fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT — ‘แม่ฑีตา’ เรื่องราวของแฟชั่น ดีไซน์ และสังคมที่สะท้อนในผ้าย้อมคราม
date : 4.ตุลาคม.2017 tag :


.
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ‘ผ้าย้อมคราม’ แทบจะไม่ถูกพูดถึงในอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย หรือแม้กระทั่งในวงการแฟชั่นโลก เรารู้จักสีครามในฐานะสีของผ้ายีนส์และเอกลักษณ์ของผ้ามัดย้อมสไตล์ญี่ปุ่น แต่ครามได้กลายเป็นตัวละครหลักของวงการแฟชั่นจริงๆ เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งเห็นได้จาก New York Fashion Week SS15 และเเฟชั่นโชว์อีกมากมายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยเทรนด์สีน้ำเงินบวกกับความรักษ์โลกทำให้กระแสของ Indigo (The Color that Changed the World) มาแรงไม่ต่างอะไรกับการใช้ถุงผ้าหรือปั่นจักรยาน และมันขับเคลื่อนวงการผ้าไปไกลกว่าที่เราคิด
.
ในวันนี้แทบจะไม่มีใครไม่รู้จักสีครามหรือ Indigo เราจะพาไปคุยกับ คุณมอญ –สุขจิต แดงใจ หญิงสาวที่เติบโตมากับสีฟ้าคราม ทายาทรุ่นที่ 3 ของ ‘แม่ฑีตา’ แบรนด์ผ้าที่รื้อฟื้นสีสันและกระบวนการย้อมครามมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 ถึงการเปลี่ยนผ่านจากภาพลักษณ์ของ ‘ผ้าชาวนา’ ให้กลายเป็นที่ยอมรับผ่านงานดีไซน์  ไปจนถึงการเป็นตัวแทนและความหวังใหม่ในสังคม
.

.

.
‘คราม’ ในปี 1992
.
“ตอนที่คุณแม่ฟื้นแบรนด์มันก็เหมือนกับต้องฟื้นกระบวนการใหม่หมดเลย เพราะตอนสมัยที่คุณแม่คิดจะทำต้นครามมันไม่มีแล้ว ในจังหวัดสกลนครไม่มีใครรู้จักครามแล้วค่ะ คือมันหายไปเป็นหลายสิบปีแล้ว สมัยคุณทวดมันทำทุกบ้านนะ เป็นพืชที่ปลูกในครัวเรือน เป็นพืชที่ขึ้นทั่วไป เพาะเองได้ แต่พอช่วงคุณยายมันหยุดหายไป ตอนคุณแม่ก็ไม่มีใครรู้จักแล้ว ตอนนั้นคุณยายน่าจะเป็นคนเดียวที่รู้ว่าควรทำยังไง
.
สมัยก่อนผ้าย้อมครามเป็นอะไรที่เหมือนโดนดูถูก ผ้าย้อมครามสมัยนั้นเขาเรียกว่า ผ้าชาวนา เพราะคุณสมบัติของครามมันป้องกันรังสียูวีได้ระดับหนึ่ง ชาวนาภาคอีสานถึงชอบใส่เวลาออกไปทำนา เราถูกเหมารวมไปกับผ้าม่อฮ่อม เพราะครามกับม่อฮ่อมเป็นพืชที่ให้สีน้ำเงินเหมือนกัน คนก็จะคิดถึงแต่ผ้าม่อฮ่อมใช่ไหม ไม่มีใครคิดถึงครามเลย อย่างมอญก็ไม่ค่อยภูมิใจเวลาบอกไปคนก็ไม่รู้จักว่าคืออะไร
.
ตั้งใจสานต่อธุรกิจต่อตั้งแต่แรกไหม
.
เพิ่งมาคิดช่วงม.ปลาย ด้วยความที่เราถูกจับให้อยู่กลุ่มเดียวกับเกษตรกร มันก็จะมองไม่ค่อยเห็นอนาคต เด็กๆ เวลาเรามองเห็นพ่อแม่อยู่ในสวนมันดูไม่ค่อยมีความหวังนะ คือมันริบหรี่มาก เราก็โตมาพร้อมกองผ้า นอนในกระบะขนผ้า คุณแม่ก็จะเลี้ยงเราไปด้วยขายของไปด้วย รู้สึกว่ากว่าจะได้เงินทำไมยากจัง มันรู้สึกเหนื่อย
.
พอเราขึ้นม.ปลายก็เลยเลือกเรียนอะไรที่น่าจะหาเงินได้ง่าย ตอนนั้นเริ่มมีคนญี่ปุ่นมาเป็นลูกค้าแล้ว คนญี่ปุ่นตามไปที่บ้านที่สกลฯ บ่อยมาก คือคนไทยแทบไม่ซื้อเลยนะ แต่คนญี่ปุ่นมารู้จักเฉยเลย เหมือนมอญก็เลยได้เจอคนญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กๆ ม.1 ม.2 เราก็เลยซึมซับมา ขึ้นม.ปลายเห็นมีเมเจอร์ญี่ปุ่นให้เลือก เราก็เลยเลือกดีกว่าจะได้หาเงินช่วยแม่ได้
.
มอญได้ไปเรียนซัมเมอร์สั้นๆ ที่ญี่ปุ่น เราได้ออกนอกประเทศไทยครั้งแรกรู้สึกเปิดโลกมาก ได้เห็นผ้าย้อมครามในแบบที่เราไม่รู้ ตอนนั้นพูดตรงๆ ว่าเมืองไทยมันไม่มีความหวัง แต่พอเราไปเห็นเรารู้สึกว่ามันมีตลาด มันมีช่องว่างเนอะ กลับมาเราก็พยายามหาความรู้ เราสงสัยว่าถ้าจะทำผ้าย้อมครามขายต้องเริ่มยังไง ทำยังไง เลยเรียนสายธุรกิจดีกว่า จะได้ตอบคำถามว่าเราจะเดินไปยังไง มันเลยเป็นการวางสเต็ปชีวิตไว้โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
.

