : สำหรับตัวผมคือต้องบอกก่อนว่าตั้งแต่วิ่ง เบตง–แม่สาย ค่อนข้างมันใจว่าจะได้ความทนทานของร่างกายมาที่งานนี้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่างานนี้ไปยาก ปกติคนที่ไปเค้าจะเข้มงวดกับตัวเองมาก แต่สำหรับผมเนี่ยมีตารางซ้อมที่จะไป 100 กิโลเมตรอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าถ้าจะวิ่งให้ไวเพื่อให้ทันเวลาของการเข้าสมัครเนี่ยผมคงไม่ถึง
ต้องยอมรับว่าตั้งแต่กลับจากเบตง–แม่สาย การวิ่งผมดรอปไปเลยสองเดือน ผมวิ่งไม่ได้เลย เดือนกุมภาพันธ์วิ่ง 5 กิโลเมตรยังไม่ได้เลย ก่อนไปผมก็เลยอาศัยการซ้อมวิ่งยาวในวันเสาร์–อาทิตย์ คือตารางซ้อมของผมจะไม่เป๊ะสำหรับงานนี้ แต่ผมตั้งใจมากสำหรับงานนี้ พอเข้าใจไหมครับ (ยิ้ม)
เป็นยังไงบ้างพอไปถึงที่บอสตัน
พี่ป๊อก : ในรอบ 23 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีอุณหภูมิอย่างนี้มาก่อน คือ 0 องศา แล้วฝนตกตลอดเวลา แต่เวลาวิ่งจริงมัน -2
ครูดิน : ยืนไม่อยู่ ลมแรงมากครับ แล้วลมนั้นพาฝนมาด้วย ซึ่งเป็นฝนที่ผ่านอากาศเย็นมา เพิ่งเข้าใจนะครับคำว่าหน้าด้านเป็นยังไง (หัวเราะ)
พี่ป๊อก : ผมรู้ก่อนแล้วว่าอากาศหนาวก็เลยเตรียมเสื้อแขนยาวไป แต่รอบนี้โชคร้ายมากที่ไม่ได้เอาเสื้อกันฝนไป ปกติผมจะพกไว้ตลอด ตอนแข่งผมใส่เสื้อทับกันสี่ชั้น กางเกงสองชั้น ถามว่าไหวมั้ย ไหว แต่มันเป็นอุณหภูมิที่ไม่เคยเจอ มีอย่างเดียวเลยที่ตั้งใจไว้คือจะไม่หยุดวิ่งเพราะต้องรักษาอุณหภูมิแกนกลางร่างกายให้อุ่นตลอดเวลา
เริ่มวิ่งจริง
ครูดิน : ตอนวิ่งจริงก็วางแผนไว้อย่างดีเลยครับ ว่า 10 กิโลฯ แรกต้องช้า เพราะว่าอากาศมันเย็น มันมีโอกาสมากเลยที่จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง แล้วเราต้องมาเจอเนินอีกซึ่งเป็นเนินที่ขึ้น–ลง–ขึ้น–ลง เลยทำให้กล้ามเนื้อเราไม่ได้พัก อย่างนี้มันอันตราย ตอนนั้นวางแผนเลยว่ารับน้ำทุกจุด ปกติเวลาวิ่งมาราธอนครูดินจะรับน้ำกิโลที่ 25 แต่ครั้งนี้รับตั้งแต่แรกเลย เจอตรงไหนรับเลย ขาดเกลือแร่ ขาดน้ำไม่ได้เลย
พี่ป๊อก : ขนาดเราวางแผนขนาดนี้ 10 กิโลฯ แรกยังคุมไม่ได้เลย ขามันพันไปหมด ทั้งซ้าย ทั้งขวา ผ่าน 10 กิโลเมตรแรกดูเวลา 48 นาที คิดในตอนนั้นเลย “ไอ้ครูดิน มึงตาย เพราะเร็วไป” วางแผนไว้ที่ 50–52 นาที ถ้าคุมในเวลานี้ได้ ช่วงท้ายๆ กล้ามเนื้อจะไม่ทำงานหนักมากในสภาวะที่เราไม่ได้วอร์มอัพ เหมือนเราไปเร่งการทำงานของกล้ามเนื้อ
