fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT — ฉากปัจจุบัน กับบทสนทนาที่พูดถึงชีวิต นกยูง นิพพาน และการใส่หน้ากาก ของครูเงาะ – รสสุคนธ์ กองเกตุ
date : 15.ธันวาคม.2017 tag :

ภายใน / The Drama Academy / กลางคืน

ในพื้นที่ห้องเรียนการแสดงอันกว้างขวางเงียบสงบ ตัดกับภาพความจอแจในย่านวุ่นวายของสี่แยกเหม่งจ๋ายด้านนอก เรากำลังสร้างบทสนทนาอันว่าด้วยเรื่อง นกยูง นิพพาน และการใส่หน้ากาก กับผู้หญิงในชุดดำสวยสง่า ผู้หญิงที่เรามีภาพจำเธอในหลายบทบาท ทั้ง แคสติ้ง แอ็คติ้งโค้ช ครูสอนการแสดง พิธีกร นักแสดง คอมเมนเตเตอร์ในหลายๆ รายการ และในวันนี้เธอได้นำสิ่งที่เธอถนัดทั้ง ‘Talk’ และ ‘Teach’ มารวมกันเป็นทอล์คโชว์รูปแบบใหม่ที่เราอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร หน้าตาของโชว์ที่ว่าจะเป็นแบบไหน เราเลยต้องคุยกับเธอ ครูเงาะ – รสสุคนธ์ กองเกตุ

 

——Action——

เห็นจากโบชัวร์มีคลาสเรียนเยอะแยะ และหลากหลายมากๆ ถ้าเรามาเรียนที่นี่ เราจะได้เจอครูเงาะทุก class ไหม

ตอนนี้ class ที่เจอครูเงาะเลยคือ class พิเศษ พวก Advance for Scene (เป็นคลาสที่ผู้เรียนต้องมีพื้นฐานทางการแสดงและต้องการต่อยอดทางการแสดงเฉพาะทาง) กับคลาสสอนการแสดงเฉพาะทาง เช่น ตลก พิธีกร ส่วนถ้าเป็นคลาสพื้นฐาน acting จะเป็นคุณครูคนอื่นสอน แต่ครูวาง outline ไว้หมดละ

ตอนนี้ที่โรงเรียนจะเรียกว่าเราไม่ได้สอนการแสดง แต่มันจะเป็นการแตกยอด เพราะการแสดงมันคือการสื่อสาร มันอยู่ในคณะนิเทศศาสตร์ คือศาสตร์แห่งการสื่อสาร แล้วครูก็แตกยอดมาสอนในสิ่งที่ตัวเองถนัด นั่นคือ การพูด การ presentation

เคยไหมเวลาไปฟังคนพูด แล้วอารมณ์แบบว่าใครก็ได้ช่วย forward ที เราจะรู้สึกว่าเขาขาดทักษะการสื่อสาร ขาดเสน่ห์ เราก็จะสอนว่า การพูดจากอินเนอร์ทำอย่างไร การสื่อสารใจถึงใจทำอย่างไร รวมกับบุคลิกภาพ เรื่อง story telling คือ class ค่อนข้างหลากหลาย เป็นการเอาศาสตร์ของจิตวิทยากับการแสดงมาผสมกัน

นักเรียนที่เรียนในวิชานี้ มักจะมีความคาดหวังเพื่อเป็นนักแสดง คุณครูคิดว่าทุกคนสามารถเป็นนักแสดงได้ไหม

ครูจะถามว่า ‘นักแสดง’ กับ ‘ดารา’ อยากเป็นอะไรมากกว่ากัน ดาราก็ดี ดัง มีชื่อเสียง แต่ ณ วันนี้ คนที่เป็นนักแสดงจริงๆ มีน้อยและจำกัด ดังนั้นคนบางคนเขาอาจจะไม่มีชื่อเสียงเลย แต่เขาเป็นนักแสดงจริงๆ เขาไม่รอให้ช่องหรือค่ายอะไรมาเห็นคุณ แต่คุณสร้างผลงานได้เอง