.

.
ตั้งใจให้เป็นสินค้าส่งออก?
.
ตั้งแต่แรกเราไม่เห็นเลยว่าจะขายในเมืองไทยให้มันได้เงินได้ยังไง เพราะว่าคนไทยนอกจากไม่ซื้อแล้วเขายังรังเกียจด้วย เราไปช่วยแม่ก็จะเจอคนที่เดินผ่านบูธเราแล้วก็จะชอบพูดว่า โอ้ย เสื้อม่อฮ่อม เสื้อชาวนา สีตก แล้วก็เดินผ่านไปตั้งแต่ประถมมาจนถึงมหา’ลัย เราได้ยินคำนี้มาตลอด ก็เลยรู้สึกว่าทำไมคนเห็นเป็นแบบนี้ เหมือนโดนดูถูกมาเยอะ ก็เลยเปลี่ยนความแค้นเล็กๆ มาเป็นพลังอะไรบางอย่าง (หัวเราะ) เราอยากพิสูจน์ไง
.
จากวิกฤตเป็นโอกาส
.
ตอนนั้นมันไม่มีตลาดเพราะคนไม่ซื้อด้วย แต่มองอีกทางหนึ่งแปลว่าเราไม่มีคู่แข่งเลยด้วย คนทำผ้าทอก็มีเยอะ มีหลายผ้ามาก แต่ว่ามันเป็นอะไรที่เหมือนเป็นต้นน้ำมากๆ โคตรผ้า ผ้าอย่างเดียวไม่มีใครเอามาทำเป็นแบรนดิ้งหรือเป็นห้องเสื้อ ตอนนั้นเสื้อผ้าที่เป็นแบรนด์ก็จะมีแบบ Fly Now, Closet มันจะมียึดแต่แบรนด์อย่างนี้ 4-5 แบรนด์มาตลอดหลายสิบปีซึ่งมันดูไม่มีความเชื่อมโยงกันเลยในพวกผู้ผลิตผ้ากับแบรนด์
.
ตอนนั้นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ก็จะเป็นพรินท์ลายเสื้อผ้าแบบที่เราเคยเห็น มันไม่มีใครที่เอาแบบผ้ายีนส์ Indigo มาทำ อย่างยีนส์มันก็มีเทรนด์นะตอนนั้น แต่น้อยมาก ย้อมครามแต่ก่อนไม่มีเลย ในขณะที่มันเป็นวิกฤตที่แย่มากๆ เราก็มองว่ามันเป็นโอกาสเหมือนกัน ถ้าเราทำอะไรบางอย่างให้เป็นแบรนด์ต้องว้าวอ่ะ เพราะไม่มีคนเคยเห็นอะไรแบบนี้เหมือนกัน
.
ดีไซน์เป็นคำตอบ?
.
เราเห็นมาตลอดว่าธุรกิจนี้มีอะไรที่เป็นปัญหา ปัญหาคือเกิดจากคนไม่ซื้อว่ะ คนไม่ซื้อยังดูถูกอีกต่างหาก ภาพลักษณ์ที่มีต่อมันค่อนข้างแย่ เราเลยรู้สึกว่าก่อนที่จะทำให้มันขายได้ ทำให้คนคิดว่ามันไม่แย่ก่อนไหม เรามองว่าดีไซน์มันน่าจะเป็น Marketing ที่แก้ปัญหาของธุรกิจตัวนี้ เราก็เลยเลือกเรียนแฟชั่นดีไซน์ต่อเพราะเรามั่นใจว่าปัญหาของมันน่าจะเป็นเรื่องดีไซน์นี่แหละ เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเด็กสายอาร์ตหรือว่าฉันเป็นดีไซน์เนอร์ที่จะมาทำธุรกิจอะไรอย่างนี้มองเป็นมุมกลับมากกว่า
.