สุดท้ายตระคริวมากิโลเมตรที่ 30 ขึ้นที่แฮมสตริงขาขวาก่อน ยังพอไหว เพราะว่าเรายังสามารถลดจังหวะของการก้าวได้ คือครูดินเป็นคนที่เคยมีประวัติทุกครั้งที่วิ่งเกิน 21 กิโลเมตรทุกครั้ง ยิ่งเจอเขาเนี่ยเป็นตลอด ตอนนั้นสองจิตสองใจ คือหนึ่งจะยาวต่อไหม… ก็เสี่ยง กับสองเสี่ยงน้อยลง… ประคองตัวเอง เวลาเท่าไหร่ช่างมัน ถามความคาดหวังในหัวใจตัวเองมากเลยตอนนั้น ว่าจะต้องทำเวลา แต่สุดท้ายประคองดีกว่าจะได้เข้าเส้นชัยสวยๆ ใส่เสื้อเกเตอเรดด้วย (หัวเราะ)
ตอนนั้นครูไม่ได้เช็คเวลาในช่วง 10 กิโลเมตรแรก
ครูดิน : มันดูเวลาไม่ได้ เพราะว่าครูใส่เสื้อแขนยาวคลุมอยู่ แล้วครูใส่ถุงมืออยู่ถุงมือก็เปียกและหนาวมาก มือแข็งดึงเพื่อดูนาฬิกาไม่ได้เลย แล้วพอใกล้จะ 10 กิโลเมตร มันต้องดูเลยจำเป็นต้องถลกมันขึ้นมา
พี่ป๊อก : ของผมก็ดึงไม่ได้ ขนาดตอนจะติดกระดุมยังทำไม่ได้ ตอนแข่งผมวิ่งไม่หยุดเลย
ครูดิน : ตอนมาถึง 21 กิโลเมตร ตอนนั้นยังรู้สึกว่ามีความหวัง เพราะเช็คเวลาอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 41 นาที เลยบอกตัวเองว่า ถ้าลดความเร็วลงมาอีกนิด มันน่าจะได้ ที่ไหนได้มันลดลงวูบทันที (หัวเราะ)
งั้นแสดงว่าปัญหาของการวิ่งครั้งนี้คือสภาพอากาศ
ครูดิน : สภาพอากาศเป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นชินด้วยครับ มีบางช่วงที่เราต้องก้มหน้าวิ่งเพราะฝนตกหนักมาก แล้วอากาศหนาว บางช่วงน้ำท่วม เมื่อกี้คุยกันว่าถ้าหากใครไม่ได้ไปบอสตันครั้งนี้นะ ครั้งต่อไปคุณไม่เจออย่างเราแน่ๆ เป็นประสบการณ์ที่เอามาใช้ในอนาคตได้เลย
พี่ป๊อก : เนินเป็นเรื่องปกติที่นักวิ่งเตรียมพร้อมไว้แล้ว แต่สภาพอากาศมันคาดเดาไม่ได้
ครูดิน : พวกเนินครูเฉยๆ เพราะเคยผ่าเนินที่มันโหดกว่านี้
Heartbreak Hill ที่ขึ้นชื่อของบอสตันละ เป็นปัญหาไหม
พี่ป๊อก : บอสตันเป็นสนามที่ไม่เรียบ ก่อนวิ่งเขาจะทำให้ดูเลยว่ามันมีเนิน ซึ่งจะอยู่เหมือนในป่า เนินจะสูงไปเรื่อยๆ แล้วก็ลงไปเรื่อยๆ แล้วก็สูงขึ้นอีก แล้วมันเป็นแบบนี้ตลอดเส้นทาง มันจะมีเนินหนึ่งซึ่งเนินนี้เหมือนเนินขาดใจอะ เค้าจะเรียก Heartbreak Hill
ซึ่งมีประวัติว่าเป็นเนินที่นักวิ่งตัวแรงๆ จะมาแซงกันที่ตรงนี้ เพราะอาจจมีหมดแรง ส่วนตัวผมตอนขึ้นเขาตั้งเป้าว่าจะไม่เดิน แต่ไม่ไหวสุดท้ายก็ต้องเดิน แต่ผมเดินนานไม่ได้ เดินแค่สาม สี่ก้าว ก็วิ่งต่อ ระยะทาง 600 เมตร คือเหมือนจะขาดใจ ซึ่งคนที่จะมาทำสถิติส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาทำที่บอสตัน เพราะว่าเส้นทางจะเป็นแบบนี้ตลอด