ครูเลยจะให้ทุกคนถามตัวเองตอนเริ่มคลาสเลยว่า เรามาเรียนเพราะอยากได้เงิน อยากได้ชื่อเสียง หรือเรามาเรียนในสิ่งที่เรารักกันแน่ เราจะทำความเข้าใจกับนักเรียนตั้งแต่ต้น คุณอยากแสดง มันมีพื้นที่ให้คุณทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคุณอยากจะได้เงิน มันก็ต้องใช้ความสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ให้คนดู โลกใบนี้ คุณจะได้เงินก็ต่อเมื่อสิ่งที่คุณทำนั้นสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น

ซึ่งก็จะมีทั้งนักเรียนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจแน่ๆ เลย

ก็ไม่เป็นไร ที่นี่นักเรียนจะมีสองประเภท ประเภทแรกคือพ่อแม่ส่งมา อยากให้ลูกพัฒนาตัวเอง พัฒนาความมั่นใจ กับประเภทที่เดินมาเอง แล้วก็มุ่งมั่นตั้งใจ เพราะฉะนั้น ต้นทุนก็ไม่เท่ากันละ แต่บางที คนที่มีคนบอกให้เขามา เขาก็มามองเห็นว่า เฮ้ย มันดี มันสนุกกว่าที่คิดเยอะเลย เขาก็จะปรับระดับความคาดหวัง กลายมาเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจก็มี แต่ถ้าบางคนเขาไม่คิดอะไร ก็แม่บังคับมา เขาก็จะไปช้ากว่า

ส่วนใหญ่ สิ่งที่ได้อย่างชัดเจนก็คือ การเอาไปใช้กับชีวิตประจำวัน ครูบอกได้เลยว่า เด็ก 80% ของโรงเรียน มาเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองมากกว่าที่จะไปเป็นนักแสดง เราจะได้รับฟีดแบ็คกลับมาว่า พูดจาฉะฉานมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น บุคลิกดีขึ้น คิดเป็นระบบมากขึ้น มันจับต้องได้ เพราะจริงๆ เนี่ย ศาสตร์การแสดง ถ้าที่เมืองนอก หมอ พนักงานบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ ทนาย เขาก็ยังมาเรียนการแสดงกันหมดนะ เพราะมันเป็นทักษะมนุษย์ มันคือการใช้เครื่องมือสามชิ้น กาย เสียง และอารมณ์

ถามว่ามีวิชาไหนในโลกบ้าง ที่ถามเราว่า อะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตที่ทำให้ มีความสุขที่สุด โกรธที่สุด เสียใจที่สุด ปิติที่สุด ตื้นตันที่สุด มันคือวิชาที่ทำให้เรากลับมาถามว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรากันแน่ ตอนครูไปเรียนนะ เขาบอกว่า ให้เอาของรักของหวงมา ครูยังไม่มีด้วยซ้ำ มันคืออะไร โทรศัพท์มือถือเหรอ คิดแบบใสๆ แต่พอเราขุดลึกลงไป เราก็ค้นพบว่า อ๋อ… คือ ครอบครัว รูปภาพใบเดียวก็คือของรักของหวงของเราแล้ว ฉะนั้นมันคือวิชาหาคำตอบ ที่ทำให้รู้จักตัวเราชัดเจนขึ้น

ฉะนั้นครูเลยบอกว่าไม่จำเป็นต้องมาเรียนเพื่อไปเป็นนักแสดง ใน class beginner เบื้องต้นเลย เราจะถามก่อนเลยว่า เขาอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร แล้วใช้หลักการแสดง มาพูดและนำเสนอในสิ่งที่ตัวเองฝัน แล้วเราก็จะสนับสนุนเค้า วันนี้หนูอยากเป็นนักบิน วันพรุ่งนี้หนูอยากเปลี่ยน ก็ย่อมได้ แต่อย่างน้อยหนูต้องรู้ว่าหนูจะไปทางไหน

เพราะฉะนั้นที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนสอนการแสดง

เป็นโรงเรียนพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ในเชิงของความคิด ร่างกาย จิตใจ ถ้อยคำ ต่อให้เป็นอาชีพที่แค่กดนิ้วลงบนคอมพิวเตอร์ มันก็ใช้ศักยภาพมนุษย์ ถ้าเราไม่รู้จักมนุษย์ แล้วจะสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันอย่างไร