.

.
ไม่ได้สนใจเรื่องอาร์ตหรืองานดีไซน์มาก่อน?
.
ใช่ๆ แต่ว่าคุณแม่เขาจะชอบสอนอะไรแปลกๆ กับเรา เราเกิดกรุงเทพแต่ว่าป่วยเป็นภูมิแพ้หนักมาก แม่ก็เลยหิ้วไปสกลฯ พร้อมกับทำผ้าที่สกลฯ นี้แหละ แต่ก่อนตอนอยู่กรุงเทพ ตอนประถมก็ไม่เคยเดินห้าง เสาร์-อาทิตย์แม่จะชอบพาไปภูเขียว แล้วก็แบก 3 ขาวาดรูปขึ้นเขาไปนั่งวาดรูป ดูติสต์มาก คือเราไม่เคยเรียนอาร์ตอะไรหรอก มันเป็นแค่งานอดิเรกเวลาแม่พาไปเที่ยว ไปสวนสัตว์ก็วาดยีราฟอะไรประมาณนี้ เหมือนเราซึมซับมันมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไป เวลาขึ้นมหา’ลัยมาเราก็เลยมองว่างานศิลปะหรือว่างานดีไซน์เป็นการแก้ปัญหา มากกว่าที่จะเป็นอะไรที่มันสวยงาม
.
เรียนดีไซน์เป็นยังไง?
.
เปิดโลกเลย ครั้งแรกที่เข้าไปเรารู้สึกเกลียดเด็กแฟชั่นดีไซน์มากเลยนะ ตอนที่เข้าไปเรียนเรางงมากเลยว่าเขาแต่งตัวไปเดินกันตรงไหนของกรุงเทพฯ วะ แล้วก็สิ่งที่เขาคุยกันเป็นอะไรที่เราไม่เคยรู้ ด้วยความที่เราเรียนสายธุรกิจ เราไม่อ่านหนังสือแฟชั่นเลย ซื้อนิตยสารคือเปลืองเงินมาก มันก็ไม่จำเป็นในความรู้สึกของเรานะ ที่เข้าไปเราก็เลยจะไม่มีเพื่อนที่เป็นรุ่นเดียวกัน เราก็เลยจะไปสนิทกับผู้ใหญ่ที่มาเรียนแฟชั่น พูดตรงๆว่าเด็กที่เรียนสายแฟชั่นดูเป็นเด็กบ้านมีเงิน มาเรียนแบบมีความฝันอยากจะเป็นดีไซน์เนอร์ ประมาณนั้น อยู่ในทุ่งลาเว็นเดอร์สวยๆ ก็เลยรู้สึกว่าแฟชั่นดีไซน์มันดูแย่ๆในความรู้สึกของเรา
.

.