ครูดิน : ยังคุยกับพี่ป๊อกอยู่เลยว่า 10 กิโลเมตรแรกหมูมากเลย เพราะว่าลงเขา ประมานช่วงกิโลเมตรที่ 10–15 จะเป็นขึ้น บอกพี่ป๊อกว่ามีอีกจุดนะที่น่ากลัวคือ 30–35 มันน่ากลัวมาก แต่เวลาไปวิ่งจริงมันน่ากลัวกว่าที่คิดมาก ทั้งฝน ทั้งลมด้วย แต่เป็นสนามวิ่งที่ว่าลักษณะเนินของเค้ามันสนุก มันเป็นเนินที่เชื่อได้เลยว่า ถ้านักวิ่งได้ไปวิ่งน่าจะสนุก เอ๊ะพี่ป๊อกเล่าเลยไปหนึ่งเนิน ก่อนที่จะถึงเนิน Heartbreak Hill (หัวเราะ) เนินเติมใจสิ
พี่ป๊อก : ไฮไลต์อีกอย่างที่เรียกว่า Free Kiss ทุกคนคนไทยจะรู้ว่ามี Free Kiss แต่ไม่เคยเห็นรูป ผมก็เลยทำไลฟ์ ซึ่งตรงนั้นจะมีสาวๆ จาก Wellesley College ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เค้ารออยู่ข้างทางแบบนี้ทุกปี เราผ่านไปเค้าก็จะหอมแก้มเรา เพื่อนหลายคนเห็นผมไลฟ์เฟสบุ๊คปีนี้เลยอยากไปบอสตันกันใหญ่ (หัวเราะ)
ในการวิ่งครั้งนี้กิโลเมตรไหนที่ทรมานที่สุด หรือจัดการยาก
ครูดิน : ถ้าเป็นของครูกิโลเมตรที่ 30 มันไม่ได้มีความทรมานเฉพาะร่างกาย แต่มันบีบเค้นหัวใจเหลือเกินว่าจะไปไม่ได้ ในกรณีที่เป็นตะคริวเป็นสิ่งที่ครูกลัวมากที่สุด ว่าเราจะประคองจนผ่านเข้าถึงเส้นชัยได้หรือไม่ แต่มันทรมานในลักษณะร่างกาย เพราะไปอย่างที่เราคิดไม่ได้
แต่ถ้าถามว่าเหนื่อยมั้ยทุกครั้งที่วิ่งมาราธอนไม่เหนื่อยนะครับ แต่มีเรื่องของความเมื่อยล้าหรือความเจ็บปวดที่เกิดจากความเมื่อยล้า เพราะว่าสมัยหนุ่มๆ ครูจะวิ่งจนถึงที่ว่าทุกก้าวที่เราวิ่งลงสู้พื้นเนี่ยมันเหมือนเข็มที่แทงเข้ามาที่กล้ามเนื้อ ตอนนั้นทำถึงขนาดนั้น
แต่มาถึงตอนนี้การลงไปวิ่งเราไม่จำเป็นต้องเค้นถึงขนาดนั้นแล้ว รู้สึกว่าความเหนื่อยไม่มีแล้ว มีแต่เรื่องของร่างกายที่มันมีพลังงานน้อยลง ความเมื่อยล้า หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาการบาดเจ็บ หรือตะคริว ไม่ทรมานร่างกายนัก แต่ทรมานหัวใจเหลือเกิน กลัวไม่จบ
พี่ป๊อก : ความตั้งใจคือผมต้องจบ เวลาไปเมเจอร์ของโลกทั้งหลาย ไปวิ่งโตเกียวผมจบ 6 ชั่วโมงครึ่งก็มี 6 ชั่วโมง 15 นาทีก็มี คือวิ่งไม่ได้ดีนะ ไปนิวร์ยอร์ควิ่งได้ 4 ชั่วโมง 48 นาที คือพูดง่ายๆ ไปเมเจอร์โลกจะวิ่งไม่ค่อยดีแต่ครั้งนี้จะวิ่งให้จบ ภาระกิจแรกเลยคือหลายคนคงทราบแล้วว่าผมเป็นแอดมินกลุ่มที่ชื่อว่า ‘42.195 k club…เราจะไปมาราธอนด้วยกัน’ อันนี้มีสมาชิกอยู่แสนคน
ประเด็นอยู่ที่ว่าเวลาไปก็จะมีคนมาให้กำลังใจ มีคนมาโหวตว่าพี่ป๊อกจะเข้าในเวลาเท่าไหร่ สิ่งแรกเลยสำหรับผมคือต้องวิ่งให้จบ ข้อที่สองเวลาไปกลับมาจะต้องมีอะไรมาเล่า ครูอาจจะบอกว่าครั้งนี้ไม่เหนื่อย แต่สำหรับผมทรมานมาก นี่เป็นการวิ่งที่ทรมานที่สุดเลยก็ว่าได้ เวลาคนถามก็ตอบสนุกดี มันสนุกจริงแหละมันท้าทาย ส่วนกิโลเมตรไหนที่ทรมาน กิโลเมตรสุดท้ายที่เข้าเส้นชัยแล้ว ที่พบว่าร่างกายไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน ผมเดินก้าวขาไม่ออก ต้องกดช่วงขาหนีบไว้ แล้วเดินเข้าเต้นท์พยาบาล รู้สึกเสียฟอร์มมากเลย แต่ก็ไม่มีอะไรสุดท้ายก็หายดี