คิดอย่างไรกับคำว่า ‘ชีวิตคือละคร’

ครูจะพูดเสมอว่า การแสดงไม่เคยสอนคุณให้เป็นคนอื่น แต่ครูจะสอนให้หาคนอื่นที่มีในตัวคุณให้เจอ เพราะในเรามี ‘ทุกคน’ แต่เราเลือกที่จะเก็บนิสัยนี้ไว้ หรือทิ้งนิสัยบางนิสัยไป เพียงเพราะต้องให้ใครบางยอมรับเรา เช่น พ่อบอกว่า ลูกมีความรับผิดชอบจังเลย พ่อภูมิใจจัง ลูกจะเก็บไพ่ ‘ความรับผิดชอบ’ และทิ้งไพ่ ‘ความสนุก’ เราต้องรับผิดชอบ เราต้องดูแลน้อง เพื่อที่จะได้รับการยอมรับ

อย่างบ้านครูเงาะ มีคนพูดว่า เงาะเป็นคนเข้มแข็ง เงาะไม่เคยร้องไห้เลย วันหนึ่งร้องไห้ พ่อด่า พ่อบอกว่า ผิดหวังในตัวเราจังเลย ไม่ได้เรื่องเลย งี่เง่า เหตุการณ์นี้ครูเงาะเก็บไพ่ ‘เข้มแข็ง’ ทันที ทิ้งไพ่ ‘อ่อนแอ’ ไป แต่ก็ทิ้ง ‘ความอ่อนโยน’ ไปด้วย งั้นถามว่ามันมีในตัวเราไหม มันมี เวลาที่ครูอ่อนแอ ครูจะซ่อน เพราะจิตในวัยเด็กมันบอกว่า ถ้าเธออ่อนแอเธอไม่รอด นี่คือกลไกการเลือกคาแร็กเตอร์ของมนุษย์​ ทุกวันนี้ที่เราเลือกนิสัยแบบนี้ เพราะโตขึ้นมาเราไม่เคยเลือกเลย เราให้เด็กสามขวบในตอนนั้นเลือก บางทีพ่อแม่บอกให้เงียบ พูดแบบนี้เป็นร้อยรอบ เด็กก็จะทิ้งการแสดงความคิดเห็นไปเลย

พอพูดถึงการแสดง ตอนได้รับบทมา บอกว่า หนูไม่เคยรับบทแบบนี้ หนูจะเป็นคนคนนั้นได้อย่างไร ครูจะบอกว่า มันมีในแกทั้งนั้นแหละ แต่แค่เราไม่ได้เลือกไพ่นี้เข้ามา บางคนบอกว่า ผมเป็นคนไม่ค่อยพูดเล่น เพราะพ่อแม่บอกว่าเราต้องเป็นคนจริงจัง เราทิ้งไพ่ ‘สนุก’ และนิยามมันว่าไร้สาระ เป็นคุณลักษณะที่ฉันจะซ่อน แถมพอคุณเห็นคนไร้สาระ คุณจะรำคาญ เพราะมันกำลังสะท้อนสิ่งที่เราเกลียด เพราะฉะนั้นมันจะย้อนกลับมาว่า เรามักจะเกลียดคนที่เหมือนกับตัวเอง เพราะเขากำลังแสดงนิสัยที่เราซ่อนไว้อยู่

เหมือนอย่างครู ครูเกลียดคนอ่อนแอมากเลยตอนเด็กๆ ครูเคยเอารีโมทปาทีวีที่ฉายละครดาวพระศูกร์ “อีนี่ อีโง่ ทำไมมึงไม่พูดในสิ่งที่ควรพูด”ครูโมโหมาก แม่บอก “อะไรของเงาะ นี่มันละครนะลูก” ไม่รู้ด้วยมันเกิดจากอะไร แต่พอโตขึ้นก็พบว่า ดาวพระศุกร์กำลังสะท้อนว่า คนแบบนี้ไม่ได้เรื่อง คนแบบนี้ไม่รอด จนทำให้ครูเติบโตมาแบบที่เป็นคนไม่อ่อนแอเลย แฟนจะช่วยถือของ บอกไม่ต้อง ถือเองได้ ทั้งๆ ที่เราก็อยากมีคนช่วยถือนะ แต่เรากำลังใส่หน้ากากของความเข้มแข็ง ฉะนั้น พอมาเรียนการแสดง ถ้าต้องร้องไห้ ครูจะร้องไม่ได้ เพราะครูจะไม่เก็ทเลยว่ามันเป็นยังไง