.
ขณะที่เรามองว่าดีไซน์เป็นทางออก แต่ไปอยู่จริงๆ เรากลับรู้สึกไม่โอเค?
.
มอญมองว่าคนที่อยู่ในสายดีไซน์เขามองโลกแบบเซอร์เรียลน่ะ มอญรู้สึกว่าโลกจริงๆ ของเรามันเป็นตลาดที่มีคนซื้อและคนขาย แต่เหมือนโลกดีไซน์มันเป็นอะไรที่แบบอยู่ข้างบน เงินไม่มีความเกี่ยวข้อง คือแบบทุกอย่างต้องสวย เหมือนมันไม่มีความสัมพันธ์เชี่ยมโยงกับสังคมเลย มอญก็เข้าใจเพราะเขาอยู่ในจุดที่ไม่เคยเห็นความเลวร้ายหรือความแย่ของสิ่งที่เราเคยเห็น เขาอยู่ข้างบนเห็นแต่ของสวยอยู่แล้ว
.
วงการแฟชั่นข้างหน้าภาพมันสวยมาก แต่ว่าข้างหลังก่อนที่มันจะเป็นเสื้อผ้าที่เขาใส่เดินรันเวย์สวยงามเนี่ยเขาผ่านอะไรมาบ้าง เราเห็นกลุ่มหนึ่งที่แบบชีวิตดีมาก แต่อีกโลกใบหนึ่งที่เป็นประเทศเดียวกันเนี่ยมันโคตรต่าง เราเห็นความลำบากของคนทอผ้าที่ได้ค่าจ้างต่ำมาก ชีวิตมันดูแย่ แต่มันคือธุรกิจเดียวกันนะ
.
เด็กที่เรียนแฟชั่นด้วยกันเจอเราเขาก็ช็อคเหมือนกันนะ เพราะเขาไม่เคยเจอคนแบบเรา จะโดนถามตลอดว่ามาเรียนทำไม เหมือนเราดูเป็นคนทำธุรกิจใช่ไหมก็ขายไปดิ ทำไมต้องมาทำอะไรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเชื่อมโยงกันได้ มันเป็นสิ่งเดียวกันที่ต่อได้ เอาจริงๆ คนที่ทำธุรกิจที่มหา’ลัยมอญก็ไม่มีใครทำธุรกิจเสื้อผ้า พวกโรงงานทอผ้าเขาก็ทำผ้าอย่างเดียว เขาไม่ได้มองว่าดีไซน์จำเป็น บริษัทโรงงานที่ทำผ้าเป็นพันหลาพันมวนเขาจะมาสนใจทำไมกับเรื่องการตัดผ้า การเย็บ เพราะเขาขายผ้าก็อยู่ได้แล้ว แต่เราอยู่จากที่ผ้ามันขายไม่ได้
.
ที่เราเรียน CIDI จะไม่ค่อยมีเล็คเชอร์ มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะให้ทำคอลเล็กชั่น Spring Summer Autumn Winter ให้ทำวนไปอย่างนี้อยู่ 2 ปี คุณต้องออกแบบดีไซน์เสื้อผ้า หาผ้า พรีเซ้นต์ว่าแบรนด์คุณจะขายได้ไหม ดีไซน์ออกมาดูดีไหม มันก็คือธุรกิจนะ ถ้ามองภาพรวม แต่ว่าเด็กดีไซน์เขาจะไม่ได้มองอย่างนี้ไง เขาไม่ได้มองว่ามันเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องเคลื่อนไปข้างหน้า ต้องขายได้
.

.