การวิ่งเป็นไปตามเป้าไหม
ครูดิน : สำหรับงานนี้ ตั้งเป้าไว้ 3 ชั่วโมง 25 นาที จริงๆ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องดีกว่าครั้งล่าสุด (เดือนธันวาคม 2017) ที่ทำไว้คือ 3 ชั่วโมง 32 นาที แต่อย่างที่บอกระยะทางสะสมในการซ้อมมันไม่พอ คือการวิ่งมาราธอนเนี่ยไม่ได้เป็นการวิ่งความเร็วนะ แต่เป็นการที่เราสามารถคุมจังหวะการวิ่งที่ทนต่อความเมื่อยล้า ถ้าเราทนต่อจังหวะความเมื่อล้าได้ไกลเท่าไหร่ตามที่วางแผนไว้ เราก็จะทำเวลาได้ตามนั้น
ซึ่งพอซ้อมแล้วเราทำได้แค่ 25 กิโลเมตร ทำให้เราไม่มั่นใจกับระยะทางยาวๆ เมื่อไม่มั่นใจต่อระยะทางยาวๆ ก็จับการซ้อมเข้าความเร็วเดียวกับการแข่งขันเลย ปกติเวลาซ้อมเราจะไม่เข้าเพซแข่ง เพื่อจะให้ร่างกายคุ้นชินกับจังหวะที่เราวิ่ง แต่ครูมาพลาดตรงที่ 10 กิโลฯ แรกนี่แหละ แต่จบ 3 ชั่วโมง 36 นาที 43 วินาที ก็ถือว่าพอใจแล้ว
พี่ป๊อก : ตัวผมตั้งใจไว้ว่าจะจบ 5 ชั่วโมงครึ่ง แต่จบ 4 ชั่วโมงครึ่ง โดยส่วนตัวผมพอใจกับสภาพอากาศอย่างนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งที่อากาศเลวร้ายที่สุดในรอบ 23 ปี ซึ่งหลังจบการแข่งขันวันถัดมาอากาศดีมาก
ครูดิน : ไม่น่าเชื่อ เหมือนอากาศมันพลิกเลย
บรรยากาศสองข้างทางเป็นยังไง
ครูดิน : ตลอดสองข้างทางทำให้เรารู้เลยว่า เราไม่ได้แค่รับพลังจากตัวเอง แต่สองข้างทางก็เป็นพลังเหมือนกัน เสียงเชียร์ที่อยู่ข้างๆ มันทำให้เรารู้สึกว่า ทุกๆ กิโลเมตรผ่านไปแปบเดียว เป็นการวิ่งที่สั้นมากและทรมานมาก (หัวเราะ)
พี่ป๊อก : คือเสียงดังตลอดทางตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าพูดภาษาบ้านเราคือหนวกหูอะ คือมันดังมาก นี่คือการเชียร์นะ ฝนตกเค้าก็ยังเชียร์อยู่ เด็กตัวเล็กๆ ใส่ชุดกันฝนแล้วออกมาเชียร์พร้อมพ่อแม่ คือมีเสียงเชียร์ตลอดเวลา เชียร์ยิ่งกว่าตอนผมไปวิ่ง 100 กิโลเมตรอีก นี่ขนาดวันที่ฝนตกนะ ยังมีคนเชียร์ตลอดทาง
ครูดิน : แต่ชอบใจอย่างนึง วันรุ่งขึ้นเห็นคนใส่เสื้อบอสตันมาราธอนแขวนเหรียญเดินเต็มเมืองเลย
พี่ป๊อก : คือตอนไปนิวยอร์คก็ทราบมาก่อนแล้วว่าธรรมเนียมเค้าคือแขวนเหรียญไว้ ส่วนตัวผมไม่กล้าแขวนเหรียญ ขอโทษนะส่วนตัวบ้านเราเค้าเรียกขี้เห่อ (หัวเราะ) แต่ปรากฏว่าเค้าเดินแขวนเหรียญกันทั่วเมือง แล้วนิวยอร์คเกอร์เดินมาตบไหล่แสดงความยินดีตลอดทั้งเมืองที่เราเดินไป คุณแขวนเหรียญเดินเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตนะ บางร้านลดราคาให้ด้วย ที่บอสตันก็เหมือนกัน มันเหมือนเป็นธรรมเนียมไปแล้ว
ทั้งครูดินและพี่ป๊อกวิ่งมานาน อยากรู้ว่าอะไรที่เป็นแรงใจให้ทั้งสองคนยังวิ่งต่อ
ครูดิน : ไม่อยากเป็นภาระ ไม่อยากเป็นคนที่จะต้องให้คนอื่นมาช่วยเหลือในวิถีการดำรงชีวิต อยากจะให้ทุกคนที่สนใจในเรื่องนี้ ไม่ว่าใครก็ทำได้ ไม่มีเงื่อนไขทั้งการทำงานหรืออายุ ใครก็ออกมาวิ่งได้ เพราะข้อจำกัดเป็นเรื่องที่เราคิดเองทั้งนั้น ใครเริ่มต้นก่อนก็จะได้ก่อน ใครเริ่มต้นช้าก็จะได้สิ่งดีๆ ช้ากว่าคนที่เค้าเริ่มต้นมาก่อนคุณ
พี่ป๊อก ผมวิ่งมาประมาณ 30 ปี วิ่งมาราธอนครั้งแรกปี 2530 ตอนเปิดสะพานแขวงพระราม 9 ที่จริงคนในวงการวิ่งนี่น่ารัก ผมรู้จักครูดินเพราะว่าเป็นทีมชาติ สมัยก่อนจะพูดคุยกันในเว็บบอร์ด คือครูดินเป็นคนมีชื่อเสียงในวงการวิ่ง ผมเป็นนักวิ่งธรรมดาเป็นคนออกกำลังกาย แล้ววันนึงมาทำกิจกรรมตอนมีเฟสบุ๊ค จากที่ผมได้รู้จัก 1 คนที่วิ่ง รอบตัวเค้าจะมีคนอีก 5 คนสุขภาพดี แล้วคนในวงการวิ่งเป็นคนน่ารัก แต่ละคนเราไม่เคยถามอาชีพเลย เราจะคุยกันแต่เรื่องสุขภาพ กลายเป็นว่าเราได้สังคมที่แข็งแรง สุขภาพดี
ผมจำเรื่องหนึ่งได้จะขอยกมาเล่าตรงนี้เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผมเคยไปพูดที่งานแพทย์ประจำปี หมอเค้าให้ตอบคำถามตอนสุดท้ายว่าพี่ป๊อกลองพูดดูซิว่าทำไมหมอถึงควรวิ่ง ผมว่าบอกว่าฝากเรื่องนึงนะ หมอควรจะมาวิ่ง เพราะหมอเองอยู่เฉยๆ ก็มีคนรักนับหน้าถือตาอยู่แล้ว แต่ถ้าออกมาวิ่งจะมีคนเป็นร้อยที่สุขภาพดี คนไข้ หรือคนรอบข้างก็จะมาวิ่ง จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นหมอหรือใครก็ตามลองมาวิ่งเถอะ เราจะกลายเป็นไอดอลของคนข้างๆ เรานี่แหละ ปัจจุบันผมว่าหลายๆ ครั้งไม่ใช่แค่วิ่งแล้ว แต่พาคนอื่นมาวิ่งให้สังคมสุขภาพดีไปด้วยกัน
ขอบคุณเกเตอเรดที่พาไปวิ่งก็เพื่อจะกลับมาเล่าเรื่องราว ผมดีใจนะที่มีคนบอก “พี่ป๊อกผมอยากไปบอสตัน” บางคนบอกจะกลับไปเก็บ 6 เมเจอร์ของโลกต้องทำยังไงพี่แนะนำผมหน่อย โอกาสที่เกเตอเรดมอบให้ ไม่ใช่ให้แค่ผมคนเดียว แต่ยังมอบให้คนนับร้อย นับพัน ที่เค้ามีแรงบันดาลใจที่จะไปต่อ
—————
ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ Gatorade Thailand
RECOMMENDED CONTENT
Skrillex ศิลปินชาวอเมริกันสาย Electronics Sound กลับมาอีกครั้งในรอบ 1 ปี พร้อมเพลงใหม่ 'Rumble' ที่ได้ดีเจและโปรดิวเซอร์ดาวรุ่ง Fred again.. และ MC Flowdan มาร่วมงาน