ครูเคยเล่นแอ็คชั่นครั้งหนึ่งกับพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์–ผู้กำกับ) ครูต้องเรียก “มานี่หน่อย” พี่ย้งก็จะตอบว่า “ไม่” เขาจะมาหาก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าอยากมา รุ่นพี่ที่ได้ลองก่อนเขาก็พูดไปเรื่อยๆ จนเขาร้องไห้ ครูก็คิดว่า โห จริงจังจังเลย พอถึงคิวตัวเอง ก็ใส่หน้ากากยิ้ม ทำเป็นสนุก ทำเป็นตลก ผ่านไปหนึ่งชั่วโมง พี่ย้งก็ไม่มา จนหน้าครูกระตุกเหมือนคนโกรธ รู้ตัวอีกทีคือแตกโพละ ร้องไห้ออกมาเลย ด้วยความโกรธ ด้วยความอาย นี่ไงความอ่อนแอ

นักแสดงที่ดีคือคนที่รู้จักและยอมรับตัวเองในทุกมุม ว่าฉันมีร้ายนะ บางครั้งฉันอ่อนแอ บางครั้งฉันอิจฉา บางครั้งฉันโง่ คนส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตแบบมายาคติ ด้วยการพูดว่า ก็ฉันเป็นแบบเนี่ย  สำหรับครูนี่คือความคิดที่มันตื้นเขินมาก เราไม่จำเป็นต้องนิยามตัวเองว่าเป็นแบบไหนเลย เพราะฉะนั้นในโลกของการแสดงคือการกระชากหน้ากากอันนึงออก ให้เราเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา แล้วเลือกว่าจะแสดงอะไรออกมา

คนเรามีไพ่หลายใบซ่อนอยู่ใต้หน้ากากหลายหน้ากาก ถ้าอย่างนั้นคิดว่าการที่คนใส่หน้ากากเข้าหากันก็ไม่ใช่เรื่องผิด

ครูไม่ได้บอกว่ามันผิดนะ แต่มันเป็นเรื่องที่คนทั่วไปมักทำ คนทั่วไปมักยิ้มตอนโกรธ ไม่เห็นแคร์แต่โคตรแคร์​ ถามว่ามีความสุขไหมตอนใส่หน้ากาก ดึงหน้ากากแล้วพูดความจริงไปเลยสิ ง่ายกว่าไหม มันชั้นเดียว มันคือโลกแห่งการถอดหน้ากาก ที่เป็นโลกในแบบที่ควรจะเป็นมากกว่า

แล้วเวลาที่นักแสดงสวมหน้ากากเป็นตัวละครตัวนั้นนานๆ มันมีสิทธิ์ถอดไม่ออก

มีสิทธิ์ติด เพราะมันคือความแยกไม่ได้ ถ้าไม่ได้ทำการบ้านอย่างถูกต้อง เขาจะติด จะอิน สลัดไม่ออกเลย เราก็จะต้องซ่อมกัน เพื่อดึงคุณลักษณะที่ดีเอามาแทน คือมนุษย์เรามีหมดแหละ แต่เราโฟกัสอะไร สิ่งนั้นมันถูกดึงออกมา เพราะฉะนั้นเราจึงสอนหลักธรรมด้วย ประกอบกันไป จะได้รู้ว่าดึงออกยังไง อันไหนปรุงแต่ง เอาออกให้ได้

มีคนที่เดินมาบอกว่า ครูคะ หนูยังออกจากบทบาทนี้ไม่ได้เลย ที่พูดแบบนี้มีสองประเภท ประเภทแรกคือนักแสดงยังไม่เป็นมืออาชีพพอที่จะรู้วิธีเอาตัวเองออก กับประเภทที่สองคือ เข้าใจว่ามันเท่ แล้วก็เอามาอวดว่า เนี่ยอินเหลือเกิน ซึ่งอันนี้ตื้นเขินกว่าติ้นเขินอีก

หน้าที่ของเราคือ เราต้องเป็นศิลปิน เป็นเจ้าของพู่กัน จะวาดเมื่อไหร่ก็ได้ จะวางเมื่อไหร่ก็ได้ คัทปุ๊บ กลับมาเป็นปกติได้ พาตัวเองออกมาจากอารมณ์เหล่านั้นได้ ทั้งหมดมีศาสตร์ เราต้อง tune in–tune out ได้ อันไหนดีก็เก็บไว้ได้ เพราะมันคือของคุณ เก็บได้ ทิ้งได้ตลอด

ในแบบฝึกหัดการแสดง มีแบบฝึกหัดอยู่อันหนึ่งที่มักให้นักแสดงเปรียบเทียบตัวละครที่ได้รับบทบาทมากับสัตว์ เพื่อให้ดึงลักษณะนิสัยบางอย่างออกมาใช้ ตอนนี้ถ้าให้ครูเงาะต้องเปรียบเทียบตัวเองกับสัตว์บ้าง คิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ชนิดไหน เพราะอะไร

เป็นหลายอย่างมากนะ ถ้าต้องเลือก (นิ่งคิดนาน) …นกแก้วกับนกยูง เป็นนกแก้วเพราะครูเป็นคนปรับตัวเก่ง พร้อมเรียนรู้จดจำเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ตลอด และในอีกพาร์ทหนึ่ง ครูก็คิดว่าตัวเองมีความเป็นนกยูง คือ นกยูงมันชอบรำแพนหาง มีของก็อยากจะบอก มีไฟก็อยากให้ไฟส่อง ครูเองก็ชอบอยู่หน้าแสงไฟบ้างเหมือนกัน แต่บางครั้งเราก็มีภาวะเหมือนกบจำศีล เป็นพญาราชสีห์ที่พร้อมจะสู้ หรือเป็นชิสุตัวน้อยที่ร้องหงิงๆ เราจะเป็นคาแร็กเตอร์แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่กับใคร

ก็อาจมีคนถามว่า งั้นก็ไม่เป็นตัวของตัวเองรึเปล่า

แล้วตัวของเราคืออะไร เหมือนมีคนบอกว่า “อย่างฉันต้องแต่งตัวเสื้อยืดกางเกงขาดๆ เท่านั้น เพราะนี่คือตัวตนของฉัน ทำไมฉันไปพบนายกแล้วต้องเปลี่ยนด้วย” นี่คือคนที่ไม่มีกาลเทศะแล้วก็กำลังหาตัวตนที่แท้จริงของเขาอยู่ พยายามสร้างอัตลักษ์ขึ้นมาให้คนอื่นเห็น ถ้าถอดเสื้อผ้าออกเราจะไม่มีตัวตนเหรอ ไม่ใช่หรอก ตัวตนของเราอะไรล่ะ ตัวตนที่แท้จริงคือความคิด จิตใจ และมโนธรรมต่างหาก

ตั้งแต่เข้าวงการบันเทิงมา ได้แสดงตัวตนในหลากหลายบทบาท ตั้งแต่ยุคที่ทุกคนรู้จักในฐานะ Acting Coach จนมาถึงการเป็น Commentator จากเบื้องหลัง มาสู่เบื้องหน้า ชอบอยู่ตรงไหนมากกว่ากัน

แต่ก่อนเราจะต่อต้านคำว่า ‘ดารา’ แต่ตอนนี้ครูไม่ต่อต้านแล้วค่ะ เพราะ ถ้าเราสอนอย่างเดียว มันก็จะไม่มีพื้นที่ให้เราแสดง คือ โดยเนื้อแท้เรา มีความเป็นนกยูงชอบรำแพน ชอบโดนแสงไฟ แต่ถ้าอยู่แต่เบื้องหน้า แล้วไม่ได้สอน ไม่ได้ถ่ายทอด ครูก็ไม่อยากทำอีก ฉะนั้น เลือกไม่ได้ ชอบทั้งคู่ วันนึงถ้ามีโอกาสก็อยากทำซีรี่ส์ทำละครที่ตรงกับสิ่งที่เราอยากจะถ่ายทอด อาจจะเบื้องหลัง แล้วก็แสดงด้วย

แล้วถ้าต้องเปรียบเทียบ ครูเงาะคิดว่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองเหมือนละครหรือภาพยนตร์เรื่องอะไร

ยากจัง (คิดนาน) เอาเรื่องที่ดูล่าสุดเลยก็แล้วกัน COCO ทำไมต้องเป็นเรื่องนี้ เพราะครูรู้สึกว่า ครูคือเด็กน้อยคนนั้นแหละ ที่ชัดเจนในสิ่งที่ครูชอบมาตั้งแต่เด็ก ชอบในเรื่องของการแสดง แต่โชคดีที่แม่ของครูไม่ได้เป็นเหมือนตัวละครในเรื่องที่ห้าม แต่สังคมรอบข้างห้าม คอยตั้งคำถามว่าหัวดีทำไมไม่เรียนสายวิทย์ล่ะ เรียนนิเทศจะเรียนไปทำอะไร จบมาจะทำอะไรได้ แต่มันมีเสียงนึงในใจเรา ว่าเราชอบอันนั้น และเราก็เชื่อมั่นในสิ่งที่เราชอบ

ถ้าเป็นตัวละคร ในทุกๆ ฉาก ตัวละครต้องมี Objective หรือเป้าหมายในการกระทำ ชีวิตในช่วงวัยรุ่นของนางสาวรสสุคนธ์ได้จัดการกับ Objective ได้เรียบร้อยตามที่ตัวเองฝัน แล้วเป้าหมายของชีวิตต่อจากนี้คืออะไร

นิพพาน อยากไปให้ใกล้ที่สุด เป็นปณิธานที่ไม่สามารถเบี่ยงเบนได้

นั่นเป็น Super Objective (เป้าหมายสูงสุดของตัวละคร) แล้วถ้าเป็นช่วงระยะเวลาไม่ไกลนี้ล่ะ อยากทำอะไร?

ใช่ นั่นคือ Super Objective  แต่ถ้าในช่วงใกล้ๆ นี้ ก็คือ ครูอยากทำอะไรก็ได้เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของครูและผู้คนไปพร้อมๆ กัน ครูอยากเอาศาสนามาถ่ายทอดให้สนุก และให้ผู้คนกลัวเวรกรรม กลัวการเวียนว่ายตายเกิด

พอกันทีกับการตั้งคำถามว่า ‘ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา?’ มันมีเหตุและมีผล อยากให้ทุกคนรู้ว่า หน้าที่ของเราคือการยอมรับในกรรม รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ต้องไม่อาฆาต สุดท้ายมันก็วนกันไปแบบนี้ ครูเชื่อว่า ‘กรรม’ คือ ‘บทเรียน’ ดูสิ โอปราห์ วินฟรี่ย์ เคยถูกข่มขืนโดยคนในบ้าน แต่เขาเลือกที่จะไม่แก้แค้น เขาเอามาเป็นแรงขับ เอามาเป็นแรงผลัก ถ้าฉันมีกำลัง ฉันจะช่วยผู้หญิง

ความตั้งใจที่ครูเงาะบอกว่าอยากจะสอนคน Talk a Teach ก็เป็นส่วนหนึ่งในความตั้งใจนี้

ใช่ค่ะ เวลาครูสอนเสร็จ มักจะมีคนมาบอกว่า หนูอยากให้พ่อแม่มาเรียน อยากให้แฟนมาฟังจังเลย  แต่เนี่ย หนูอยากเอาสิ่งที่ครูพูดไปบอกถ่ายทอดต่อ แต่มันบอกไม่ได้ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง พูดยังไง เขาถึงจะฟัง ในทอล์กครั้งนี้เราจะสรุปย่อๆ เอาเนื้อๆ มาให้ฟัง  เรื่องบางเรื่องที่คุณบอกกันเองไม่ได้ จูงมือคนข้างๆ มา คนในครอบครัวมา แล้วเราจะช่วยบอกให้

จับมือมาเรียนรู้กันว่า การพูดและการสื่อสาร มันช่วยเราได้อย่างไร

คำพูดมันสำคัญขนาดเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไหม

เราเคยเห็นคนที่ให้สัมภาษณ์แล้วทำให้ชีวิตพังไหมละ (หัวเราะ) เราก็เห็นกันอยู่ ว่าพูดแล้วทำให้ชีวิตมันไปข้างหน้า หรือฉุกรั้งให้เราไปข้างหลัง พูดแล้วมันเอาคืนไม่ได้นะ เงียบดีกว่า ถ้าเรายังกรองคำที่เหมาะสมไม่ได้ ให้เก็บเอาไว้ก่อนดีกว่า

มีคนบอกว่า ‘คนฉลาดมักเอาปากมาไว้ที่ใจ’ มันจะผ่านการกรอง อย่างนี้เรียกคนไม่จริงใจหรือเปล่า ไม่เลย จริงใจเหมือนเดิมค่ะ แต่เขาใช้วิธีการที่เหมาะสมเท่านั้นเอง

ได้ยินมาว่าในทอล์กจะมีการเวิร์กช้อปเล็กๆ ถ้าเราเป็นคนไม่ค่อยชอบร่วมกิจกรรม เราควรไปฟังทอล์กครั้งนี้ดีไหม

ครูกำลังถามว่า “การเงียบให้อะไรกับชีวิตเรา” ถ้าการเงียบกำลังพาเราไปสู่เป้าหมายที่คุณต้องการ ให้เงียบต่อไป วันนี้อาจจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ทำให้เราค่อยๆ แง่มประตูออกจาก comfort zone การยื่นขาออกไปไม่ได้เป็นเรื่องง่าย แต่ถ้ายื่นซ้ำๆ ทำสิบครั้ง มันจะเริ่มปกติ มันจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มั่นใจได้ว่าครูเงาะจะไม่บังคับ ทำเท่าที่เราทำได้ ครูขอเชื้อเชิญให้ทอล์กกะทีชเป็นประตูบานแรกของคุณค่ะ

ทอล์กนี้เหมาะกับคนวัยไหนมากที่สุด

เหมาะกับทุกวัยเลย ถ้าพ่อแม่ของเรา เราบอกท่านตรงๆ ไม่ได้ พาท่านมาฟัง เราสอนเองไม่ได้ไง เดี๋ยวจะทะเลาะกันเปล่า ครูจะเป็นบุคคลที่สามให้ ระหว่างทางเราจะมีกฎว่า ห้ามหันไปบอกคนข้างๆ ว่า “นี่ไงเห็นมั้ย… เนี่ยฉันไปเรียนมา…ฉันบอกเธอแล้ว” มันจะยิ่งทะเลาะกัน ครูจะมีวิธีบอกที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ถูกว่า

สุดท้าย จะฝากอะไร

สุดท้ายขอบคุณสปอนเซอร์ค่ะ (หัวเราะ) Singha Biz Course ครูเคยไปสอนและไปทำกิจกรรม และได้พูดคุยกับทีม ครูพบว่าเราน่าจะมีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาเยาวชน พัฒนาคน พัฒนาศักยภาพ ขอบคุณที่มาร่วมเดินไปด้วยกัน

——Cut——

Talk a Teach Show by ครูเงาะ : พูดเปลี่ยนชีวิต

ทอล์กโชว์ผสมเวิร์กช้อปครั้งแรกในประเทศไทย
โรงละครเคแบงค์ สยามพิฆเณศ

16 ธันวาคม 2560
รอบ 10.30 น. และ 16.00 น.

ซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ Thai Ticket Major
www.thaiticketmajor.com

สัมภาษณ์ > ชญาณี ฉลาดธัญญกิจ

RECOMMENDED CONTENT

30.เมษายน.2021