.
การดีไซน์ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร
.
ไม่มี Inspiration ค่ะ (หัวเราะ) คือมอญทำแบรนด์กับคุณแม่ เราแบ่งหน้าที่โดยคุณแม่เขาจะรู้เรื่องการทำผ้า วัตถุดิบต่างๆ เขาจะคุมมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว คุณแม่จะไปคุยกับคนทอ คนปลูก เกษตรกร เราก็จะไม่เปลี่ยนในสิ่งที่คนทอทำ มอญเชื่อมั่นในพลังของคนทอ ของเกษตรกรว่าผ้าที่เขาทอมันดีอยู่แล้ว มอญเลยมองว่าสิ่งเราทำไม่ใช่การปรับลายผ้าเขาแต่เป็นการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มาจากผ้ามากกว่า
.
ซึ่งมันยากกว่าปกติ เพราะคนทำแบรนด์เสื้อผ้า ดีไซเนอร์หรือห้องเสื้อเขาก็จะเริ่มจากคิดแบบแล้วไปหาผ้า แต่เรานี่คือมีวัตถุดิบมากองตรงหน้า เราต้องแก้ปัญหาขายมันเปลี่ยนเป็นเงินสดให้ได้เราก็ต้องหาจุดเชื่อมโยง สร้างคอลเล็กชั่นเอง คนทอผ้าตั้งแต่โบราณ ลายทอจะเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติ ของประเพณี ของวัฒนธรรม แต่ละปี ธรรมชาติ ประเพณีอาจจะต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนเดิมไม่ว่าจะกี่ร้อยปีคือคนทอผ้า เขาก็จะทอตามประเพณี วัฒนธรรม สิ่งของตอนนั้น ฤดูกาลนั้น ซัมเมอร์ต่างประเทศจะเป็นคัลเลอร์ฟูล โหยหาสิ่งที่มีสีสัน แต่ซัมเมอร์ของเมืองไทยผ้าที่ได้มาเป็นลายดอกไม้ทั้งนั้นเลย เราก็หาจุดเชื่อมโยงได้ กลายเป็นคอลเล็กชั่น เป็นกรุ๊ปได้
.
ดีไซน์ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย
.
ลูกค้าที่เป็นคนสูงอายุก็ยังมี ลูกค้าวัยรุ่นก็เยอะขึ้น เทรนด์ที่มามันใหญ่มาก มันบูม มันขับเคลื่อนผ้ามาก เราก็เลยรู้สึกว่าลูกค้าเราได้ทุกช่วงอายุเลย เราว่าการตัดสินแบรนด์เสื้อผ้าจากอายุมันใช้ไม่ได้จริง เราถือว่าได้โอกาสมากกว่าแบรนด์อื่น เพราะแบรนด์เราได้ลูกค้าฐานที่ใหญ่มาก เราดีไซน์เสื้อผ้าอะไรที่มันเป็นเบสิคไอเท็มค่ะ คือไม่ได้เลิศอะไร เราไม่ชอบคนที่ใส่ชุดเยอะๆ แบบดูใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ เราก็ไม่อยากทำอะไรแบบนั้น มันขายยากด้วย ผ้าเราก็ไม่ได้มีเยอะพอที่จะรองรับอะไรที่พิเศษ
.
เรารู้สึกว่าผ้าเรามีเรื่องราวของความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนที่เกี่ยวกับทุกชนชั้น เรามองว่าความเป็นเบสิคไอเท็มน่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์และตรงกับความเป็นแบรนด์ของเรามากที่สุด ก็เลยทำอะไรที่ธรรมดามากที่ทุกคนใส่และเคยเห็นมาอยู่แล้ว
.

.

.
‘แม่ฑีตา’ ที่ผ่านมา
.
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือคนเปลี่ยนความคิดไปก่อนเรื่องผ้า เรื่องการย้อมคราม สีน้ำเงิน ม่อฮ่อมอะไรอย่างนี้ เท่าที่เข้าใจผิดตอนนี้มี แต่น้อยมากแล้ว คือคนที่ไม่รู้จริงๆ เขาก็ไม่คิดจะฟังอยู่แล้ว ที่เห็นอีกอย่างคือมันเริ่มเป็นแมสมากขึ้น จากที่มันอยู่ในหลีบ อยู่ในซอก โดนดูถูกมาก ตอนนี้เป็นอะไรที่คนพูดถึง เปลี่ยนภาพลักษณ์ในหัวของคนไปเลย จากเสื้อทรงลุงกำนัน เสื้อทรงผู้ใหญ่บ้าน ตอนนี้เด็กแฟชั่นดีไซน์จะไม่นึกถึงผ้าไทยในภาพลักษณ์แบบนั้นแล้วนะ เขาจะมองเห็นเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่เอามาต่อยอดได้
.
‘แม่ฑีตา’ ในวันนี้
.
พอเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองเรื่องผ้ามันก็เป็นการเปลี่ยนความคิดของคน เราเลยอยากให้แบรนด์เราเปลี่ยนความคิดของคนไปในทางที่มันดีขึ้น ทำให้คนมองเห็นสังคมอีกด้านหนึ่ง มองว่าในสังคมมันมีอะไรบ้างที่เราทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องอุ้มชูมันได้ ให้พลังกับมันได้ มอญคิดว่าแม่ฑีตาเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งนั้น
.

.
ในวันนี้แม่ฑีตาไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่ ความสำเร็จของ ‘แม่ฑีตา’ จึงไม่ได้มีผลแค่ต่อครอบครัวแดงใจ แต่ยังมีความหมายต่อภาคสังคมเหมือนที่คุณมอญบอกกับเราว่า “อยากจะให้แม่ฑีตาเป็นความหวังของภาคสังคม ”
.
__________
.
แม่ฑีตา
www.maeteeta.net
www.facebook.com/Maeteeta
.
.

RECOMMENDED CONTENT

17.สิงหาคม.2017

หลังจากคว้ารางวัลกรังปรีซ์ สาขาเพลงประกอบโฆษณายอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ ไลอ้อน 2017 อาดิดาส ออริจินอลส์ยังคงพัฒนาผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง